เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryJutamas Sawangduen
สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล คติสอนใจในบทเพลง
  • บทความวิจารณ์ดนตรีชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาสังคีตนิยม Music Appreciation 2737110 โดยนางสาวจุฑามาศ สว่างเดือน นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์

             ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ยากมากจริง ๆ สำหรับการวิจารณ์ละครเพลงที่คล้ายกับอุปรากรเรื่องนี้ ที่บอกว่ายากนั้น ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าการวิจารณ์ตัวเพลงหรือดนตรีเป็นเรื่องที่ยาก แต่เป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองช่วงหลังมานี้ต่างหากที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจอยู่หลายครั้ง ถอดใจหลายหนในการเขียน แต่เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว บทวิจารณ์นี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้อ่านไม่มากก็น้อย อย่างน้อย ๆ ท่านจะได้รับฟังบทเพลงที่ไพเราะเหล่านี้ ต้องบอกก่อนละครเวทีเรื่องนี้ ถูกถ่ายทอดทั้งหมด4ครั้ง การวิจารณ์ดนตรีในครั้งนี้จะวิจารณ์การแสดงในครั้งแรก คือฉบับปีพ.ศ.2554ที่ไม่ว่าจะผ่านมานับ10ปีแล้วก็ยังตราตรึงในหัวใจ

            เปิดมาท่านจะได้รับฟังเสียงใส ๆ ในบทเพลงบ้านของฉัน ของตัวละครแม่พลอยในวัยเด็ก ที่มีความอาลัยอาวรณ์ เพราะต้องจากบ้านที่อยู่มาตั้งแต่เกิด และยังไม่รู้ว่าตนเองต้องไปที่ไหน ยังดีที่มีแม่เป็นหลักให้ยึดเหนี่ยว ทำนองเพลงนี้ผู้ชมจะได้รับรู้ถึงความเป็นไทยมาก แม้เครื่องดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีสากลก็ตาม เป็นเพราะทำนองเพลงที่มีบันไดเสียงแบบเพนตาโทนิก ซึ่งเป็นบันไดเสียงที่ใช้ในเพลงไทยเดิมค่อนข้างมาก จึงไม่แปลกเลยที่เราจะรู้สึกถึงความเป็นไทยผ่านบทเพลงนี้ 

            ต่อเนื่องมาที่เพลงวังหลวง เพลงที่ให้ความรู้สึกตื่นเต้น คาดหวัง และชวนน่าสงสัยไปในคราวเดียวกัน ทำให้คนฟังเหมือนราวกับว่าเป็นแม่พลอยที่ต้องเข้าวังหลวงซะเอง นอกจากความตระการตาในการแสดงแล้ว ในส่วนของดนตรียังมีการใช้ระนาดเอกมาเป็นจุดบ่งบอกว่าเพลงนี้มีความเป็นไทยเดิมอยู่นะ ยังไม่ได้ข้ามผ่านไปยุคสมัยอื่น


            เมื่อมีพบก็ต้องมีจาก แต่การจากลาสำหรับเด็กหญิงในครั้งนี้เป็นความเจ็บปวดครั้งแรกที่ต้องเจอ หนำซ้ำคนที่ต้องจากลาคือแม่ เสาหลักเดียวที่มี เธอจึงเสียใจอย่างที่สุด เราสามารถรับรู้ถึงความเศร้านั้นได้ ผ่านเพลงถึงคราวต้องจาก ที่สองนักแสดงต่างถ่ายทอดอารมณ์ให้แก่กัน ทำเอาคนฟังอดสงสารแม่พลอยไม่ได้ ผู้เขียนเองก็แอบนึกถึงวันที่ต้องห่างจากอกแม่ครั้งแรกเบา ๆ ในส่วนของดนตรีในเพลงนี้ความเป็นสากลมากกว่าสองเพลงที่ผ่านมา เมื่อจบแล้วตอกย้ำความรู้สึกด้วยเพลง วันที่ไร้แม่ ที่นักแสดงต้องควบคุมทั้งการร้องเพลงและการแสดงให้มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด ฉากนี้ต้องปรบมือดัง ๆ ให้กับนักแสดงเลยทีเดียว



  •         แต่อย่างไร ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปโชคดีที่พลอยมีเพื่อนที่ดีอย่างช้อย ตัวฮาประจำเรื่อง ที่คอยสอนงานในวังต่าง ๆ แก่พลอยผ่านเพลงชาววัง เพลงที่มีจังหวะเร็วสนุกสนาน มีการใช้คำตามบทประพันธ์ตามนวนิยาย คือคำว่า “เสด็จ” มาเป็นลูกเล่นในเพลง ในจังหวะที่เร็วมาก ทำให้เพิ่มความสนุกมากขึ้นหลายเท่า ผู้เขียนขอมอบชื่อของฉากนี้ว่า แม่ช้อย The rapper เพราะเร็วถึงขั้นต้องลุ้นตามว่านักแสดงจะร้องได้ทันหรือไม่ ต่อด้วยเพลงใต้ร่มพระบารมี จุดเริ่มต้นของเสาหลักใหม่ของแม่พลอย เป็นเพลงเนื้อหาสั้นๆต่อกันหลายเพลงร้องสลับกับบทพูด


            มาถึงบทเพลงที่เรียกได้ว่าเป็น Highlight ของการแสดง นั่นคือ ในหลวงของแผ่นดิน เพลงสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมตัวละครแม่พลอยถึงมีความรักในพระเจ้าแผ่นดิน และยังเป็นบทเพลงที่เปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยสาว แสดงให้เห็นว่า ความรัก ความศรัทธานั้นยังคงอยู่เสมอมาไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหนก็ตาม


            หญิงสาวกับความรักเป็นของที่คู่กัน ยิ่งเป็นสาวเนื้อหอมอย่างแม่พลอย ที่เพื่อน ๆ ต่างร่วมร้องเพลงแม่ช่างหอมให้ รู้เลยว่าเธอน่าจะป๊อปไม่เบา แต่สุดท้ายต้องมาแพ้ใจให้กับขนมจีนแห่งบางประอิน บทเพลงเกี้ยวพาราสีของคุณเปรมที่ต่อคำกับนางเอกของเรื่อง เนื้อเพลงหวานซึ้งชนิดที่ว่าขนมจีนกลายเป็นขนมบัวลอยได้เลย นอกจานั้นในฉากสั้น ๆ นี้เราจะได้ฟังบทเพลงรักซึ้ง ๆ ที่พรรณนาถึงความรักของคุณเปรม เพลงพลอย เพลงช้า ทำนองเพราะ สื่อถึงอารม์คนฟังได้เป็นอย่างดี




            ตามมาด้วยเพลง สายธารชีวิต เพลงเอกของแม่พลอยช่วงสาว ที่เปรียบชีวิตของตนเองเหมือนดังสายน้ำ เมื่อต้องแต่งงานก็เกิดความสับสนในชีวิต นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเธอ บทเพลงนี้จะให้ความรู้สึกไม่แน่ใจและมีความหวัง ในตัวดนตรีมีความเป็นไทยผสมอยู่เล็กน้อย ในทำนองเพลง


            ในช่วงเปลี่ยนผ่านแผ่นดิน เราจะไดรับฟังเพลงดาวหางมาเยือน ที่มีเนื้อหาเพลงอิงหลักความเชื่อของคนไทย และดนตรีที่ไม่ความระทึก น่าตกใจนี้เองที่สื่อให้คนฟังรู้ได้ว่า ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสียแล้ว ความโศกเศร้าในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่พลอย แต่เป็นคนไทยทั้งแผ่นดิน เสียงปี่ที่โหยหวนดังพร้อมมากับการแต่งกายไว้ทุกข์ของนักแสดงเป็นการสื่อสารได้อย่างดีว่าเกิดอะไรขึ้นโดยไม่ต้องมีบทพูดอะไรเลย
  •         เข้าสู่ช่วงแผ่นดินที่สอง เปิดมาด้วยเพลงสราญรมย์ แสดงให้รู้ว่าในยุคนี้เป็นยุคที่เริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากมายไม่ว่าจะเป็น เครื่องแต่งกาย การเต้นรำ หรือแม้แต่ดนตรีที่มีความเป็นสากลแทบจะทั้งหมด
            ตามมาด้วยเพลงภาพ เพลงที่ทำให้เราตระหนักรู้และเรียนรู้ที่จะยอมรับ การเปลี่ยนแปลง ดนตรีมีกลิ่นอายความเป็นไทยผสมอยู่เพียงเล็กน้อย เนื้อเพลงแฝงไปด้วยคติสอนใจ และยังทำให้รู้ว่า พลอย เป็นคนที่กลัวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก แต่สุดท้ายก็ต้องปรับตัวที่จะอยู่กับมันให้ได้


            กล่าวถึงเหล่าลูก ๆ ของพลอยทั้ง4คน ที่แต่ละคนก็มีแนวทางที่ต่างกัน เปรียบเสมือนต้นน้ำที่แตกออกเป็นหลายสาย เพลงนี้จะบ่งบอกถึงแนวทางชีวิต ความคิด และเป้าหมายของอ้น อั้น อ๊อด ประไพ ผ่านบทเพลงคนรุ่นใหม่และเพลงสายธารที่ต่างกัน พร้อมกับที่แม่พลอยเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน หรือที่คนรุ่นใหม่ เรียกกันว่า คนรุ่นเก่านั่นเอง ดนตรีในเพลงนี้แต่ละท่อนจะมีความคล้ายกันแต่ส่งพลังความรู้สึกแก่ผู้ชมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของคำร้องซึ่งแตกต่างกันนั่นเอง

            Congratulations บทเพลงแห่งการเฉลิมฉลองและร่วมยินดี แก่คนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศอย่าง อั้น บทเพลงมีความสนุกเฮฮา รื่นเริง ตรงข้ามกับเพลงถัดมาคือ ผิดหวัง เนื่องจากอั้นไม่ได้เลื่อนขั้นในตำแหน่งหน้าที่การงาน เกิดเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นขัดแย้งกับอ้น ที่เราจะได้รับฟังในเพลง ปฏิญาณ เพลงที่ให้ความรู้สึกเด็ดเดี่ยว ฮึกเหิม ใส่เสียงกลองมาเพื่อให้ความรู้สึกว่ามีระเบียบและเข้มแข็ง เมื่อเกิดความคิดที่ต่างกันมักนำพามาสู่ความแตกแยก เพลงที่มีเนื้อหาห้ำหั่น เชือกเฉือน ทางความคิดของอ้น อั้นและอ๊อด ดนตรีมีความหนักแน่นสื่อถึงความยึดมั่นในความคิดตนเองของแต่ละตัวละครได้เป็นอย่างดี



            การแตกหักของลูก ๆ ทำให้คนเป็นแม่อย่างพลอย ต้องบอบช้ำทางจิตใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งคุณเปรมผู้ที่อยู่เคียงข้างของเธอต้องมาเสียชีวิตลงกะทันหันพร้อมหลังการเปลี่ยนแผ่นดินครั้งที่สอง ทำให้พลอยไร้ซึ่งที่พึ่งพาทางใจ มีเพียงอ๊อด ที่คอยปลอบประโลมจิตใจของแม่ด้วยบทเพลง ฉันจะอยู่เคียงข้างเธอ ที่ทั้งดนตรีและเนื้อเพลงสามารถถ่ายทอดความรัก ความห่วงใยของลูกที่มีต่อแม่ได้เป็นอย่างดี

            เรื่องราวความวุ่นวายยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่ออั้น ผิดคำสาบาน บทเพลงที่เล่าเรื่องราวทางความคิดของเขา ที่มีต่อประเทศ ความมุ่งหวังเดียวของเขาคือการพัฒนาให้ประเทศไปสู่จุดที่ดีขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ไม่คาดคิดว่าจะทำให้เกิดความเสียใจและความผิดหวังของผู้เป็นแม่อย่างมหาศาล ส่วนอั้นผู้ยึดมั่นในปฏิญานของตนก็ได้ปกป้องแผ่นดินตามแนวคิดของตนเองอย่างสุดชีวิต แม้ตนเองยังสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย รับฟังได้จากเพลง แผ่นดินลุกเป็นไฟ เพลงที่แสดงถึงความเสียใจ สูญเสีย ผิดหวังและคาดหวังของอ้น



  •         แม้จะเป็นสิ่งที่พลอยและหลาย ๆ คนในยุคนั้น เห็นว่าการกระทำของอ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในทางการเมืองผู้แพ้ย่อมถือว่าเป็นกบฏต่อบ้านเมือง การที่คณะราษฎรเป็นฝ่ายชนะในการปฏิวัติสยาม ทำให้อ้นตกอยู่ในสถานะนักโทษทันที คนเป็นแม่อย่างพลอยถึงกับใจสลาย แม้อ้นจะเป็นเพียงลูกติดของคุณเปรม แต่พลอยก็รักและหวังดีกับอ้นเหมือนลูกในไส้ จึงเกิดมาเป็นเพลงต้องทำทุกสิ่ง เพลงที่บอกถึงความตั้งใจของพลอยที่ต้องพาลูกออกจากคุกให้ได้ มาถึงตรงนี้ผู้ฟังอาจจะรู้สึกคุ้นหูกับเพลงนี้ นั่นเป็นเพราะเป็นทำนองเพลงเดียวกันกับเพลงถึงคราวต้องจากนั่นเอง เปลี่ยนแปลงแค่เนื้อร้องกับสถานะของพลอย ที่เพลงถึงคราวต้องจากเป็นความรู้สึกของลูกที่มีต่อแม่ แต่ในเพลงต้องทำทุกสิ่งนี้ ถ่ายทอดความรู้สึกของพลอยผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูก นับว่าเป็นจุดที่มีความน่าสนใจในละครเวทีเรื่องนี้จุดหนึ่ง 

            ตัดเปลี่ยนอารมณ์มาที่ฉากประไพเลือกคู่ ที่แม่ช้อย The rapper ได้โชว์พลังการร้องอีกครั้ง ในเพลง เลือกใครหนอ ที่มีการนำทำนองเพลงชาววังบางส่วนมาใช้ ต่อด้วยเพลงรอดไหม เพลงเนื้อหาเชิงเสียดสี ล้อเลียนผู้หญิงในยุคสมัยใหม่ ซึ่งตัวละครช้อย ร่วมด้วย เพิ่ม พี่ชายของพลอย ที่ได้ถ่ายทอดออกมาอย่างสนุกสนาน มีการเร่งจังหวะจากช้าไปเร็วในเพลงแล้วจบด้วยการร้องช้าซ้ำอีกครั้งเพื่อตอกย้ำว่าจะรอดไหม


            เข้าสู่ช่วงที่เรียกว่าดราม่าขั้นสุดของละครเวทีเรื่องนี้ เนื้อเรื่องเกิดขึ้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย จนทำให้เกิดบทเพลง แผ่นดินร้อน และพวกขายชาติ บทเพลงที่แสดงถึงความโกรธของคนไทยที่ถูกเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหง อีกทั้งคนไทยบางส่วนยังคิดหาเงินเข้ากระเป๋าของตนเองโดยไม่สนใจชาติบ้านเมือง การใช้หมู่มวลมาร่วมร้องในเพลงแผ่นดินร้อนยิ่งส่งพลังถึงความรู้สึกของผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ในตอนนี้เราจะเริ่มเห็นแล้วว่าอั้น เกิดความรู้สึกขัดแย้งกับผู้ร่วมขบวนการคนอื่นๆ และเขาไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตนคาดหวัง จะออกมาในรูปแบบนี้ เพราะเขามีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองเทียบเท่าตะวันตกที่ได้ไปร่ำเรียนมาและกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก้าวสู่อำนาจของพวกคนที่กระหายอำนาจเท่านั้นเอง
            เหตุการสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้บ้านของพลอยและคุณเปรมถูกระเบิดลง บ้านของความทรงจำ บทเพลงที่ส่งผ่านความรู้สึกเสียใจ เสียดายและใจหายของพลอยได้เป็นอย่างดี พร้อมกับเพลงบ้านของฉัน เพลงแรกที่เราได้ฟังในละครเวทีเรื่องนี้ แต่ได้ตีความเนื้อหาใหม่ให้พลอยมีความรู้สึกดีใจที่ได้กลับมาอยู่บ้านเกิดของตนเอง พร้อมกับข่าวดีที่อ้นได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากในหลวงยอมสละราชสมบัติเพื่อแลกกับการปล่อยตัวของนักโทษการเมืองทั้งหมด แต่ในดีย่อมมีร้าย ข่าวอ๊อดเสียชีวิตจากไข้ป่าเพราะไปทำงานที่เหมืองของภาคใต้ ทำให้อาการป่วยของพลอยทรุดลงอย่างรวดเร็ว


            ด้านอั้นเองเกิดความรู้สึกผิดอย่างมหาศาล ที่มีส่วนเป็นต้นเหตุ ในการกระทำสิ่งที่ถือว่าเป็นการทำลายจิตใจของคนไทยเกือบทั้งประเทศ อีกทั้งยังไม่สามารถช่วยเหลือหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้ว ความผิดหวังนี้ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลง แสงที่เธอศรัทธา ให้ความรู้สึกขอโทษ และสำนึกผิดของตัวละครได้อย่างดี
            พลอยที่ในขณะนี้เปรียบเสมือนน้ำที่กำลังจะหมดกระแส ไหลเอื่อยเรื่อยไป กลับมีแรงใจขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ ความหวังคืนมายังแผ่นดิน บทเพลงที่เปรียบเสมือนสายฝนที่ช่วยทำให้สายน้ำชุ่มบื้นและพัดพาไปได้อีก ข่าวดีที่สุดในช่วงชีวิตตอนนี้ คือ ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงกลับมายังประเทศไทย เสาหลักในชีวิตของเธอกลับมาแล้ว เธอมีที่ให้ยึดเหนี่ยวแล้ว พลอยได้ถ่ายทอดความปลื้มปิตินี้ออกมาผ่านบทเพลงที่ทำเอาคนฟังรู้สึกใจชื้นตาม ๆ กันไป แต่ในตอนจบของพลงจะมีเสียงกระสุนปืนดังขึ้น เพื่อกระชากอารมณ์และบอกว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นต่อไป เหตุการณ์นี้คือการสูญเสียครั้งสุดท้ายในชีวิตของพลอย ก่อนที่วิญญานและสังขารของเธอจะหลุดลอยไปดั่งสายน้ำที่แห้งขอดและไม่มีใันไหลกลับมา


  • และแล้วเราก็ดำเนินมาถึงเพลงสุดท้าย บทสรุป ที่เมื่อได้ฟังก็ทำให้เราตระหนักรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงก็เป็นเช่นนี้เอง มีทุกข์ มีสุข มีเศร้า มีเร้าใจ ไม่ต่างอะไรกับสายน้ำที่บางวันก็ไหลเชี่ยวแต่บางครั้งก็นิ่งอยู่อย่างนั้น แม้จะมีวันที่เอ่อล้นฝั่งแต่ก็มีวันที่จะแห้งเหือดหายไปเช่นกัน พูดง่ายๆคือให้ความรู้สึกปลงกับชีวิตได้เป็นอย่างดี 




    การวิจารณ์ในครั้งนี้เป็นการวิจารณ์ในส่วนของเพลงและดนตรีเป็นหลัก แต่ถ้าหากทุกท่านสนใจที่จะรับชมทั้งเรื่องก็สามารถรับชมได้ที่ https://youtu.be/7SMdDU0aIQc ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่ อาจจะมีการลดหรือเพิ่มเพลงนอกเหนือจากที่ผู้เขียนได้วิจารณ์บ้างเล็กน้อย ผู้เขียนขอรับรองว่าทุกท่านจะได้รับฟังบทเพลงที่ไพเราะ เนื้อหากินใจ พร้อมกับการแสดงที่มีคุณภาพ และได้รับข้อคิดดี ๆ เหมือนที่ผู้เขียนได้รับอย่างแน่นอน

    ดนตรีประกอบการแสดง ประพันธ์โดย สราวุธ เลิศปัญญานุช คำร้องโดย วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ บทละครโดย ชยากร สุทินศักดิ์, พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์, วรรณถวิล สุขน้อย, พิมสิรินทร์ พงษ์วานิชสุข และ พฤกษ์ เอมะรุจิ มีเพลงเอกของการแสดง คือเพลง ในหลวงของแผ่นดิน ขับร้องโดย ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ (พลอย วัยเด็ก)

    สร้างจาก
    บทประพันธ์เรื่อง สี่แผ่นดิน
    ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

    อำนวยการสร้าง
    ถกลเกียรติ วีรวรรณ

    บริษัทผู้สร้าง
    ซีเนริโอ
    แสดงที่ :
    เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์

    นักแสดงนำ
    สินจัย เปล่งพานิช รับบท พลอย (วัยผู้ใหญ่-วัยชรา)
    พิมดาว พานิชสมัย รับบท พลอย (วัยรุ่น)
    ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ รับบท พลอย (วัยเด็ก)
    นภัทร อินทร์ใจเอื้อ รับบท คุณเปรม (วัยรุ่น)
    เกรียงไกร อุณหะนันทน์ รับบท คุณเปรม (ผู้ใหญ่)
    รัดเกล้า อามระดิษ รับบท ช้อย (ผู้ใหญ่)
    ดวงธิดา เลี้ยงสกุล รับบท ช้อย (วัยรุ่น)
    อาณัตพล ศิริชุมแสง รับบท อ้น
    ยุทธนา เปื้องกลาง รับบท อั้น
    สิงหรัตน์ จันทร์ภักดี รับบท อ๊อด
    ตี๋ ดอกสะเดา รับบท พ่อเพิ่ม
    กานดา วิทยานุภาพยืนยง รับบท ประไพ
    เลอวิทย์ สังข์สิทธิ์ รับบท เสวี
    ตวงทิพย์ ณ นคร รับบท แม่แช่ม
    กฤศกร ลักษณประณัย รับบท เสด็จ

    แหล่งข้อมูล
    https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99_%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%A5
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in