เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Music To My Earsวงการฟันเฟิง
God is a woman- Ariana Grande
  • "My one, when all is said and done"

    God is a woman เป็นซิงเกิ้ลที่ 2  จากอัลบั้ม Sweetener ของ Ariana Grande ที่เธอตัดมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎา ปี 2018 ตัวเพลงมี 'ความ empowering และเฟมินิสต์' สูงอยู่แล้วด้วยการเชิดชูความเป็นผู้หญิงของอาริอาน่าเอง แต่เมื่อมีเอ็มวีที่กำกับโดย Dave Meyers เมสเสจที่แท้จริงของเพลงก็ยิ่งชัดกว่าเดิมผ่านการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการผสมผสานศิลปะและตำนานกรีกและโรมันให้เข้ากับความโมเดิร์นของยุคปัจจุบันนี้ ในบทความนี้เราก็จะมาพูดถึง symbolism หรือ references ต่างๆในแต่ละฉากของเอ็มวีกันนะคะ



    1. Ariana และการเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล


    ในฉากนี้ Ariana ยืนอยู่บนโลกซึ่งสามารถสื่อถึงสำนวน “on top of the world” ได้ ซึ่งสำนวนนี้มีความหมายว่าสามารถใช้ได้ตอนเราหรือใครบางคนมีความสุขมากๆ (ตัวอย่าง: I feel on top of the world today. วันนี้ฉันมีความสุขมากเหลือเกินนอกจากนี้เธอยังยืนอยู่ท่ามกลางกาแล็คซี่ซึ่งสามารถสื่อถึงสำนวน “centre of the universe” หรือการเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลนั่นเองค่ะ ตอนนี้ Ariana ทั้งมีความสุขสุดๆและยังเป็นคนที่สำคัญที่สุดอีกด้วย

    2. Ariana และการโอบกอด sexuality ของเธอ


    ในฉากนี้ Ariana นอนอยู่ในบอสีที่เป็นรูปอวัยวะเพศหญิงหรือตรงปากช่องคลอดซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะของ Georgia O’Keeffe ผู้มีฉายา “มารดาแห่ง Modernism” และมักใช้ดอกไม้สื่อถึงอวัยวะเพศหญิงในภาพวาดของเธอ เพราะฉะนั้นฉากนี้เป็น 'การเฉลิมฉลอง sexuality' ของผู้หญิงและผลักดันการร่างกายของผู้หญิงให้เป็นเรื่องสวยงามที่เราควรยอมรับและโอบกอดแทนที่จะผลักไสหรือปิดบังและมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึงในสังคม

    ตัวอย่างผลงานของ Georgia O'Keeffe (Music, Pink and Blue No. 2, 1918 และ Grey Line With Black, Blue And Yellow, 1932)

    3. Ariana และการเป็น Aphrodite


    ในฉากนี้ Ariana เปรียบเสมือน Aphrodite เทพธิดาแห่งความรักและความงดงามของกรีกที่เกิดมาจากโฟมน้ำทะเล (เหมือนกับโฟมที่อยู่รอบๆตัวเธอ) เธอนอนอยู่บนแท่นบนเตียงซึ่งเหมือนเป็นการเชิดชูและให้ความเคารพกับผู้หญิงในความสัมพันธ์และเซ็กซ์

    4. Ariana และการเมินถ้อยคำอันเลวร้าย


    คราวนี้ Ariana นั่งเลียนแบบรูปปั้นชื่อดังอย่าง The Thinker ของ Auguste Rodin ซึ่งหลายครั้งตัวรูปปั้นเป็นตัวแทนและเป็นการให้เกียรติปรัชญาและเป็นการเชื่อมโยง masculinity เข้ากับความฉลาด Ariana จึงนำตัวเองเข้ามาอยู่ในจุดนี้แทนเพื่อเปลี่ยนแนวคิดนี้เป็น 'การให้เกียรติความอัจฉริยะของผู้หญิง' นอกจากนี้ยังมีผู้ชายโยนถ้อยคำ misogynistic เลวร้ายใส่เธอรวมถึงการ slut-shame ด้วย แต่ในท่า The Thinker นั้น Ariana ก็อยู่ใน 'จุดที่เหนือกว่า' การกระทำแบบนี้และไม่จำเป็นต้องสนใจคำพูดพวกนั้นอีกต่อไป

    5. Ariana และการเป็นตัวของตัวเอง


    ในฉากนี้ Ariana ยืนหันหน้าท่ามกลางผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติที่หันหลังออกไปจากกล้อง เป็นการสื่อถึง ‘individuality’ หมายความว่าเราควรรักษาเอกลักษณ์ของเราไว้และควรภูมิใจกับมัน เราไม่จำเป็นต้องทำหรือเป็นไปอย่างที่สังคมบีบบังคับด้วยค่านิยมหรือความคาดหมายต่างๆ เราสามารถ ‘stand out’ หรือโดดเด่นออกมาได้ด้วยการเป็นตัวเราเองซึ่งก็ทรงพลังมากๆแล้ว นอกจากนี้เป็นการสนับสนุนผู้หญิงทุกคนให้หันมาเผชิญหน้ากับโลกและภูมิใจในความแตกต่างของเรากับเปิดเผยตัวตนของเราออกมา ฉากนี้ยังตรงกับท่อน “And I can be all the things you told me not to be” ซึ่งแปลว่า ฉันสามารถเป็นทุกอย่างที่คุณไม่ให้ฉันเป็น คราวนี้ตรงกว่าเดิมอีกว่า เราไม่จำเป็นต้องทำตามบรรทัดฐานที่สังคมสร้างขึ้นมา เป็นฉากที่ดูเรียบๆแต่ก็ทรงพลัง

    6. Ariana และหมาสามหัว

    หมาสามหัวที่เห็นในฉากนี้คือ Cerberus หมาของ Hades (เทพเจ้าแห่งความตายของกรีก) ที่มีหน้าที่เฝ้าประตูนรกเพื่อป้องกันไม่ให้มีวิญญาณหลุดออกไปแต่คราวนี้ดูเหมือนว่าเจ้า Cerberus ปกป้อง Ariana อยู่เพราะฉากนี้ตรงกับท่อน “When you try to come for me, I keep flourishing” ซึ่งแปลว่า เมื่อคุณพยายามโจมตีฉัน ฉันก็ประสบความสำเร็จต่อไปเรื่อยๆ

    อีกอย่างที่น่ารักมากคือ Ariana เป็น Potterhead หรือแฟนคลับตัวยงของ Harry Potter นั่นเองและในภาค Philosopher’s Stone ก็มีเจ้า Fluffy หมาสามหัวของแฮกริด ฉากนี้เลยอาจเป็น easter egg เล็กๆจากความแฟนเกิร์ลของ Ariana

    รูปปั้น Cerberus และเจ้า Fluffy ของแฮกริด

    แถมในฉากนี้ Ariana ยังใส่บราทรงโคนที่คล้ายกับของ Madonna ซึ่งเป็นผู้ที่หลายคนยกให้เป็นหนึ่งในตัวแทนของ female empowerment อีกด้วยค่ะ

    Madonna กับบราทรงโคน

      7. Ariana และแสงเทียน


    Ariana ยืนอยู่ท่ามกลางแสงเทียนและมีท้องฟ้าอันสวยงามเป็นฉากหลังสร้างอารมณ์ heavenly ได้ดีมากๆ เทียนสื่อถึงแสงสว่างซึ่งในด้านศาสนาก็มักสื่อถึง God และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ เมื่อเธอมายืนอยู่ตรงกลางแบบนี้เธอจึงเปรียบเสมือน God ในสวรรค์

    8. Ariana และการเป็นผู้ควบคุม


    Ariana กลับมาอยู่บนโลกและสวมบทบาท God อีกครั้งโดยการอยู่ ‘on top of the world’ มีการเอานิ้วแหย่พายุราวกับเธอเป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์ต่างๆบนโลกและมีอำนาจมากมายเพราะเธอคือ God นั่นเอง

    9. Ariana และการเป็นผู้ให้กำเนิด


    ในฉากนี้ Ariana ตั้งครรภ์และธรรมชาติที่รายล้อมเธอก็ยิ่งโตยิ่งงดงามเมื่อเธออยู่ใกล้สื่อถึงการเป็น Mother Nature ผู้ทรงพลัง เป็นการบอกว่าผู้หญิงคือผู้สร้างหรือผู้ให้กำเนิดเช่นเดียวกับ God เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่พวกเธอเป็น God ได้เช่นกัน นอกจากนี้ในตำนานกรีกยังมี Gaia ซึ่งเป็น Mother Earth และเป็นผู้ให้กำเนิดเทพเจ้ากรีกองค์อื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่การบอกว่า God is a woman อย่างเดียวแต่ผู้หญิงทุกคนก็เป็นเทพีแสนทรงพลังเช่นกัน

    10. Ariana และการเป็นผู้ให้


    ฉากนี้เกี่ยวกับตำนานโรมันอย่าง Romulus และ Remus ที่ถูกสั่งฆ่าและถูกทิ้งที่แม่น้ำไทเบอร์ตั้งแต่เป็นทารกจนกระทั่งมีแม่หมาป่าหรือ She-Wolf มาพบเข้าและรับเลี้ยงทั้งสองจนโต เมื่อ Romulus โตขึ้น เขากลายเป็นผู้ก่อตั้งกรุงโรมและเป็นกษัตริย์องร์แรกอีกด้วย She-Wolf จึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่และการเป็นผู้ให้ ฉากนี้ก็เป็นการเตือนทุกคนให้นึกถึงความสำคัญและบทบาทของผู้หญิงในตำนานและประวัติศาตร์ที่มักถูกมองข้ามหรือลืม

    Romulus และ Remus กับ She-Wolf

    11. Ariana และการทำลายอุปสรรค


    ในฉากนี้มีโควตจากหนัง Pulp Fiction ในฉบับที่ Madonna เป็นคนกล่าว

                "And I will strike down upon thee with great vengeance and furious anger those who would attempt to poison and destroy my sisters. And you will know my name is the Lord when I lay my vengeance upon thee."

    ซึ่งแปลว่า “และข้าจะฟาดลงมาสู่เจ้าด้วยความเคียดแค้นมหาสารและความโกรธเกรี้ยวต่อผู้ที่บังอาจจะวางยาพิษและทำลายสาวๆของข้า และเจ้าจะรู้ว่านามของข้าคือ The Lord เมื่อข้าปลดปล่อยความแค้นออกมาสู่เจ้า” passage นี้มาจากคัมภีร์ไบเบิ้ล (Ezekiel 5:17) และเป็นคำว่า brothers ไม่ใช่ sisters

    นอกจากนี้ Ariana ยืนอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่า The Pantheon หรือมหาวิหารแพนธีออนซึ่งก็คือโบสถ์ที่เป็นที่อยู่อาศัยของเทพเจ้าโรมันทุกองค์ เธอยังโยน gavel หรือค้อนผู้พิพากษาที่อยู่ในมือขึ้นไปพังเพดานกระจกเป็นการสื่อถึงการ ‘break the glass ceiling’ โดยตรง ซึ่งประโยคนี้หมายถึงการพลังทลายอุปสรรคล่องหนที่กันไม่ให้ผู้หญิง คนผิวสีและกลุ่มคนชายขอบประสบความสำเร็จและไต่เต้าในสังคมหรือหน้าที่การงาน

    การที่เธอใช้ค้อนผู้พิพากษาก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจสูงสุดมาช่วยพังทลายบรรทัดฐานในสังคม patriarchy ลงมาและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการและอยากเห็นในสังคม ประกอบกับโควตที่ยกมาแล้วฉากนี้คือการเรียกร้องให้ผู้หญิงและทุกๆคนแสดงความโกรธและจับมือร่วมกันสู้กลับและเรียกร้องสิทธิพึงมีของพวกเรากลับคืนมา

    12. Ariana และความแข็งแกร่งของผู้หญิง

    การที่ Ariana มีตาเป็นแมวก็สื่อถึงความเชื่อที่แมวมีเก้าชีวิตสื่อถึงความแข็งแกร่งของผู้หญิง ไม่ว่าพวกเธอจะโดนอะไรมาเช่นคำต่อว่าหรือเสียงดูถูกพวกเธอก็ยังเข้มแข็งและสู้ต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ถดถอย หลายครั้งแมวยังเป็นสัญลักษณ์สำหรับ ‘femininity’ และด้วยลักษณะของแมวก็ยังสื่อถึงความฉลาดหลักแหลมและ independence นอกจากนี้ในวัฒนธรรมต่างๆอย่างอียิปต์โบราณก็มีการบูชาแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย

    13. Ariana และความเป็น God

    ฉากนี้เป็นการสร้างภาพ The Creation of Adam ของ Michaelangelo ขึ้นมาใหม่และในเวอร์ชั่นนี้ Ariana ก็เป็น God เป็นการโชว์คอนเซปต์ของเพลงและมิวสิควิดีโอที่ชัดที่สุดแล้ว แถมคนรอบๆ Ariana ก็เป็นผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติอีกด้วย สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ชายไม่ต้องเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเสมอไปเพราะใครจะรู้ล่ะ บางที God is a woman ก็เป็นได้นะ

    ภาพ The Creation of Adam, Michaelangelo (1508-1512)

    "You'll believe God is a woman"


    ผ่านมาสองปีแล้ว God is a woman ก็ยังเป็นหนึ่งในเอ็มวีที่ดีที่สุดของ Ariana Grande ด้วยคอนเซปต์ที่สังคมโหยหาและต้องการ การใช้สัญลักษณ์อย่างชาญฉลาดแบบนี้ต้องชม Ariana, Dave Meyers และทีมงานทุกๆคนที่ทำออกมาได้ดีและงดงามขนาดนี้ ในโลกที่ patriarchy ยังมีอิทธิพลอยู่มาก เราก็ต้องการ female empowerment มาผลักดันและเสริมสร้างพลังกับการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงและคนชายขอบพร้อมๆกับการประณามความสองมาตรฐานและการเหยียดเพศไปด้วย God is a woman and her name is Ariana Grande

    Writer's Note: จริงๆเคยโพสต์บทความนี้ไปแล้วแต่ตอนนี้แอคเค้าท์ทวิตเตอร์เก่าบินไปแล้วปีกว่าๆทำให้เข้า Minimore เก่าไม่ได้ด้วยค่ะ เลยถือโอกาสวันครบรอบ 2 ปีของเอ็มวีนี้มาปรับปรุงบทความนี้และโพสต์ลงอีกครั้ง ฝากติดตามแอคใหม่ในทวิตเตอร์ด้วยนะคะ @moviesmusic_th_ ส่วนใน Minimore ก็ไม่แน่ใจว่าจะกลับมาเขียนอะไรอีกมั้ย ยังไงก็รอดูกันนะคะ

    (Disclaimer: ทั้งหมดนี้เป็นการตีความและความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ ทำสนุกๆเท่านั้น These are all my personal thoughts and opinions so always take it with a grain of salt. This is something I do for fun in my free time so please have fun with it and let me know if you have your own sets of interpretations or opinions!)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in