เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Scattered thoughtssugaffeinated
อนาคต ความฝัน และความหวังที่ถูกกดทับ: BTS กับภาพสะท้อนของสังคม
  • *งานเขียนชิ้นนี้เป็นงานที่เขียนส่งเป็นงานไฟนอลตอนเรียนปีสี่ อาจจะไม่ดีมากแต่ยังก็อยากลงเก็บเอาไว้อ่านเล่นค่ะ55555 ขอบคุณสำหรับทุกคนที่ตั้งใจและหลงเข้ามาอ่านนะคะ :-)

    อนาคต ความฝัน และความหวังที่ถูกกดทับ: BTS กับภาพสะท้อนของสังคม

    คำส้ันๆ ดูล่องลอยอย่าง ‘ศิลปะ’ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่และสำคัญต่อการแสดงออกในหลายยุคหลายสมัย ‘ศิลปะ’ ถูกนำมาใช้เป็นภาพแทนการแสดงออกในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางด้านสังคม ศาสนา หรือเรื่องราวส่วนตัวอย่างความรักความเกลียดชัง ถ้าพูดถึงเวลาในยุคสมัยปัจจุบันแล้วนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าศิลปะแขนงที่ได้รับความสนใจและเข้าถึงได้ง่ายที่สุดก็คือบทเพลงและภาพยนตร์ ดนตรีกลายมาเป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุดในการช่วยให้ปัจเจกบุคคลในสังคมได้แสดงออกถึงความรู้สึกและความคิดส่วนลึก อีกทั้งยังมีไม่น้อยที่ใช้ดนตรีและบทเพลงก้องประกาศในสังคมภายนอกได้รับรู้ถึงปมปัญหาที่มีต่อการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี

    แนวดนตรี ‘ฮิปฮอป’ ก็เป็นประเภทดนตรีหนึ่งที่ตอบโจทย์และเป็นเครื่องมือในการแสดงออกด้านปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี ดนตรีประเภทนี้มีจุดกำเนิดมาจากกลุ่ม African American ที่เป็นเหมือนคนกลุ่มน้อยในสังคม การโดนกดขี่และถูกเอาเปรียบจากชนชั้นผู้มีอำนาจและสังคมที่เมินเฉยได้ถูกแสดงออกผ่านบทเพลงและศิลปะเฉพาะตัวที่เรียกว่าการ ‘แร๊พ’ ที่ในปัจจุบันได้รับความนิยมไปท่ัวทุกมุมโลกและถูกพัฒนาให้กลายเป็นแนวดนตรีที่มีความหลากหลายมากขึ้นมากกว่าเรื่องประเด็นทางสังคมหรือการเมือง

    ถ้าหากจะพูดถึงดนตรีแล้วนั้นในปัจจุบันประเทศเกาหลีได้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ก้าวเข้าไปมีบทบาทสำคัญในวงการดนตรีและศิลปะหลายแขนง กระแสแนวดนตรีที่คุ้นหูและติดปากกันดีในกลุ่มบุคคลทั่วไปอย่าง K-POP ก็เป็นอีกหนึ่งคลื่นลูกใหญ่ที่น่าจับตามองและสาดถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งของหลายๆ ประเทศอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมารวมทั้งประเทศไทย นอกเหนือจากดนตรี Pop ที่ฟังง่ายแล้วนั้น วงการดนตรีเกาหลีเองก็ยังเต็มไปด้วยแนวเพลงอีกหลากหลายรวมทั้งที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง ฮิปฮอป รวมไปถึงอาร์แอนด์บี กระแสฮิปฮอปในเกาหลีมีความเข้มข้นขึ้นในทุกขณะแต่น้อยนักที่กระแสนั้นจะได้รับการหยิบยกมาอย่างเต็มรูปแบบเพื่อนำเสนอผ่านวงการเพลงกระแสหลักหรือที่เรียกกันว่า ‘สื่อบนดิน’ อย่างวงการไอดอลที่คุ้นตากันดี 

    ‘บังทันโซนยอนดัน (방탄소년단)’ หรือ BTS เป็นกลุ่มนักร้องไอดอลเกาหลีในสื่อกระแสหลักที่เลือกหยิบยกความเป็น ‘ฮิปฮอป’ มานำเสนอและสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางสังคมที่สื่อส่วนใหญ่เลือกที่จะมองข้าม - ความกดดันในวัยรุ่น การค้นหาตนเอง หรือแม้กระทั่งเรื่องของปัญหาสุขภาพจิต - ดั่งเช่นคำแปลของชื่อวงที่แปลว่า ‘เสื้อเกราะกันกระสุน’ ที่นอกจากจะปกป้องกลุ่มผู้ฟังหรือเหล่าเยาวชนจาก ‘กระสุนอคติ’ ที่มีต่อดนตรีหรือ ‘กระสุนแรงกดดัน’ จากสังคมแล้วนั้นเกราะก็ยังสามารถทำการ ‘สะท้อน’ ให้เห็นถึงความรุนแรงของการโจมตีจากสิ่งเหล่านั้นผ่านการบรรยายเรื่องราวในเนื้อเพลงได้ด้วยเช่นกัน 

    Be Yourself: ตัวตนที่ถูกกัดกร่อนทำลายโดยสังคมและการคาดหวัง
    สิ่งแรกที่เกราะกันกระสุนที่มีชื่อว่า ‘บังทันโซนยอนดัน’ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนมาตลอดคือเรื่องราวของเยาวชนและตัวตนที่ถูกกดทับไว้จากอำนาจสังคม คำว่า ‘อำนาจ’ ฟังแล้วอาจทำให้จินตนาการไปถึงสิ่งที่รุนแรงยิ่งใหญ่ เช่น กฎหมายหรืออำนาจรัฐ แต่แท้ที่จริงแล้วนั้น ‘อำนาจ’ นั้นลอยรอบอยู่เหนือตัวปัจเจกทุกคนผ่านความคาดหวัง - จากสังคมหรือแม้กระทั่งครอบครัว - ขนบจารีตประเพณีหรือสิ่งที่ดูธรรมดาที่สุดที่ปัจเจกล้วนแล้วแต่ต้องผ่านพ้นอย่างระบบการศึกษาซึ่งกลายเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดสำหรับเยาวชนประเทศเกาหลี

    กลุ่มก้อนควันของอำนาจก้อนหนาที่คอยกดทับเหล่าเยาวชนเกาหลีมาในรูปแบบของ ‘การสอบซูนึง’ หรือก็คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวที่ชื่อว่าซูนึงกลายเป็นสิ่งตัดสินชะตาชีวิตของเหล่าเยาวชนเพราะการสอบนี้มีแค่ครั้งเดียวในรอบปี อุ้งมือของระบบการศึกษาบีบรัดให้พวกเขาต้องเตรียมตัวกันอย่างหนักเพื่อรักษาความคาดหวังที่มาจากพ่อแม่ผู้ปกครองหรือแม้กระทั่งสายตาจากสังคมภายนอกที่คอยตัดสินอยู่เสมอ ผู้ที่ร่วงหล่นก้าวไม่ผ่านพ้นไม่มีอะไรเลยจะมารองรับ ไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่มีมหาวิทยาลัยเปิด พวกเขาต้องกัดฟันทนเพื่อเริ่มต้นใหม่และทำให้สำเร็จให้ปีถัดไป ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ว่าไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จเมื่อไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยนั้นใครๆ ก็รู้ดี ยิ่งตระหนักรับรู้ก็ยิ่งทำให้อำนาจและแรงกดดันเหล่านั้นมีพลังเหนือเยาวชนเกาหลีทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแล้วการหยิบยกประเด็นที่สำคัญและรับรู้เข้าใจกันโดยทั่วในหมู่เยาวชนอย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัยและอำนาจความกดดันของสิ่งเหล่านั้นมาพูดถึงโต้ตอบกลับสังคมจากมุมมองของเยาวชนเองจึงกลายเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับวงการนักร้องไอดอลที่ถูกมองว่านำเสนอแต่ความบันเทิงเริงใจไร้สาระ

    ถ้าหากเปรียบเทียบกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นแล้วนั้นก็ไม่ต่างอะไรเลยกับมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องก้าวเดินผ่านเหยียบย่ำหลากหลายสภาพพื้นดินและสิ่งโดยรอบด้วยเท้าเปล่า พวกเขาต้องเดินผ่านทั้งดินที่ขรุขระเต็มไปด้วยกรวดหินทิ่งแทงฝ่าเท้า ป่ารกที่เต็มไปด้วยเถาวัลย์คอยดึงรั้งในจังหวะก้าวเดิน รวมไปถึงผืนดินราบเรียบที่พอให้ฝ่าเท้ารวมไปถึงบุคคลผู้นั้นพอได้พักผ่อนใจ วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องแบกรับ ‘ความคาดหวัง’ ทั้งจากคนอื่นและความคาดหวังที่มาจากตนเอง - หวังที่จะทำให้ได้ดั่งที่สังคมต้องการ - จนกลายเป็นว่าไม่สามารถทำอะไรดังที่ใจจริงแท้ของตนเองต้องการได้ ซ้ำร้ายที่สุดคือการที่ไม่สามารถจะทำได้แม้กระทั่งเดินตามเส้นทางที่ตนเองอยากจะเลือกเดิน การมีอยู่ของ ‘อำนาจ’ เปลี่ยนผันสลายกลายเป็นคำว่าครอบครัวหรือผู้ปกครองแทนที่จะเป็นอำนาจจากรัฐหรือกฎหมายเหนือหัว สิ่งเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของแต่ละบุคคลมากกว่าอำนาจยิ่งใหญ่จากรัฐหรือคำสั่งลงโทษทัณฑ์ใดๆ เสียอีกเนื่องจากการมีอยู่ของอำนาจเหล่านี้นั้นใกล้ตัวและถูกทำให้กลายเป็นเหมือนเรื่องปกติธรรมดา - ช่างแสนธรรมดาที่เหล่าผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจจะคาดหวังและกำหนดบทบาทต่างๆ ให้เหล่าวัยรุ่นเยาวชน - จนยากเสียเหลือเกินที่เหล่าผู้ถูกคาดหวังจะก้าวข้ามและเงยหน้าหลุดพ้นจากแรงอำนาจกดดันเหล่านี้ 

    บังทันโซนยอนดันเองได้นำเสนอประเด็นในเรื่องเยาวชนและการถูกตีกรอบจากอำนาจสังคมมาอย่างต่อเนื่องทั้งในมินิอัลบั้มแรกอย่างเพลง ‘No More Dream’ และเพลง ’N.O.’ ในมินิอัลบั้มที่สองถัดมา อำนาจและแรงกดดันจากสังคมถูกสะท้อนผ่านการเล่าเรื่องในเนื้อเพลง เมื่อผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็น ‘อำนาจ’ ที่เข้ามาตีกรอบและบังคับให้ทำตามถนนเส้นทางที่ขีดเขียนกำกับไว้โดยไม่ถามความสมัครใจของเหล่าเยาวชน 

    โดยในเพลง ‘No More Dream’ ไม่เพียงแต่พูดถึงกรอบกำหนดที่ถูกสร้างขึ้นโดยอำนาจความคาดหวังเพียงอย่างเดียวแต่ยังพูดไปถึงการที่การดำเนินชีวิตประจำวันในแต่ละวันนั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกบังคับและตีกรอบให้ทำแต่ละสิ่งอย่างด้วย “ความจำเจ” และ “ซ้ำซาก” เพื่อให้อยู่ภายใต้คำว่า ‘เหมาะสม’ ในสายตาของบุคคลอื่นและให้เป็นไปตามจารีตหรือขนบที่สังคมเคยปฎิบัติและถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำตามโดยไม่ฉุกคิดแม้แต่จะกลับมาตั้งคำถามว่า จริงหรือ? ที่ว่าสิ่งที่ถูกปฏิบัติต่อกันมาแต่ละช่วงยุคสมัยนั้นคือความดีงามที่สมควรทำ การที่ปล่อยให้ “ความเคยชิน” หรือขนบการใช้ชีวิตเหล่านั้นมากำหนดท้ายที่สุดแล้วนั้นก็ไม่ต่างอะไรเลยกับนักโทษที่ถูกลงโทษทัณฑ์กำจัดเนื้อที่ในการขยับร่างกาย

    “‘Deduction’ has tended to be no longer the major form of power but merely one element among others, working to incite, reinforce, control, monitor, optimize, and organize the forces under it: a power bent on generating forces, making them grow, and ordering them, rather than one dedicated to impeding them, making them submit, or destroying them.” (1978: 136)

    เนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวของการปฏิเสธและความไม่ชอบใจทำหน้าที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าแท้จริงแล้วนั้นอำนาจที่กดทับและคอยชักจูงให้เดินไปตามเส้นทางขนบของสังคมที่ไม่ได้เลือกเองเหล่านี้ทำให้พวกเขาสูญเสียมากกว่าที่จะได้รับอะไรกลับมา - สูญเสียแม้กระทั่งแก่นแท้ของตัวตน

    왜 자꾸 딴 길을 가래 야 너나 잘해

    제발 강요하진 말아줘
    지겨운 same day, 반복되는 매일에

    어른들과 부모님은
    틀에 박힌 꿈을 주입해

    ทำไมคุณต้องเอาแต่บอกให้ผมไปทางอื่น ดูแลตัวของคุณเองให้ดีเถอะ
    ได้โปรดอย่ายัดเยียดมัน
    เติบโตขึ้นอย่างเหนื่อยล้าในวันที่จำเจ กิจวัตรประจำวันที่ซ้ำซาก
    ผู้ใหญ่และพ่อแม่ปลูกฝังความฝันของคุณในกรอบที่บิดเบี้ยวคร่ำครึ
    (No More Dream - BTS)

    ยิ่งไปกว่านั้นในเพลง ’N.O.’ บังทันโซนยอนดันเองได้กล่าวสะท้อนถึงอำนาจของระบบการศึกษาและผู้ใหญ่ในสังคมอย่างตรงไปตรงมา อำนาจที่ทำให้วัยรุ่นต้องก้มหน้ายอมรับอย่างไม่มีทางเลือก ระบบการศึกษาไม่ได้เป็นแค่คำสั้นๆ ธรรมดาที่ลอยฟุ้งในอากาศอีกต่อไปแต่มันกลับกลายเป็นป้ายห้อยติดตัวแต่ละบุคคลเพื่อให้สังคมตีมูลค่าราคาและคุณค่าในตัวของบุคคลนั้นๆ การศึกษากลายเป็นสิ่งที่ใช้วัดว่าใครอยู่เหนือกว่าใคร คุณค่าของปัจเจกไม่ได้ถูกตัดสินด้วยแก่นแท้ตัวตนอีกต่อไปแต่หากถูกตัดสินให้ ‘อยู่’ หรือ ‘ตาย’ ในสังคมด้วยป้ายราคาที่ผ่านการตีมูลค่ามาจากการศึกษาและสถานะทางอาชีพ ทุกคนในสังคมต่างถูกหลอมรวมให้กลายเป็นแผ่นเดียวกันในชุดความคิดที่ว่ายิ่งเรียนสูงเท่าไหร่มูลค่าในตัวเราจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น การศึกษากลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนต้องฝ่าฟันและไขว่คว้ามา โดยลืมคำนึงถึง ‘ความเป็นตัวตน’ ที่แท้จริงของตนเองหรือลืมแม้กระทั่งว่าแท้จริงแล้วนั้นตนเองมีความสุขกับเรื่องอะไรบ้าง มนุษย์ปัจเจกกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกอำนาจเหล่านี้บังคับให้ปฎิบัติตามทางอ้อมโดยไม่มีทางเลือก ขนบจารีตสังคมและอำนาจที่แฝงมากลายเป็นแผงวงจรอยู่ภายในตัวเราทำหน้าที่ไขลานขับเคลื่อนแต่ละหุ่นยนต์ปัจเจกให้ใช้ชีวิตไปในแต่ละวัน

    우릴 공부하는 기계로 만든 건 누구?

    일등이 아니면 낙오로 구분
    짓게 만든 건 틀에 가둔 건

    어른이란 걸 쉽게 수긍
    할 수밖에 단순하게 생각해도 약육강식 아래

    ใครกันนะคือคนที่ทำให้เราต้องกลายเป็นเครื่องจักรการศึกษา?
    พวกเขาแบ่งแยกเราว่าจะเป็นที่หนึ่งหรือเป็นไอ้ขี้แพ้
    พวกผู้ใหญ่ได้สร้างกรอบนี้ขึ้นมาและเราติดอยู่กับมัน
    มันไม่มีทางเลือกแต่ก็ต้องยอมรับมัน
    (N.O. - BTS)

    จากเนื้อเพลงจะเห็นได้ว่าสังคมและขนบจารีตปฎิบัติกลายมาเป็นแรงกดทับเหล่าเยาวชนปัจเจกไปเสียอย่างนั้นแทนที่จะเป็นแรงขับเคลื่อน ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองกลายเป็นผู้ยัดเยียดและตัดสินการอยู่หรือเป็นของเหล่าเยาวชนโดยไม่ต้องพึ่งพิงกฎหมายไปโดยที่ไม่รู้ตัว ความคาดหวังกลายเป็นสิ่งที่ชวนให้กระอักกระอ่วนและบีบคั้นแทนที่จะเป็นแรงผลักดัน ‘อำนาจ’ ที่กดทับสำหรับเยาวชนแล้วนั้นหาใช่มาในรูปแบบของกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มาในรูปแบบของผู้ปกครอง ระบบการศึกษาและสังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างหาก พวกเขาต่างถูกตัดสินไม่เว้นแต่ละวันว่าเป็นแบบนั้นหรือเป็นแบบนี้โดยสายตาของคนภายนอกและเส้นแบ่งขีดที่มาจากสิ่งที่มองไม่เห็นอย่าง ‘ความเหมาะสม’ และ ‘สิ่งที่ดีงาม’ ที่ถูกยกยอปอปั้น ตราบใดที่กลไกสังคมและแรงกดทับจากผู้ปกครองยังคงมีอำนาจ ‘เหนือชีวิต’ ที่แต่ละเยาวชนปัจเจกจะเลือกเดิน ท้ายที่สุดแล้วนั้นแต่ละบุคคลก็ไม่ต่างอะไรเลยจากหุ่นยนต์ที่กลวงโบ๋ไร้ซึ่งแก่นแท้ของชีวิต

    Gold Spoon? Silver Spoon? นกกระสากับนกกระจอก
    โลกในปัจจุบันนี้ไม่ต่างอะไรเลยกับสนามประลองที่ต้องเอาตัวรอดไปในแต่ละวัน ไม่เพียงแค่อำนาจสังคมเท่านั้นที่เข้ามามีบทบาทแต่แม้กระทั่งแต่ละปัจเจกด้วยกันเองก็ยังต้องต่อสู้แย่งชิงเหยียบย่ำกันและกันเพื่อให้ได้ยืนอยู่ในที่ที่สูงกว่าและหายใจสะดวกมากกว่า ประเด็นในเรื่องชนชั้นทางสังคมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนผ่านเกราะป้องกันวาววับของศิลปินกลุ่มนี้ ตัวแทนของชนชั้นถูกแทนที่ด้วย ‘นกกระจอก’ และ ‘นกกระสา’ ในเพลง ‘Crow Tit’ โดยนกกระจอกนั้นแสดงถึงกลุ่มคนที่ไร้ซึ่งอำนาจจะต่อสู้กับนกกระสาที่เป็นตัวแทนของชนชั้นปกครองหรือชนชั้นที่อยู่สูงกว่า(หรือที่สำนวนแบบไทยๆ ก็คือพวกคาบช้อนเงินช้อนทองมาแต่เกิด) โดยที่มาของนกกระจอกและนกกระสามาจากสำนวนของเกาหลีที่ว่า “뱁새가 황새 따라가자면 가랑이가 찢어지지” ที่แปลได้ความว่า ‘ถ้านกกระจอกเดินเหมือนนกกระสาขาจะหักเอาได้’

    อ่านเพียงแค่ตัวสำนวนเกาหลีก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตัวสำนวนนั้นเต็มไปด้วยน้ำเสียงที่สะท้อนและเน้นย้ำในเรื่องเส้นแบ่งระหว่างชนชั้น การยัดเยียดความคิดที่ว่าอยู่แห่งไหนก็จงทำตัวแบบนั้นอย่าได้พยายามเปลี่ยนแปลงก็ไม่ต่างอะไรเลยสักนิดกับการกดคอให้ก้มหน้ายอมรับระบบอำนาจชนชั้นของสังคมโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถามหรือฉุกคิด การเลือกใช้สำนวนที่เป็นที่รู้จักมา ‘เล่น’ และ ‘หยอกล้อ’ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการที่สังคมตั้งใจยัดเยียดแนวคิดแบ่งแยกอันน่ากระอักกระอ่วนและสะอิดสะเอียนนี้ผ่านตัวบทเนื้อเพลงไม่เพียงแค่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกยุคสมัยแต่ยังสะท้อนย้อนกลับไปโจมตีและตั้งคำถามถึงแนวคิดดั้งเดิมในสำนวนนั้นว่าการที่ปลูกฝังระบบชนชั้นแบบนั้นมันถูกต้องแล้วหรือ การ(ตั้งใจ)คงอยู่ไว้ซึ่งความแตกต่างระหว่างผู้คนและความเป็นอยู่น้ันดีแล้วหรือ

    룰 바꿔 change change
    황새들은 원해 원해 maintain
    그렇게는 안 되지 BANG BANG
    이건 정상이 아냐
    이건 정상이 아냐

    ไปเปลี่ยนกฎซะใหม่นะ
    ก็พวกนกกระสาน่ะ อยากเก็บอะไรแบบนี้ไว้ไงล่ะ
    นั่นมันไม่ได้เรื่องเลยเถอะ
    มันไม่ใช่เรื่องปกตินะ
    ไม่ใช่เลย
    (Crow Tit - BTS) 

    ตัวเนื้อเพลงยังทำการนิยามตัวผู้ร้องเองว่าเป็น ‘นกกระจอก’ อย่างไม่ปิดบังโดยการกล่าวว่า ‘They call me แบบแซ [นกกระจอก]’ คำว่า ‘They’ ที่ไม่ได้มีการเจาะจงชัดเจนว่าเป็นใครหรือกลุ่มคนไหนทำให้สามารถมองได้อย่างกว้างๆ หลายมุมมอง การให้คำนิยามตัวเองเช่นนี้กลายเป็นผลดีต่อเพลงและตัวศิลปินเองในการใช้เป็นกลยุทธ์ครอบครองความคิดของผู้ฟังให้รู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกได้ว่ากำลังแบ่งปันประสบการณ์เดียวกัน รวมไปถึงตัวผู้ฟังก็ยังสามารถ ‘นิยาม’ ตนเองลงไปในเนื้อเพลงที่กำลังเล่าถึงเรื่องราวได้ง่ายขึ้นเมื่อการถูกกีดกันและขีดเส้นแบ่งระหว่างประชาชนกลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนปกติและสามารถเข้าใจได้โดยทั่วกัน

     แต่หากจะถอยห่างออกมามองภาพรวมโดยไม่ได้พิจารณาถึงกลุ่มผู้ฟังกลุ่มไหนเจาะจงพิเศษแล้ว คำว่า ‘They’ และ ‘นกกระจอก’ อาจสะท้อนให้เห็นถึงทั้ง 1.) ในมุมมองของวงการบันเทิงที่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นธุรกิจโลกทุนนิยมไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อผลกำไรกลายเป็นสิ่งที่อยู่เหนือสุดที่ทุกคนไขว่คว้าหา ความจริงที่ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าการเป็นศิลปินภายใต้ค่ายเพลงเล็กและศักยภาพทางการเงินที่ไม่แข็งแรงพอก็ไม่อาจจะสู้ค่ายเพลงที่มีชื่อเสียงและมีก้อนเงินสนับสนุนได้ในโลกของการแข่งขัน ตัวศิลปินที่ตั้งใจนิยามตนเองให้เป็นนกกระจอกอย่างไม่ปิดบังหรือขลาดอายในตัวตนของตนเองนั้นแสดงให้เห็นถึงความพยายามดิ้นรนที่จะเอาชนะและทำลายแนวคิดเดิมๆ ของสังคม การปฎิเสธต่อต้านถูกเปล่งเสียงออกมาอย่างเกรี้ยวกราดผ่านการให้นิยามตนเองว่าเป็นกลุ่มคนที่ต่ำต้อยกว่าของกลุ่มศิลปิน พวกเขาตั้งใจแทนความหมายให้กับการเป็นศิลปินภายใต้ค่ายเพลงหรือบริษัทเล็กๆ ว่าไม่ต่างอะไรเลยกับการเป็นนกกระจอกตัวเล็กจ้อยกำลังพยายามต่อสู้อยู่บนผืนแผ่นท้องฟ้ากว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยคู่แข่งอีกหลากหลายและลมพายุโหมกระหน่ำ - ลมพายุของคำดูถูก เหยียดหยามและการใส่ร้ายป้ายสี - เพื่อให้เห็นถึงการพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนให้อยู่รอดในโลกของการแข่งขัน การแสวงหาผลประโยชน์และการที่ต้องพยายามเอาชนะคนอื่นๆ การต่อสู่เหล่านั้นถูกพู่กันตัวอักษรวาดภาพออกมาในรูปของนกกระจอกที่พยายามจะเดินตามเหล่านกกระสาหรือคู่แข่งที่ได้เปรียบกว่าและเหนือกว่าให้ทัน แม้ว่าขาจะพันกันแทบขวิดหรือทำให้บาดเจ็บเจียนตายแค่ไหนก็ตาม 

    และ 2.) ในมุมมองของผู้คนทั่วไปที่ถูกแบ่งเป็นชนชั้นตามลักษณะอาชีพและมูลค่าแรงงานที่ถูกตีความออกมา ผู้คนที่อยู่ในชนชั้นที่ไม่อาจจะเปล่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรมหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘นกกระจอก’ ที่อยู่ในสำนวนสุภาษิต พวกเขาถูกสังคม กาลเวลากดทับและสั่งสอนไว้ว่าอย่าพยายามเปลี่ยนแปลงและทำอะไรเกินตัว ผู้คนที่ถูกกดขี่บังคับบีบรัดให้อ้าปากกล้ำกลืนความด้อยค่าของตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เหล่านี้กลายเป็นแค่เบี้ยหมากในกระดานการแข่งขันของโลกทุนนิยมและการแสวงหาผลกำไรของผู้มีอำนาจเหนือ พวกเขาถูกตัดสินและตีค่าอย่างอยุติธรรมในสังคมด้วยเพียงแค่เรื่องของราคาค่าแรง กำลังซื้อกำลังบริโภค และผลตอบแทนที่ได้รับที่เทียบอะไรไม่ได้เลยกับกำลังที่เสียไป แต่ทุกอย่างกลับถูกมองว่าถูกต้องแล้วในสังคมที่ทุกคนต่างมองเห็นแค่ผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก การที่ถูกเอาเปรียบเพราะมีกำลังเงินกำลังซื้อน้อยกว่าหรืออยู่ในชนชั้นอาชีพที่ต่ำกว่ากลายเป็นเรื่องถูกต้อง การพยายามกระเสือกกระสนเดินข้ามผ่านเส้นแบ่งแยกกลายเป็นความผิดร้ายแรงในมุมมองเลนส์ของสังคม “บอกว่านั่นคือความผิดผม นี่ล้อเล่นกันหรือไง? บอกว่ามันแฟร์อยู่แล้วนี่ Oh are you crazy?”

    Spine Breaker: รสนิยมการบริโภคที่ล้นเกิน
    เมื่อความสุขในชีวิตของปัจเจกกลายเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวัตถุและความสามารถในการซื้อ ชีวิตว่างเปล่าสามารถเติมเต็มได้ด้วยสิ่งของที่ปราศนาอยากมีอยากได้โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงหรือความสามารถในการจับจ่ายของตนเองเป็นอีกประเด็นสังคมหนึ่งที่บังทันโซนยอนดันสะท้อนผ่านเกราะบทเพลงของตน การนิยามคำว่าความสุขกลายเป็นเรื่องง่ายๆ เมื่อถูกผูกติดกับการเติมเต็มความปรารถนาทางด้านวัตถุ ความสุขไม่ได้เป็นคำลอยฟุ้งหรือคำพูดเพ้อฝันแต่กลับหมายถึงรองเท้ายี่ห้อดังสักคู่ รถยนต์คันสวยหรือบ้านใหญ่ๆ สักหลัง ความสุขเดิมทีฟังแล้วระรื่นหูกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนทรมานดิ้นรนกระเสือกกระสนจะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ ความสุขกลายเป็นคำที่ใช้แบ่งขีดเส้นกั้นชนชั้นระหว่างคนทุกข์ที่ไม่สามารถมีไม่สามารถซื้อได้กับคนที่มีความสุขห้อมล้อมไปด้วยสิ่งของและสิ่งอำนวยความสะดวก ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ความสุขกลายเป็นความหรรษาสำหรับคนกลุ่มหนึ่งแต่กลายเป็นกลุ่มก้อนเมฆความทุกข์สำหรับคนอีกหลายกลุ่ม สังคมบริโภคนิยมคืบคลานเข้าแทรกซึมโดยที่มนุษย์ไม่รู้ตัว - หรืออาจจะรู้ตัวและเต็มใจให้สิ่งเหล่านั้นสิงสู่ - และกลายเป็น ‘เลนส์’ ตัดสินสภาวะทางอารมณ์ของมวลมนุษย์หรือแม้แต่ตัดสินคุณค่าในแต่ละตัวบุคคล

    ‘ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ัง คนที่มีกับคนที่ไม่มี’ ไม่เพียงแค่สะท้อนให้เห็นถึงเงาของการแบ่งแยกชนชั้น(ที่ได้พูดถึงไปในหัวข้อข้างต้น)แต่ยังเห็นถึงเงาร้ายของบริโภคนิยมที่แทรกซึมฝังลึกไปจนถึงเหล่าเยาวชนและระบบโรงเรียนการศึกษา วัยรุ่นกลายเป็นเหมือนภาชนะว่างเปล่าที่รองรับกระแสน้ำจากสังคมและกระแสของโลกอย่างไม่สามารถปฎิเสธหรือปิดกั้นได้ พวกเขารองรับกระแสน้ำที่มีชื่อว่าบริโภคนิยมมาอย่างเต็มปริ่มขอบ วัตถุสิ่งของกลายเป็นสิ่งบ่งบอกคุณค่าสถานะและความสามารถในการจับจ่ายซื้อ ความสุขของผู้คนขึ้นอยู่กับการได้ครอบครองวัตถุ

    수십짜리 신발에 또 수백짜리 패딩
    수십짜리 시계에 또 으스대지 괜히
    교육은 산으로 가고 학생도 산으로 가
    21세기 계급은 반으로 딱 나눠져
    있는 자와 없는 자
    신은 자와 없는 자
    입은 자와 벗는 자
    또 기를 써서 얻는 자

    รองเท้ากับเสื้อแจ๊คเก็ตคู่ละหลายร้อยหลายพัน
    บวกกับนาฬิกาเรือนหรู มันทำให้คุณพอใจมากไหม
    การศึกษาที่ก้าวหน้าไปไกลเหมือนกับตัวตนของนักเรียนสมัยนี้
    ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง
    คนที่มีกับคนที่ไม่มี
    พวกนี้มีรองเท้าแต่พวกนั้นไม่มี
    พวกนั้นมีเสื้อแจ๊คเก็ตแต่พวกนี้ไม่มี
    (Spine Breaker - BTS)

    การใส่เสื้อแจ๊คเก็ตกลายเป็นว่าไม่ต่างอะไรเลยกับ ‘ผ้าคลุม’ ที่เข้ามาปกปิดความเปลือยเปล่าในจิตใจ ยิ่งสวมใส่มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเติมเต็มการมีอยู่ในสังคมและก่อให้เกิดความรู้สึกเหนือกว่าและคุณค่าที่มากกว่า - หรือซ้ำร้ายกว่านั้นคือรู้สึกว่าผู้อื่นต่ำต้อยด้อยกว่าเพราะแค่ไม่มีสิ่งนั้นๆ ในครอบครอง - การไม่มีแจ๊คเก็ตกลายเป็นเหมือนความเปลือย เปลือยให้เห็นถึงความต่ำต้อยและสถานะที่แตกต่าง เปลือยให้เห็นเนื้อแท้ที่ว่างเปล่าของปัจเจก วัตถุกลายเป็นมากกว่าวัตถุของใช้ธรรมดาเมื่อมันสามารถตีมูลค่าให้กับผู้ใช้หรือเจ้าของของมันได้เพราะสายตาและกระแสสังคม บังทันโซนยอนดันสวมเกราะและสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงข้อนี้ ความเป็นจริงที่ย้อนแยงกลับกลอกเมื่อคำที่ควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้เชิดหน้าชูคอได้อย่างเต็มภาคภูมิอย่าง ‘ความสุข’ กลับทำให้ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นเพียงวัตถุไร้ชีวิต วัตถุถูกนำมาใช้วัดความเท่าเทียม เช่นการที่คนนั้นมีรองเท้าแบบนั้นเราก็ต้องมี คนนี้ใส่กางเกงยี่ห้อนั้นเราก็ต้องมีเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณค่าของบุคคลและฐานะทางสังคมที่เท่ากัน ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงเรื่องทางการเมืองหรือการมีสิทธิ์ออกเสียงอีกต่อไปแต่หากเป็นความเท่าเทียมทางด้านวัตถุและความสามารถในการซื้อ จนกลายเป็นว่าเพียงแค่วัตถุหรือความอยากมีอยากได้ตามกระแสน้ำที่ชื่อว่าบริโภคนิยมทำให้โครงสร้างทุกอย่างไหลตามและถูกแทนที่ด้วยมูลค่าของสิ่งของเหล่านั้นแทนแม้กระทั่งเรื่องของชนชั้น ความเท่าเทียมหรือระบบการศึกษา

    “บังทันโซนยอนดัน” กับภาพสะท้อนของสังคม
    สุดท้ายแล้วนั้นเมื่อย้อนกลับมามองถึงตัวตนของความเป็น “บังทันโซนยอนดัน” จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งชุดเกราะตัวตนของกลุ่มนักร้องกลุ่มนี้เองก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพของสังคมที่แท้จริงได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่ากลุ่มศิลปินจะนำเสนอภาพลักษณ์ความเป็น ‘ฮิปฮอป’ ที่มีจุดยืนหลักในการส่งผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่ต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม เรื่องราวของคนกลุ่มน้อยไร้ซึ่งอำนาจอย่างเยาวชนและแสดงให้เห็นถึงภาพความเป็นจริงในมุมมืดของสังคมที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่เลือกจะเผิกเฉยมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยตัวศิลปินและเนื้อเพลงการเล่าบรรยายต่างๆ ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นกระบอกเสียงสะท้อนและส่งผ่านเรื่องราวของเหล่าวัยรุ่นเยาวชนที่ถูกเมิน เผิกเฉย หรือปฏิเสธที่จะรับรู้และพูดถึงในสื่อกระแสหลักตามลักษณะของเพลงฮิปฮอปดังที่ Forman ได้กล่าวไว้ว่าเพลงแร็พหรือเพลงฮิปฮอปนั้นจะมีการส่งผ่านคอนเส็ปต์ในด้านวัฒนธรรม สถานที่ ไปจนถึงเรื่องของสังคมผ่านลักษณะการเล่าบรรยายในเนื้อเพลง (Forman, 1997: 15) ไปจนถึงเรื่องของลักษณะการแต่งตัวหรือคอนเส็ปต์ต่างๆ แต่ความพยายามเหล่านั้นกลับสะท้อนตีกลับมาทำให้เกิดคำถามที่ว่า ‘สุดท้ายแล้วกลุ่มศิลปินที่อ้างว่าเป็นฮิปฮอปกลุ่มนี้นั้นกำลังแค่นำภาพความเป็นฮิปฮอปมาเป็นจุดขายหรือเปล่า’ การที่นำมายาคติและภาพความเป็น ‘ฮิปฮอป’ เข้ามาผสมผสานกับความเป็นธุรกิจบันเทิงหรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘วงการไอดอล’ นั้นก็ไม่ต่างอะไรเลยกับการหลอกใช้ความเป็นฮิปฮอปเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและหมุนวงล้อของสังคมแบบทุนนิยมและผลกำไรให้มีอำนาจเหนือต่อไปหรือไม่อย่างไรเพราะความเป็นฮิปฮอปไม่จำเป็นต้องยึดติดกับค่ายเพลงหรือผลประโยชน์กำไรใดๆ ความเป็นฮิปฮอป ‘ที่แท้จริง’ นั้นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่คนกลุ่มน้อยหรือ Minority ในสังคมเลือกใช้บทเพลงพูดถึงประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยหรือการเรียกร้องหาอิสรภาพเช่นที่ R.A.T. Judy ได้กล่าวถึง Hip Hop ไว้ในบทความ “On the Question of Nigga Authenticity” ที่อยู่ใน That’s the Joint! ว่า “It is an expression of society’s utterance. It serves society’s purpose: the constitution of subjects of knowledge.” (105) ไม่ใช่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือพัวพันกับสื่อกระแสหลักแต่อย่างใด

    หลายครั้งที่ตัวเนื้อเพลงของบังทันโซนยอนดันเองก็ได้ขีดเส้นย้ำให้เห็นถึงความเป็น Underdog หรือความเป็นปัจเจกธรรมดาที่ไร้ทางเลือกของพวกเขาที่สุดท้ายแล้วก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กล้ำกลืนน้ำลายของตัวเองในสังคมความเป็นจริงที่ไม่เป็นดั่งที่คาดฝันไว้ ในตอนจบนั้นอุดมการณ์ ความเชื่อ ต่างก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่สภาพสังคมความเป็นจริงที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา ไม่มีอุดมการณ์ไหนที่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบแม้กระทั่งอุดมการณ์ในด้านศิลปะดนตรีอย่าง ‘ฮิปฮอป’ ก็ตาม ภาพสะท้อนจากตัวศิลปินเองทำให้เห็นว่าสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและแย่งชิงนั้นไม่ต่างอะไรเลยกับอุ้งมือทรงพลังที่บีบคั้นให้มนุษย์แต่ละคนยอมจำนนและปรับตัวไปตามกลไกที่มีชื่อว่า ‘รายได้’ และ ‘ผลประโยชน์’ เหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเอาแต่รั้น พยายามดิ้นรนให้รอดพ้นจากอุ้งมือที่โอบล้อมนั้นก็มีแต่จะทำให้เจ็บตัว การอยู่รอดกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับทุกคนดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ‘บังทันโซนยอนดัน’ เองก็สะท้อนให้เห็นถึงความจริงข้อนี้อย่างชัดเจนในตัวตนความเป็นศิลปิน ‘ฮิปฮอปไอดอล’ ที่สลักอยู่ต่อท้ายชื่อของวง แม้จะนำเสนอภาพลักษณ์และมโนคติแบบฮิปฮอปที่ว่าศิลปินและเนื้อเพลงเป็นกระบอกเสียง ส่งต่อเรื่องราวของเหล่าวัยรุ่น ความกดดันของสภาพสังคมหรือแม้กระทั่งเรื่องของสุขภาพจิตที่สื่อกระแสหลักเลือกที่จะมองข้าม ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความจริงที่ว่าที่จริงแล้วนั้นพวกเขาต่างก็อยู่ในกลไกหรือแม้กระทั่งเป็นกลไกหนึ่งของธุรกิจบันเทิงและโลกของการบริโภคและการแสวงหาผลกำไรเสียเอง แท้จริงแล้วนั้นพวกเขาก็คืออดีตของนกกระจอกที่ตอนนี้(จำเป็นต้อง)กลายเป็นนกกระสาและยืนอยู่บนชนชั้นที่อยู่เหนือกว่าในสังคม ความเป็นจริงข้อนี้ก็ถูกนำเสนอให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านผลงาน Mixtape เดี่ยวในนาม Agust D ของสมาชิกวงอย่าง SUGA ในเพลง ‘The Last’ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า

    그때 난 그때 난
    성공이 다 보상할 줄 알았지
    근데 말야 근데 말야
    시간이 지날 수록 괴물이 되는 기분야
    청춘과 맞바꾼 나의 성공이란 괴물은 더욱 큰 부를 원해
    무기였던 욕심이 되려 날 집어 삼키고 망치며 때론 목줄을 거네

    ในตอนนั้นผมน่ะ
    คิดแค่ว่าความสำเร็จจะชดเชยมันได้
    แต่พูดไว้เลยว่า
    ยิ่งนานไปตัวผมยิ่งเป็นปีศาจเข้าไปทุกที
    ปีศาจที่ชื่อความสำเร็จที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตวัยรุ่นมันเรียกร้องความมั่งคั่งจากผม
    ความโลภที่มันเคยเป็นดั่งอาวุธ มันกำลังกลืนกิน
    และบางทีก็เหมือนโดนมันลากคอ
    (The Last - Agust D)

    เนื้อเพลงได้สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักรู้อย่างชัดเจนว่าท้ายที่สุดแล้วนั้นเขา - หรือไม่ว่าจะใครก็ตาม - ไม่สามารถหลีกหนีพ้นจากการโหยหาความสำเร็จและความมั่งคั่ง แม้จะมีจุดยืนหรืออุดมการณ์สวยหรูแค่ไหนก็ต้องห่อไหล่ก้มหน้ายอมรับให้กับสภาพความเป็นอยู่และความสำคัญของเงินกันทุกคนเพราะโลกปัจจุบันหรือโลกของทุนนิยมทำให้เราทุกคนต้องดิ้นรน ไขว่คว้าหาที่ยืนสำหรับตนเองเพื่อไม่ให้ตกไปอยู่เป็นเบี้ยล่าง จากเนื้อเพลงจะเห็นได้ว่าเขาเองก็รับรู้ถึงการมีอยู่ของเงื้อมมือที่เรียกว่าสภาพสังคมที่กำลังบีบรัดอยู่ในขณะนั้นและยอมผ่อนปรนทำตามกลไกของมันอย่างเสียไม่ได้แต่สุดท้ายกลับถลำลึกลงไปในวังวนของโลกการบริโภคและความไม่รู้จักพอเหล่านั้นเสียเอง ถึงแม้ว่าจะเคยยึดมั่นเชื่อมั่นในความสวยหรูของอุดมการณ์ ‘แก่นแท้’ ของความเป็นฮิปฮอปแค่ไหนก็ตามเพราะสุดท้ายแล้วนั้น “ชีวิตของผมแขวนอยู่บนรายได้ ผมรู้ดี” ก็เป็นความจริงแท้ในสังคมปัจจุบันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แม้ว่าจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม

    แต่กระไรเลยนั้นการยอมโอนอ่อนลู่ตามลมใช่ว่าจะเป็นเรื่องเสียหายเพียงอย่างเดียว บังทันโซนยอนดันอาจไม่ได้แตกต่างอะไรจากกลุ่มนักร้องไอดอลอื่นๆ ถ้ามองเพียงแค่ตัวสถานะความเป็นนักร้องที่อยู่ในวงการบันเทิงหรือมุมมองโลกทุนนิยม แต่สิ่งแตกต่างที่พวกเขาทำคือการ ‘เล่น’ กับดนตรี: การเล่นกับดนตรีในกระแสเคป๊อบและใช้สถานะความเป็นไอดอลและการเป็นกลไกหนึ่งของวงจรธุรกิจบันเทิงท้าทายอำนาจและการมีอยู่ของวงจรนั้นเสียเอง หน้าหนังสือวัฒนธรรมเพลงไอดอลเกาหลีเต็มไปด้วยสีสันฉูดฉาด ตัวเพลงและศิลปินมักมุ่งเน้นไปที่จังหวะสนุกสนานเรื่องเฮฮาปาร์ตี้หรือความรัก แต่กับบังทันโซนยอนดันนั้นพวกเขากลับเลือกใช้จุดยืนในวงการของตนเองตั้งคำถามถึงลักษณะความเป็นไปของสังคมและหยิบยื่นประเด็นที่ถูกมองว่าไม่สมควรจะพูดถึงให้สาธารณะได้รับรู้ อีกทั้งยังสะท้อนตั้งคำถามถึงคุณค่าของการมีอยู่ของวงการดนตรีอีกด้วยว่าสมควรแล้วหรือที่จะเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ปัญหาเหล่านี้ทั้งๆ ที่มีอิทธิพลและอำนาจมากพอจะช่วยให้เกิดกระแสการตระหนักรู้ในสังคมวงกว้างได้

    การเข้าไปมีหน้ามีตาในสังคมทำให้น้ำเสียงของพวกเขามีพลังมากพอจะตั้งคำถามและท้าทายถึงจุดมืดบอดของสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากยังเป็นแค่เบี้ยล่างใครเล่าจะมาให้ความสนใจนอกจากกลุ่มคนเดียวกัน ถ้าหากพูดไปแล้วไม่มีใครได้ยินหรือน้ำเสียงเหล่านั้นได้แต่ก้องสะท้อนอยู่ในห้องๆ เดิมจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับการพูดถึงสิ่งเหล่านั้น? การยอมกลับกลอกกลืนน้ำลาย การยอมโดนตราหน้าว่าทรยศความเป็นฮิปฮอปที่แท้(ในมโนคติ)และยอมผสานรวมเข้ากันกับความเป็นธุรกิจสื่อกระแสหลักทำให้เสียงของพวกเขาดังพอจะกระทบกระเทือนและแทรกซึมเข้าไปในการรับรู้ของคนหมู่มากได้บ้าง นกกระจอกที่กลายเป็นนกกระสาอย่างพวกเขากำลังทำให้ประตูของสื่อกระแสหลักค่อยๆ เปิดแง้มมากพอจะรับความแตกต่างทางด้านดนตรีและเนื้อหาบทเพลง การใช้สถานะความเป็นศิลปินไอดอลของตัวเองริเริ่มพูดถึงในเรื่องที่ถูกกลบ ปิดบัง และหยิบยื่นแนวดนตรีเพลงที่แปลกใหม่ไปจากศิลปินส่วนมากทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักและมองเห็นอะไรๆ มากกว่าสีสันฉูดฉาดเดิมๆ ที่เคยบดบังดวงตาและเริ่มมองเห็นสีเทาหม่นที่ปะปนอยู่ในสังคมมากขึ้น เมื่อกำแพงที่ชื่อว่า ‘อคติ’ และ ‘ความแตกต่าง’ หายไปจากวงการดนตรีก็อาจเป็นการดีสำหรับนกกระจอกอื่นๆ - ทั้งบุคคลในวงการเพลงและบุคคลไร้สิทธิ์เสียงทั่วไป - ให้ได้มีโอกาสได้รับความสำคัญและเปิดโอกาสให้พัฒนา ก้าวข้ามมากลายเป็นนกกระสามากขึ้นก็เป็นได้
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ลูกน้ำ'า 'าา (@fb6823304259418)
wow! พี่เขียนได้ดีมากเลยค่ะ