เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CINALYSISน้ำนิ่งฯ
สัจนิยมมหัศจรรย์บริพันธ์ทวิญาณใน La double vie de Véronique
  • (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)


    อารัมภบทสู่ชีวิตปรกติอันอัศจรรย์

                หยาดฝนระยับหยดลงบนหน้าเปื้อนยิ้มของหญิงสาวผู้กำลังขับร้องประสานอย่างเสนาะเสียงไม่เป็นอุปสรรคต่อเธออย่างใด แม้เพื่อนร่วมร้องประสานวิ่งหลบหนีเข้าที่กำบังฝนและฝนเริ่มโรยเม็ดหนักขึ้น แต่หญิงสาวยังคงยิ้มปรีดารับความเย็นของสายฝนชุ่มชโลมให้ใจเธอปีติ แหงนหน้ามองเบื้องบนคล้ายว่ากำลังสื่อสารกับบางสิ่งหรือบางคน ความสุขเกษมของเธอไม่ถูกอธิบายเพิ่มเติมว่าไฉนเธอจึงเลือกตากฝนขับเสียงอันไพเราะอันผิดปรกติวิสัยของมนุษย์คนหนึ่งที่มักจะเข้าหาที่ร่มไม่ให้ตัวชื้นจนเกิดไข้ กล้องบันทึกใบหน้าสดใสซึ่งฉ่ำไปด้วยน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการขัดขวางใดเกิดขึ้นทั้งจากการยื้อยุดเธอออกจากเฟรมหรือการตัดภาพไปสู่แห่งอื่นจนกว่าจะจบฉาก หญิงสาวครองพื้นที่ภาพให้ผู้ชมจ้องมองซึมซาบกับใบหน้างามของหญิงสาวที่สำแดงความสุขล้นปรี่พร้อมฟังเสียงร้องชวนฝันพร้อมกันไป นี่คือความพิศวงของฉากต้นเรื่องจากการนำเสนอภาพอันผิดปรกติวิสัยของมนุษย์ (ยืนร้องเพลงให้ฝนชโลมชุ่ม) ที่ไม่อินังขังขอบต่อความผิดปรกติ กล้องตั้งนิ่งดำเนินไปเป็นกลางต่อการกระทำของเธอแต่ก็สร้างความพิศมัยอย่างยากจะอธิบายว่าเพราะเหตุใดภาพของหญิงสาวผู้ไม่ยี่หระต่อสายฝนพรำจึงไม่เกิดข้อพิพาทในใจของผู้ชมต่อความเข้ากันอย่างประหลาดทว่าก็สวยสะกด

    นี่คือผลลัพธ์หนึ่งจากกลบทของผู้กำกับชาวโปแลนด์ Krzysztof Kieślowski ที่ได้ใช้การปะทะกันระหว่างศิลปะสัจนิยม (realism) อันนำเสนอภาพที่ปรากฏในชีวิตประจำวันอย่างตรงไปตรงมาและสามารถถูกอธิบายได้ด้วยแนวคิดเชิงเหตุผลนิยม (rationalism) ว่าอะไรคือเหตุกับผล กับ ความมหัศจรรย์ (magic) ที่มีนัยประหวัดถึงตำนานหรือนิทานปรัมปราอันอยู่เหนือเหตุผลจนผิดปรกติวิสัยของโลกที่เราดำเนินอยู่ La double vie de Véronique สอดสมานระหว่างสองศิลปะเข้าด้วยกันผ่านเรื่องราวของหญิงสาวสองคนที่อยู่คนละซีกโลกทว่ารูปร่างหน้าตาเหมือนกันทุกประการราวกับเป็นแฝดของกันและกัน เชื่อมผูกพันด้วยบางสิ่งเหนือการรับรู้ทั่วไปของมนุษย์ ถูกถักร้อยด้วยศิลปะสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ซึ่งผ่านกระบวนการถูกสกัดเป็นภาษาหนังที่แพรวพราวราวบทกวีชั้นเลิศ


    สัจนิยมมหัศจรรย์เป็นแขนงศิลปะซึ่งผสานศิลปะสัจนิยมอันเป็นศิลปะของชนชั้นกลางโลกตะวันตกผู้ตื่นรู้ในหลักการคิดแบบวิทยาศาสตร์กับความมหัศจรรย์อันโยงเกี่ยวไปถึงตำนานพื้นบ้านของโลกที่สามที่ความงมงายเป็นสรณะแห่งการใช้ชีวิต ความแย้งกันนี้เองชวนให้ฉุกใจใคร่ครวญถึงความหมายของบางอย่าง เช่นในภาพวาด The Empire of Light ของ René Magritte ที่เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างความสว่างกับความมืด, ท้องฟ้ากับผืนดินหรือยามเช้ากับยามค่ำ ความไม่ลงรอยในภาพดังกล่าวฉุกให้นึกใคร่คิดถึงมิติเวลาซึ่งแตกต่างจากมุมมองเดิมเชิงสัจนิยมซึ่งเวลาดำเนินเป็นเส้นตรงและชี้ชัดโมงยามที่กำลังเกิดขึ้นได้ กล่าวได้ว่าศิลปะแขนงนี้เป็นการอยู่ร่วมของชุดตรรกะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเหมือนกับคำว่าสัจนิยมกับมหัศจรรย์ที่เชื่อมสมาสเป็นคำปฏิพจน์ (oxymoron) ดังใน La double vie de Véronique ที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่าหญิงสาวยืนรับสายฝนอย่างปรีดาหน้าชื่นผิดจากพฤติกรรมปรกติของมนุษย์แต่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างสามัญด้วยวิธีการนำเสนอแบบภววิสัย (objectivity) กล่าวคือ กล้องไม่ได้เคลื่อนเข้าไปละลาบละล้วงและไม่มีการตัดต่อเข้ามาเสริมเติมอารมณ์อย่างโผงผาง ความธรรมดากับความผิดปรกติรวมกันเป็นเนื้อเดียว นี่คือความขัดแย้งต่อกันอันพิลึกพิลั่นที่ผู้ชมไม่ตั้งแง่แต่ยอมรับโดยดุษณี อาจด้วยต้องมนตร์สัจนิยมมหัศจรรย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว



    นาฏกรรมอัศจรรย์พันลึก

    La double vie de Véronique ดำเนินชุดเหตุการณ์ในโลกมนุษย์ปัจจุบัน (คริสต์ศักราช 1990) ไม่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยหรือเงื่อนไขเหนือธรรมชาติแบบโลกพ่อมดที่เสกคาถาสู้กันไฟแลบแปลบปลาบ อย่างไรก็ดีภาพยนตร์หยิบยืมโครงความเชื่อจาก Doppelgänger ตำนานสัญชาติเยอรมันว่าด้วยคนที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันสมบูรณ์แต่ต่างเลือดเนื้อเชื้อไข Kieślowski บรรจงถักร้อยนาฏกรรมชีวิตอัศจรรย์ของแฝดสาวคนละซีกโลก Weronika กับ Véronique ด้วยการเคลื่อนด้านสัจนิยมคือชีวิตธรรมดาเข้าบรรจบด้านมหัศจรรย์คือความเป็นกวีผ่านภาษาหนังมลังเมลืองโดยเฉพาะงานภาพ (mise-en-scène) แสนสละสลวย

    ตัวละครต่างไม่ตระหนกต่อการปรากฏตัวของร่างแฝดราวกับว่าเป็นกฎเกณฑ์สามัญของโลก ซ้ำยังมีกลิ่นอายพลังงานศักดิ์สิทธิ์ไหลเวียนปกคลุมอย่างนิทานพื้นบ้าน ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาแต่สัมผัสได้ทางอารมณ์ เมื่อตัวละครแรกสิ้นใจก็โยกย้ายมาเล่าผ่านอีกตัวละครประดุจตายแล้วเกิดใหม่ โดยสัญญะโยงไปถึงความเชื่องมงายเรื่องภพชาติแต่ไม่ถูกนำเสนอเป็นภาพดวงวิญญาณขาวลอยล่องไปจุติอย่างตรงไปตรงมา ยังอยู่บนพื้นฐานของความสมจริงเชิงสัจนิยมคือเพียงเปลี่ยนมาเล่าผ่านชีวิตของร่างแฝดอีกคนที่ยังหายใจ โดยที่ผู้ชมสัมผัสได้ว่ามีความสัมพันธ์อย่างหลวมในระดับจิตวิญญาณเชื่อมระหว่างกันผ่านบทพูดที่ใจความคล้ายกันหรือลักษณะตรงข้ามกัน Weronika อาศัยในประเทศที่เป็นเผด็จการและมีคนรัก ส่วน Véronique อาศัยในประเทศที่มีเสรีภาพและเลิกรากับคนรัก ขณะเดียวกันก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันนอกเหนือจากหน้าตาคือผ่านความชื่นชอบในดนตรีและอาศัยอยู่กับพ่อเพียงลำพัง

    ชุดตรรกะสัจนิยมในเรื่องไม่ปฏิเสธการอยู่ร่วมของชุดตรรกะแฝดคนละซีกโลกอันพิศวงอัศจรรย์ ทั้งสองอยู่เคียงกันโดยที่ไม่มีใครปกครองอีกฝ่าย ไหลเคลื่อนไปมาหากันอย่างกลมกลืน ด้วยกระบวนวิธีที่ Kieślowski ใช้เปลื้องชุดตรรกะเชิงสัจนิยมของผู้ชมเพื่อต้อนรับความมหัศจรรย์คือการกำกับวิธีมองโลกที่ตัวละครดำรงอยู่

              ภาพแรกที่ปรากฏคือภาพหัวกลับของเมืองแห่งหนึ่ง ท้องฟ้าสีหม่นอยู่ด้านล่างส่วนเมืองที่หลับใหลในความมืดอยู่ด้านบน กล้องค่อย ๆ ไหลเคลื่อนไปทางด้านขวาประกอบไปกับเสียงบรรยายก่อนภาพตัดมาสู่เด็กสาวตัวน้อยที่กำลังนอนหงายมองดูภาพเดียวกับที่ผู้ชมเห็นก่อนหน้า นั่นหมายความว่าเราเห็นภาพเดียวกับเด็กน้อยจากวิธีเชื่อมภาพสร้างความหมาย (montage)

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT


    ภาพต่อมาคือภาพดวงตาสะท้อนในกระจก ก่อนจะปรากฏตัวขึ้นเป็นเด็กสาวนั่งมองดูใบไม้ตามเสียงบรรยายที่ผู้พูดไม่ได้ปรากฏขึ้นบนจอเลยนอกจากดวงตาข้างเดียว ทั้งนี้การบรรยายทั้งสองใช้คนละภาษาทำให้อนุมานได้ว่าเด็กสาวทั้งสองไม่ใช่คนเดียวกัน สารัตถะสำคัญคือฉากเปิดเรื่องก่อนเข้าสู่ชื่อเรื่องล้วนสัมพันธ์กับ “การมอง” อย่างการมองในภาพแรก เมื่อตึกรามอาคารสูงที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันต้องอยู่ภายใต้ท้องฟ้าจากการถูกพลิกกลับให้สลับตำแหน่งแห่งที่และเด็กสาวที่กำลังฟังผู้ที่น่าจะเป็นมารดาของเธอสอนวิธีการมองดูลักษณะใบไม้ ผู้ชมยังประจักษ์ดวงตาของผู้น่าจะเป็นมารดาสะท้อนบนกระจกซึ่งใช้พื้นที่บนจอไปอย่างมหาศาล อาจกล่าวได้ว่า “การมอง” โดยนัยกำลังถูกเข้ามากำกับจัดการแต่ต้นเรื่องเพื่อวางรากหลอมชุดตรรกะใหม่ในโลกสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ผู้ชมยังสามารถมองเมืองอยู่บนดินและดาวระยับอยู่เหนือหัวเพียงแต่ถูกปลดทัศนะเชิงสัจนิยมให้ความมหัศจรรย์เข้ามาหมุนเปลี่ยนตามที่Alejo Carpentier นักเขียนวนิยายชาวคิวบาตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความ The Baroque and the Marvelous Real ว่า“[สิ่งที่ Roh เรียกว่าสัจนิยมมหัศจรรย์นั้นคือ] ... จิตรกรรมที่นำรูปทรงเหมือนจริงมาประกอบกันเข้าในลักษณะสวนทางกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน...” (ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, 2016, p.21) กล่าวคือ ภาพตามการรับรู้เดิมถูกถอดออกแล้วถูกนำใส่กลับในรูปแบบสวนสลับกับศิลปะสัจนิยมกลายเป็นเมืองอยู่ด้านบน ฟ้าอยู่ด้านล่างผิดแผกจากความเป็นจริงในชีวิตประจำวันนั่นเอง


     

    Kieslowski ใช้กลบทกำกับการมองอย่างแนบเนียนต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ผู้ชมขัดเขินต่อโลกที่ถูกรื้อสร้างใหม่ การมองของผู้ชมถูกปรับเบือนผ่านการมองดูของตัวละครอีกที ไม่เพียงโลกทัศน์ถูกสลับหัวหางหรือบิดเบี้ยวฟุ้งมัวเหมือนวิญญาณ ยังรวมถึงการเพ่งพินิจตัวตนและการดำรงอยู่ อ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของ Kieślowski เขากล่าวว่าใจความภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “จงระวังในการใช้ชีวิต” การระวังนำมาซึ่งการมอง ฉาก Weronika จ้องมองรูปถ่ายตัวเองและ Véronique มองหญิงชราผ่านทางหน้าต่างล้วนเป็นการมองอย่างใคร่ครวญถึงสิ่งซึ่งถูกทิ้งไว้ปลายหางตา หญิงชราเดินงกเงิ่นกับรูปถ่ายตัวเอง (อุปมาถึงอัตตา) ไม่ใช่สิ่งที่ในชีวิตประจำวันจะใคร่สังเกตเท่าไรนัก ศิลปะสัจนิยมมหัศจรรย์เอื้อแว่นให้มองโลกได้กว้างขึ้นกว่าความเป็นจริงในชีวิตประจำวันเห็นไปถึงหลืบเร้นพลังกับอารมณ์ซึ่งหล่นหายจากวิสัยปุถุชน การมองจึงมีบทบาทสำคัญเพื่อให้ระลึกถึงบางสิ่งที่แฝงหรือถูกเมินเฉยโดยการสั่นคลอนความเชื่อเดิมด้วยมนตร์อัตถนิยมมายา ให้ผู้ชมตระหนักไปพร้อมกับตัวละครถึงสิ่งซึ่งสถิตอยู่ใต้หรือในปริมณฑลการกระทำอันถูกออกแบบเป็นกิจวัตรซ้ำเดิมไม่ต่างจากวัฏจักรอนันต์ ดังเช่น Weronika-Véronique ไม่เคยรู้ว่ามีเธออีกคนอยู่อีกซีกโลก พวกเธอใช้ชีวิตโดยไม่รู้ว่าเส้นล่องหนบาง ๆ เชื่อมด้วยกัน ไม่ตระหนักว่าขณะที่เธอกำลังหายใจเข้าก็มีอีกเธอกำลังหายใจออกอยู่



    กระนั้น การปรับปรุงกระบวนทัศน์ผู้ชมครอบคลุมไปถึงการใช้โทนสี เมื่อฟิลเตอร์ถูกเปลี่ยนสลับผันผวนตลอดเรื่อง บ้างทอง บ้างเขียว บ้างเป็นสีที่ตาปรกติของมนุษย์มองเห็น โทนสีผลิเวียนไม่ซ้ำกันโดยภายใต้ดำเนินเหตุการณ์ชีวิตประจำวันอันเอ้อระเหยไร้ความหวือหวาของนางเอก ด้วยคู่ขัดแย้งทางภาพกับท้องเรื่องมาร่วมอาศัยใต้ชายคาเดียวกันดังกล่าวจึงทำให้ภาพยนตร์เข้าสู่รูปพรรณแบบสัจนิยมมหัศจรรย์มากขึ้นด้วยนั่นเอง

    ใช่แต่เท่านี้ โทนสีภาพซึ่งเปลี่ยนอย่างไร้จำกัดทำให้เส้นเวลาที่ดำเนินในเรื่องผู้ชมไม่อาจกล่าวได้มั่นใจว่าเป็นเวลาเส้นตรงตามสัจนิยม ศิลปะแขนงสัจนิยมมหัศจรรย์หลอมกลั่นความจริงกับความมหัศจรรย์เข้าอยู่ภายใต้โลกเดียวกันจึงมีความพิเศษคืออดีต ปัจจุบัน อนาคตถูกควบหลอมมิติเวลาเข้าด้วยกัน รวมทั้งแต่ละฉากต่างมีเวลาเป็นเอกเทศโดยไม่พึ่งจากฉากอื่น อาทิ ฉาก Véronique เข้าชมการแสดงหุ่นกระบอก ฉากต่อมาเธอเหลือบเห็นรถของชายที่ทำการแสดงหุ่นกระบอก ในทีแรกเราอาจเข้าใจเองว่าสองฉากนี้เกิดขึ้นตามลำดับ แต่ว่าฉากหลังไม่มีการเอื้อนเอ่ยหรือท่าทีชัดเจนพอจะบอกเป็นกิจจะลักษณะว่าเหตุการณ์ใดมาก่อนกัน นี่เป็นการไขว้เหลื่อมของเวลาเรียกว่า ภาพผลึก (crystal-image) แล้วด้วยโทนสีวิปริตเช่นนี้ยิ่งยากจะรู้ว่าเวลาใดเป็นเวลาใด แสงอาทิตย์ที่สาดเข้ามาคือแสงของยามเช้าหรือยามเย็น ยามสายหรือยามบ่าย เวลาในเรื่องจึงพิพักพิพ่วนสูง ลักษณะเวลาเป็นพหุลักษณ์คือขณะหนึ่งเป็นปัจจุบันแต่ก็สะท้อนไปยังอดีตด้วยอารมณ์ถวิลหา (nostalgia) หรือถูกเรียงใหม่ให้กลายเป็นอนาคตได้ พร้อมด้วยตัวละครทั้งสองรูปร่างหน้าตาเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้วก็ทำให้การรับรู้เวลากับสถานที่เลื่อนลอยได้เช่นกัน ผู้ชมจะรู้แน่อย่างไรว่าตอนต้นเรื่องหากตัวละครไม่ได้เอ่ยปากจนรู้ภาษา เมื่อภาพตัดไปสู่แห่งอื่นแต่นักแสดงเป็นคนเดียวกัน ... ใครคือ Weronika? ใครคือ Véronique?


                ความเป็นสัจนิยมกับความมหัศจรรย์ใน La double vie de Véronique ถูกเชื่อมหากันผ่านภาษาหนังให้ผู้ชมปลงใจเชื่อความพิสดารอันถูกนำเสนออย่างเป็นภววิสัยเสมือนความเป็นจริงหนึ่งในชีวิตประจำวัน ตัวละครวิ่ง เดิน หลับนอนอย่างมนุษย์ ไม่เหาะเหินเดินอากาศอย่างผู้มีมนตร์แต่ Kieślowski ปลดประตูกั้นระหว่างศิลปะสองชุดให้เข้าผสมผสานกันจนทำให้เชื่อว่ามีกระแสอัศจรรย์ไหลผ่านวนเวียนเป็นกลไกอยู่ในโลก ซึมซ่านถ้วนทั่วอณูกิริยา เช่น ภาพหญิงสาวเดินรอบห้องก่อนนำหน้าทาบกระจกใสอย่างละมุนละม่อม แสงทองจากด้านนอกฉาบทั่วใบหน้าสรรพางค์กายปลุกมวลอารมณ์หลอกหลอนลึกลับทว่าจับใจราวกับปาฏิหาริย์ ฟิลเตอร์ภาพซึ่งเปลี่ยนเวียนโทนสีอย่างกะทันหันจนผู้ชมจับไม่ได้ไล่ไม่ทันยังจำกัดสายตาลดทอนทัศนียภาพด้วย vignette ไม่เพียงห่มหุ้มเสมือนปลีกตัวละครให้วิเวกจากสิ่งแวดล้อมอย่างวิจิตรลึกลับแต่บิดเบือนไปถึงกาลเวลาในเรื่อง ดนตรีประพันธ์โดย Zbigniew Preisner ดั่งลูกเล่นมนตร์คาถาร่ายให้ตกอยู่ในภวังค์ปรัมปราชวนฝัน


    องค์ประกอบข้างต้นล้วนสรรค์สร้างให้ La double vie de Véronique เป็นมหากาพย์นาฏกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์เถลิงถวัลย์ความอัศจรรย์ของจิตวิญญาณ ไห้หวนถึงมนุษยสัมพันธ์ และเว้าวอนผัสสะที่เร้นกายในวิถีกิจวัตรสามัญมนุษย์ โดยการละลายเส้นแบ่งทวิลักษณ์อันเป็นคู่ขัดแย้งให้อยู่ร่วมเป็นสมานฉันท์น่าหลงใหล ไม่ว่าจะเป็น เช้า-ค่ำคืน, การมีชีวิต-ความตาย (Véronique-Weronika)เผด็จการ-เสรีภาพ (โปแลนด์-ฝรั่งเศส) และที่แน่นอนคือสัจนิยม-ความมหัศจรรย์




    อ้างอิง

     

    ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2016)สัจนิยมมหัศจรรย์ ในงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซโทนี มอร์ริสัน และวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์อ่าน

    อรรณนพ ชินตะวัน. สิ่งที่ล่องหนเห็นได้” ในภาพยนตร์ (Visible Invisible in Cinema)สืบค้นจาก http://www.fapot.org/files/images/VisibleInvisibleinCinema.pdf

    Hamish Ford. (2003)Antonioni’s L’avventura and Deleuze’s Time-imageสืบค้นจาก http://www.sensesofcinema.com/2003/feature-articles/l_avventura_deleuze/

    Moises & Sergio Velasquez. (2020)The Magical Realism Genre in Moviesสืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=Od3A6Mc8Lao&t=600s

    ดร.ภาสุรี ลือสกุลและดร.โอฬาร พฤติศรัณยนนท์. (2017)บทสัมภาษณ์สุชาติ สวัสดิ์ศรี 'กาเบรียล การ์เซีย มาร์เก๊ซ สัจจะนิยมมหัศจรรย์'สืบค้นจาก http://theemptychapter.blogspot.com/2014/10/blog-post.html

    Roberto Cerbino. (2011). Kieslowski speaks about the double lifeสืบค้นจากhttps://www.youtube.com/watch?v=EgG_WVdNvg4

     

     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in