เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
music to my earstoneless troubadour
Sam Fender อีกหนึ่งเสียงคนรุ่นใหม่ที่เราต้องรับฟัง
  • รู้จักกับศิลปินหนุ่มผู้ขับร้องบทเพลงซึ่งว่าด้วยขีปนาวุธ โรคซึมเศร้า และความสัมพันธ์แบบคู่นอนคืนเดียว

           

           เมื่อว่ากันในเชิงศีลธรรมแล้ว การเลือกจะเพิกเฉยต่อประเด็นปัญหาอันหลากหลายซึ่งกำลังเกิดอยู่ ณ เวลาขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศดูจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก หากเวลาแห่งความเป็นจริงมาถึง การดำเนินชีวิตแบบวันต่อวันโดยไม่ต้องคำนึงถึงหายนะซึ่งคืบคลานมาใกล้ทุกขณะกลับคล้ายจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า เพราะสุดท้ายแล้วคำกล่าวซึ่งสืบทอดกันต่อ ๆ มาว่า “ไม่รู้อะไรก็สบายใจดี” นั้นอาจจะจริงกว่าที่ใครก็อยากยอมรับ

          มีหลายสิ่งที่ทุกคนรู้แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง Sam Fender ศิลปินหนุ่มจาก Tyneside กลับหยิบปากกาของเขาขึ้นมา สะพายกีต้าร์ (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ยี่ห้ออื่นใดนอกจาก Fender) แล้วเริ่มพรรณนาถึงบรรดานักการเมืองจอมกระหายที่คอยจ้องมองเราอยู่ทุกความเคลื่อนไหว แน่นอนว่าคนเหล่านั้นย่อมไม่ใส่ใจว่าใครจะเป็นตายร้ายดี “Play God” คือบทเพลงแรกของเขาซึ่งเรียกความสนใจได้จากวิทยุและสื่อเจ้าใหญ่ระดับประเทศด้วยทำนองของดนตรีร็อกซึ่งเปี่ยมไปด้วยจังหวะอันหนักหน่วงที่หลายคนมองว่าหายไปจากดนตรีกระแสหลักอยู่นาน ชายหนุ่มในวัย 23 กลายเป็นที่จับตามองจากสื่อหลากสำนักว่าเขาอาจเดินตามรอย Bruce Springsteen ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างผลงานทางดนตรีก็เป็นได้

           

           แม้จะคว้ารางวัลนักวิจารณ์จากเวที Brit Awards Critics’ Choice ปี 2019 มาแล้ว เจ้าตัวกลับไม่คิดว่าตัวเองจะมีวันไปถึงจุดนั้น Fender มองว่าดนตรีของเขายังไม่อาจเทียบชั้นกับรุ่นใหญ่ในเร็ววันนี้ และค่อนข้างมั่นใจอยู่พอตัวทีเดียวว่าเมื่ออัลบั้มเต็มวางขายสู่ตลาดแล้ว นิตยสารเพลงเจ้ายักษ์อย่าง Pitchfork จะสับให้ไม่เหลือชิ้นดี ท้ายที่สุดแล้ว เขาพึงพอใจที่จะเป็นตัวเองมากกว่าการยอมเอาใจนักวิจารณ์สายอาร์ต และในขณะที่การเซ็นสัญญากับค่ายยักษ์อย่าง Polydor ผู้ปลุกปั้นศิลปินขวัญใจมหาชนอย่าง Coldplay และ Ellie Goulding จะทำให้เขาอาจถูกมองว่าเป็นเพียงอีกหนึ่งศิลปินกีต้าร์ป็อป Fender ก็พร้อมแล้วที่จะใช้ช่องทางดังกล่าวในการจุดประเด็นบทสนทนาหนัก ๆ ผ่านตลาดดนตรีกระแสหลัก


            “Dead Boys” เอื้อนเอ่ยถึงอารมณ์อันเปราะบางของเหล่าบุรุษซึ่งบางทีอาจไม่ใช่สิ่งที่ใครจะคุยกันบนหน้าปัดวิทยุอย่างสบาย ๆ ประสบการณ์สูญเสียคนรู้จักไปให้ยมฑูตในนามของการกระทำที่เราเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า “ฆ่าตัวตาย” ส่งให้เขาระบายความอัดอั้นผ่านเสียงเพลง และนั่นทำให้หลายคนต้องกลับมาฉุกคิดในเรื่องนี้ ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความอ่อนแอ ตรงกันข้าม เสียงร้องอันแหบกร้าวของเด็กหนุ่มจาก North Shields ได้กลายเป็นหลักฐานประจักษ์แล้วว่าต้องอาศัยความกล้าหาญอยู่ไม่ใช่น้อยกว่าเราจะยอมรับและพูดถึงประเด็นอ่อนไหวนี้ออกมาดัง ๆ ได้ ในขณะเดียวกัน “Greasy Spoon” ก็ทำให้ได้เห็น Fender ในบทบาทของสตรีเพศชนชั้นแรงงาน เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าวัยรุ่นสามารถเปล่งเสียงเพื่อแสดงออกได้มากกว่าแค่อารมณ์ตัณหา หรือความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะกระดกเหล้าลงคอแล้วออกไปสนุกสุดเหวี่ยง ถึงแม้นั่นจะเป็นแก่นหลักของเพลง “Will We Talk?” ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ในค่ำคืนเดียวจากอิทธิพลของน้ำเมาที่มีต่อหนุ่มสาวคู่หนึ่งก็ตาม บางทีนั่นอาจเป็นเพลงที่เหมาะกับการเปิดผ่านลำโพงให้ดังกระหึ่มขณะเต้นอย่างเงอะงะอยู่ในสถานที่อึกทึกที่สุดแล้วก็เป็นได้ (ใช่แล้ว ข้อความท่อนนี้ตั้งใจส่งตรงให้ถึงขาปาร์ตี้สายร็อกแอนด์โรลโดยเฉพาะ)

            เมื่อต้องถึงเวลายอมรับความจริง “Millennial” ก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาของวัยรุ่นที่แม้แต่เขาก็ไม่อาจหนีได้ มันแทบเป็นไปได้ยากที่คนส่วนใหญ่ในสมัยนี้ี่จะไม่เสพติดโซเชียลมีเดียหรือบ้าดารา แน่นอนว่าแม้วัฒนธรรมบูชาคนมีชื่อเสียงจะดูเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ปัญหานี้จะยังกัดกร่อนสภาวะการค้นหาอัตลักษณ์ของปัจเจกชนไปอีกนาน “Poundshop Kardashians” คือการตบหน้าอุตสาหกรรมบันเทิง เพราะการจะแยกแยะคนดังออกจากบุคคลที่คู่ควรแก่การยึดเป็นแบบอย่างไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายอีกต่อไป ปฏิเสธไม่ได้ว่า Fender มีใบหน้าที่เหมาะกับนิตยสารแฟชั่นจนทำให้เจ้าตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญหนุ่มชุดสูทของ Topman หรือมีโอกาสฝากผลงานการแสดงบนจอแก้วมาก่อน แต่เขาเลือกจะชูนิ้วกลางให้กับเหล่าคนงามสมองกลวงแล้วถ่ายทอดความเกรี้ยวกราดลงไปในบทเพลงนี้แทน

           สุดท้ายแล้ว Sam Fender ถือเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่กล้าจะพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขารู้ดีกว่าใครอื่น “Hypersonic Missiles” อาจกำลังวิพากษ์วิจารณ์สังคมยุคโลกาภิวัฒน์อันโกลาหลซึ่งตนกำลังเป็นสักขีพยานความวุ่นวายเหล่านั้นอยู่ อย่างไรก็ดีเมื่อท้ายที่สุดของวันแล้ว เช่นเดียวกับอีกหลายคนบนโลก สิ่งที่เขาทำอาจเป็นเพียงการหันหน้ามองไปทางอื่นแล้วนึกถึงแค่เรื่องของตัวเอง แน่นอน เขาเข้าใจถึงความโลภและอารมณ์โกรธ แต่เมื่อเพลงนี้ดำเนินไปท่ามกลางการผสานจังหวะเข้าด้วยกันระหว่างกลองและแซ็กโซโฟนแล้ว นี่อาจเป็นสิ่งที่เข้าใกล้กับคำว่า “เพลงรัก” มากที่สุดซึ่งนักร้องหนุ่มวัย 23 รายนี้จะสามารถทำได้

         ในบรรดานักร้องรุ่นใหม่ซึ่งอาจได้รับความนิยมจากเนื้อเพลงอันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ถวิลหาหรือโศกาจากอาการอกหักอย่าง Lewis Capaldi เพื่อนซี้ของ Fender (รวมถึงควบตำแหน่ง “ผู้พ่ายแพ้รางวัล Brit Awards Critics’ Choice” ตามที่ทั้งสองเรียกกัน) หรือแก๊งหนุ่มห้าวเป้งผู้มาพร้อมกับฝีปากอันเปี่ยมไปด้วยวาทศิลป์อย่าง Fontaines D.C. ที่พร้อมใจจะแหกขบถเพลงกระแสหลักและทลายกำแพงวัฒนธรรมของชาว Dublin ให้โลกได้เห็นแล้ว Sam Fender อาจเป็นความภาคภูมิใจจาก Newcastle ที่พร้อมจะยืนตระหง่านอยู่กึ่งกลางระหว่างสองขั้ว นำดนตรีร็อกฟังง่ายจังหวะติดหูเคล้ากับเนื้อเพลงชนิดต่อยหมัดฮุกให้ผู้ฟังวัยเยาว์ได้ฉุกคิดโดยไม่ทันตั้งตัว และหากเวลานั้นมาถึงแล้ว พลังดนตรีของคนหนุ่มรุ่นใหม่อาจขับให้สาธารณชนพร้อมจะถกกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวอย่างจริงจังในวงกว้างขึ้นก็เป็นได้


    อ้างอิงข้อมูลจาก
    "Sam Fender Wins Critics' Choice Award!". BRIT Awards.
    "Sam Fender". Polydor.
    "Could Sam Fender Be the British Bruce Springsteen?". Rolling Stone.
    "Sam Fender might have stolen your lightsaber... | Osheaga 2019 | Stingray PausePlay". Stingray Music.
    "Sam Fender on harnessing that sound, that voice and his generation"Gigwise.
    "Changing The Record: How Music’s Newest Star Is Encouraging Lads To Talk Mental Health". LADbible.
    "Sam Fender: ‘I don’t want to cling on to the “class hero” thing’ ". The Guardian.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in