เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Music diarypetong
วิจารณ์คอนเสิร์ต Noona: The First Time in Forever Concert
  • ***การวิจารณ์คอนเสิร์ตในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 2737110 สังคีตนิยม***



    สวัสดีครับทุกคน ในวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมานี้ ตัวผมเองได้ไปเข้าชมคอนเสิร์ตของศิลปินในดวงใจของผมเลยก็ว่าได้นั่นก็คือคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกอย่างเป็นทางการของพี่หนูนา หนึ่งธิดา โสภณ ในชื่อ Noona: The First Time In Forever Concert ครับ



    อันดับแรกเลย คงต้องกล่าวถึงเหตุผลว่าทำไมถึงตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้ก่อนนะครับ เหตุผลหนีไม่พ้นประการอื่นใดเลยนอกจากว่าตัวผมเองเป็นแฟนคลับของพี่หนูนา หนึ่งธิดามาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเลยนั่นก็คือเรื่อง “กวน มึน โฮ” และก็ติดตามฟังผลงานเพลงมาตลอด ตั้งแต่เพลง “รักไม่ต้องการเวลา” ซึ่งประกอบภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ไปจนถึงอัลบั้มเพลง “NOONA” และ “เพลงหนึ่งคิดถึงกัน” ตัวผมเองก็ชอบเสียงร้องของพี่หนูนามาตลอด ยังจำความได้ตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ว่าเวลาที่เดินผ่านร้านซีดีที่ห้างแถวบ้านต้องหยุดแวะหาซีดีพี่หนูนาแล้วอ้อนคุณพ่อคุณแม่ให้ซื้อกลับบ้านแทบทุกครั้ง เรียกได้ว่าติดตามมานานมากกว่า 10 ปีเลยก็ว่าได้ครับ เมื่อเห็นข่าวผ่านเพจ The Showhopper ก็เลยตัดสินใจได้ไม่ยากว่าต้องมาฟังศิลปินโปรดวัยเด็กอย่างแน่นอน เลยทำให้รีบจองตั๋วตั้งแต่รอบ pre-sale ก่อนการเปิดขายอย่างเป็นทางการกับ The Showhopper ครับ 


    การแสดงคอนเสิร์ต The First Time In Forever จัดขึ้นทั้งหมด 5 รอบด้วยกัน โดยผมได้ไปกับเพื่อนอีกหนึ่งคน ซึ่งเราได้ตัดสินใจซื้อบัตรในราคา 1,500 บาทสำหรับการแสดงในวันแรก รอบ 20.00 เพราะรู้สึกว่าน่าจะเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด มีความพิเศษที่สุด เนื่องจากเป็นรอบแรก อยากฟังเป็นกลุ่มแรก ซึ่งเมื่อไปถึงสถานที่จัดงานก็ได้เจอกลุ่มผู้คนมากมายที่น่าจะเป็น “วงใน” หรือคนสนิท ซึ่ง 1 ในนั้นคือพี่ลูกหว้า พิจิกาซึ่งเป็นนักร้องนักแสดงอีกหนึ่งคนที่ชื่นชอบมากเช่นกัน ผมและเพื่อนจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ลูกหว้าก่อนเริ่มการแสดง เลยรู้สึก “คิดถูก” ที่มาชมการแสดงตั้งแต่วันแรกครับ 


    (พี่ลูกหว้าพิจิกาก็มาชมคอนเสิร์ตเช่นกันครับ)

    สถานที่จัดของคอนเสิร์ตครั้งนี้คือร้านอาหาร Gaston เป็นห้องอาหารของโรงแรม Grand Hyatt Erawan Bangkok ถนนราชดำรินี่เองครับ สามารถเดินทางได้สะดวกเพราะอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าชิดลมเพียง 250 เมตรเท่านั้น โดยตัวร้านอาหารอยู่ในชั้นใต้ดินของโรงแรม ตกแต่งด้วยคอนเซปต์ “rustic-chic” ทำให้สร้างบรรยากาศที่มีความเรียบง่ายแต่ก็มีระดับในเวลาเดียวกัน โดยมีการจัดที่นั่งในบริเวณตรงกลางข้างล่างสำหรับรูปแบบโต๊ะอาหารนั่งได้ 2-4 คน และบริเวณรอบนอกเป็นที่นั่งยกระดับเหมือนบาร์ มีการจำกัดที่นั่งทั้งหมด 100 คนต่อ 1 รอบการแสดงเท่านั้น ทำให้แม้ว่าผมเองจะนั่งอยู่ตรงบาร์ยกระดับก็ยังรู้สึกอยู่ใกล้ และได้อรรถรสในการฟังอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีการจัดรายการเครื่องดื่มพิเศษ ที่จะจัดขายเฉพาะในคอนเสิร์ตเท่านั้นอย่างเมนูค็อกเทลที่มีชื่อว่า “หนึ่งธิดา” ตามชื่อจริงของหนูนา หรือเมนูม็อกเทล "Love Is An Open Door" ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานภาพยนตร์เรื่อง Frozen สร้างบรรยากาศที่ดีกับคอนเสิร์ตในขั้นต้นให้กับผู้เข้าชมก่อนเริ่มการแสดงได้ไม่มากก็น้อย 


    (ภายนอกโรงแรม Grand Hyatt Erawan)

    (เมนูม็อกเทลพิเศษของงาน ชื่อ "Love Is An Open Door")

    การแสดงในครั้งนี้เป็นการแสดงประเภทขับร้องเดี่ยวเป็นหลัก โดยที่หนูนาเป็นนักร้องในกลุ่ม soprano เสียงใสกังวาน สามารถร้องในคีย์ที่สูงได้ แต่ภายในคอนเสิร์ตยังมีเครื่องดนตรีอย่างกลองชุด และเปียโนทำหน้าที่เล่นดนตรีบรรเลงคลอไปกับการขับร้องเดี่ยว และยังมีนักร้องสนับสนุน 2 คน (backup vocalists) สร้างทำนองประสานให้กับนักร้องนำอีกด้วย โดยการแสดงเริ่มในเวลา 20:00 น. มีการพักครึ่ง 30 นาที ทำให้มีการแสดงทั้งหมด 2 ชั่วโมง 30 นาที (รวมเวลาพักครึ่ง) ในส่วนของรายการแสดงนั้น เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายการแสดงเป็นเพลงที่มาจากละครเวที หรือที่เรียกกันในไทยว่า "musical" ซึ่งล้วนเป็นเพลงที่เน้นทำนองค่อนข้างชัด สามารถฟังออกและร้องตามได้ง่าย เป็น 1 ใน popular music ที่ยังมีความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน โดยหนูนาได้เล่าชีวิตของตัวเองผ่านการเลือกบทเพลงในการแสดง เช่นการเริ่มร้องเพลงในวัยเด็กเพราะฝันอยากเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ผ่านการร้อง Princess medley ไปจนถึงการเปิดตัวในฐานะนักแสดงนำในละครเวทีรัชดาลัยครั้งแรกอย่างการร้องเพลง “แค่หลับตา” จากรับจับใจเดอะมิวสิคัล หรือการร้อง medley จากละครเวทีเรื่อง Miss Saigon ที่หนูนาเกือบได้รับบทนำในเวอร์ชันภาษาไทย ไปจนถึงเพลงประกอบภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่หนูนาร่วมพากย์เสียงตัวละครอย่าง "Love Is An Open Door" จากภาพยนตร์เรื่อง Frozen  เรียกได้ว่าเป็นเหมือนไทม์แมชชีนย้อนเวลาเพื่อ revisit เส้นทางอาชีพของหนูนาตั้งแต่ก้าวแรกที่ยังไม่มีชื่อเสียง มาจนถึงปัจจุบันที่เรียกได้ว่าเป็นไอค่อนในวงการเพลงไทยโดยสมบูรณ์ 


    (การแสดง cover เพลงเจ้าหญิงดิสนีย์ในรูปแบบ medley)*

    บทเพลงที่ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของคอนเสิร์ตครั้งนี้ที่ผมตั้งตารอคอยมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเพลง “รักไม่ต้องการเวลา” ซึ่งเป็นเพลงที่ทำให้หนูนาเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะนักร้อง โดยเพลงดังกล่าวเป็นเพลง cover จากต้นฉบับของวงเคลียร์ซึ่งถูกปล่อยในปีพ.ศ 2552 และได้รับการเรียบเรียงใหม่ให้กับหนูนา หนึ่งธิดาปล่อยเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ “กวน มึน โฮ” ในปีถัดมา อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับรายการแสดงในตอนก่อนเริ่มคอนเสิร์ต ทำให้รู้สึกผิดหวังเล็กน้อยเพราะเพลง “รักไม่ต้องการเวลา” ไม่ได้อยู่ในรายการแสดง ทำให้รู้สึกเสียดายเพราะเป็นบทเพลงในความทรงจำ และคาดหวังว่าจะได้ยินสด ๆ สักครั้งหนึ่ง แต่เมื่อการแสดงเพลง Audition (The Fools Who Dream) ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายในรายการจบลง เปียโนได้ถูกบรรเลงขึ้นอีกครั้งและหนูนาก็ได้ร้องเพลง “รักไม่ต้องการเวลา” เป็นเพลงปิดท้ายคอนเสิร์ตจริง ๆ ทำให้เป็น surprise เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับแฟน ๆ และผู้เข้าชม


    แต่เดิมแล้วในเวอร์ชันของวงเคลียร์จะเป็นแนว rock อย่างสมบูรณ์ จากทั้งเนื้อเสียงของนักร้องนำที่ใหญ่ มีความเป็น mezzo-soprano ใช้เครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์โปร่ง กลองชุด และเปียโน  มี bpm อยู่ที่ 158 ทำให้ดนตรีค่อนข้างหนัก ทรงพลังและเร้าใจ แต่ในเวอร์ชันของหนูนา จะมีเนื้อเสียงที่เล็กกว่า ใช้เครื่องดนตรีหลักเป็นกีตาร์โปร่งและกลองชุดตลอดทั้งเพลง และมี bpm ที่ 148 ซึ่งช้ากว่าอย่างชัดเจน ทำให้ออกไปเชิง acoustic rock มากกว่าเวอร์ชันต้นฉบับ อย่างไรก็ดี ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ใช้เปียโนเล่นทำนองบรรเลงคลอ ทำให้เกิดสีสันหรือ tone color ที่แตกต่างออกไปจากเวอร์ชันห้องอัดก่อนหน้าทั้ง 2 เวอร์ชัน เพราะมีความหวาน เบา และนุ่มนวลขึ้นมากกว่าเดิม ถูกแทนที่ด้วยความเป็น r&b/soul ส่งเสริมไปกับบรรยายของสถานที่จัดอีกด้วย


    ในส่วนของโครงสร้างเพลงจะประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลัก คือ verse 1, chorus 1, verse 2 , chorus 2 และ chorus 3 ใช้อัตราจังหวะแบบ quadruble meter ซึ่งเป็นโครงสร้างที่พบเจอได้ง่ายในเพลงทั่วไป มีกลองชุดและเปียโนเล่นบรรเลงประกอบแนวร้องไปตลอดตัวบทประพันธ์ โดยมี drum pattern ที่ต่างกันไปใน verse และ chorus อย่างในช่วง verse การแสดงจะมี dynamic ที่ค่อนข้างเบา กลองชุดจะไม่ค่อยเล่น snare แต่เมื่อเข้าสู่ chorus แล้วจะมีการเล่นกลองชุดที่แน่นขึ้น ทั้ง kick, hat และ snare ทำให้เพลงมี dynamic ที่ดังขึ้น เปลีี่ยนอารมณ์และสีสันในท่อน chorus อย่างไรก็ดีในคอนเสิร์ตครั้งนี้มีการสร้าง variation ใน chorus สุดท้ายของเพลง โดยที่ก่อน chorus สุดท้ายจะหยุดการเล่นของกลองชุดไปชั่วขณะ ใช้เพียงแค่ hat เบา ๆ ให้จังหวะ และไม่เล่นเปียโนไปชั่วขณะเช่นกัน ให้เหลือแต่เสียงร้องของหนูนาและแฟนคลับร่วมร้องเพลงไปด้วยกัน ถือได้ว่าอาจจะเป็น word painting โดยบังเอิญ เพราะสัมพันธ์ไปกับเนื้อร้องที่ว่า “ลมหายใจ เหมือนหยุดไปในห้วงนาทีนี้ เช่นหัวใจ ลอยหลุดไปทันทีที่สบตา” เพราะดนตรีบรรเลงหยุดลงไปคงเหลือแต่เสียงร้อง  เหมือน “หลุด” ไปจากห้วงทำนองใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า  หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ นำเปียโนและนักร้องสนับสนุนกลับเข้ามาในเพลง และนำกลองชุดกลับมาอย่างเต็มรูปแบบเพื่อซ้ำ chorus สุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหนูนายังได้ทำการ improvise ผ่านการเพิ่มโน้ตดนตรีและลากยาวโน้ตบางตัวขณะ belt ทำให้เกิดเป็น variation ใหม่ใน chorus สุดท้ายให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับตอนจบของเพลงมากกว่าเดิม เรียกได้ว่าเป็นการปิดคอนเสิร์ตที่เต็มอิ่มได้อย่างสมบูรณ์


    (การแสดงเพลงรักไม่ต้องการเวลา)* 

    ถึงการแสดงและผู้แสดงอย่างหนูนาจะออกมาราบรื่นดี แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความขัดใจไม่น้อยน่าจะเป็นความเหมาะสมของสถานที่จัด แม้ว่าสถานที่จัดงานจะมีความเล็ก ทำให้หนูนาส่งสายตากับผู้ชมได้อย่างทั่วถึง แต่การเป็นร้านอาหารทำให้มีการสั่งอาหารและเครื่องดื่มแทบจะตลอดเวลา พนักงานจึงต้องเดินนำจานอาหารต่าง ๆ ไปเสิร์ฟบนโต๊ะตลอดการแสดง ประกอบกับตำแหน่งที่นั่งของผมค่อนข้างติดห้องน้ำ ทำให้เจอผู้ชมเดินผ่านหน้าที่นั่งเพื่อเข้าห้องน้ำตลอดการแสดงเช่นกัน ยิ่งในช่วงท้ายของคอนเสิร์ตพนักงานร้านอาหารก็เริ่มออกใบเสร็จ สรุปยอดให้กับโต๊ะอื่น ๆ จึงได้ยินเสียงเครื่องพิมพ์กระดาษอยู่เป็นระยะ ๆ สร้างความรำคาญใจเล็กน้อย ทำให้เสียสมาธิในการฟังเพลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความดังของไมโครโฟนนักร้องสนับสนุนเพราะเสียงประสานแนวร้อง "โดนกลบ" ไปในบางเพลงที่มีการเล่นกลองชุดหนัก ๆ ทำให้ไม่ค่อยได้ยินเสียงประสานแนวร้องเท่าที่ควร  อย่างไรก็ตาม  หลังจากจบการแสดงแล้ว พี่หนูนาก็ได้ออกมาพบปะทักทายและแจกลายเซ็นโปสการ์ด เลยได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่หนูนาตัวต่อตัว ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างลืมไม่ลง เรียกได้ว่าการแสดงที่สมบูรณ์แบบทำให้ลืมความไม่สบายใจในมิติอื่น ๆ ได้อย่างแนบเนียนไปเลย


    (หลังจากจบการแสดง พี่หนูนาออกมาแจกลายเซ็นและถ่ายรูปตัวต่อตัว)

    ในท้ายที่สุดนี้ หลังจากที่ได้คิดและทบทวนถึงบรรยากาศ ประสบการณ์และความประทับใจต่าง ๆ จากคอนเสิร์ต สามารถพูดได้เลยว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ “redefine” ความสามารถของพี่หนูนาได้อย่างดี เพราะแม้ว่าปกติคนจำนวนไม่น้อยอาจจะจดจำหนูนา หนึ่งธิดาจากเสียงที่ใสกังวาน มีโทนที่ร่าเริงและสดใสในเพลง pop และประกอบภาพยนตร์ดิสนีย์ แต่การแสดงเพลงอย่าง “แค้น” (ขับร้องโดยญาญ่า หญิงซึ่งมีเนื้อเสียงที่ใหญ่กว่ามาก ๆ) จากฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล ทำให้ได้เห็นภาพของหนูนาที่หลุดกรอบจากเพลงโทนที่ตนเองถนัด สามารถ “เอาอยู่” ในการแสดงอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดได้อย่างทรงพลัง ตอกย้ำถึงศักยภาพในการเป็นนักร้องที่รอบด้าน (versatility) เป็นศิลปินที่สามารถร้องและเข้าถึงได้ทุกแนวทุกอารมณ์ไม่จำกัดแต่ภาพน่ารักสดใสเท่านั้น  จุดนี้เองจึงสามารถสร้างความประทับใจได้จากผู้เข้าชมทุกคนไม่ว่าจะชื่นชอบหนูนา หนึ่งธิดาจากบทบาทนักแสดง นักพากย์เสียง หรือนักร้องก็ตาม ถือได้ว่าเป็นคอนเสิิร์ตที่พิสูจน์ความสามารถของหนูนา หนึ่งธิดาว่าเป็นหนึ่งในศิลปินคุณภาพในสายงานดนตรีได้อย่างแท้จริง 


    *ทางผู้จัด The Showhopper อนุญาตให้บันทึกและเผยแพร่การแสดงบางส่วนหลังการแสดงจบลงได้ เพียงแต่ไม่อนุญาตทำการถ่ายทอดสดขณะทำการแสดงเท่านั้น ดังนั้นคลิปการแสดงในบทความนี้จึงสามารถเผยแพร่ได้ ไม่ละเมิดกฎการเข้าชมแต่อย่างใด

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in