'Life doesn't mean living.'
เป็นประโยคที่ดีมากๆแต่ดันไม่ได้อยู่ในหนัง Blade Runner 2049 ความยาวกว่าสองชั่วโมงที่ฉายในโรง แต่อยู่ในอนิเมสั้น Black Out 2022 กำกับโดยชินอิจิโร วาตานาเบะ (Cowboy Bebop และ Samurai Champloo) หนึ่งในหนังสั้นสามเรื่องที่ปล่อยออกมาปูพื้นก่อนนำไปสู่เหตุการณ์ในหนัง 2049
ขอเล่าก่อนว่าการดูเบลดรันเนอร์ของเราไม่ได้เริ่มจากดูภาคแรกหรือหนังสั้นก่อนเพื่อเตรียมตัวไปดูในโรงให้รู้เรื่อง เพราะเราคิดว่ามันไม่จำเป็นและเชื่อว่าหนังที่ดีจะสามารถเล่าเรื่องให้เมคเซ้นส์ได้ในตัวมันเอง จึงเลือกแค่อ่านชีทสรุปที่มีคนทำมาให้ผ่านๆ(ขี้เกียจ)แล้วก็เดินเข้าโรงไปดูแม่งเลย ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง Blade Runner 2049 เป็นหนังไซไฟที่มีทั้ง style งดงามเป็นเอกลักษณ์ และ substance ที่ทรงพลัง พร้อมทั้งการเล่าเรื่องที่มีประสิทธิ์ภาพในตัวของมันเอง หลังจากนั้นเราจึงออกมานั่งดูหนังสั้นทั้งสามเรื่อง (ยังไม่ได้ดูภาคแรกเซม) ก่อนจะกลับเข้าไปดู 2049 อีกครั้ง แล้วมานั่งเขียนรีวิว ในนี้เราจะเขียนถึงหัวข้อที่เรารู้สึกน่าสนใจเป็นพิเศษเป็นหลักๆ (แต่อย่างอื่นก็จะรีวิวให้นะ!)
เรื่องราวในหนังเริ่มต้นด้วยเรียงความหนึ่งย่อหน้าเหมือนแจกชีทสรุปด่านสุดท้ายสำหรับคนที่ไม่คิดจะศึกษาอะไรมาก่อนดูเลยจริงๆ ก่อนจะตัดภาพไปยังเอเจ้นท์ "เค" KD6-3.7 ซึ่งเดินทางไปยังฟาร์มหนอนของชายคนหนึ่ง กลายเป็นว่าเขาคนนั้นคือแซพเพอร์ มอร์ตั้น เป็นมนุษย์เทียม (replicant) รุ่น Nexus 8 ที่หลงเหลือจากบริษัทไทเรลและได้หลบหนีไป และเคคือเบลดรันเนอร์ที่ถูกส่งมาเพื่อทำการ "ปลดระวาง" เขา (ในที่นี้คือการสังหารและควักลูกตาไปเพื่อยืนยัน serial number) ถ้าคนดูไวหน่อยก็จะรู้ได้จากการเห็นไรอั้นกอสลิ่งโดนบาทิสต้าจับหัวโขกกำแพงรัวๆจนผนังซีเมนต์ทะลุไปอีกห้องแล้วยังไม่ระคายว่า "เค" เองก็เป็นมนุษย์เทียมเช่นกัน
ไรอัน กอสลิ่ง รับบท Officer "K" KD6-3.7
ต้องชื่นชม ไรอัน กอสลิ่ง อีกครั้งกับความสามารถในการเลือกบทที่แม่นยำตลอด การแสดงของเขาถ่ายทอดตัวตนของเคออกมาได้อย่างดี แม้จะเป็นบทชายหนุ่มหน้านิ่ง พูดน้อยต่อยหนักพร้อมปมทางจิตใจหนักอึ้งคล้ายกับที่ผ่านมาใน Drive, Only God Forgives, หรือ The Place Beyond The Pines (ดูแล้วชอบหมดเลยจ้า) แต่คาแรกเตอร์ก็ไม่รู้สึกเก่าเลยเมื่อบวกกับเนื้อเรื่องสดใหม่และมีน้ำหนักที่เขียนโดย Hampton Fancher กับ Michael Green (กราบ) แม้จะมาด้วยหน้าปลาตายกับเสียงโมโนโทน แต่การกระทำของตัวละครนี้ทำให้เราตกหลุมรัก KD6-3.7 ของเขาได้ไม่ยาก เคเป็นตัวละครที่ไม่แสดงออกทางอารมณ์มากนัก เริ่มแรกเขาดูเหมือนเจ้าหน้าที่ LAPD ที่ตามฆ่าพวกเดียวกันอย่างเลือดเย็นแล้วกลับมาทำแบบทดสอบวัดความไร้หัวใจและรับโบนัสกลับบ้าน แต่เรื่องก็ค่อยๆชี้ให้เห็นว่าเขาอาจเก็บกดความขมขื่นจากการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไว้มากเพียงใด และเมื่อความไร้ตัวตนของเขาได้รับความหวังในการเปลี่ยนแปลง จึงนำไปสู่หนึ่งในซีนที่น่าสะเทือนใจที่สุดที่เราเคยดูมาในหนังไซไฟ
เคเป็นมนุษย์เทียมที่อาศัยอยู่ท่ามกลางหมู่มนุษย์แท้ อย่างไรก็ตามทุกคนดูจะรู้ดีว่าเขาเป็นอะไรและพากันแสดงอาการรังเกียจอย่างเต็มที่ ไม่รู้ว่าในตึกอพาร์ทเม้นต์หรือในที่ทำงานของเคมีมนุษย์เทียมคนอื่นอาศัยหรือทำงานอยู่ด้วยหรือไม่เพราะเราไม่เห็นเขามีปฏิสัมพันธ์กับใครเลยนอกจากหัวหน้า ซึ่งดูจะเป็นมิตรกับเคมากกว่าคนอื่นแต่ก็ยังคงอยู่ในกรอบของหัวหน้าและผู้ใต้บังคับบัญชา เคมีแฟนสาวคนเดียวที่เขารักและเป็นที่พักใจคือปัญญาประดิษฐ์ชื่อ จอย (Joi) ในโลกที่มนุษย์เทียมเป็นจัณฑาลของสังคม จอยคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเค
รักแท้หรือแค่ภาพลวง?
รักแบบใดเล่าจึงเรียกว่ารักแท้?
จอยเป็นสินค้าของบริษัทวอลเลซที่มาในรูปแบบของสาวสวยดวงตาหวานสีน้ำตาลและความสูง 168 เซนฯที่สามารถเป็นทุกสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ แต่ขัดกับสโลแกน everything you need ของเธอ เมื่อหนังแสดงให้เห็นว่าเธอตัวเป็นเพียงมวลสารโฮโลแกรมจากเครื่องฉายประจุที่สามารถโปร่งแสง แลค เดินทะลุได้ และไม่สามารถสัมผัสทางกายกับเคได้ เธอทำได้เพียงเปลี่ยนเสื้อผ้าสวยๆ เป็นเพื่อนคุย คอยห่วงใย พูดคำหวานทำให้เขารู้สึกพิเศษ (แนะนำว่าวอลเลซควรสร้างรุ่นต่อไปให้เป็นคนเลยจะได้ไม่ต้องดราม่าว่าจูงมือกันไม่ได้)
ตลอดเรื่องเราถูกชวนให้สงสัยว่าความรู้สึกที่เธอมีให้เคนั้นเป็นของจริงหรือเป็นเพียงโปรแกรม แต่ถ้าเคและจอยก็คือสินค้าที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์เหมือนกัน เช่นนั้นแล้วจะต่างอะไร ถ้ามนุษย์เทียมมีความรักได้แล้วมนุษย์โฮโลแกรมจะมีได้หรือไม่? ในฉากที่เคให้จอยสวมทับร่างของโสเภณีเพื่อเขาจะได้รู้สึกเหมือนมีอะไรกับจอยนั้น ผกก. เดนิส วิลเนิฟ ย้ำให้เราเห็นสองข้อ:
1. ว่าความจริงกับภาพลวงตาที่เบลอทับกันอยู่จนเกือบจะแยกไม่ออก แต่เคเต็มใจเลือกภาพลวงตาที่แสนเพอร์เฟ็คแทนความเป็นจริงที่เขาไม่ต้องการ
2. ในขณะเดียวกันถึงแม้กายของจอยจะไม่มีอยู่จริง แต่ความรักที่เธอมีให้กับเคนั้นดูจริงเสียยิ่งกว่าร่างเนื้อที่จ้างมาสวมบทบาทเป็นเธออยู่เสียอีก
เมื่อ performance ของเธอนั้นสมคุณภาพคุ้มยิ่งกว่าราคา เคจึงรักเธอหมดหัวใจ จอยก็ยืนหยัดเคียงข้างสโลแกนของเธอจนวินาทีสุดท้าย (verdict: จอยน่ารักเหลือเกินค่ะ อินี่ดูไปก็อยากได้บอยเฟรนด์โฮโลแกรมเป็นของตัวเองบ้าง)
ความรักของเคกับจอยทำให้เรานึกถึงผู้คนในโลกจริงที่ตกหลุมรักกับ AI ในเกมคอมพิวเตอร์หรือตัวละครในอนิเมและเปย์สินค้าให้มากมายเพื่ออัพเกรดความสัมพันธ์กับพวกเธอ(อย่างที่เคทุ่มเททำงานอาบเลือดเพื่อเก็บเงินซื้อเครื่องฉายประจุพกพาเพื่อให้สามารถพาจอยไปกับเขาได้ทุกที่)จนถึงขั้นแต่งงานกันก็มี ยอมรับเถอะพวกเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ตกหลุมรักภาพเสมือน/เกือบเสมือนคนจริงที่แสนมีสเน่ห์แต่จับต้องไม่ได้ และเช่นกันกับผู้คนเหล่านี้ การรู้ว่ามีคนอีกมากมายที่สามสัมพันธ์พวกเธออยู่ก็ไม่อาจลดทอนความรักที่มีให้ลงไปได้เลย
ความรักคืออะไร? ความรักเหล่านี้เรียกว่ารักแท้ได้หรือไม่? อะไรคือกรอบที่ใช้นิยามความรัก?
สิทธิ์ในการดำรงค์อยู่ ในฐานะอะไร?
"ถูกนำเข้ามายังโลกใบนี้ เป็นที่ต้องการ"
เป็นคำพูดที่จอยกล่าวกับเคเมื่อทั้งสองได้ค้นพบหลักฐานบางอย่างจากการสืบสวนโครงกระดูกของราเชล Nexus 8 จากภาคแรก และผลชันสูตรบอกว่าเธอได้คลอดลูกก่อนจะเสียชีวิต - หมายความว่ามีมนุษย์เทียมคนหนึ่งที่ได้ถือกำเนิดขึ้นไม่ใช่เพราะถูกต้องการในฐานะสินค้าเพื่อการใช้งานแล้วทิ้ง แต่ในฐานะเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาจากความรักความต้องการของพ่อแม่
เพื่อให้สมฐานะลูกของใครสักคนแล้ว จอยจึงตั้งชื่อให้เคใหม่ว่า "โจ" (ชื่อที่ ironic สิ้นดี)
To be someone's child. To be someone, not a no one
ประมานกลางๆเรื่องของ 2049 เรารู้สึกเหมือนได้เห็นภาพเปรียบเทียบของมนุษย์เทียมว่าพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กกำพร้าที่ไม่ได้รับความรักและไร้ตัวตนในสังคม เด็กเหล่านั้นถูกส่งไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า/โรงงานนรกท่ามกลางกองขยะ ภายใต้อาณัติของนายผู้กดขี่ ถูกใช้ให้ทำงานชั้นต่ำในสังคมที่มนุษย์ในเมืองหลวงไม่ทำ และถูกขายให้กับผู้ที่มาซื้อตามลักษณะที่ผู้ซื้ออยากได้ - ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เทียมของบริษัทวอลเลซที่ถูกสร้างขึ้นแบบ made to order ก่อนจะถูกซื้อขายไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
นายหน้าผู้คุมสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าข่มขู่เด็กๆว่าถ้าหากทำงานให้เขาไม่ได้ก็จะถูกส่งออกไปข้างนอก "การทำงานทำให้พวกมันมีตัวตน" คือสิ่งที่เขากล่าว - ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เทียมที่ถูกปลดระวางเมื่อไม่มีประโยชน์สำหรับมนุษย์อีกต่อไป ไม่ต่างอะไรกับสังคมปัจจุบันที่ทุกคนต้องต่อสู้เพื่อให้มีที่ยื่นในสังคม เรียนให้เก่ง ทำผลงานให้ดี ต้องเป็นที่หนึ่ง เพื่อจะไม่ถูกไล่ออก แต่ต่างกับมนุษย์แท้ มนุษย์เทียมที่หมดประโยชน์จะถูกฆ่า
เช่นเดียวกับเคที่ต้องรักษามาตรฐานเจ้าหน้าที่ฝีมือดีของ LAPD เลิฟเองก็ต้องพยายามรักษาคุณค่าของเธอในสายตาวอลเลซด้วยการเป็นผู้รับใช้ที่ดีที่สุดของเขา มิฉะนั้นเธอคงถูกปลดระวางเช่นกัน แต่เราจะพูดถึงเธอทีหลัง
อนิเมสั้นของชินอิจิโร วาตานาเบะ ได้อธิบายว่ามนุษย์เทียมนั้นไม่ได้ต้องการไปสวรรค์ หากแต่ต้องการดำรงค์อยู่ในโลกโดยมีศักดิ์ศรีเท่ากับมนุษย์แท้ ขณะที่มนุษย์เฝ้าฝันถึงการไปสวรรค์ โลกนี้คือสิ่งเดียวที่มนุษย์เทียมมีอยู่ การได้ค้นพบว่าพวกเขาสามารถสืบพันธุ์ด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องถือกำเนิดจากมนุษย์แท้เป็นผู้สร้างนั้นจะเป็นข้อตอกย้ำสุดท้ายว่าพวกเขาไม่ได้ด้อยกว่ามนุษย์แท้เลยสักนิด เพราะฉะนั้นจึงมีสิทธิ์ในการเป็นนายตัวเองและหลุดพ้นจากการกดขี่ หัวหน้า LAPD ที่ทราบเรื่องนี้ดีเช่นกันจึงสั่งให้เคตามหาเด็กคนนั้นแล้วกำจัดเพื่อดำรงค์ระบบทาสให้คงอยู่ต่อไป
เมื่อทาสไม่ด้อยกว่านายแล้วเหตุใดจึงต้องยอมก้มหัวให้นายอีก?
เครื่องยืนยันถึงการเป็นมนุษย์
ในตอนที่เคเดินทางไปยังแล็ปของ ดร. อนา สเตลลีน นักสร้างความทรงจำให้กับมนุษย์เทียม (อีกหนึ่งฉากที่ได้เห็นว่าโลกในมโนมันน่าอยู่กว่าความจริงอันแห้งแล้งเพียงไร ภาพลวงตานั้นสวยงามเสมอ) สิ่งที่ได้เห็นต่อไปนั้นค่อนข้างน่ายอดเยี่ยมทีเดียวในการเล่าเรื่อง เคต้องการพิสูจน์ว่าความทรงจำที่เขามีนั้นเป็นสิ่งที่สังเคราะห์ขึ้นจากในแล็ปเหมือนมนุษย์เทียมคนอื่นๆหรือไม่ ถ้าหากเป็นของเทียมแล้วทำไมจึงมีความสอดคล้องกับหลักฐานที่เขาพบจากโลกภายนอก?
สเตลลีนบอกว่าเธอมอบแต่ความทรงจำดีๆให้มนุษย์เทียมเท่านั้น เพื่อชดเชยแก่ชีวิตจริงแสนบัดซบของพวกเขา เท่านี้ก็ยิ่งทำให้ยิ่งสงสัยเข้าไปใหญ่ว่าความทรงจำของเคนั้นเป็นของจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นมนุษย์เทียมแล้ว แทนที่จะมีความทรงจำอันสวยงามแล้วเหตุใดเขาจึงมีความทรงจำสุดบัดซบเกี่ยวกับการโดนกระทืบตอนเด็กที่สเตลลีนดูแล้วถึงกับต้องหลั่งน้ำตากัน?
ในจุดที่ดูเหมือนจะคอมเฟิร์มว่าความทรงจำของเคเป็นของจริง เคก็ได้แสดงอารมณ์ที่แท้จริงของเขาออกมาเป็นครั้งแรก ทั้งโกรธและผิดหวัง เหมือนมนุษย์ไม่มีผิด ดูแล้วเชื่อสนิทใจว่าเขาใช่ ใช่เขาจริงๆที่เป็นลูกชายของราเชล เด็กที่เกิดจากความต้องการของพ่อแม่ ถูกซ่อนไว้อย่างดี มีความทรงจำที่เป็นของตัวเองจริงๆ เขาเป็นลูกชายของใครสักคน อายุ 28 ปี มีวันเกิดจริงๆที่ไม่ใช่วันที่ผลิต และวันเกิดของเขาคือวันตายของแม่ 06.10.21 เหมือนที่สลักไว้บนม้าไม้ ของเล่นในวัยเด็กของเขา เขาเดินออกมาสัมผัสหิมะขาวโพลนด้วยความรู้สึกที่เปลี่ยนไป
ครั้งแรกที่เคไปเยือนห้องแล็ปของสเตลลีน เขารู้สึกว่าตนเองเป็นเหมือนมนุษย์ รู้สึกเป็นมนุษย์ เพราะมีความทรงจำที่เป็นของจริง เมื่อไม่ได้ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานเขาจึงรู้สึกมีคุณค่ามากกว่าที่เคยคิดว่าตัวเองมี
อะไรที่ทำให้เราเป็นมนุษย์? เพราะมีความทรงจำที่แท้จริง เพราะมีอดีต มีที่มา? เพราะฉะนั้นจึงมีตัวตน?
หากไม่มีตัวตนแล้วจะมีอะไร?
เมื่อเหตุการณ์กลับตาลปัตร เคไม่ใช่ลูกของราเชล ไม่ใช่เด็กที่เกิดมาจากความรัก แต่เป็นเพียงมนุษย์เทียมผลิตจากโรงงานเหมือนตนอื่นๆ ฉากที่ความจริงถูกเปิดเผยว่าทุกสิ่งที่เคเชื่อมามันผิดนั้นนับเป็นฉากที่ทำให้ใจเราแทบสลายไปพร้อมกับเค บทกระชากเคจากจุดสูงสุดกลับลงมาขยี้แบบไม่เหลือชิ้นดี
ฉากที่เคเดินตากฝนในลอสแองเจลิส เนื้อตัวเต็มไปด้วยเลือด สูญสิ้นทุกสิ่ง ไม่มีชื่อ ไม่มีจอย ไม่มีเด็คการ์ด เป็นเพียง KD6-3.7 ที่มาจากโรงงาน เช่นเดียวกับม้าไม้ที่ไม่เคยเป็นเครื่องยืนยันตัวตนเขาจริงๆ บัดนี้จอยที่เคยทำให้เคเป็นคนพิเศษก็ไม่มีอยู่อีกต่อไป แล้วก่อนที่เขาจะมาเป็นเคใน LAPD เขาเคยเป็นใคร? ไม่รู้เลย อาจเป็นแค่มนุษย์เทียมคนหนึ่งที่เผอิญถูกลบความทรงจำแล้วใส่ความทรงจำของลูกสาวของราเชลเข้าไปแทน เพื่อเป็นต่อล่อให้คนที่ตามล่าไขว้เขวก็แค่นั้น
"You look like a good Joe."
ภาพโฮโลแกรมตัวใหญ่ยักษ์ของจอยเวอร์ชั่นโฆษณาสแตนดาร์ดที่ชี้มายังเคซึ่งยืนตัวกระจิ๋วเปียกฝนอยู่บนสะพานเป็นภาพที่สวยงามและน่าเศร้าที่สุดในหนัง ชื่อของ "โจ" ในความเป็นจริงแล้วนอกจากเป็นชื่อที่สอดคล้องกับจอย ยังมีอีกหนึ่งความหมายคือมาจากชื่อ Joe Bloggs เป็นแสลงสำหรับ everyman ในอังกฤษ พอๆกับ John Doe ในแสลงอเมริกัน เป็นการสื่อว่าเคนั้นไร้ตัวตนเพียงใด สรุปแล้วก็แค่ nobody ทั่วๆไป
ถ้าหากไม่เหลือตัวตน แล้วสุดท้ายคนๆหนึ่งจะเหลืออะไร?
คำตอบคงเป็นทางเลือก
ทางเลือกและมโนธรรม
เคยมีคนบอกว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีทางเลือก พระเจ้าไม่เคยบังคับ แต่พระองค์มอบอิสระในการเลือกให้กับมนุษย์ว่าพวกเขาจะเลือกทำสิ่งใด
"การยอมตายเพื่อสิ่งที่ถูกต้องคือจุดสูงสุดของการเป็นมนุษย์"
Dying for the right cause is the most human thing you can do
เป็นประโยคที่กินใจที่สุดในครึ่งท้ายหนัง เคที่ถูกมนุษย์เทียมคนอื่นๆที่กำลังหลบหนีช่วยไว้หลังจากพลาดท่าทำให้เด็คการ์ดถูกบริษัทวอลเลซจับตัวไปได้รับมอบหมายจากผู้นำของมนุษย์เทียมให้ไปสังหารเด็คการ์ดซะเพื่อไม่ให้วอลเลซใช้เด็คการ์ดเป็นตัวนำมาหาพวกเขาได้ แน่นอนว่าเด็คการ์ดจะยอมตายเพื่อให้เรื่องของลูกสาวเขาถูกเก็บเป็นความลับจากทั้งรัฐบาลและบริษัทวอลเลซ แต่สิ่งที่ถูกต้องสำหรับเคกลับต่างออกไป
ถ้าอิสระในการมีทางเลือกเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ การมีมโนธรรมคงเป็นจุดสูงสุดของการเป็นมนุษย์ที่คนๆหนึ่งจะเป็นได้ เคยอมสละชีวิตตัวเองไม่เพียงแค่เพื่อเก็บเรื่องลูกสาวของเด็คการ์ดกับราเชลให้เป็นความลับ แต่ยังช่วยให้เด็คการ์ดมีชีวิตรอดกลับไปพบหน้าลูกตัวเองเป็นครั้งแรก
บทสรุปของ 2049 นำเคกลับมาที่หน้าห้องแล็ปของ ดร. สเตลลีน อีกครั้ง เป็นที่นี่ที่เคได้ค้นพบความเป็นมนุษย์ของตนเองในครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่สองเคกลับมา ที่เขาได้ค้นพบคำตอบที่แท้จริงแล้วว่าความหมายของการเป็นมนุษย์คือสิ่งใด ขณะที่ยืนมองเด็คการ์ดเดินเข้าไปพบลูกสาวของตน
ท่ามกลางหิมะที่โปรยปรายลงสู่ผืนดิน เคได้ให้คำตอบที่ยอดเยี่ยมกับพวกเราทุกคนว่าอะไรคือความหมายที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์
จบบทวิเคราะห์
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณมากๆจริงๆนะคะที่เข้ามาอ่าน นี่เป็นการเขียนรีวิววิเคราะห์เวิ่นเว้อเป็นเรื่องเป็นราวของเราครั้งแรก เบลดรันเนอร์2049 เป็นหนังเรื่องแรกที่เราดูแล้วรู้สึกว่าต้องเขียนให้ได้อ่ะไม่งั้นเสียดาย5555 หนังดีเหลือเกินค่ะ
มาพูดถึงอื่นของหนังกันเนอะ เราชอบมากๆทุกองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นงานภาพที่ดีไซน์ออกมาอย่างสวยงามและได้สร้างเอกลักษณ์ของ 2049 ให้เป็น 2049 ที่ตราตรึงสายตาผู้ชม ไม่ว่าจะฉากเปิดเรื่องด้วยทุ่งโซลาร์เซลล์ที่ทำเอาเรากลั้นหายใจกับความใหญ่ยักษ์อลังการในสเกลแต่เรียบง่ายของมัน ฉากตึกสูงในเมืองและดีไซน์โลเคชั่นที่เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่งของบริษัทวอลเลซ
พูดถึงตัวละคร Neander Wallace
ต้องชมจาเร็ด เลโตที่ทำให้ตัวละครนี้ออกมาได้น่าสนใจและดูมีพลังในฐานะมหาเศรษฐีลึกลับผู้สร้างมนุษย์เทียม Nexus 9 ทั้งที่บทนี้อาจดูไม่ต่างอะไรกับวายร้ายในการ์ตูนช่องเก้าที่โผล่มาใส่กิโมโนชุดนอนร่ายแผนการยึดโลกให้ลิ่วล้อฟังในซีนเปิดตัวครั้งแรก (เอาจริงก็ดูเหมือนคนบ้าค่ะ พูดภาษาคนธรรมดาไม่ได้ ต้องพูดเหมือนจะเอารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เปรียบเทียบมดลูกเป็นทุ่งหญ้าแสนแห้งแล้งงี้ ห้องนั่งเล่นตัวเองเป็นสรวงสวรรค์งี้ ฯลฯ) แต่ชอบสิ่งที่ออกปากเขาเรื่องชีวิตและการหวงแหนชีวิต
สำหรับเราไม่รู้ว่าเรารู้สึกไปเองหรือหนังจงใจให้เป็นแบบนั้น ว่าวอลเลซดูเป็นตัวละครที่ disconnected from reality มาก ไม่ว่าจะดีไซน์ภายในบริษัทที่แปลกสวยงามแปลกประหลาดต่างจากโลกภายนอก การที่เขานั่งอยู่บนจุดสูงสุดของหอคอย หรือการที่ตาเขาบอด เป็นการออกแบบที่ชี้เราไปยังข้อสรุปนี้หรือเปล่า ว่าเขามองไม่เห็นอะไรนอกจากอุดมการณ์ของตัวเอง
Verdict: สด ใหม่ ไม่ซ้ำในบทที่สุ่มเสี่ยงจะคลีเช เอาไปเรยค่ะ50/10
Luv
เลิฟเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เรารู้สึกสนใจแต่น่าเสียดายที่เวลากว่าสองชม.ในหนังก็ยังไม่ให้เราได้โอกาสสำรวจเธอได้มากพอ เราอยากรู้ว่าทำไมเธอถึงต้องร้องไห้บ่อยๆ ถ้าในซีนการเกิดอาจจะเพราะยินดี? หรือเสียใจกับสิ่งที่เกิดมาผิดพลาด? หรือเสียใจที่แผนของเจ้านายไม่เป็นดังหวัง? แต่ในตอนที่เธอฆ่าหัวหน้าโจชินั้นเราไม่เก็ทเท่าไหร่ว่าเธอร้องไห้ทำไม เธออาจจะไม่ได้อยากฆ่า แต่จำเป็น
เลิฟเป็นมนุษย์เทียมที่มีพฤติกรรมเลียนแบบวอลเลซหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการจูบลาเหยื่อที่เธอสังหาร การคิดว่าตนเองอยู่สูงกว่าผู้อื่น บางทีเธออาจจะเหมือนวอลเลซด้วยที่จะเสียสละชีวิต(ของคนอื่น)เมื่อจำเป็น เหตุนั้นกระมังเธอจึงร้องไห้
บางทีเธออาจจะอยากเป็นเหมือนวอลเลซ ในสายตาของเธอวอลเลซคือผู้ที่เป็นมนุษย์ยิ่งกว่ามนุษย์
Deckard
จริงๆก็ไม่มีอะไรจะเขียนเกี่ยวบทเด็คการ์ดในนี้มากเท่าไหร่ เพราะเขาไม่ได้โผล่มาเพิ่มอะไรในเรื่องมากนัก แต่คือปู่ฟอร์ดไง! ปู่ฟอร์ดน่ะ! เขายังคงเท่ หมัดหนัก และให้ข้อคิดสำคัญว่าบางทีความรักของคนเป็นพ่อก็ต้องพร้อมจะเสียสละมากเพียงใดเพื่อให้ลูกปลอดภัย (ดีใจที่ไม่ตาย)
Sapper Morton
นี่มาน้อยมาก แต่แสดงดีมาก บทพูดดีที่สะเทือนไปยันจบเรื่อง ประโยค "You've never seen a miracle." นี่มันศักดิ์สิทธิ์โคตรๆ
นอกจากตัวละครสมทบดีๆกับภาพสวยล้ำแล้ว ซาวด์แทรคประกอบภาพยนต์เรื่องนี้ยังถ่ายทอดออกมาได้เป็นเอกลักษณ์อีกเช่นกัน ถ้ารู้สึกว่าซาวด์มีความ ambience หึ่งๆผ่ามๆเหมือนใน Dunkirk ล่ะก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะคอมโพสเซอร์ของเรื่องนี้คือ Hans Zimmer กับ Benjamin Wallfisch ผู้ทำเพลงประกอบให้ Dunkirk ทั้งคู่ เพราะงั้นมันเลยเหมือนกันราวพี่น้องร่วมท้อง เช่นเดียวกันกับดันเคิร์ก เพลงประกอบของเบลดรันเนอร์ 2049 นั้นไม่เหมือนเพลงซะทีเดียว แต่เรียกได้ว่าเป็นเสียงสะท้อนของโลกในหนัง โลก Industrialism เสียงครางของเครื่องจักรขนาดยักษ์ เสียงความแออัดในนครแอลเอ และเสียงสะท้อนของความตึงเครียดในจิตใจของตัวละคร
สรุปว่าหนังดีมากๆเลยในทุกองค์ประกอบนะคะ เราอยากให้คนไปดูกันเยอะๆนะ เพราะนานๆทีจะมีอะไรที่ลึกซึ้ง งานสวย และโปรดักชั่นสูงขนาดนี้ออกมาให้ดูกัน รับรองไม่ผิดหวังค่ะ ;)
สำหรับบทความนี้ ถ้าชอบก็คอมเม้นไม่ชอบก็คอมเม้นนะคะ ไม่เม้นก็กดปุ่มอะไรให้เรารับรู้ที อยากได้ความเห็น5555 ขอบคุณมากค่า
ทั้งนี้ทั้งนั้น เรายังไม่ได้ดูภาคแรกและหนังสั้นเลยค่ะ ขี้เกียจ 5555
เราชอบวิเคราะห์ของคุณนะคะ อ่านเพลินดี