วันก่อนคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่ง อาจารย์เปิดประเด็นว่า "ร้านหนังสือกำลังจะตายจริงรึเปล่าในมุมมองของเรา (?)" โดยบริบทที่คุยกันคือคุยถึงร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่เป็นพวก "เชนสโตร์" อย่าง SE-ED, นายอินทร์
คำตอบที่ให้อาจารย์ไป คือ ในมุมมองของเราเอง "ร้านหนังสือขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะตาย" อยู่เหมือนกัน เพราะในช่วงหลายปีมานี้ตลาดหนังสือแข่งกันอย่างดุเดือด เอาเป็นเอาตายอย่างมา ตั้งแต่การเข้ามาของ "วัฒนธรรมออนไลน์" ในประเทศไทย แน่นอนว่าการอ่านหนังสือในประเทศนี้ไม่ได้สูงมากอยู่แล้วเป็นทุนเดิมและการเข้ามาของวัฒนธรรมออนไลน์ทำให้อัตราการอ่านหนังสือเล่มเป็นไปได้ว่าจะ "ลดลง" ซึ่งเรื่องนี้วงการหนังสือตั้งขอสังเกตมานานมากแล้ว
แต่ความเห็นของเราต่อการเข้ามาของวัฒนธรรมออนไลน์ คือ มันมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของการซื้อขายของออนไลน์ที่เริ่มเปลี่ยน "พฤติกรรมการซื้อของ" ของคนไทยจากที่แต่เดิมเรานิยมซื้อของที่ได้หยิบดู จับต้องก่อนถึงจะเลือกซื้อ แต่ในช่วงหลายปีมานี้การซื้อของออนไลน์แทบจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว นี่เองที่เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ "ร้านหนังสือ" เพราะสำนักพิมพ์เกือบทุกแห่งสามารถขายหนังสือของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งร้านใหญ่หรือสายส่งอีกต่อไป (พึ่งน้อยลงมาก) เพราะสำนักพิมพ์สามารถขายเองได้ ส่งเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งคนกลางหรือหน้าร้านมากเท่าสมัยก่อน โดยที่ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ กลายมาเป็นสนามสำคัญของการขายของสำนักพิมพ์และคนเขียนหนังสือแต่ละคน
ในสมัยก่อนก่อนที่วัฒนธรรมออนไลน์ จะแพร่ขยายในสังคมไทย คู่แข่งสำคัญอย่างเดียวของร้านหนังสือขนาดใหญ่คือ "งานสัปดาห์หนังสือ" หลายคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า งานสัปดาห์หนังสือคือการทำลายโครงสร้างของตลาดหนังสือในไทยอย่างชัดเจน เพราะงานสัปดาห์ฯ จะทำหน้าที่ตัวกำหนดช่วงเวลาของการออกวางจำหน่ายของหนังสือที่กระจุกตัวอยู่ในช่วงเดียวกัน ทุกสำนักพิมพ์ ทุกนักเขียน เร่งสร้างงานเพื่อออกขายในงานสัปดาห์ฯ เป็นหลัก ทำให้ในระยะเวลาปกติของปีหนังสือดี ๆ ใหม่ ๆ จะรอออกมาทีเดียวในช่วงงานสัปดาห์ และร้านหนังสือขนาดใหญ่ก็จะขยาดงานสัปดาห์ฯ อย่างมากเพราะมันกระทบต่อยอดขายของร้านอย่างมากเช่นกัน
แต่ตั้งแต่วัฒนธรรมออนไลน์เข้ามา ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เราเองในฐานะของคนอ่าน เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของการจัดพิมพ์และกำหนดออกหนังสือของหลายสำนักพิมพ์มากขึ้น เพราะในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีหนังสือหลายเล่มทยอยออกมาตลอดทั้งปี โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอและง้องานสัปดาห์เลยด้วยซ้ำไป เพราะสำนักพิมพ์และผู้เขียนสามารถขายได้เองทางออนไลน์ และทำกำไรได้มากกว่าการออกขายในช่วงงานสัปดาห์ฯ และฝากขายผ่านสายส่งและหน้าร้านหนังสือเสียอีก นี่เองที่ทำให้เรามองว่าร้านหนังสือขนาดใหญ่ถ้าไม่ "ใกล้ตายก็โคม่า"
เพราะช่วง 2-3 ปีมานี้ เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมการขายหนังสือผ่านออนไลน์ขยายตัวอย่างมาก และหลายสำนักพิมพ์จูงใจผู้อ่านด้วยการสร้างกลไกของการสั่งจองล่วงหน้าและลดราคาพิเศษ หรือแถมของพิเศษให้กับผู้ซื้อ และในช่วง 2-3 ปีนี้เอง ที่เราเริ่มเห็นว่าในร้านหนังสือขนาดใหญ่ เริ่มมีสินค้าอื่นที่ไม่ใช่หนังสือขายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันให้เห็นว่ายิดขายของการขายหนังสือเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำให้ร้านหนังสือขนาดใหญ่ยืนอยู่ได้อีกต่อไปแล้ว
ถ้าเราจำข้อมูลไม่ผิด รู้สึกว่าในช่วงหลายปีมานี้กำไร้ของร้านหนังสือขนาดใหญ่ลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง ร้านหนังสือขนาดใหญ่บางร้านประกาสตัวเลขรายได้ของร้าน กลับพบว่าสิ่งที่ทำกำไรมากที่สุดไม่ใช่หนังสืออีกต่อไป แต่เป็นของที่ "เอามาขายเพิ่ม" ในร้านในช่วงหลังที่เราเห็นกันมากขึ้นนี่เอง
และนอกจากนี้ ผู้เล่นหน้าใหม่แต่ก็เก่าและเริ่มเก๋าพอตัว อย่างร้านหนังสืออิสระ ก็เริ่มที่จะขยับขยายบทบาทของตัวเองในตลาดหนังสือของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพราะหลายร้านเริ่มสร้างจุดขายของตัวเอง อาทิ การเป็นร้านหนังสือเฉพาะทาง การเป็นร้านหนังสือที่มีเรื่องราวของการคัดเลือกหนังสือเข้าร้าน หรือบางร้านก็สร้างบรรยากาศที่ร้านหนังสือขนาดใหญ่ทำไม่ได้ให้เกิดขึ้นภายในร้าน (แต่ร้านหนังสืออิสระเองก็ต้องต่อสู้กับร้านใหญ่อยู่ดี และรวมไปถึงวัฒนธรรมออนไลน์ทั้งการขาย และการอ่านหนังสือผ่านออนไลน์ด้วย)
ดังนั้นคำตอบที่เราตอบอาจารย์ท่านนั้นไป ก็คือเป็นไปได้ว่าร้านหนังสือขนาดใหญ่อาจจะ "ตาย" แต่อาจจะไม่ได้ตายแบบล้มหายไปจากตลาดหนังสือเสียทีเดียว แต่อาจจะเป็นการปรับกลยุทธ์บางแบบ อาทิ ลดจำนวนสาขาหรือปิดบางสาขาลง (ซึ่งเราได้เห็นกันแล้ว) หรืออาจจะมีการปรับรูปแบบให้ร้านเป็นมากกว่าร้านขายหนังสือ อย่างการสร้างพื้นที่ของการทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งเริ่มเห็นมากขึ้นในมุมของงานนักเขียนพบผู้อ่าน หรืองานเสวนาเปิดตัวหนังสือ หรือบางร้านอาจจะปรับรูปแบบของหนังสือในร้านให้ตรงตามรสนิยมของผู้อ่านที่อยู่ในบริเวณนั้น
ซึ่งตัวอย่างที่เราชอบหยิบยกขึ้นมาใช้บ่อย ๆ คือ "ร้านนายอินทร์สาขาท่าพระจันทร์" ที่ตัวร้านก็ยังคงเป็นร้านที่ขายหนังสืออยู่เหมือนร้านขนาดใหญ่ปกติ แต่ความพิเศษของร้านนายอินทร์ท่าพระจันทร์ คือ ชนิดของหนังสือที่แปลกกว่านายอินทร์สาขาอื่น ๆ อาจจะเพราะด้วยอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ทำให้หนังสือในร้านถูกเลือกมาแล้วระดับหนึ่งให้สอดรับกับพื้นที่และผู้ใช้บริการ
และยังรวมไปถึงความเอาใจใส่ของ "พนักงานในร้าน" ที่เรารู้สึกว่าร้านนายอินทร์สาขานี้ เป็นสาขาที่คนขายมีความเข้าใจในหนังสือที่ขายอยู่พอสมควร สามารถแนะนำลูกค้าได้ว่าหนังสือเล่มไหนสนุก เล่มไหนน่าสนใจ ซึ่งพนักงานที่จะทำแบบนี้ได้คือต้องเป็นคนที่อ่านหนังสือบ้างพอสมควร และความพิเศษของที่นี้อีกอย่างหนึ่งคือหนังสือทุกเล่ม จะมีเล่มตัวอย่างที่แกะออกจากห่อพลาสติก เพื่อให้ผู้อ่านได้ลองเปิดพลิกอ่าน จับตัวเล่มและสัมผัสเนื้อกระดาษก่อน รวมถึงความเอาใจใส่ลูกค้าของร้านด้วย
อย่างเราเองเป็นคนที่ชอบซื้อหนังสือออนไลน์มากในช่วงที่กระแสนี้เข้ามาใหม่ ๆ แต่ช่วงหลัง ๆ เรากลับมาซื้อผ่านร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ มากขึ้น เพราะเราสามารถสั่งเล่มที่เราอยากได้ให้กับทางร้านเก็บไว้ให้ เพราะหลายครั้งราคาเล่มที่ซื้อที่ร้านถูกกว่าการซื้อจากสำนักพิมพ์หลังจากรวมค่าจัดส่ง และร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ จะมีบริการโทรบอกว่าหนังสือที่เราเคยถามถึง (แต่ยังไม่ได้สั่งกับที่ร้านไว้) มาถึงที่ร้านแล้วสามารถเข้ามาดูก่อนได้ นี่ก็เป็นหนึ่งในความประทับใจเล็ก ๆ กับการบริการของร้านนายอินทร์สาขานี้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in