ตอนเขียนเสร็จนี่เข้าขั้นห่อเหี่ยว นั่งอยู่ตั้งเกือบชั่วโมง ได้มาไม่กี่บรรทัดแค่เนี้ย
แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความยาวหรอกค่ะ ในคาบถัดไปอาจารย์สั่งให้เราทุกคนหยิบการบ้านขึ้นมา แล้วถามว่า
"อะไรคืออคติ"
อึ้งสิคะ! รออะไร?
หยิบกระดาษขึ้นมาดูก็แล้ว แลกกับเพื่อนดูก็แล้ว อคติตรงไหน? นี่น่ะตั้งใจสังเกตมาอย่างดิบดีเลยนะ
วันนั้นอาจารย์หยิบบันทึกของพวกเราคนหนึ่งขึ้นมาค่ะ แล้วก็อ่านให้ฟังว่าตรงไหนคืออคติบ้าง
ฟังแล้วรู้สึกแปลกใจเข้าขั้นมหัศจรรย์เลยค่ะ
มาเฉลยกันดีกว่า เราจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วอคติเกิดได้ง่ายขนาดไหน โดยดูจากบันทึกของเราเป็นตัวอย่างค่ะ เดี๋ยวเราจะขีดเส้นใต้ให้ดูนะคะว่าตรงไหนบ้างที่เรียกว่าเป็นอคติ
----- แยกอคติ ออกจากข้อเท็จจริง -----
เพศหญิง เรียนปี 1
มัดผมหางม้าสูง ดูสุภาพเรียบร้อย
มาทานอาหารคนเดียว สั่งกับข้าวสองอย่าง
ท่าทางไม่รีบร้อน ทานอาหารไปดูทีวีไป
ตักข้าวคำเล็ก เคี้ยวไปคำหนึ่งจนหมด ถึงจะเริ่มตักข้าวอีกคำ
ระหว่างเคี้ยวดูทีวี เคี้ยวหมดถึงตักข้าวอีกคำ
เป็นคนไม่ทานเผ็ด เพราะทุก 2-3 คำจะดูดน้ำหวาน 1 ที
โทรศัพท์ห้อยพวงกุญแจพวงใหญ่
ใช้เวลากินข้าวทั้งหมด 33 นาที
-----------------------------------
อคติยังไง? อะไรเรียกข้อเท็จจริง? อะไรเรียกอคติ?
เพศหญิง >> ชัดขนาดนี้ยังอคติอีกเหรอ? คือเขาอาจจะเป็นชายแต่งหญิงก็ได้นะ คิดไปเองแบบนี้เรียกอคติค่ะ
เรียนปี 1 >> บอกด้วยอะไร? เขาใส่รองเท้าขาว ? ปีอื่นก็ใส่รองเท้าขาวได้นะ ตีความไปเองเรียกอคติค่ะ
มัดผมหางม้าสูง >> แม้คำบรรยายจะดูเห็นภาพได้ชัด แต่ลองสุ่มเพื่อนออกมาสักสามสี่คน ถามแยกกันทีละคนว่าลองมัดผมหางม้าสูงให้ดูหน่อย แต่ละคนจะมัดสูงไม่เท่ากันค่ะ ดังนั้น "สูง" จึงเป็นอคติ
ดูสุภาพเรียบร้อย >> อะไรคือสุภาพเรียบร้อย? กระโปรงพลีทยาว? กระโปรงเสมอเข่า กระโปรงสอบเหนือเข่าเล็กน้อย? เสื้อพอดีตัว? เสื้อตัวโคร่ง? เสื้อตามสมัยนิยม? ใส่เสื้อซับใน? หรือบราเซียร์ไม่ฉูดฉาด? หากสามารถแปรความหมายได้มากกว่า 1 ทาง แปลว่านั่นไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นข้อคิดเห็น
ข้อคิดเห็นนั้นเกิดจากความรู้สึกส่วนบุคคล เป็นการประเมินโดยใช้ตัวเองเป็นเกณฑ์ มันจะเจือปนด้วยอคติเสมอค่ะ
ท่าทางไม่รีบร้อน >> เหตุผลเดียวกับดูสุภาพเรียบร้อยค่ะ คือเขาอาจจะไม่รีบจริงๆ หรือกินช้าเป็นปกติก็ได้ (ซึ่งช้าหรือเร็วก็นับเป็นอคติเช่นกัน)
ตักข้าวคำเล็ก >> เล็กของใคร? เล็กแค่ไหน? นี่นับเป็นข้อคิดเห็นค่ะ
เป็นคนไม่ทานเผ็ด >> คิดเอาเองค่ะ จริงๆ เราประเมินจากการเห็นเขาทานน้ำแดงบ่อยๆ เลยคิดเอาเองว่าเขาเผ็ด เขาอาจจะแค่ชอบทานน้ำสลับกับข้าวก็ได้
น้ำหวาน >> เราเห็นแค่สีแดงค่ะ เราไม่ได้ชิมว่ามันหวานไหม จริงๆ มันอาจจะไม่หวาน มีแต่สีแดงเฉยๆ ก็ได้ ยกเว้นเรามั่นใจว่าเราไปซื้อมาจากร้านเดียวกันจากโถเดียวกัน ...แต่แบบนั้นก็ยังอคตินะคะ เพราะเราชิม และเรา "รู้สึก" หวาน
พวงกุญแจพวงใหญ่ >> เช่นเดียวกับน้ำหวานค่ะ เรารู้สึกว่าใหญ่ คนอื่นอาจจะว่าปกติก็ได้
33 นาที >> เป๊ะขนาดนี้อคติได้ไง? อันที่จริงต้องนับว่าเป็นข้อมูลไม่ชัดเจนอาจคลาดเคลื่อนได้ ก็เราไม่ได้บอกนี่คะว่าเราเริ่มนับนาทีแรกตอนไหน ตอนเขาวางจานข้าว หรือตอนจับช้อน หรือตอนข้าวเข้าปากคำแรก แบบนี้ต่อให้เพื่อเราสังเกตพร้อมกัน ก็อาจจะวัดค่าออกมาได้ไม่เท่ากันก็ได้ค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in