รีวิวเว้ย (159) "การเริ่มต้นชีวิตในโลกใบใหม่" หลังรั้วมหาวิทยาลัย นี่มันมีอะไรหยุมหยิม เยอะแยะไปหมด หลังเรียนจบออกมาเหมือนโลกแม่งจัดรับน้องเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า รับแม่งทุกวัน เหนื่อยทุกวัน ถึงเราจะได้ "งานประจำ" ทำเป็นหลักแหล่งแล้วก็ตามที ก็ยังมีอีกหลายครั้งที่เหมือนว่าเรายังมี "งานพิเศษ" เป็นพวก "ขี้แพ้" ที่อ่อนแอ่ในทุกช่วงขณะของชีวิต (คิดแล้วชวนให้ปลงสังเวช)
หนังสือ : Full-Time Director, Part-Time Loser.
โดย : ธนชาติ ศิริภัทราชัย
จำนวน : 180 หน้า
ราคา : 210 บาท
สำหรับใครหลายคน การได้ทำอาชีพในฝันมันคงเป็นความรู้สึกที่โคตรดี แต่สำหรับหลายคนอีกเช่นกัน ที่อาชีพในฝันกับโลกความจริงแม่งต่างกันราวกับขนาดของเห็บหมากับดวงจันทร์
อาชีพ "ผู้กำกับ" ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่อยู่ในฝันของใครหลาย ๆ คน (ผู้กำกับ ในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับ หนัง เพลง ละคร) แต่ก็เหมือนที่บอกไปในย่อหน้าด้านบน ที่ว่า "โลกความฝันกับโลกความจริง แม่งโคตรแตกต่างกัน" ทำให้หลายคนเลือกที่จะละทิ้งความฝัน พับมันเข้าลิ้นชัก ลั่นดาน ใส่กุญแจ จับยัดหิน วิ่งเอาไปถ่วงสมุทร ปิดตายความฝันและก้มหน้าทำงานที่ได้เงิน เงิน และเงิน เท่านั้นพอ
แต่หลายคนก็ยังออกตามความฝันนะ ถึงแม้ในฝันมันจะโคตรสวยงาม แต่ในโลกความจริงมันอาจจะ "โคตรเหี้ย" เลยก็ตาม
"Full-Time Director, Part-Time Loser." ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของการเป็นผู้กำกับ ตามฝันบ้าง ไม่ตามฝันบ้าง แล้วแต่โอกาสและช่วงเวลา ที่ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ฝันก็กลายเป็นจริง ถึงมันจะดูเหนื่อยยากลำบากจิตมากก็ตาม (จากการบ่นตลอดทั้งเล่ม) ซึ่งหลายครั้งความเหนื่อยยากพอผ่านไป มันก็กลายเป็นความสุขรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน
"Full-Time Director, Part-Time Loser." พูดถึงเรื่องราวของการผลักดันตัวเอง เพื่อตามความฝันของ นักเขียน ผู้กำกับ อย่าง เบ๊น ธนชาติ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่หลังเรียนจบ จับพลัดจับผลูไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ กลายเป็นนักเขียน และกลายมาเป็นผู้กำกับ ที่ผลิตผลงานหลายชิ้น ที่เป็นกระแสและถูกดูดอยูาเป็นประจำ
นอกจากนี้ในเล่มยังพูดถึงขั้นตอนการทำงาน ในแต่ละขั้นแต่ละตอน ที่มีทั้งความสนุก ตื่นเต้น ลำบาก หายนะ ฯลฯ ซึ่งท้ายที่สุดพวกมันได้กลายมาเป็นชิ้นงานที่สวยงาม ตรงตามความต้องการของทั้งผู้สร้างและผู้จ้างวาน
หลังจากอ่าน "Full-Time Director, Part-Time Loser." ผมอยากให้คุณลองย้อนไปดูผลงานที่มีเขียนถึงเอาไว้ในเล่ม แล้วคุณจะมองงานชิ้นต่าง ๆ เปลี่ยนไป และมีความรู้สึกร่วมไปกับงานแต่ละชิ้นมากขึ้น อย่าง MV เพลง "มนุษย์ลืม" น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี
เคยมีใครสักคน เคยเขียนเอาไว้ ในที่ไหนสักที่ ว่า "คนเราเวลากินอาหารไม่จำเป็นต้องสนใจว่ามันมรที่มาอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรากินอาหารไปพร้อม ๆ กับความเข้าใจ ในที่มาที่ไปของรสชาติ ประวัติศาสตร์และวัตถุดิบ รสชาติของอาหารมื้อนั้นมันจะเปลี่ยนไปตลอดกาล"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in