เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความไม่เรียงrainbowflick17☂️
ELKDTAL สี่เหลี่ยมของความรัก
  • Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga (How I Felt When I Saw That Girl,ความรู้สึกเมื่อเห็นเธอ) เป็นหนึ่งในภาพยนตร์บอลลีวูดที่คนจับตามองมากที่สุดของปี 2019 แม้จะติดป้ายไว้ว่าเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ แต่ใจความสำคัญของเรื่องนี้คือประเด็นขัดแย้งในสังคมอินเดีย 



    เนื้อเรื่องหลักเดินตามชีวิตของสวีทตี้ (Sweety) ลูกสาวเจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในเมือง โมกา (Moga) เมืองในรัฐปัญจาบของดินเดีย ช่วงต้น ๆ จะดูฟุ้งมาก ฉันอยากเป็นเจ้าสาว คุณไม่รู้จักรักแท้ อะไรก็ว่าไป แล้วเธอก็มาพบกับ ซาฮิล (Sahil) ลูกชายคนเขียนบทภาพยนตร์ดังที่อยากเขียนบทละครเองโดยไม่พึ่งใบบุญพ่อ แต่เจ๊งไม่เป็นท่า เนื้อเรื่องในช่วงแรกดำเนินไปตามพิมพ์นิยมของภาพยนตร์รัก มีการพบกันโดยบังเอิญ มีวิ่ง! (ถึงจะไม่ใช่วิ่งข้ามเขาก็เถอะ) และมีการร้องเพลงและเต้นกันสนุกสนานที่เรียกว่าเป็นลายเซ็นต์ของภาพยนตร์โรแมนติกบอลลีวูดเลยก็ว่าได้ ในขณะเดียวกันเราก็ได้พบปัญหาของตัวละครอื่น ๆ ที่ต่างมีสิ่งที่อยากทำแต่ทำไม่ได้ไปด้วย

    พอเราเริ่มรู้สึกว่านี่มันก็รอมคอมธรรมด๊า ธรรมดา ภาพยนตร์ก็เฉลยว่ามันไม่ธรรมดายังไง และจุดนั้นก็เปลี่ยนอารมณ์ภาพยนตร์เข้าสู่ความเครียดสุดยอดไปเลย มีการพยายามใส่ปัญหาซ้อนปัญหาเข้าไปในเนื้อเรื่อง เห็นปฎิกิริยาของคนในสังคม หลายตัวละครต้องต่อสู้กับความคิดและความเชื่อของตัวเอง



    เรื่องนี้แม้ว่าพล็อตจะไม่ได้เดายากมาก และมีบางช่วงบางตอนที่เนื้อเรื่องเร็วไปหรือช้าไปบ้าง แต่โดยรวมก็ยังโอเคอยู่นะ นักแสดงหลายคนเล่นดีมาก ๆ เราคิดว่าผู้กำกับ คนเขียนบท นักแสดง ผู้ผลิต ทุกคนที่มีส่วนร่วมทำเรื่องนี้ขึ้นมาถือว่ากล้าเลยแหละ

    เรื่องประเด็นขัดแย้งเป็นประเด็นอะไรนั้น ถ้ายังไม่เคยได้ยินชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อน แล้วอยากลองทายดู แนะนำให้ลองดูเลยค่ะ หาดูได้ใน Netflix ส่วนใครที่เคยได้ยินมาแล้วสามารถอ่าน สปอยล์ชั้นที่ 1 ได้เลยย






    --------------






    สปอยล์ชั้นที่ 1
    เปืดเผยคีย์เวิร์ดที่เป็นอุปสรรคของเรื่อง 


    หลายคนอาจจะรู้มาก่อนแล้วเพราะมีบทความต่างประเทศเขียนถึงเยอะมาก เรียกว่าใช้เป็นคำอธิบายต่อท้ายชื่อหนังกันทุกสำนัก ในตัวอย่างภาพยนตร์ก็ทิ้งคำใบ้เอาไว้เป็นภาพอีกตางหาก


    อุปสรรคจริง ๆ ของเรื่องนี้คือเป็นภาพยนตร์หญิงรักหญิงนั่นเอง ซึ่งจะว่าทายง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก แม้แต่ปกก็ไม่เห็นหน้าสาวที่อยู่ในชื่อภาพยนตร์เลยด้วยซ้ำ

    การเล่นประเด็นรักเพศเดียวกันในสังคมอินเดียถือว่าเป็นอะไรที่น่านับถือมาก

    หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไรขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะก็มีภาพยนตร์อินเดียที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเลสเบี้ยนมาก่อนหน้านี้จำนวนหนึ่ง อันที่จริงสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้แตกต่างและคนฮือฮามากคือ
    1. เป็นภาพยนตร์เลสเบี้ยนเรื่องแรกที่อยู่ในกระแสหลัก (Mainstream) 
    2. กำกับภาพยนตร์โดย Shelly Chopra Dhar นักกำกับหญิง และเธอร่วมเขียนบทภาพยนตร์กับ Gazal Dhaliwal นักเขียนบทที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ 
    3. มีนักแสดงดังหลายคน เช่น นัดงกแสดงจากตระกูล kapoor
    4. ภาพยนตร์เลสเบี้ยนโดยทั่ว ๆ ไปจากทั่วโลก เทียบ ๆ กันแล้วมีน้อยมากที่ไม่ถูกนำเสนอในเชิงที่เน้นนัยยะทางเพศ (sexualize) เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ทำได้ดีในเรื่องการนำเสนอความรักระหว่างเพศเดียวกันว่าไม่จำเป็นต้องเน้นไปที่เรื่องทางเพศอย่างเดียว


    เนื้อหาเน้นประเด็นเรื่องการยอมรับตัวตนของตัวเองและการพยายามให้ครอบครัวยอมรับ  เน้นหนักไปที่ว่าสวีทตี้ต้องเจออะไรหลังจากที่รู้ตัวเองว่าเธอชอบผู้หญิง ไม่ได้มีเนื้อเรื่องละเอียดว่าไปรักกับแฟนสาวได้อย่างไรเท่าไหร่

    ท่ามกลางความขัดแย้ง ความเครียด ความอัดอั้นใจที่ภาพยนตร์ส่งมาให้ เราจะได้เห็นมุมที่เป็นความอบอุ่นในครอบครัวของสวีทตี้ด้วย มันจึงเป็นอะไรที่ตัดกันไปมาตลอดเวลา ตัวนางเอกเองก็ทั้งอยากจะทำตามหัวใจแต่ก็อยากให้ครอบครัวมีความสุขเพราะรักครอบครัวมาก 

    เราอาจได้เคยเห็นภาพยนตร์ Coming Out ฝั่งตะวันตกกันมามาก แต่ภาพยนตร์ Coming Out ที่อยู่ในบริบทสังคมที่มีความเชื่อเหนียวแน่นและมีแนวโน้มต่อต้านสูงอาจจะมีให้เห็นไม่มากนัก ความน่าสนใจในเรื่องนี้คงไม่พ้น เพศกับศาสนา เพศกับวัฒนธรรม
    ถ้ากำลังหาภาพยนตร์ความหลากหลายทางเพศที่พูดเรื่อง Coming out เราว่าเรื่องนี้ก็เป้นตัวเลือกที่ได้อีกรสชาติดีเหมือนกัน 

    และนักแสดงสวยมากจนงง
    เพลงประกอบก็มีความเพราะและเพลินดีเธอ




    สปอยล์ชั้นที่ 2 
    (เปิดเผยเนื้อเรื่องเกือบทั้งหมด เพื่อจะแสดงความเห็นถึงประเด็นต่างๆที่ภาพยนตร์จะสื่อ)


    มาดูเรื่องที่ชอบ เรื่องที่ไม่ชอบ และเรื่องที่ทั้งชอบและไม่ชอบของเรื่องนี้กัน 5555

    1. ชอบการสอดแทรกประเด็นต่าง ๆ เข้ามา ค่อย ๆ ปูให้เราเห็นว่าสังคมมีค่านิยมอะไรบ้าง เช่น

    - การแต่งงานข้ามศาสนา
    ภาพยนตร์ใช้ซาฮิลนี่แหละเป็นตัวหลอก ช่วงแรกภาพยนตร์พยายามทำให้คนดูคิดว่านี่เป็นภาพยนตร์รักชายหญิง และอุปสรรคคือการที่ซาฮิลเป็นมุสลิม เป็นปัญหาเรื่องการแต่งงานข้ามศาสนา Inter-religion Marriage ซึ่งผู้เป็นพ่อพูดเองว่า เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับชาวมุสลิม เพียงแต่ไม่อยากให้ลูกสาวเปลี่ยนศาสนา และกังวลว่าเมื่อลูกสาวที่แต่งงานไปมีลูก ลูกจะนับถือศาสนาอะไร 

    และเพื่อกันไม่ให้ลูกสาวไปแต่งงานกับหนุ่มมุสลิมก็เลยจัดการจะหาผู้ชายคนอื่นมาแต่งลูกด้วย
    (หลอกไปเกือบครึ่งเรื่องเลยทีเดียว ตัวเรารู้อยู่แล้วว่าจะพูดเรื่องหญิงรักหญิง เลยออกความเห็นได้ไม่เต็มที่ว่าเนียนไหม)

    - บทบาททางเพศ

    เราจะเห็นว่าสังคมยึดกับบทบาททางเพศแค่ไหนมาตั้งแต่ต้นเรื่องผ่านตัวละครพ่อ ที่ชื่นชอบการทำอาหาร มีความฝันอยากเป็นเชฟ ชอบแอบแม่เข้าไปอยู่ในครัว แม่จะถามเสมอว่าไปทำอะไรในครัว ผู้ชายไม่ควรจะอยู่ในครัว (แล้วจุดนี้จะเป็นประเด็นที่ค่อย ๆ เปิดเผยมากขึ้นเรื่อย ๆ และอยู่กับเราไปตลอดทั้งเรื่อง)

    สุดท้ายเขาทิ้งความฝันการจะเป็นเชฟไป แล้วก็มองว่าชีวิตก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาก็ประสบความสำเร็จกับกิจการเสื้อผ้า แล้วบอกลูกสาวว่าให้ทำเหมือนกัน ให้ตัดใจเรื่องหนุ่มมุสลิมอะไรนั่นไป

    พี่ชายของสวีทตี้รู้เรื่องที่สวีทตี้เป็นเกย์มาตั้งแต่ต้นและพยายามขัดขวางทุกอย่าง ทำทุกอย่างเพื่อจะให้เธอกลับมาเป็น ปกติ ในสายตาของเขาน้องสาวที่เขารักมากกำลังป่วย และถ้าให้คนอื่นรู้มันจะทำให้ชื่อเสียงของวงตระกูลที่ผูกติดอยู่กับชื่อกิจการใหญ่ของบ้านเสื่อมเสียไปหมด
    กระทั่งที่ว่า ให้แต่งงานข้ามศาสนากับผู้ชายมุสลิมไปเลยดีกว่าจะให้ใครรู้ว่าน้องสาวชอบเพศเดียวกัน 
    เรายิ่งเห็นเข้าไปอีกว่า ในสายตาของพี่ชายนั้นชอบเพศเดียวกันเลวร้ายยิ่งกว่าต้องเปลี่ยนศาสนาอีก



    2. ขอพูดเรื่องง่าย ๆ ก่อน ชอบนักแสดง 
    โดยเฉพาะคนที่แสดงเป็นพ่อ แสดงดี๊ดีอะ คืออินไปด้วยเลย ทุกคนก็แสดงดีนะ รู้สึกเป็นธรรมชาติดี เห็นบางคนในเว็บรีวิวไม่ชอบการแสดงนางเอก แต่เราดูแล้วก็ไม่ติดนะ 

    แล้วก็ นี่คือนักแสดงนำที่บอกว่าสวยมากจนงง นางเอกอีกคนก็สวยมากเซมนะ



    3. เราทั้งชอบและไม่ชอบการ handle การ coming out  ชอบที่ภาพยนตร์ทำให้เห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปแบบที่ขัดแย้งและต่อต้านจากทั้งสองฝ่ายเสมอไป มีความสับสนในตัวนางเอกที่อยากจะปลดแอกความโดดเดี่ยว แต่ก็ต้องการความสุขและการยอมรับจากครอบครัว ขณะเดียวกันพ่อก็ไม่ได้ว่าไม่รักลูกสาว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะรับได้ ซึ่งตรงนี้ทำให้เรามองว่า เรื่องการยอมรับไม่ยอมรับมันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของความ เกลียดชัง เสมอไป กรณีในเรื่องนี้เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจ ถึงจะรักมากก็ไม่ได้แปลว่าจะเข้าใจได้

    จุดที่ปักลงกลางใจมากอีกจุดคือตอนที่สวีทตี้ตัดสินใจจะพูดออกไปตรง ๆ ว่าเธอจะทำการแสดงต่อ เธอไม่ได้ทำเพื่อ ต่อต้าน พ่อ แต่เธอทำเพราะคิดถึงเด็ก ๆ อีกหลายคนที่เหมือนกันกับเธอ คิดว่าตัวเองผิดปกติเหมือนเธอ เป็น สวีทตี้2 3 4 5 ที่ต้องอยู่กับความโดดเดี่ยว เธออยากทำให้เด็กเหล่านั้นรู้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องโดดเดี่ยวเลย

    แล้วก็มีฉากบูลลี่ที่ดูแล้วหดหู่จัง

    มันก็คงเป็นภาพยนตร์รักจริงๆ อะ ที่จุกอกตอนสุดท้ายคือความรักที่พ่อให้มีแก่ลูกสาวตั้งแต่เด็กจนโต กับการก้าวผ่านความจริงที่ไม่เป็นไปตามความเชื่อมากกว่า


    ส่วนที่ ไม่เชิงว่าไม่ชอบ แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาตอนดูมากกว่า ข้อดีของครอบครัวในเรื่องคือเป็นครอบครัวอบอุ่น ลองคิดว่าถ้าเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นในครอบครัวที่อบอุ่น มีฐานะ มีทุกอย่างพร้อมแบบนี้ การลงเอยมันคงไม่ได้เป็นแบบนี้นะ 
    ในความเป็นจริงต่อให้ครอบครัวอบอุ่น ทุกอย่างก็อาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนี้ 5555 แต่เราเข้าใจว่ามันเล่าเรื่องหลัก ๆ ได้แค่เรื่องเดียว แล้วก็ต้องเริ่มด้วยการจบแบบมีความสุขก่อนน่ะแหละดีแล้ว คิดว่าจุดประสงค์ของภาพยนตร์คืออยากให้คนโอบรับ ซึ่งเราว่าทำดีมากแล้วในจุดนี้


    4. รายละเอียดมีทั้งความสมจริงและความไม่สมจริง พล็อตอาจจะมีจุดที่แอบหลวมหน่อยๆ

    ตอนซาฮิลโดนถามว่าเขาจะยอมแต่งงานกับผู้ชายไหม ถ้านี่เป็นภาพยนตร์ coming out ในบริบทที่จารีตไม่เคร่งขนาดนี้ เราอาจจะคาดหวังว่าจะได้ยินเขาตอบว่า ได้สิ ไม่มีปัญหาเลยถ้าฉันรักเขา ตามที่มีการปูมาตั้งแต่ต้น แต่เราต้องคิดเรื่องศาสนาและค่านิยมต่าง ๆ ด้วย ซาฮิลจึงพูดออกมาตามตรงเลยว่า ไม่มีทาง มันก็เรียลดี ตัวละครซาฮิลทำให้เราเห็นว่า แม้ว่าเขาจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมดว่าทำไมสวีทตี้ชอบผู้หญิง แต่เขาไม่ได้ถึงกับผลักไสสวีทตี้ออกไป (ถึงจะดูเป็นเพราะว่าชอบสาวเขาก็เถอะ) รับฟังและพยายามช่วยด้วย เนี่ย คือคุณไม่ต้องเห็นด้วยถ้าใจคุณไม่เห็นด้วย แต่คุณเคารพความรู้สึกของพื่อนมนุษย์ไง (เริ่มอิน) 

    ตอนที่เล่นละครไปซักพักผู้คนเริ่มลุกออก ผู้ปกครองที่ปิดตาลูกไม่ให้ดูผู้หญิงกอดกันอย่างคนรัก ในอีกด้านหนึ่งก็มีเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่น้ำตาคลอกับเรื่อง และคนอื่น ๆ ที่อินก็มี เราคิดว่าหนังก็จะทำให้เห็นว่า ใช่ คนรับไม่ได้นั่นแหละ แต่ก็ใช่ คนที่มีความหลากหลายมีอยู่จริง

    ความไม่สมจริงคือ เมื่อพ่อหันมาโอเคกับหนุ่มมุสลิม มันดูง่ายและเร็วไปมาก หลาย ๆ อย่างมันง่ายๆงงๆก็มี แต่ตอนที่กำลังพิิมพ์อยู่นี่ก็ค่อนข้างลืมแล้ว เพราะตอนใกล้จะจบแอบร้องไห้ไปพอประมาณ เลยลืมหมดเลยว่ามีอะไรขัดใจบ้าง 5555 

    5. ชอบความดรีมมี่ในฉากสั้น ๆ ของสองนางเอก
    ที่จริงก็อยากได้ภาพยนตร์เกย์ต่าง ๆ ที่เป็นโรเมนติกคอมเมดี้โดยที่ไม่ต่างอะไรกับโรแมนติกคอมเมดี้ชายหญิง รออยู่และจะรอตลอดไป เลยชอบความดรีมมี่มาก มันธรรมดา น่ารักดี ชอบฉากซ้อนมอเตอร์ไซค์ 

    6.เพลงเพราะเชียวจ้า 

    สุดท้ายนี้ ถึงยังไงก็ดีใจมากที่ได้เห็นภาพยนตร์บอลลีวูดที่นำเสนอเรื่องนี้ในกระแสหลักค่ะ เหมือนได้อยู่เป็นพยานการพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรซักอย่างอย่างจริงใจ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in