เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
ห้องน้ำระเบิดทุกข์" บทวิจารณ์เรื่องสั้น "เหตุการณ์แม่บ้านกรีดร้อง"
  • บทวิจารณ์ลำดับที่ 1 ในคอลัมน์ "การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไป"

    (ที่มารูปภาพ : shorturl.at/krINS)


    เรื่องสั้น “เหตุการณ์แม่บ้านกรีดร้อง” ของ วรณัฐ ตั้งขบวนบุตร เป็นงานเขียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ 12 ประจำปีพุทธศักราช 2554 ประเภทเรื่องสั้น เรื่องสั้นเรื่องนี้  โดดเด่นด้านกลวิธีการประพันธ์ที่เล่าเรื่องจากเหตุการณ์ที่เป็นผลลัพธ์ของเรื่องราวทั้งหมดย้อนกลับไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายนำไปสู่เหตุการณ์แรกเริ่มที่เป็นต้นเหตุ โดยใช้ฉากหลังเป็นห้องน้ำในสวนสาธารณะใจกลางเมืองแห่งหนึ่งซึ่งเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่โยงใยและต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ 

     หากมองเผิน ๆ ดูเหมือนว่าเรื่องสั้น “เหตุการณ์แม่บ้านกรีดร้อง” นี้จะไม่มีตัวละครเอก เพราะตัวละครทุกตัวล้วนมีบทบาทเท่าๆ กันหมดในแต่ละช่วงเวลาของเรื่อง  แต่หากพิจารณาให้ดี จะพบว่าทุกการกระทำของตัวละคร ล้วนเชื่อมโยงถึงกันและส่งผลกระทบต่อกันเรื่อยมา จนนำไปสู่สถานการณ์ที่ตัวละครหนึ่งเดียวคือ "แม่บ้าน" ต้องเผชิญในบทสรุปของเรื่องราว  ผู้เขียนวางตัวละครแม่บ้านให้มีบทบาทในตอนต้นเรื่องหากเรียงตามลำดับเวลา (แต่เป็นเหตุการณ์ที่ผู้เขียนจัดวางไว้ให้อยู่ท้ายเรื่องสั้น)คือ เหตุการณ์ที่แม่บ้านได้พบกับสภาพห้องน้ำที่มีสิ่งปฏิกูลเปรอะเปื้อนเต็มไปหมดด้วยแรงระเบิด  ผู้เขียนนำผู้อ่านย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ความโกลาหลทั้งหลายที่เกิดขึ้นในห้องน้ำสาธารณะผ่านมุมมองของตัวละครอื่นๆ ที่เข้ามาใช้บริการห้องน้ำแห่งนี้ จนสุดท้ายย้อนเหตุการณ์กลับมาครบ 24 ชั่วโมง 1 นาทีก่อนหน้าเหตุการณ์ในตอนต้นเรื่อง ซึ่งกลับมาปิดฉากด้วยตัวละครแม่บ้านอีกครั้ง

              ความน่าสนใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้อยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องและการวางความสัมพันธ์โครงข่ายของตัวละครทุกตัวที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ขึ้นโดยมีการสอดแทรกวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เป็นเสมือนคำใบ้ถึงเหตุการณ์ที่เล่าผ่านมาตลอดทั้งเรื่องและเป็นกาวเชื่อมให้ทุกเหตุการณ์เชื่อมต่อและส่งผลถึงกันหมดนั่นคือ “กระดาษชำระซึ่งไม่มีวางอยู่ที่แท่นเซรามิก” อย่างตอนที่แก๊ปชายหนุ่มวัยยี่สิบต้น ที่เพิ่งเสร็จจากการฝึกงานเข้ามาในห้องน้ำแห่งนี้เพราะปวดท้องจากการเผลอกินหมูปิ้งที่มียาถ่าย เมื่อปลดทุกข์เสร็จ “แก๊ปพยายามเอี้ยวตัวไปหยิบกระดาษชำระที่แท่นวางเซรามิก...แต่ไม่มี!” หรืออย่างตอนที่กิ่งและพี่ชัด คนงานที่ไซด์งานก่อสร้างเข้ามามีอะไรกันในห้องน้ำและฝ่ายชายปล่อยหลักฐานความใคร่บริเวณพื้นแถวนั้น เมื่อฝ่ายชาย “เหลือบตามองหากระดาษชำระที่แท่นวางเซรามิก...แต่ไม่มี!” สุดท้ายก็เลยได้แต่ปล่อยเลยตามเลย ทิ้งหลักฐานของตนให้นองอยู่บนพื้นแทน


    (ที่มารูปภาพ :  https://pixabay.com)

           ยิ่งกว่านั้น วัตถุสิ่งของอื่นๆ ที่ปรากฏในเรื่อง ก็เปรียบเหมือนเส้นโยงใยความสัมพันธ์ของตัวละครด้วยเช่นกันอย่างตัวละคร ทศ กับ แก๊ป แก๊ปคือคนที่ใส่นาฬิกาข้อมือสีส้มแสบตาและเป็นคนที่แกล้งหยิบกระเป๋าเป้ไปจากทศในตอนที่ทศกำลังทำธุระอยู่ในห้องน้ำ จนเป็นเหตุให้ทศไม่มีกระดาษชำระใช้ และต้องมองหาสิ่งอื่นมาเช็ดทำความสะอาดแทนนั่นคือ กระดาษขนาดเอสี่สีฟ้าที่ติดอยู่ในห้องน้ำ พิมพ์อักษรตัวใหญ่ว่า “กรุณาอย่าสูบบุหรี่” และจากเหตุการณ์นี้ก็ส่งผลต่อเนื่องไปถึงเหตุการณ์ช่วงเย็นของวันเดียวกันนั้นเองที่แก๊ปปวดท้องเพราะรับประทานข้าวเหนียวหมูปิ้งที่เคลือบไว้ด้วยยาถ่ายจากฝีมือของทศจนต้องเข้ามาใช้บริการที่ห้องน้ำแห่งเดียวกันนี้ แต่เนื่องจากไม่มีกระดาษชำระเหลืออยู่ในห้องน้ำเลยแก๊ปจึงเลื่อนสายตาไปรอบห้องน้ำและพบกับเศษแก้วแตก ของเหลวใสๆ ที่มีกลิ่นแอลกอฮอล์ ผ้าเช็ดหน้าที่มีคราบเลือดและคราบของเหลวข้นขาวสุดท้ายเขาต้องใช้กางเกงในของตนเองและซองบุหรี่เพื่อใช้เช็ดทำความสะอาดแทน เมื่อกดชักโครก เขาพบว่าภายในคอห่านของโถส้วม มีก้อนขยำของกระดาษสีฟ้าขนาดเอสี่ติดค้างอยู่

              จะเห็นได้ว่ากระดาษเอสี่สีฟ้าแผ่นนั้นก็ถือเป็นหนึ่งในสิ่งของที่ผู้เขียนทิ้งไว้เป็นคำใบ้ในเนื้อเรื่องและทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงได้ว่า เหตุการณ์ของแก๊ปเกิดขึ้นตามมาหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดกับทศ และจะเห็นได้ว่าผู้เขียนพูดถึงสิ่งของอื่นๆ ที่แก๊ปเจอในห้องน้ำด้วย สิ่งของทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสิ่งของที่ตัวละครอื่นซึ่งเข้ามาใช้ห้องน้ำก่อนแก๊ปทิ้งไว้ทั้งสิ้น

             หรือความสัมพันธ์ของสิ่งของและตัวละครอีกคู่หนึ่งคือ จ้อยและกิ่งกับพี่ชัด ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นคนงานที่ไซด์ก่อสร้างทั้งสิ้น กิ่งกับพี่ชัดแอบลักลอบกันเข้ามามีความสัมพันธ์ในห้องน้ำฝ่ายชาย เมื่อเสร็จกิจธุระกลับพบว่าไม่มีกระดาษชำระมาเช็ดทำความสะอาดคราบขาวขุ่นจึงปล่อยเป็นคราบทิ้งไว้บนพื้นในขณะที่ฝ่ายหญิงเปิดฝาโถส้วมที่ปิดอยู่ไปเจอกับซากสิ่งปฏิกูลที่หลงเหลืออยู่เป็นหย่อมๆ ของคนที่เข้าห้องน้ำก่อนหน้า จากลำดับเหตุการณ์เราจะรู้ได้ว่าเป็นตัวละครทศที่สิ่งนี้ทิ้งไว้ หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปถึงตอนที่จ้อยมาเข้าห้องน้ำ หลังจากจ้อยปัสสาวะเสร็จได้เดินไปล้างมือที่อ่างแต่กลับลื่นไถลจนหน้าผากกระแทกกระจกจนร้าว ขวดเหล้าแตกกระจาย มือไปสัมผัสกับคราบของเหลวข้นขาว เลยรีบหาอะไรมาเช็ดแต่ไม่มีกระดาษชำระ จึงต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าที่กิ่งเคยให้ไว้ เช็ดแก้ขัดไปก่อน และทิ้งผ้าเช็ดหน้าไว้และอ้วกออกมา

             สิ่งของทุกอย่างที่ผู้เขียนใส่เข้ามาในเรื่อง ค่อยๆ พาเราให้ย้อนไปถึงที่มาของสิ่งของที่อยู่ในห้องน้ำทีละชิ้นๆ  เบื้องหลังของสิ่งของเหล่านั้นล้วนมีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับตัวละครใดตัวละครหนึ่งทั้งสิ้น  ฉะนั้น เมื่อผู้อ่านไล่อ่านตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง แล้วลองอ่านสลับจากท้ายเรื่องมาต้นเรื่อง ก็จะทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าผู้เขียนตั้งใจใช้สิ่งของต่าง ๆ เป็นวัตถุที่ซ่อนเรื่องราวบางอย่างไว้ และพาให้ผู้อ่านเข้าใจลำดับเหตุการณ์ที่ย้อนขึ้นไปและเข้าใจความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันของตัวละครได้อย่างแจ่มชัด

            ผู้เขียนบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับแม่บ้านไว้ว่า แม่บ้านเริ่มงานทำความสะอาดห้องน้ำในเช้าวันใหม่ด้วยความกระตือรือร้นในหน้าที่ เธอตั้งใจทำความสะอาดและปฏิบัติตามคำอบรมที่เธอเรียนรู้มาจากหัวหน้างาน แต่เธอกลับลืมเพียงอย่างเดียว คือลืมนำกระดาษชำระมาพร้อมกับรถเข็นด้วย และเพียงเพราะกระดาษชำระเพียงม้วนเดียวนี้เอง ที่ผู้เขียนนำผู้อ่านไปสู่เรื่องราวอันโกลาหลในลำดับต่อมา ก่อนจะปิดท้ายด้วยเรื่องราวในเช้าวันใหม่ของอีกวัน ในตอนที่แม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดห้องน้ำอีกครั้งและพบกับห้องน้ำที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลเต็มพื้นที่เพราะแรงระเบิด จนทำให้เธอรู้สึกโกรธจนพาลไปสาปแช่งให้ผลกรรมตามสนองคนที่ทำให้เกิดเรื่องเหล่านี้ทุกคน ซึ่งผู้อ่านทุกคนรู้ดีว่า คนที่เธอควรโกรธที่สุดก็คือตัวของเธอเอง 


    (ที่มารูปภาพ : https://pixabay.com)

              ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องที่สมบูรณ์แบบ ชนิดไร้ช่องว่างในการคิดเป็นอื่นเช่นนี้เอง ทำให้ทุกเหตุการณ์และตัวละครล้วนสัมพันธ์และประจวบเหมาะลงตัวไปหมด มองเผินๆ ก็เป็นกลวิธีที่ผู้เขียนเลือกใช้เพื่อต้องการจะสื่อว่า เป็นเพราะตัวแม่บ้านเองที่เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ทุกอย่างขึ้นด้วยเพราะการลืมกระดาษชำระแค่ม้วนเดียว ทำให้สุดท้ายแล้ว เมื่อเรื่องราวเฉลยออกมาก็เหมือนเป็นไปตามผลกรรมที่ตนเองได้สาปแช่ง (ตัวเอง) ไว้ว่าขอให้คนที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ได้รับผลกรรม ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกว่ามันเป็นความผิดของแม่บ้านทั้งหมด ทั้งที่ความจริงแล้ว หากมองให้ลึกลงไป การที่ผู้เขียนเลือกที่จะใช้อาชีพแม่บ้านมาเป็นอาชีพหลักที่โยงกับทุกเหตุการณ์ในเรื่องนั้น ผู้เขียนมีนัยยะอะไรหรือเปล่า?  เพราะอาชีพแม่บ้านเหมือนเป็นอาชีพที่ต้องคอยรอรับผลของการกระทำสุดท้ายจากคนหลายคน ต้องคอยมาเก็บกวาดทุกอย่างในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อไว้ และเป็นอาชีพที่มีความสัมพันธ์กับคนในรูปแบบที่ไม่สามารถควบคุมได้ใช่หรือไม่

    ฉะนั้น อาจพูดได้ว่า แม่บ้านในเรื่องนี้ก็เปรียบเสมือนโถส้วมที่รองรับสิ่งต่าง ๆเหมือนในเรื่องสั้นนี้ที่เลือกใช้สถานที่คือห้องน้ำสาธารณะที่มีห้องน้ำแค่ห้องเดียวให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้ปลดทุกข์และทำเรื่องต่าง ๆ โดยที่ตัวโถส้วมเอง ไม่มีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะให้ใครเข้ามาใช้บริการตนเองได้บ้าง หรือเหมือนประโยคที่คนมักพูดกันว่าห้องส้วมคือสถานที่ไว้ใช้ “ปลดทุกข์” เมื่อนำมาเทียบกับแม่บ้านในเรื่องนี้ ก็เหมือนแม่บ้านกลายเป็นคนที่ “รองรับทุกข์” ของผู้คนด้วยเช่นกัน

             หากอ่านโดยคิดให้ลึกลงไป ผู้อ่านกลับเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจแม่บ้านแทน เพราะแท้จริงแล้วทุกเหตุการณ์ก็ล้วนเป็นผลจากการกระทำของตัวละครนั้นๆ เอง ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม และไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถโทษว่าเป็นความผิดของแม่บ้านที่ลืมเอากระดาษชำระแค่ม้วนเดียวมาไว้ในห้องน้ำได้ อย่างตอนที่พี่ชัดและกิ่งมีความสัมพันธ์กันในห้องน้ำเสร็จ แล้วพี่ชัดก็ปล่อยให้น้ำอสุจิเปื้อนพื้นไม่มีกระดาษชำระมาเช็ดทำความสะอาด กลับกันถ้าพี่ชัดใส่ถุงยางก่อนมีอะไรกับกิ่งจะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำอสุจิเปื้อนพื้น และไม่ส่งผลต่อเหตุการณ์ต่อมาที่จ้อยเข้ามาใช้ห้องน้ำและเผลอเอามือไปสัมผัสกับน้ำอสุจินั้นเข้า หรือเหตุการณ์ของทศที่ใช้กระดาษเอสี่ที่ติดอยู่ในห้องน้ำมาเช็ดทำความสะอาดแทนกระดาษชำระ แต่เมื่อเช็ดเสร็จกลับทิ้งกระดาษแผ่นนั้นลงในชักโครกแทนที่จะทิ้งลงถังขยะเพราะความอายจากเหตุการณ์นี้เอง  ทำให้ตลอดทั้งเรื่อง  โถส้วมโถนี้ไม่สามารถกดน้ำได้อย่างปกติและเมื่อกระดาษเข้าไปอุดตันทางน้ำ คนที่เข้าใช้ห้องน้ำต่อก็ไม่สามารถกดน้ำต่อได้

           การที่ผู้เขียนพยายามใช้ภาษาให้ดูขัดและตลก เช่น ตอนต้นเรื่องที่กล่าวว่าแม่บ้านเปิดห้องน้ำมาพบกับความยุ่งเหยิงในห้องน้ำ “ตลอดชีวิตในอาชีพแม่บ้านระดับซีเนียร์ที่คอยรับใช้ประชาชน บำบัดทุกข์บำรุงสุขมากว่ายี่สิบปี”  หรือตอนท้ายเรื่องที่แม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดห้องน้ำแห่งนี้ในตอนเช้าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ทั้งหมด “แต่เธอรู้ดี ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร จะกินปลาแซลมอนหรือปลาช่อนมอญเข้าไปก็ขับถ่ายออกมาเป็นปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพกลิ่นแรงเหมือนกันฉะนั้นเธอจึงไม่รังเกียจและจงใจที่จะปฏิบัติรับใช้ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม” ทำให้บางครั้งอ่านไปแล้วรู้สึกขัดแย้งกันแปลกๆ เพราะผู้เขียนใช้คำที่ดูดีดูสวยหรูมาอธิบายอาชีพแม่บ้านจนบางทีรู้สึกเหมือนผู้เขียนต้องการที่จะเสียดสีอาชีพแม่บ้านมากกว่า

              ใน “เหตุการณ์แม่บ้านกรีดร้อง” ผู้เขียนได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ตัวละครไปเชื่อมโยงกับเรื่องกรรม แม้ว่าผู้เขียนจะสามารถวางลำดับเหตุการณ์และเล่าเรื่องราวออกมาได้สมบูรณ์แบบมากก็ตาม แต่ความสมบูรณ์แบบนี้เองที่ไปปิดกั้นตัวเรื่องและตัวละครในเรื่องด้วยเช่นกัน  เพราะหากลองปรับเปลี่ยนตัวละครในเรื่องสักหนึ่งคนให้เป็นคนที่มีฐานะมากกว่านี้ หรือเป็นคนชนชั้นบน หรือสุดท้ายแล้วมีตัวละครใดสักตัวละครหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการไม่มีกระดาษชำระนี้ได้ คาดว่าเรื่องราวคงออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง และความผิดของแม่บ้านคงไม่หนักหนาเท่าที่ผู้เขียนพยายามที่จะเขียนออกมาให้ผู้อ่านเห็นในเรื่องสั้นเรื่องนี้.


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 
    ผู้เขียน: ภัทราพร ชัยบุตร นิสิตเอกภาษาไทย (โทภาษาอังกฤษ) 
                 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรรกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น  ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in