เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StorySamuel
Franny and Zooey ; J.D. Salinger
  • Franny and Zooey

    J.D. Salinger



    “There isn’t anyone out there who isn’t Seymour’s Fat Lady.”




    หมายเหตุ: ในฉบับแปลไทยของคุณปราบดา หยุ่น ทับศัพท์ชื่อ Zooey ไว้ว่าโซอี้ แต่ส่วนตัวเราอ่านว่าซูอี้มาตลอดทั้งเล่มเลย จึงขออนุญาตเรียกเค้าว่าซูอี้อย่างนี้ต่อไปแล้วกันนะคะ (t__t



    ก่อนหน้านี้ไปอ่านในเว็บบอร์ดวรรณกรรมที่ฝรั่งเค้าคุยกันมา หนังสือเล่มนี้ส่วนนึงเกิดจากความตั้งใจของซาลิงเจอร์ที่นึกคึกเอา topic ปรัชญาและศาสนา (ในหนังสือใช้คำว่า religious philosophy) มาพูดรวมกันไว้ในรูปแบบของ short story โดยศูนย์กลางของหนังสือทั้งเล่มจะโคจรอยู่รอบตัวละคร 2 ตัวละคร ซึ่งก็คือแฟรนนี่และซูอี้ กลาสส์


    เกริ่นก่อนว่า เท่าที่เราได้อ่านมา ซาลิงเจอร์เค้าจะมีเวิร์สใหญ่ๆเด่นๆของตัวเองอยู่เวิร์สสองเวิร์ส คือตระกูลกลาสส์ (Glass Family) และตระกูลคอลฟิลด์ (จาก The Catcher in the Rye) ซึ่งส่วนตัวแล้วเราผูกพันกับตระกูลกลาสส์มากๆ และถ้าเราแบบว่า ผูกพันจนรู้สึกว่าทุกตัวละครมีคุณค่าทางจิตใจต่อเรามากๆ ต่อให้สไตล์งานเขียนของซาลิงเจอร์จะพร่ำเพ้อจนแต่ละพารากราฟยาวเหยียดขนาดไหน อ่านยังไงก็เพลิน


    เล่าให้ฟังคร่าวๆว่าครอบครัวกลาสส์เป็นครอบครัวใหญ่ มีจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน พี่ชายคนโตชื่อซีมัวร์ คนรองลงมาคือบัดดี้ พี่สาวชื่อบูบู ฝาแฝดเวเกอร์กับวอลท์ น้องชายคนเล็กชื่อซูอี้ และน้องสาวคนสุดท้องชื่อแฟรนนี่ กลาสส์


    อิงจากไทม์ไลน์ในหนังสือที่เรื่องราวดำเนินอยู่ในปี 1955 วอลท์ตายในกองทัพหลังเหตุระเบิดที่ญี่ปุ่นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว  ส่วนซีมัวร์จบชีวิตตัวเองด้วยปืนไปเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน จึงเหลือพี่น้องตระกูลกลาสส์อยู่ 5 คนตั้งแต่นั้นมา


    เนื้อเรื่องเปิดมาด้วยพาร์ทสั้นๆของแฟรนนี่ กลาสส์กับแฟนหนุ่ม เลน คูเทลล์ จากนั้นค่อยเป็นพาร์ทของซูอี้ที่ยาวกว่า จำนวนครั้งที่ตัวละครพูดถึงหลักปรัชญาและความเชื่อส่วนตัวเกี่ยวกับศาสนามีมากพอจะผลักให้หนังสือเล่มนี้เข้าไปอยู่ในวรรณกรรมหมวด religion ได้สบายๆเลย แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่าซาลิงเจอร์ตั้งใจแทรกรายละเอียดยิบย่อยเกี่ยวกับสภาพจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างกันของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวนี้เข้ามาด้วย ในขณะที่แฟรนนี่ตั้งคำถามเกี่ยวกับหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ตลอดช่วงเวลาที่เธอตั้งใจภาวนาบทสวด Jesus Prayer จนหลงลืมไปในบางทีว่าทุกอย่างที่เธอกำลังทำอยู่นั้น เธอทำมันอย่างถูกต้องหรือเปล่า และแท้จริงแล้วเธอทำมันลงไปเพื่ออะไร ซูอี้เข้ามามีบทบาทในคำถามเหล่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องบ้านนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกระเบียดนิ้วก็จริง บางครั้งเราก็สัมผัสได้ถึงความ unhealthy ด้วยซ้ำไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว ซาลิงเจอร์จะบอกเราเองว่าพวกเขารักและห่วงใยต่อกันและกันมากขนาดไหน


    ที่เราประทับใจที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องราวของซีมัวร์ เขาปรากฏตัวมาตรงนู้นทีตรงนี้ทีทุกครั้งที่ซูอี้นึกถึงพี่ เป็นส่วนประกอบเล็กๆที่ชวนให้อบอุ่นหัวใจ เรามองว่าซูอี้เป็นคนปากร้ายพอตัวเลยนะ เป็นเจ้าน้องชายคนเล็กที่มีความสามารถ ฉลาด เป็นนักแสดงหนุ่มไฟแรงที่มีสเน่ห์เฉพาะตัวในแบบที่เราเองก็ตกหลุมรัก เปิดตัวด้วยฉากนอนสูบบุหรี่ในอ่างอาบน้ำแบบสุดฮ๊อต แต่ถามว่าเรารู้สึกยังไงกับเค้า เราว่ามัน ไม่รู้สิ ค่อนข้างจะเป็น Love-hate relationship มาตลอดจนถึง 2 หน้าสุดท้ายของหนังสือทั้งเล่มนั่นแหละ อุแหะ (ประมาณว่าแบบ หมั่นไส้นายจังเลยว่ะ แต่ก็เห็นด้วยกับทุกอย่างที่นายพูดเลย ฉะฉานอะไรปานนั้น และนายเองก็หล่อมากๆเลยนะ แต่ว่าให้ตาย ก็ยังหมั่นไส้อยู่ดีว่ะ ฮึ่ยๆ t__t เปงบ้า)


    เอาเรื่องศาสนาก่อน ซาลิงเจอร์เมนชั่นถึงความเชื่อไว้หลากหลายมากๆ ตั้งแต่พระคริสต์ลากยาวมาจนถึงศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆของทางฝั่งตะวันออก จะออกแนวแบบว่า ซูอี้กับแฟรนนี่ฉอดกันไปมา ไม่มีใครถูกใครผิด แต่เค้าคงอยากให้เราอ่านแล้วคิดตามกันมากกว่า ซึ่งเป็นอะไรที่เพลินดีนะ อ่านแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าซักช่วงนึงในชีวิต ซาลิงเจอร์คงศึกษาอะไรพวกนี้มาอย่างดีเลยแหละ (อันนี้ก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ แต่เราซื้อ Biography ของเค้ามาแล้ว อ่านจบเมื่อไหร่จะมาเล่าเพิ่มอีกที) ในหนังสือมีโควทอ้างอิงถึงคำกล่าวของนักเขียนและนักปรัชญาคนอื่นๆด้วย ทั้ง Kafka เอย Epictetus เอย ซาลิงเจอร์มีอะไรใหม่ๆเสนอขึ้นมาเรื่อยๆ อ่านไปอ่านมาก็ว้าวดีเหมือนกัน





    ประเด็นใหญ่อีกเรื่องนึงก็คงเป็นเรื่องการตายของซีมัวร์ มันเหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่มีพลังมหาศาล ซัดใส่จนทุกคนในครอบครัวเสียศูนย์ ซีมัวร์เป็นลูกชายคนโต เป็นพี่ใหญ่ เป็นที่รักของทุกคน เค้ามีอิทธิพลกับชีวิตน้องๆมาก บุคลิกและความชอบบางอย่างของน้องๆแต่ละคนก็ถอดแบบและได้รับแรงบันดาลใจมาจากเค้า พอพี่ตาย (และไม่ใช่การตายทั่วไปด้วยซ้ำ ซีมัวร์ยิงตัวตายตามลำพัง) ก็เหมือนฟันเฟืองชิ้นสำคัญในชีวิตทุกคนมันหายไป น้องบางคนก็โกรธ ไม่เข้าใจว่าพี่ทำแบบนั้นทำไม บางคนก็ให้อภัยได้แล้ว แต่มันก็คงเป็นบาดแผลในใจของพวกเขาอยู่อย่างนั้นตลอดไป


    ทุกรายละเอียดเกี่ยวกับความเศร้าที่ซาลิงเจอร์เขียนมา ให้กลับไปอ่านแต่ละพารากราฟอีกรอบก็ยังรู้สึกว่ามันจริง จริงจนคิดว่าเขาก็คงเคยรู้สึกแบบนี้ด้วยตัวเองมาแล้วนั่นแหละ อาจจะซักครั้งสองครั้งหรือไม่ก็มากกว่านั้นอีกเป็นเท่าตัว เช่นว่าแฟรนนี่ไม่ยิ้มแย้มเหมือนเคย อยู่ๆก็รู้สึกผิดกับคนรักและเงียบไปเสียเฉยๆ ขอเวลานอกขณะออกเดทไปนั่งร้องไห้ในห้องน้ำ เธอกอดเข่าบนพื้นกระเบื้อง หยิบหนังสือเล่มนึงออกมาแล้วกอดมันแนบอกจนกว่าน้ำตาจะหยุดไหล


    เราชอบตอนที่บัดดี้เขียนจดหมายมาเตือนซูอี้เกี่ยวกับความฝันด้วย นายจะเป็นนักแสดงพี่ก็ไม่ว่าหรอก นายเกิดมาเพื่อแสดงบนเวทีด้วยซ้ำ แต่วันนั้นที่พี่ไปดูหนังเรื่องนั้นกับนาย พี่บอกได้เลยว่าดวงไฟในตานายมันโชติช่วงเสียจนน่ากลัว ให้ตายสิ ซูอี้ ช่วยฝันอย่างระมัดระวังด้วย


    หรือตอนที่คุณนายกลาสส์บอกลูกชายว่า เลนไม่ได้เป็นคนห่วยขี้เฟคเหมือนอย่างที่ลูกว่าเขาซักหน่อย ลูกแค่ไม่ชอบเขา กับคนที่ลูกถูกชะตาด้วยหน่อย ลูกก็หาเรื่องมาคุยกับเขาได้ตลอด แต่ถ้าใครที่ลูกไม่ชอบ ลูกก็จะนั่งเงียบอยู่อย่างนั้น ปล่อยให้เขาหาเรื่องมาพูดอยู่ฝ่ายเดียว ー ลูกก็เป็นแบบนี้ แค่ลูกไม่รู้สึกถูกชะตากับเขาภายใน 2 นาทีแรกที่คุยกัน ลูกก็ตัดสินใจจะไม่ชอบขี้หน้าเขาตลอดไป


    ที่แสนเศร้ามากที่สุดก็คงเป็นตอนที่บัดดี้บอกซูอี้ว่า รู้อะไรมั้ย ซูอี้ พี่ว่านายให้อภัยซีมัวร์เขาได้มากกว่าพี่น้องทุกคนในครอบครัวเราซะอีก ตอนแรกนายโกรธ โกรธเสียยิ่งกว่าใคร แต่สุดท้ายนายก็ยกโทษให้เขา ส่วนพวกเราน่ะเหรอ ตอนแรกพวกเราทำเหมือนไม่ได้ข้องใจอะไร แต่จนถึงวันนี้ก็ยังยกโทษให้ซีมัวร์อย่างสุดหัวใจขนาดนั้นไม่ได้เลย


    ส่วนที่ทรงพลังที่สุดของหนังสือเล่มนี้ ถ้าถามเรา เราจะตอบว่ามันคือตอนจบ ยอมรับอย่างเขินอายว่าพออ่านประโยค “There isn’t anyone out there who isn’t Seymour’s Fat Lady.” ที่ซูอี้พูดกับแฟรนนี่จบก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวอีกต่อไป มันคือคำพูดที่ครั้งนึงซีมัวร์เคยใช้ให้กำลังใจน้อง ดึงน้องกลับมาในทางที่ถูก ผลักดันน้องให้เดินตามเส้นทางฝัน ต่อให้คนพูดตายไปนานแล้ว คำกล่าวของเขาก็จะยังอยู่ในความทรงจำของทุกคนอยู่ดี ฟังดูเศร้าเนอะ แต่ก็มีความสุข จุดประกายความหวังดีจังเลย อ่านจบแล้วอิ่มใจไปหมด ได้แต่นอนจ้องเพดานเงียบๆ ซีมัวร์เนี่ยเป็นพี่ชายที่แสนดีจริงๆเลย ทำไมถึงแสนดีได้ขนาดนั้นก็ไม่รู้ (t__t





    เราเหลือแค่ Nine short stories อีกเล่มเดียวก็จะอ่านงานซาลิงเจอร์ครบทุกเล่ม (ที่หาซื้อได้ในปัจจุบัน) แล้ว คิดไว้ว่าจะย้อนไปอ่านเล่มซีมัวร์อีกรอบ ตามเก็บหมดแล้วค่อยมาอ่าน Biography ของซาลิงเจอร์อีกที ถึงตอนนั้นจะมาเล่าอีกทีค่ะ


    แต่ถ้าพูดถึงงานเด่นๆของซาลิงเจอร์เลยก็คงหนีไม่พ้น The Catcher in the Rye ซึ่งเล่มนี้เราเองก็ชอบมากๆ หยิบมาอ่านสองสามรอบแล้ว ซักวันจะต้องเขียนถึงให้ได้เลย รอก่อนนะโฮลเดน คอลฟิลด์​ (t__t


    สำหรับเล่ม Franny and Zooey เผื่อใครสนใจ พิกัดที่คิโนะคุนิยะ สยามพารากอน โซน Literature นะคะ ตามหาเชลฟ์ที่เป็นตัว S และแสกนหาชื่อ J.D. Salinger เข้าไว้ งานเขียนของเขาเป็นมาสเตอร์พีซสำหรับเราทุกเล่มเลยจริงๆ


    ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ค่ะ

    Samuel


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in