เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
from classic to contemporary playsone2moonchi_
The Way of The World: เมื่อ “พวกเขา” บอกว่า “โลกความจริงก็เป็นแบบนี้แหละ”
  • Pride and Prejudice”


    ดาร์ซี่และอลิซาเบ็ธ  หญิงสาวและชายหนุ่มในเครื่องแต่งกายที่มองเพียงครั้งแรกก็ทำให้ผู้ชมนึกถึงสังคมในยุคศตวรรษที่19 Pride and Prejudice เป็นเรื่องราวที่นำเสนอมุมมองความรักระหว่างชนชั้นของคนในยุคสมัยวิคตอเรียนเมื่อหนทางเดียวของหญิงสาวในการการยกระดับฐานะตนเองคือการแต่งงาน

    “Breakfast at Tiffany’s”

    หญิงสาวที่มาพร้อมกับชุด Little black dress ประดับด้วยเครื่องเพชรหรูหราถือครัวซองต์พร้อมจิบกาแฟชื่นชมเครื่องเพชรหน้าร้าน Tiffany & Co. ความ iconic เหล่านี้คงสื่อถึงใครไม่ได้หากไม่ใช่ ฮอลลีโกไลต์ลี หญิงสาวชนชั้นสูงกำมะลอที่รุ่มรวยไปด้วยเสน่ห์และความลึกลับผู้อาศัยอยู่ในย่านแมนฮัตตันเธอใช้ชีวิตไปกับการออกงานสังสรรค์กับชายหนุ่มกระเป๋าหนัก แต่ท้ายที่สุดแล้ว เธอเพียงต้องการใครสักคนเพื่อแต่งงานด้วยและหวังว่าจะได้หลุดพ้นวังวนเหล่านี้เสียที

     

                หลายคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่าเคยได้ยินชื่อภาพยนตร์เหล่านี้ผ่านหูหรือเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างเพราะความโด่งดังและเป็นที่นิยมอย่างเหนือการเวลารวมถึงการผลิตซ้ำของภาพยนตร์แนวนี้ยังคงเป็นที่ถูกใจผู้ชมอยู่เสมอ เรื่องราวความรักทั้งสุขนาฎกรรมและโศกนาฏกรรมที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางเหล่านี้ล้วนมีส่วนประกอบของประเภทละครที่เราเรียกว่า Comedy of Manners หรือตลกผู้ดี

                ในช่วงที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ของอังกฤษกลับขึ้นสู่บัลลังก์อีกครั้งหรือที่เรียกกันว่ายุคฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ (Restoration Period) ของประเทศอังกฤษนั้น เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ชนชั้น Aristocrat หรือชนชั้นสูงรวมถึงเหล่าขุนนางขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในสังคม ส่งผลให้เรื่องชู้สาว ความฟุ่มเฟือย ความหรูหรา ความโลภ และเล่ห์เหลี่ยมกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในขณะนั้น และเมื่อนักประพันธ์บทละครเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็คงเป็นเรื่องแปลกหากจะไม่นำมาเสนอในรูปแบบของละคร

                                 Restoration Plays มักถูกนำเสนอในรูปแบบของ Comedy ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของละครในยุคสมัยนี้และองค์ประกอบหลักของ Comedy ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องราววายป่วงของชนชั้นสูงหรือ Comedy of Manners ที่ได้รับอิทธิพลจาก Comedy of the Humours โดย Ben Johnson ละครประเภทนี้เป็นละครที่เสียดสีชีวิตและการกระทำของคนในสังคมชั้นสูงได้อย่างมีศิลปะและแยบยล การเสียดสีเป็นเครื่องมือทางการแต่งบทประพันธ์หลายรูปแบบจนทำให้ศตวรรษที่ 17-18 ได้ชื่อว่าเป็น An Age of Satire ทำให้ผู้ชมชนชั้นสูงส่วนมากรู้สึกขำขันและพึงพอใจ นอกจากนี้ยังนำเสนอ stereotype ของวงสังคมชนชั้นสูง ทำให้ผู้ชมทั่วไปเข้าใจได้ค่อนข้างยากเนื่องจากการใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยไหวพริบและเสียดสีอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นผู้ชมเองก็ต้องเข้าใจความหมายโดยนัยต่าง ๆ ของชนชั้นสูงที่ละครกล่าวถึงด้วยจึงจะสามารถรู้สึกขำขันไปกับความตลกร้ายดังกล่าว อย่างไรก็ดี Comedy of manners ได้ถูกนำกลับมาแสดงใหม่ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างหลายคนนำองค์ประกอบของ Comedy of manners มาเป็นบทบาทสำคัญในละครหรือภาพยนตร์ ดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทั้ง Pride and Prejudice และ Breakfastat Tiffany’s ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นเรื่องราวของชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง เรื่องราวความรัก ผู้หญิง เงินทอง ความโลภและความภาคภูมิใจในการเป็นชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น ฮอลลี โกไลต์ลี ที่พยายามจะก้าวเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองนิวยอร์คเพื่อยกระดับตนเองหรือ ดาร์ซี ที่ภาคภูมิใจในทรัพย์สมบัติ สิทธิพิเศษ และชนชั้นทางสังคมที่ตนมี หากจะอธิบายให้คนไทยนึกภาพง่ายขึ้นก็คงคล้ายกับละครไทยเรื่องบ้านทรายทองหรือน้ำตากามเทพ ที่สามารถเอาเรื่องราวของไฮโซ ชนชั้นสูงมาเล่าผ่านซีรีส์ตอนสั้นๆ และสร้างความขบขันให้แก่ผู้ชมได้อย่างคมคาย

      นอกเหนือจากข้อคิดที่ภาพยนตร์เหล่านี้ทิ้งไว้ให้เราได้ซึมซับและตีความ องค์ประกอบของ Comedy of Manners ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ หากเปรียบเป็นการเดินทาง  Comedy of Manners ก็นับว่าได้เดินทางจากยุควิคตอเรียนมาจนถึงปัจจุบันโดยที่ยังคงสร้างความประทับใจเหนือกาลเวลาให้ผู้ชมแทบทุกยุคทุกสมัย

                ในยุคที่ชนชั้นกลางเริ่มมากขึ้น การได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยกลายมาเป็นมาตรฐานของสังคม การเข้าหาเส้นสายหรือสิทธิพิเศษในสังคมกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่ไม่ว่าใครก็ต่างต้องการ เพื่อความสะดวกสบายในชีวิตระบบทุนนิยม ถ้าหากเราได้นำเอาบทละครในยุคสมัย Restoration มานำเสนอในยุคสมัยปัจจุบันก็คงจะหนีไม่พ้นบทละครเรื่อง The Way of The World โดย William Congreve ที่นำเสนอเรื่องราวของชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 17 ไม่ว่าจะเป็นการคบชู้การแต่งงาน ชนชั้นทางสังคม เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด การวางแผนที่ฉลาดแกมโกง รวมถึงการแย่งมรดกและทรัพย์สิน

    https://www.theupcoming.co.uk/2018/04/07/the-way-of-the-world-at-the-donmar-warehouse-theatre-review/


                The Way of The World หรือในฉบับแปลไทยมีชื่อว่าศึกอสรพิษ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตระกูลชนชั้นสูง เริ่มด้วยการเลิกราของ Mirabell และ Mrs.Fainall โดย Mirabell แนะนำให้เธอแต่งงานกับ Fainall อันเนื่องจากข่าวฉาวเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของเธอและเพราะ Fainall มีเงินและชนชั้นที่ดีกว่าตัว Mirabell เอง


    เรื่องราวเริ่มต้นด้วยความรักของ Mirabell ต่อ Millamant ทั้งคู่เกือบจะได้เข้าสู่ประตูวิวาห์แล้วแต่เรื่องก็คงไม่กลับตารปัตรหาก  Mirabell ไม่เข้าหา Millamant ด้วยการทำดีต่อป้าของเธอหรือ Lady Wishfort จนทำให้สาวแก่แม่ม้ายเผลอหลงผิดคิดว่า Mirabell ตกหลุมรักตนเสียจนหัวปักหัวปำทำให้ Lady Wishfort ตัดสินใจยกหลานสาวของตนให้แต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเธอ ด้วยเหตุนี้ Mirabell จึงตัดสินใจวางกลอุบายกับคนรับใช้ให้ปลอมตัวเป็น Sir Rowland โดยหลอกว่าเป็นลุงแท้ ๆ ของตนผู้มีทรัพย์สินมากมาย และส่งคนใช้ไปแต่งงานกับ Lady Wishfort แล้วจึงจะเฉลยต่อ Lady Wishfort ในภายหลังว่าแท้จริงแล้ว Sir Rowland ไม่ใช่เศรษฐีจากไหนแต่เป็นเพียงแค่คนรับใช้เท่านั้นและเขาจะไม่เปิดเผยความจริงที่ว่า Lady Wishfort ตกลงปลงใจแต่งงานกับ Sir Rowland ให้ใครฟังหากเธอยอมให้เขาแต่งงานกับหลานของตน อย่างไรก็ดีความวายป่วงของเรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ แต่ทาง Fainall สามีของ Mrs.Fainall ลูกสาวแท้ๆ ของ Lady Wishfort กลับหักหลังและวางแผนจะเปิดโปงแผนการของ Mirabell เนื่องจากเพื่อนสนิทของ Lady Wishfort หรือ Mrs.Marwood ได้บังเอิญไปได้ยินการวางแผนดังกล่าวของ Mirabell จึงตัดสินใจแฉเรื่องราวความสัมพันธ์ของ Mirabell ที่เคยคบหาดูใจกับ Mrs.Fainall เพื่อทำลายชื่อเสียงและหวังชิงทรัพย์สมบัติของครอบครัว Lady Wishfort แต่ท้ายที่สุดแล้วฝ่าย Mirabell ที่ถึงแม้จะเป็นคนรักเก่าของ Mrs.Fainall แต่ยังคงความสัมพันธ์ฉันมิตรไว้ได้อย่างดีก็ออกมาแฉการคบชู้ระหว่าง Fainall และ Mrs.Marwood เพื่อนสนิทของ Lady Wishfort และเอาชนะไปด้วยการเผยว่าแท้จริงแล้วทรัพย์สินของ Mrs.Fainall มีกรรมสิทธิ์เป็นของเขาเนื่องจากทั้งคู่ได้ทำสัญญากันไว้เพราะไม่ไว้ในการแต่งงานระหว่าง Mrs.Fainall และ Fainall มากนัก


                                   https://www.coursehero.com/lit/The-Way-of-the-World/


           เรื่องราวเหล่านี้อธิบายชื่อเรื่อง The Way of The World ได้ดี แม้เนื้อเรื่องจะมีความซับซ้อนอย่างมากแต่ก็ยังสามารถนำเสนอธีมหลักของเรื่องให้เห็นเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ชนชั้น เงินทองเล่ห์เหลี่ยม หรือความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ดึงดูดตัวละครให้เข้ามาสู่ความโกลาหลของชีวิตอย่างไม่จบสิ้น ส่งผลให้ทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกันไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง

    สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการตีความคงเป็นเรื่องความรักและการแต่งงานซึ่งมักมาพร้อมกับเรื่องของเงินทองที่ทำให้เหล่าชนชั้นสูงต้องออกมาสู้กันด้วยความฉลาดที่เต็มไปด้วยเล่ห์ และประเด็นที่เด่นชัดอีกหนึ่งแง่มุมได้แก่ "ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่มีคุณธรรมหรือศีลธรรมสูงกว่าจะเป็นผู้ชนะแต่คนที่วางกลอุบายได้ดีและมีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่าต่างหากที่จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง" เห็นได้จากกรณีที่ Mirabell ได้ทั้งแต่งงานกับคนที่ตนรักพร้อมกับการได้ครอบครองทรัพย์สินของอีกฝ่าย สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็ได้วบลูปในวงโคจรของชีวิตเหล่าไฮโซ ชนชั้นสูงในยุคสมัยนั้นอย่างไม่จบสิ้น แล้วใครกันล่ะที่บอกว่านี่คือ วิถีแห่งโลก ถ้าไม่ใช่ “พวกเขา” เหล่านั้น คนที่ถืออภิสิทธิ์อยู่เหนือใครๆ และเรียกตนเองว่าเป็นชนชั้นสูง


    จะเป็นอย่างไรหากนำ The Way of The World มาจัดแสดงใหม่อีกครั้งในประเทศไทย ?

    แน่นอนว่าความสำเร็จของการนำเสนอละครตลกผู้ดียังไม่เสื่อมคลายไปจากสังคมในปัจจุบัน ในประเทศไทยก็เช่นกัน เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะ วิถีแห่งโลกที่ถูกกล่าวถึงนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก “ความรัก ความโลภ ชนชั้นทางสังคม  การวางกลอุบาย” ยังคงเป็นสิ่งสากลที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้

    ในเมื่อเรื่องราวตลกร้ายยังคงเป็นสูตรละครที่สร้างความขบขันรวมถึงกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับสังคม  การนำ Comedy of Manners มาเสนอในรูปแบบภาพยนตร์หรือละครไทยก็คงไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกไกลตัวแต่อย่างใด ถ้าหากเราได้นำ The Way of The World มานำเสนอใหม่อีกครั้งในปี 2020 ก็คงทำให้ผู้ชมได้ฉุกคิดและเห็นว่าอะไรบ้างที่เป็น วิถีแห่งโลกแบบเดิม แล้วอะไรบ้างที่เป็น วิถีแห่งโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

    ในยุคที่ทุนนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาทในแทบทุกมุมโลก เงินตราล้วนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนในสังคมได้ลืมตาอ้าปาก และสามารถขยับชนชั้นของตนจากชนชั้นกลางกลายเป็นชนชั้นสูงด้วยอำนาจของทรัพย์สินเงินทอง จะมีชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงสักกี่คนที่จะมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมได้อย่างถ่องแท้ ตัวอย่างเช่นในปี 2020 ที่เกิดโรคระบาดอยู่ทั่วทุกที่ บางคนก็ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง มีวิธีรักษาแสนยากลำบาก แต่กลับมีคนบางกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์เหนือใครกล่าวว่า โรคระบาดเหล่านี้คือฮีโร่ บ้างก็ว่าเป็นระบบคัดสรรของธรรมชาติเพื่อจะหาผู้ที่อยู่รอด 

    คำพูดเหล่านี้ล้วนมาจากเหล่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงในสังคมที่ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ และถึงแม้จะได้รับผลกระทบ เพียงแค่มีเส้นสายและเงินทองก็คงแก้ไขได้ไม่ยากเท่ากับชนชั้นล่าง หากเรามองปัญหาทางทัศนคติเหล่านี้ลึกลงไปอีก ก็อาจช่วยให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ได้ชัดมากขึ้น ดังนั้นหากเรานำ The Way of The World มาดัดแปลงและทำการแสดงในแบบฉบับของไทย มันอาจช่วยเป็นกระจกสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

                การนำ The Way of The World มาดัดแปลงและจัดแสดงในไทยนั้นควรจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวละครจากชนชั้นสูงที่ดูหรูหรา อู้ฟู้มาเป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่มีอภิสิทธิ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้กว้างขึ้น โดยเริ่มต้นนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาตั้งแต่เกิดไปจนถึงการวางแผนชีวิตของลูกในกลุ่มชนชั้นสูงให้ได้เข้าโรงเรียนที่อยู่ในอันดับดี พอเริ่มมีเส้นสายก็ถือเป็นการซื้อสังคมให้ตัวเด็กและพ่อแม่เอง และเมื่อโตขึ้นตัวละครก็จะก้าวเข้าสู่การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมระดับเดียวกัน ตรงนี้อาจจะยิ่งทำให้ผู้ชมหลายคนเริ่มมองเห็นตัวเองจากตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายในการแข่งขันกันทางสังคมเพื่อก้าวไปสู่สถานะที่สูงกว่า การแข่งขันทางการศึกษา ความหรูหราและเรื่องราวความรักที่วนเวียนอยู่ภายในกลุ่มคนชนชั้นเดียวกันที่ในตอนท้ายก็คงไม่หลุดพ้นจากวงโคจรเดิมๆ กล่าวคือลงเอยด้วยการแต่งงานกันของชนชั้นสูง มีลูก และวนลูปเดิม 

              การปรับบทละครให้เข้ากับบริบททางสังคมไทยอาจเริ่มจากการวางแผนสร้างกลอุบายในการเอาชนะกันแบบสงครามประสาท เพื่อความเหนือกว่าทางสังคม การศึกษา หรือหน้าที่การงาน เพียงเพื่อจะได้มีหน้าตาทางสังคมและเอาไว้คุยโวโอ้อวดกัน ถึงแม้ผู้ชมจะไม่ใช่กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวแต่หากอยู่ภายในวงสังคมเช่นนี้ก็คงจะรู้สึกได้ถึงการเสียดสีตามแบบฉบับของบทละครเรื่อง The Way of The World 

                ในตอนจบของเรื่องเราจะยังคงต้นฉบับของ The Way of The World  เอาไว้ เพียงแต่ดัดแปลงให้เห็นถึงวังวนของสังคมชนชั้นสูงให้ชัดเจนมากขึ้นโดยนำเสนอมุมมองและการใช้ชีวิตของชนชั้นล่างที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง และคงประเด็นหลักของเรื่องที่ว่า คนที่วางกลอุบายได้ดีและมีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่าคือคนที่จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ดังนั้นผู้ที่ผูกขาดหน้าตาในสังคม การศึกษาหรือหน้าที่การงานที่ดีก็จะยังคงเป็นกลุ่มชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงอยู่ดี ขึ้นอยู่กับว่าใครจะขึ้นมาเป็นที่หนึ่งเหนือคนในวงสังคมนั้น ๆ

                ความคลาสสิคของการนำเสนอละครด้วยรูปแบบการเสียดสีและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กล่าวข้างต้นยังคงมีให้เห็นอยู่ในทุกวันของชีวิต ทำให้สองปัจจัยนี้อาจเป็นตัวตัดสินที่ดีว่าหากนำบทละครเรื่อง The Way of The World มาดัดแปลงและนำเสนอในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบรับดีเหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง Pride and Prejudice และ Breakfastat Tiffany’s ที่กล่าวไปข้างต้น ละครเรื่องนี้อาจทำให้ผู้ชมได้กลับไปตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่ และนำไปสู่การสนทนาในวงกว้างเกี่ยวกับปัญหาในสังคมที่เรามองข้ามไป

                 แม้ว่าการสร้างหรือรับชมละครเรื่องนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาเชิงโครงสร้างหายไปอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างน้อยที่สุดเราคาดหวังว่ามันจะเป็น Soft Power ที่ทำให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงอำนาจและอภิสิทธิ์ที่ตนมีและตระหนักได้ว่าถึงแม้เงินทอง ชื่อเสียง และอำนาจจะยังคงมีผลต่อการดำเนินไปของโลก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องดิ้นรนหามาเพื่อที่จะได้อยู่ "เหนือ" กว่าผู้อื่น


    แม้ว่าในวันนี้ The Way of The World หรือวิถีของโลก จะไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก และคนบางกลุ่มยังคงมองว่า “โลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ” แต่วันใดวันหนึ่งในอนาคตเรายังคงตั้งความหวังไว้ว่า “วิถีของโลก” จะเปลี่ยนไป และ “พวกเขา”จะไม่ใช่เพียงชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งที่จะถือสิทธิ์นิยามโลกใบนี้ไว้เพียงชนชั้นเดียว

     

      - บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา History of Theatre I (บันทึกไว้อ่านเองและขอบคุณสำหรับทุกคนที่สนใจค่ะ☺️)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in