เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
In movie hillinbutterflyhill
Spirited Away อัตลักษณ์ ธรรมชาติ และทุนนิยม
  •  


     

    เป็นอีกครั้งที่ได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้เป็นรอบที่สี่ น่าแปลกใจที่ต่อให้ดูอีกซักกี่ครั้ง แม้ว่าตัวละครในเรื่องจะไม่ได้เติบโตทางร่างกายเพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อยและเนื้อเรื่องก็ไม่ได้ผิดแผกไปจากครั้งแรกที่ได้ดูแต่อย่างใด ถึงจะเป็นอย่างนั้นสารที่เราได้รับกลับมา กลับแตกต่างไปตามช่วงวัยและประสบการณ์ของเรา และนี่ก็คือบทวิเคราะห์ของหนังเรื่องนี้ที่อายุครบยี่สิบปีกับตัวเราในวัยยี่สิบปี

    Spirited Away หรือ การหายตัวไปของเซนและจิฮิโระเป็นหนังที่สร้างโดย Hayao Miyazaki   อนิเมชั่นยาวเรื่องนี้ถือว่าเป็นแรงกระเพือมขนาดใหญ่ของวงการด้วยการกวาดรางวัลมากมายทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงรางวัลออสการ์สาขาอนิเมชั่น อีกทั้งยังครองตำแหน่งอนิเมชั่นที่มียอดขายสูงสุดกว่าสิบหกปี

    หนังเปิดเรื่องมาด้วยจิฮิโระ ที่นั่งอยู่ในรถระหว่างการเดินทางเพราะต้องย้ายบ้านย้ายโรงเรียนในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เห็นได้ชัดว่าเธอดูไม่ค่อยจะยินดีเท่าไหร่มือนึงก็กอดการ์ด อีกมือหนึ่งก็กอดช่อดอกไม้ที่เพื่อนให้ไว้นี่คือการเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งอย่างที่จิฮิโระกำลังประเชิญ การก้าวผ่านวัยและการยอมทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง

    หลังจากที่พ่อของเธอขับหลงอยู่ในเขาจนพบเข้ากับอุโมงค์นึงที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าพวกเขาก็ตัดสินใจเข้าไปสำรวจโดยทันที จิฮิโระได้เจอกับสถานีรถไฟเก่า ทุ่งหญ้ากว้างและบ้านเมืองร้างผู้คน พ่อแม่ของเธอพุ่งตรงไปกินอาหารที่ตั้งไว้ยังร้านค้าที่ไร้เจ้าของไม่นานหลังจากความตะกละตะกลาม พ่อแม่ของเธอก็ได้กลายเป็นหมูไปเสียแล้ว

    จิฮิโระที่วิ่งๆ หนีไปจนถึงทางที่เดินมา ก็ต้องตกใจที่ทุ่งหญ้ากว้างนั้นได้กลายเป็นทะเลสาบลึกเธอไม่สามารถข้ามไปได้ โลกวิญญาณกำลังตื่นขึ้น และร่างกายของเธอก็เริ่มโปร่งแสงโชคดีที่เด็กผู้ชายคนนึงที่ชื่อฮาคุได้ช่วยเธอไว้ด้วยการให้เธอกลืนยาเม็ดสีแดงเข้าไป (ทำให้คิดถึงเรื่อง TheMatrix เหมือนกัน ที่ถ้าเราเลือกยาสีแดง ก็จะตื่นรู้และยอมรับความเป็นจริงของโลก)คิดว่าตรงนี้เปรียบเหมือนการยอมรับการมีอยู่ของอีกโลกนึง บางทีอาจจะเป็นโลกในจิตใต้สำนึก(Subconscious) หรือโลกแห่งความเป็นจริงถ้าเธอไม่ยอมรับมัน การมีอยู่ของเธอ เธอก็จะโปร่งใสและหายไป


     

    อนิเมชั่นเรื่องนี้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างที่เราเห็นหลัก ๆ เลยก็จะมีเรื่อง อัตลักษณ์ (Identity) , การก้าวผ่านวัย (Coming of age) , ธรรมชาติ (Natural) และ ทุนนิยม(Capitalism) สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมาก ๆคือการที่เขาเล่าเรื่องพวกนี้ให้ประสานกันจนกลมกลืนกันไปหมดคล้ายกับทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน


    ซึ่งเมื่อพูดถึงประเด็นแรกอัตลักษณ์ (Identity) หรือก็คือสิ่งที่ทำให้ตัวเราเป็นตัวเรา คำ ๆ นี้จะคล้ายคลึงกับคำว่า ความเป็นปักเจก (Individuality) หากสังเกตดูในหนังจะพูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างบ่อย หลังจากการช่วยเหลือของฮาคุทำให้เธอได้เข้าไปทำงานที่โรงอาบน้ำของแม่มดยูบาบะ ตัวเรื่องย้ำหลายรอบมากว่าถ้าไม่ทำงาน จะต้องถูกสาป ถ้าไม่ทำงาน ก็จะไม่มีประโยชน์ (แอบมีแนวคิดของทุนนิยมเหมือนกันนะ)แล้วหลังจากที่เธอลงชื่อเซ็นต์สัญญาที่จะทำงานด้วยแล้ว ชื่อของเธอก็ถูกช่วงชิงไปจากจิฮิโระ (น้ำลึกพันฟุต) เหลือเพียงคำว่าเซน (หนึ่งพัน)


    ปรัชญาของCarl Jung ได้พูดถึงเรื่องPersona ไว้ว่า Persona(สามารถแปลว่าหน้ากากก็ได้) หรือพฤติกรรม ไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดแต่จะมาจาก 4 ข้อหลัก ๆ คือ หนึ่ง ความเป็นปัจเจก หรือ Individualityการที่เราตะหนักรู้ว่าเราเป็นใครมีความแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร และการสำนึกตัวเอง สอง เอกนิยม หรือ Uniformity สิ่งที่เราทำกับสิ่งที่เราพูดจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกันถึงจะเรียกว่าบุคลิกภาพ เช่น ถ้าเราพูดว่าเราเป็นครู แต่เราไม่เคยสอนหนังสือเลยบุคลิกภาพครูก็จะไม่ใช่ของเรา เอกนิยมคือความสม่ำเสมอบุคลิกภาพต่างๆนั้นจำเป็นที่จะต้องถูกย้ำเตือนเพื่อให้เกิดการรับรู้ หากคน ๆ นึงมีหลายบุคลิก แต่ไร้ความสอดคล้องกัน เราอาจจะต้องมาพิจรณาอีกทีว่าอันไหนคือบุคลิกที่แท้จริงของคน ๆ นั้น สาม ความเป็นเจ้าของ หรือ Ownship ร่างกายของมนุษย์ถูกควบคุมด้วยบุคลิกดังนั้นเราจึงสามารถเจ็บปวดทรมาณทางจิตใจได้เทียบเท่าหรือมากกว่าการเจ็บปวดทางกายและอย่างสุดท้าย คือ ความรับผิดชอบ หรือ Responsibility บุคลิกภาพนั้นถูกควบคุมด้วยความรับผิดชอบใครที่ขาดความรับผิดชอบต่อบุคลิกตัวเอง ย่อมถูกเรียกว่าคนที่ขาดบุคลิกเช่นสมมติว่าเราเป็นครู เราก็ต้องมีความรับผิดชอบที่จะสอนหนังสือให้แก่นักเรียนหากไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีใครเชื่อว่าเราเป็นครูจริง ๆ (โดยสี่อย่างนี้จะถูกยกเว้นไว้กับคนสามกลุ่มคือเด็กแรกเกิด ผู้มีความบกพร่องหรือมีอาการป่วยทางด้านจิตใจบางชนิดและคนที่อยู่ในสถานะทาส)

     

    ในเรื่องการที่จิฮิโระถูกขโมยชื่อไปก็เหมือนกับที่เธอโดนขโมยความเป็นปักเจกบุคคลแต่สิ่งที่มาทดแทนอัตลักษณ์ของเธอนั้นก็คือความเป็นเอกนิยม และความรับผิดชอบเธอได้เข้าไปทำงานในโรงอาบน้ำด้วยชื่อ เซน และยูบาบะได้มอบยูนิฟอร์มที่เหมือนกับคนอื่นๆ ให้เธอใส่ เธอจึงตั้งใจทำงานอย่างแน่วแน่และสม่ำเสมอด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยพ่อแม่ของเธอและพาตัวเองออกไปจากที่นี่ จนเกือบลืมชื่อ(ตัวตน) ที่แท้จริงของตัวเองไปยังดีที่ฮาคุ ได้นำเสื้อผ้า (การแต่งกายเป็นSymbolicนึงที่บ่งบอกIdentityของคน ๆ นึง) และการ์ดที่มีชื่อ จิฮิโระเขียนไว้อยู่ให้ ทำให้เธอจำชื่อของเธอได้ โชคร้ายที่ตัวฮาคุเองไม่ได้เป็นแบบนั้นเขาจำชื่อของตัวเองไม่ได้แล้ว เขาเลยโดนแม่มดยูบาบะควบคุม

     

    เหมือนกับในสังคมปัจจุบันการที่เราเข้าไปอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในโรงเรียน หรือการทำงานเราล้วนแต่มี Persona (แบ่งออกได้สองอย่างคือบุคลิกภาพส่วนตัวและบุคลิกภาพที่แปรผันตามสภาพสังคม)หรือหน้ากากของตัวเองทั้งนั้น เราถูกสวมหน้ากากของการเป็นลูก เป็นนักเรียนเป็นเพื่อน หรือการเป็นครู เหมือนอย่างที่จิฮิโระ สวมหน้ากากเป็น เซนและฮาคุที่สวมหน้ากากการเป็น ฮาคุ จนลืมบุคลิกภาพที่แท้จริงของตนเองไปเราจำเป็นที่จะต้องมีบุคลิกภาพที่แปรผันตามสภาพสังคม เพื่อการอยู่รอด(อารมณ์เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม) แต่การที่เรามีมันมากเกินไปก็จะทำให้เราสูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเอง จนเกิดภาวะ External Locus ofcontrol หรือการที่บุคคลหนึ่งเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเกิดขึ้นหรือถูกกำหนดโดยอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรวมถึงบุคคลภายนอกเหมือนกับที่ฮาคุโดนยูบาบะหลอกใช้ไปทำเรื่องที่ไม่ดี เพราะเขาเชื่อว่าเขาโดนยูบาบะควบคุมอยู่

     

    อย่าลืมชื่อของตัวเองเด็ดขาด” คือคำที่ฮาคุมักจะพูดเสมอ



    ยังมีอีกหนึ่งตัวละครที่พูดถึงเรื่องอัตลักษณ์ได้อย่างแจ่มชัดในเรื่องก็คือ Kaonashi หรือผีไร้หน้า(No-face) ตัวละครตัวนี้จะโผล่มาแบบประหลาดๆ ไม่มีที่มาที่ไป แถมพูดไม่ได้อีกต่างหากจิฮิโระที่กำลังทำงานอยู่ที่โรงอาบน้ำเห็นผีไร้หน้าเข้าก็ชวนให้เขาเข้ามาข้างในเพราะคิดว่าเป็นลูกค้าพอจิฮิโระต้องการอะไรก็ไปหยิบ (ขโมย) มาให้ พอเห็นว่าการให้ทำให้คนอื่นดีใจ เขาจึงเสกทองขึ้นมาแล้วเอาไปแจกจ่ายคนอื่นทั่วทั้งโรงอาบน้ำ


     จนถูกยกย่องให้เป็นเทพแต่เราจะเริ่มสังเกตได้ว่า จริง ๆ แล้วผีไร้หน้านั้นเป็นตัวแทนของคนที่ถูกสังคมทุนนิยมกลืนกินไป จิฮิโระเคยเอ่ยถามกับเขาว่า “เธอชื่ออะไร” มาจากไหนผีไร้หน้าไม่สามารถตอบคำถามพวกนั้นได้เลย เขามีเงินที่สามารถแจกจ่ายผู้คนได้มากมายหากแต่กลับไม่สามารถรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของตัวเอง

     

     

    แล้วคนเราจะทำอย่างไรเมื่อเราสูญเสียอัตลักษณ์ของเราไปจนหมดสิ้นสิ่งที่ผีไร้หน้าทำคือการเลียนแบบผู้อื่น โดยการกินตัวตนคน ๆ เข้าไปมีในตอนนึงที่ผีไร้หน้าใช้ทองหลอกล่อกบที่ทำงานอยู่ที่นั้นแล้วกินมันเข้าไปหลังจากที่กบตัวนั้นไปอยู่ในท้อง ผีไร้หน้าก็เริ่มมีบุคลิกภาพขึ้นมา มีแขนขาที่คล้ายกับกบคำพูดและน้ำเสียง รวมถึงความคิดก็กลายเป็นสิ่งที่กินเข้าไปยิ่งผีไร้หน้ากินเข้าไปมาก บุคลิกเลียนแบบก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นแต่ถึงผีไร้หน้าจะตัวโตขึ้น มีเสียงที่พูดได้แล้ว ใบหน้าของตัวเขาก็ยังไม่ปรากฏขึ้นมาอยู่ดี (อย่างที่พูดไปข้างบน การจะมีบุคลิกภาพได้นั้นจำเป็นต้องเกิดขึ้นมาจากสี่อย่างหากผีไร้หน้ามีเอกภาพที่มากพอหรือมีความเป็นเจ้าของเขาก็อาจจะสามารถพัฒนาบุคลิกตัวเองที่มาจากตัวคนอื่น จนเป็นตัวตน(Self)ของตัวเองได้เช่นกัน)


    ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจิฮิโระก็ได้นำยา (ได้มาจากเทพแม่น้ำส่วนนี้คิดว่าอาจจะสื่อถึงธรรมชาติที่มาลบล้างเปลือกนอกของคนให้กลับคืนสู่สิ่งเดิมที่เคยมีและเป็น)ให้ผีไร้หน้ากิน หลังจากกินเข้าไป เขาก็สำรอกทุกสิ่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นอาหารกบหรือปีศาจ จนกระทั่งร่างกายที่เคยใหญ่โตก็กลับกลายเป็นวิญญาณผีไร้หน้าตัวเดิม


    เราคิดว่านอกจากการลืมตัวตนผีไร้หน้าก็ยังคงสื่อถึงการอยากมีตัวตนในสังคม(ทำให้เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนอื่นชอบ) และความโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงาเพราะเขารับอิทธิพลจากคนรอบข้างง่ายเกินไป จึงทำให้ไม่ได้มีจุดยืนของตัวเองซึ่งในปัจจุบันนี้มีคนมากมายที่เป็นอย่างผีไร้หน้า ไม่ว่าเขา จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม


    อนิเมชั่นเรื่องนี้จึงเลือกทางออกที่ตรงไปตรงมาอย่างการทำงาน มาให้ มนุษย์ยังคงหยัดยืนอยู่ได้ด้วยการกระทำและสามารถที่จะเรียนรู้และเติบโตได้จากการกระทำนั้น ๆ ของตัวเองในระหว่างที่ขัดเกลาวิชา เราก็อาจจะได้คุณค่าของตัวเราเองจากสิ่ง ๆนั้นที่เราตั้งใจที่ทำลงไป อย่างในตอนแรกที่แม่มดยูบาบะบอกกับจิฮิโระว่าถ้าไม่ทำงานจะโดนสาป หนังเรื่องนี้พยายามบอกว่าแม้คนเราจะทำงานด้วยเหตุผลใดก็ตามการทำงานก็เป็นความจริงของชีวิต ที่ทำเพื่อให้เราอยู่รอด และทำเพื่อให้สักวันเราได้ภูมิใจกับผลงานของตัวเองแม้ในระบบทุนนิยม อย่างโรงอาบน้ำของยูบาบะจะช่วงชิงอัตลักษณ์ของคนงานไปก็ตามแต่เพื่อที่จะอยู่ต่อไป เราต้องทำงานดังนั้นหนทางเดียวที่เราจะเป็นเราอยู่คือการที่เรา ต้องจดจำเชื่อของตัวเองเอาไว้  (เหมือนกับงานเป็นดาบสองคมที่ทั้งยื่นอัตลักษณ์ให้เราและช่วงชิงมันไปในเวลาเดียวกัน)


    และบทสรุปของผีไร้หน้าจึงกลายเป็นการที่เขาได้ไปทำงานกับเซนิบะ(พี่น้องฝาแฝดของแม่มดยูบาบะ เป็นขั่วตรงข้ามกัน)เพราะเขาไม่ได้รู้ถึงตัวตนของตัวเอง เขาถึงต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง



     

    ประเด็นที่สองธรรมชาติ และการก้าวผ่านวัย สองเรื่องนี้แทรกซึมเข้าไปในเรื่องได้ค่อนข้างที่จะแยบยลโดยหนังได้เริ่มพูดถึงประเด็นนี้อย่างเด่นชัดในตอนที่มีปีศาจตนนึงได้เข้ามาใช้บริการยังโรงอาบน้ำ ทั้งตัวของเขาปกคลุมไปด้วยโคลนส่งกลิ่นเน่าเหม็นจนคนในนั้นปิดจมูกไปตาม ๆ กัน จิฮิโระถูกใช้ให้ไปบริการลูกค้ารายนี้จนเธอได้เจอเข้ากับ หนาม บางอย่างที่แทงเข้าไปในตัวของลูกค้าเธอและแม่มดยูบาบะจึงให้คนทั้งโรงอาบน้ำมาช่วยกันดึงออกแต่แล้วสิ่งที่ไหลออกมากลับเป็นจักรยานรวมถึงขยะมากมายกองเป็นพะเนินและลูกค้าที่เคยคิดว่าเป็นปีศาจโคลนก็โผล่ตัวตนจริง ๆมาให้เห็นว่าเขานั้นคือเทพแห่งสายน้ำ เขาพูดกับจิฮิโระว่า ทำได้ดีมาก ก่อนจะมอบยาบางอย่างให้กับเธอ(ยาที่เล่าไปข้างต้นว่าน่าจะสื่อถึงการคืนกลับสู่ธรรมชาติไว้ใช้สำรอกสิ่งแปลกปลอมออกมา) 

    เราคงไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมากมายเลยกับเหตุการณ์นี้เพราะปัจจุบันการที่เราทิ้งของและขยะลงแม่น้ำ ยังคงมีอยู่เสมอและไม่เคยที่จะหมดไปเลย สิ่งเดียวที่เราจะแก้ไขได้คือการช่วยกัน ไม่ใช่แค่คน ๆเดียวที่จะทำได้ แต่ต้องเป็นคนจำนวนมาก หรือ ทุกคนอย่างที่ยูบาบะเรียกคนทั้งโรงอาบน้ำมาช่วยกันดึงหนามพวกนั้นออก

    ซึ่งในตอนท้ายๆ เรื่องได้มีการเฉลยว่า จริง ๆ แล้ว เทพแห่งสายน้ำไม่ได้มีอยู่คนเดียวเพราะอีกคนนั้นก็คือฮาคุ หรือ โคะฮาคุ นั้นเองระหว่างทางที่ฮาคุได้เข้าไปช่วยพาจิฮิโระกลับบ้าน เธอก็จำขึ้นมาได้ว่าตอนที่เธอยังเด็กนั้นได้เคยทำรองเท้าตกลงไปในแม่น้ำสายหนึ่งที่ชื่อ โคะฮาคุแต่ตอนนี้แม่น้ำสายนั้นได้ถูกอาคารสร้างทับไปแล้ว(อาจอยู่ในรูปแบบของทุนนิยมอย่างยูบาบะที่หลอกใช้ธรรมชาติอย่างแม่น้ำโคะฮาคุ) เมื่อจิฮิโระได้มอบชื่อคืนให้แก่ฮาคุแล้วเขาก็ได้เป็นอิสระจากยูบาบะ

     


                   เรามองว่าจริง ๆแล้วความสัมพันธ์ของจิฮิโระและฮาคุนั้นคงเป็นสายใยความผูกพันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเป็นความรักอันบริสุทธิ์ที่แท้จริงหนังหลายเรื่องหรือเรื่องเล่าหลายอย่างเมื่อถึงจุดนึงแล้วก็มักจะย้อนกลับไปหาธรรมชาติอยู่เสมออย่างเช่นเรื่อง The Red Turtle ที่เล่าถึงการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติหรือในพระคัมภีร์เอง เมื่อถึงจุดนึงของวิวัฒนาการมนุษย์การล้างโลกให้กลับไปเหมือนเดิมก็จะเกิดขึ้น มนุษย์นั้นยังหวนระลึกถึงสิ่งเหล่านี้

                   ความสัมพันธ์ของจิฮิโระและฮาคุไม่ใช่การรุกรานหรือถูกรุกรานแต่เป็นการช่วยเหลือกันและกัน ธรรมชาติปกป้องมนุษย์ และมนุษย์ก็ช่วยเหลือธรรมชาติเอาไว้พวกเขาคืนชื่อ(ตัวตน)ให้แก่กัน (ธรรมชาติที่รอดพ้นจากการควบคุมจากระบบทุนนิยม)ตัวผู้สร้าง (ฮายาโอะ มิยาซากิ) คงอยากจะเห็นเราร่วมเดินทางไปกับธรรมชาติในฐานะเพื่อน ให้ได้ในซักวันนึง

                  

                   สุดท้ายในด้านของการก้าวพ้นวัย(Coming of age)ในอนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่จิฮิโระเองที่เติบโตแต่แทบจะเป็นทุกตัวละครในเรื่องที่มี Character Development อย่างจุดที่เล็กที่สุดคือปีศาจที่ทำงานในโรงอาบน้ำในทีแรกที่พวกเขามีท่าทีรังเกียจมนุษย์ (จิฮิโระเปรียบเหมือนคนที่มีอัตลักษณ์แรงกล้าแปลกจากคนหมู่มาก จึงทำให้คนรู้สึกไม่คุ้นชินเท่าไหร่นัก)กลับกลายเป็นรักและเอ็นดูจิฮิโระในท้ายที่สุด หรือการที่ลูกชายของแม่มดยูบาบะที่ชื่อว่าหนูโบ ได้เริ่มก้าวเดินด้วยตัวเอง

                   ทีแรกแล้วหนูโบเป็นทารกยักษ์ที่ยูบาบะเลี้ยงดูอย่างไม่ค่อยสนใจนักเหมือนเลี้ยงดูด้วยเงินทองเสียมากกว่าแถมไม่เคยให้ออกจากห้องไปไหนเลยด้วยการอ้างเหตุผลว่าถ้าออกไปจะป่วยจนกระทั่งหนูโบนั้นไม่สามารถเดินด้วยตัวเองได้ (หมายถึงเดินจริงๆตอนแรกน้องเขาคลานเอาอย่างเดียว) แต่เพราะเซนิบะได้เสกให้หนูโบกลายเป็นหนูเขาเลยได้มีโอกาสออกเดินทางไปพร้อมกับจิฮิโระ และการที่เด็กคนนึงได้เริ่มใช้ชีวิตด้วยตัวเองแล้วนั้นนั่นคือก้าวแรกที่สำคัญมากกับการทำให้เด็กคนนึงเติบโตขึ้นมาได้หนูโบกลับมาเป็นเด็กทารกยักษ์คนนึงที่เดินได้ และไม่กลัวโลกภายนอกอีกแล้ว แม้การดูแลจากผู้เป็นมารดาจะไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นนักแต่เขาก็สามารถที่จะเลือกทางเดินของตัวเองได้

                   อย่างตัวฮาคุเองในตอนสุดท้ายก็ได้รอดพ้นจากการควบคุมของยูบาบะและได้ให้คำสัญญากับจิฮิโระว่าจะออกไปจากที่นี่พร้อมกับจะไม่หลงไปกับความโกรธแค้นอีกแล้ว(จริง ๆ แล้วฮาคุได้เข้าเรียนเวทมนต์กับยูบาบะเพราะต้องการพลังคงเพราะอาจจะเคว้งคว้างและไร้ซึ่งที่อยู่ของตัวเองแล้ว)

                   และจิฮิโระเด็กสาวขี้กลัวในตอนแรกก็ได้เติบโตขึ้นมาอย่างกล้าหาญเมื่อเธอผ่านเรื่องราวมากมายมาได้ด้วยตัวเองและมิตรภาพที่ได้พบเจอระหว่างทาง เธอมอบความรักให้คนอื่นและความมุ่งมั่นนั้นก็ส่งความเข้มแข็งให้กับเธอ ตอนสุดท้ายที่เธอกำลังจะกลับบ้านยูบาบะบอกว่าให้เลือกหมูในคอกพวกนี้ว่าใครคือพ่อแม่จริง ๆ ของเธอ จิฮิโระมองสักพักแล้วตอบกลับอย่างมั่นใจว่าไม่มีเลย เราคิดว่าเธอได้โตขึ้นแล้ว เธอรู้ว่าตัวเองชื่ออะไรและพ่อแม่ของเธอเป็นใคร ซึ่งพ่อแม่ของเธอจริง ๆ แล้วนั้น ไม่มีทางเป็นหมูอย่างแน่นอนเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า ความจริงและความลวงเป็นสิ่งที่ต้องแยกให้ออกและเธอก็ทำมันได้

     ตอนจบเรื่อง ฮาคุได้บอกกับเธอว่าอย่าหันหลังกลับมาอีกและจิฮิโระก็ได้เดินมุ่งหน้าไปโดยไม่ได้หันหลังกลับมาแม้จะมีความผูกพันกับที่นี่เหมือนกับที่เธอต้องทิ้งบ้านและเพื่อนเก่าไป แต่ถ้าเราอยากที่จะก้าวผ่านและเติบโตเราจำเป็นที่จะต้องกล้าที่จะละทิ้งมันเพราะในท้ายที่สุดแล้วสิ่งพวกนั้นจะอยู่ในความทรงจำของเราเสมอ

     



     

                   หากเปรียบเทียบโรงอาบน้ำเป็นสังคมเราก็จะเห็นได้ในเรื่องว่าในสังคมนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดีและสังคมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด ขอแค่เพียงเรา อย่าลืมชื่อของตัวเองก็พอ

     


     


     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in