อันนี้ดีเหมือนกัน,
เขาพูดถึงสถานการณ์วงการหนังสือในอเมริกา ว่าตอนนี้ หนังสือ 80% ตีพิมพ์โดย The Big Five ซึ่งคือห้าสำนักพิมพ์ใหญ่ คือ Penguin Random House (ควบกันแล้ว) Hachette, Macmillan, HarperCollins และ Simon & Schuster ซึ่งก็แข่งขันกันหนักมากเพื่อที่จะหา "เบสท์เซลเลอร์รายถัดไป" จนกระทั่ง ในปีที่ผ่านมา มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้าให้กับนักเขียนหน้าใหม่ (คนเดียว) สูงถึง $2 ล้าน (ให้กับ Garth Risk Hallberg ในเรื่อง City on Fire)
ซึ่งนั่นก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี (เทียบกับวงการหนังสือในบ้านเราแล้วเหมือนพูดเรื่องยักษ์กับมด) แต่ว่ามันก็เป็นการตอบสนองต่อรสนิยมการอ่านแบบเดียว ที่น่าสังเกตคือหนังสือพวกนี้มักจะมีความหนามากถึง 400-1000 หน้าด้วย คือตั้งเป้า (อย่างน้อยในด้าน gradiosity หรือความอลัง) ไว้สูงกว่าหนังสือทั่วไปมาก ซึ่งที่ผ่านมาการพนันแบบนี้ก็ให้ผลลัพธ์ที่สำเร็จอย่างเช่น The Goldfinch ในปีที่แล้ว หรือ All the light we cannot see ในปีนี้ (ซึ่งหนา 500 หน้าทั้งคู่)
-- ถึงตรงนี้เขาตั้งข้อสังเกตไว้นิดหน่อยว่าน่าประหลาดใจพอสมควรที่ในยุคที่คนอ่านมีสมาธิน้อย ทำไมคนจึงตอบรับดีกับหนังสือที่มีความหนามากๆ จนขายได้เป็นหลักล้านเล่ม แต่ว่าคนเขียนบทความไม่ได้สำรวจต่อ
ในทางกลับกัน ตอนนี้สำนักพิมพ์เล็กๆ อินดี้ๆ ในอเมริกาที่มีจุดยืนที่แตกต่าง ก็เหมือนจะเริ่มหา footing ของตัวเองเจอ พวกเขาตีพิมพ์งานทดลอง งานที่เสิร์ฟผู้อ่านที่มีรสนิยมต่างออกไป ที่มีราคาขายถูก ซึ่งจุดยืนแต่ละสำนักพิมพ์น่าสนใจมาก เช่น Coffeehouse Press มี Tagline ว่า "Literature is not the same thing as publishing" Two Dollar Radio นั้นทำการตลาดไปถึงคนที่ "disillusioned and disaffected" Tin House บอกว่าตัวเอง "artful and irreverent" และ Dorothy เน้นว่ามันสนใจในวรรณกรรมที่ "lies in its endless stylistic and formal variety"
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดยืนที่ค่อนข้างแตกต่างจาก Big Five Model ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่า Big Five นี่มีจุดยืนในการลงทุนคล้ายๆ กับ Venture Capital ที่ลงทุนใน Tech Startup คือต้องการความสำเร็จตู้มต้ามเพียงครั้งเดียวเพื่อกลบความล้มเหลว 100 ครั้งในการลงทุนของตัวเอง (กล่าวคือ มีนิยายอย่าง Goldfinch เล่มเดียว ก็คืนทุนนิยายที่ตัวเองลงทุนไปแล้วไม่สำเร็จได้ 100 เล่ม) ส่วนจุดยืนของพวก Independent Publisher ก็คงจะยืนหยัดไปเรื่อยๆ ช้ากว่ามั่นคงกว่าและไม่หวือหวาแต่อยู่นาน
ย้อนกลับมาดูในไทย ถึงแม้ว่าเราจะไม่มี 'สำนักพิมพ์ใหญ่' ที่พร้อมจะลงทุนให้นักเขียนระดับท๊อปเป็นแสนๆ ล้านๆ บาทขนาดนั้น (ใหญ่ของเราคือน่าจะประมาณแจ่มใส? หรืออมรินทร์?) เพราะภาษาของเรามีผู้อ่านกลุ่มเล็กกว่า และ (speculatively) เราไม่ได้มีวัฒนธรรมการอ่านหนังสือเล่มที่เข้มแข็งมาก แต่อีกด้านคือ เราก็มีสำนักพิมพ์อินดี้เล็กๆ ที่พร้อมจะผลิตงานน้อยๆ แต่ยืนหยัดในหนังสือประเภทที่ตัวเองถนัดเช่นกัน (อย่างใจใจ Happenning Books ชายขอบ ต่างๆ)
http://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2016/07/why-american-publishing-needs-indie-presses/491618/?utm_source=atlfb
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in