เขาเป็นชายชราซึ่งหาปลาเพียงลำพังด้วยเรือเล็กในกระแสน้ำอุ่น เขาออกทะเลมาแปดสิบสี่วันแล้วขณะนี้โดยที่ไม่ได้ปลาเลยสักตัว สี่สิบวันแรกเด็กชายยังไปกับเขา แต่หลังจากสี่สิบวันที่ไม่มีปลา พ่อแม่ของเด็กชายบอกเขาว่าชายชราจะต้องเป็นตัวซวยอย่างแน่แท้ ชายชราแบบบางและผ่ายผอม . . . บนมือมีรอยแผลเป็นลึกจากการเย่อกับปลาใหญ่แต่ไม่มีบาดแผลใดเป็นแผลสด พวกมันเก่าแก่พอๆ กับรอยกัดกร่อนในทะเลทรายที่ไร้ปลา (8)
The first paragraph of The Old Man and the Sea, Ernest Hemingway.
The Old Man and the Sea คือนิยายขนาดสั้น (ฉบับแปลไทยส่วนมากก็ตกอยู่ที่หนึ่งร้อยถึงสองร้อยหน้า) ที่นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอเมริกันเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (1899-1961) เขียนขึ้นระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่คิวบาในปี1951 และตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1952
The Old Man and the Sea นับเป็นหนึ่งในหนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดเล่มหนึ่งของเฮมิงเวย์ และเล่มนี้เองที่ทำให้เขาได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1954 ตัวเรื่องบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของตาเฒ่าชาวประมงกับปลามาร์ลินยักษ์กลางทะเลในกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมนอกชายฝั่งคิวบา หากจะให้เล่าเรื่องย่อของหนังสือเล่มบางนี้เกรงว่าจุดเริ่มต้นและบทสรุปทุกอย่างจะจบลงภายในบรรทัดเดียวเท่านั้นแต่กลับกัน นี่คืองานเขียนชั้นครูที่เฮมิงเวย์เฝ้าฟูมฟักและขัดเกลาจนทั้งตัวเรื่องและรสคำมีความเข้มข้นเข้าน้ำเข้าเนื้อมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งยังทำให้เกิดข้อถกเถียง การตีความที่หลากหลาย สมกับที่ถูกเขียนขึ้นด้วยสไตล์ "น้อยแต่มาก (minimalistic style of writing)" แบบทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg theory) ที่เจ้าตัวคิดค้นและมีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเขียนยุคใหม่
“ผมพยายามเขียนถึงตาเฒ่าจริงๆ เด็กชายจริงๆ ทะเลของจริงที่มีปลาและฉลามจริงๆ ในนั้นแต่ผมคิดว่าถ้าผมเขียนมันออกมาได้ดีและสัตย์จริงพอ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกเขียนขึ้นในนั้นจะบอกเล่าได้มากกว่าที่มันเป็นอยู่มากนัก”
เฮมิงเวย์และปลามาร์ลินบนชายฝั่งคิวบา
จากบทความ On the Blue Water: a Gulf Stream Letter ตีพิมพ์ลงในนิตยสารEsquire ฉบับเดือนเมษายนปี 1936 เฮมิงเวย์เขียนเล่าถึงความหลงใหลที่เขามีต่อความงดงามของวิถีชีวิตท่ามกลางกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมในคิวบาเขาเล่าถึงประสบการณ์ตกปลาของตัวเองบนชายฝั่งที่นั่นรวมทั้งเรื่องเล่าบางส่วนที่ได้ยินมาจากคาร์ลอส เพื่อนนักตกปลาชาวคิวบา
บางส่วนของจดหมายพูดถึงปลามาร์ลินตัวใหญ่:
…ตาเฒ่าที่ออกทะเลหาปลาอยู่เพียงลำพังนอกชายฝั่งคานาบาสตกปลามาร์ลินยักษ์ได้ตัวหนึ่ง มันดึงเชือกรอกหนักหน่วงแล้วลากเรือไกลออกชายฝั่งไปในทะเลลึก สองวันต่อมาเพื่อนชาวประมงเจอตาเฒ่าทางตะวันออกห่างจากฝั่งไปหกสิบไมล์ มีส่วนหัวและลำตัวหน้าของมาร์ลินผูกไว้กับเรือ ชิ้นส่วนที่เหลือน้อยกว่าครึ่งของปลาหนักแปดร้อยปอนด์
ชายชราใช้ชีวิตอยู่กับมันถึงหนึ่งวันหนึ่งคืน แล้วก็อีกหนึ่งวันกับอีกหนึ่งคืนขณะที่มันว่ายน้ำสู้ ทั้งดำลึกและพยายามลากเรือให้ไกลออกไปในทะเลเรื่อยๆ จนเมื่อมันว่ายวนขึ้นมาใกล้ๆ ตาเฒ่าก็ลากเรือเข้าประชิดและแทงมันด้วยฉมวก ผูกมันไว้ข้างเรือ แล้วฉลามก็เข้ามาโจมตี ตาเฒ่าต่อสู้กับฝูงฉลามท่ามกลางกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมอย่างเดียวดาย ทั้งเอาไม้ตี และแทงพวกมันด้วยไม้พายจนเขาเหนื่อยล้า แล้วฉลามก็รุมกินเจ้ามาร์ลินของตาเฒ่าจนเหลือแต่ซาก ตอนพวกชาวประมงพบเขาตาเฒ่าร้องไห้ใจจะขาด ฝูงฉลามยังว่ายวนอยู่รอบเรือ . . .
หากยุครุ่งเรืองทางงานเขียนของเฮมิงเวย์อยู่ระหว่างปี1923-1940 แล้ว (นิยายเล่มสุดท้ายที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 1940 คือ For Whom the Bell Tolls) ช่วงปี 1941-1950 อาจจัดเป็นยุคมืดทางการสร้างสรรค์เนื่องจากไม่มีผลงานใดๆตีพิมพ์ออกมาเลย จนกระทั่งบรรดานักวิจารณ์เริ่มตั้งข้อสังเกตุว่าหรือที่จริงตัวเฮมิงเวย์คงหมดไฟในการสร้างสรรค์วรรณกรรมและงานเขียนเสียแล้ว จนกระทั่งเฮมิงเวย์ปล่อยหมัดเด็ดตีพิมพ์ The Old Man and the Sea ออกมาในปี 1952 หากในเรื่องตาเฒ่าซานติอาโกจับปลาใหญ่เพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรีในฐานะชาวประมงฉันใด วรรณกรรมเรื่องนี้ก็เป็นเสมือนหนังสือที่รวบรวมประสบการณ์และแก่นแท้ของชีวิตที่เขาประสบพบพานเพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรีในฐานะนักเขียนฉันนั้น (แม้แต่วิลเลียม โฟล์คเนอร์ คู่แข่งทางวรรณกรรมยังเอ่ยปากชมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ “ดีที่สุด” ของเฮมิงเวย์ และ “เวลาจะพิสูจน์เองว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะเป็นงานเขียนที่ดีที่สุดในหมู่เรา หมายถึงงานเขียนร่วมสมัยทั้งของเขาและของผม”)
หากย้อนดูจดหมายที่เฮมิงเวย์เขียนถึงชายชราและปลายักษ์ในปี1936 เทียบกับต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในปี 1952 แล้ว หมายความว่าภาพการต่อสู้ของชายชราและปลานั้นได้ฟูมฟัก โลดแล่นและถูกขัดเกลาอยู่ในจินตนาการของเขามาตลอดสิบหกปี
ศักดิ์ศรีของชีวิต
_____________
มันง่ายมากเมื่อแกแพ้พ่าย ชายชราคิด . . . ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันง่ายขนาดนี้
แล้วอะไรทำให้แกแพ้ ชายชราถามตัวเองแบบนั้น และได้คำตอบ ไม่มี ข้าแค่ออกไปไกลเกิน (83)
ทั้งชายชราและปลามาร์ลินต่างขับเน้นคุณสมบัติของความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี และความหาญกล้าในการเผชิญชีวิตอย่างทะนงตน จะว่าไป หากพิจารณาชีวิตที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานของทั้งสอง พวกเขาก็เหมือนนักชกชำนาญสังเวียนที่ต่างเคยสะบักสะบอมเวทีชีวิตมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และครั้งนี้คือการชกนัดสุดท้ายที่สามารถชี้เป็นชี้ตายว่า ตลอดชีวิตที่ผันผ่านนั้นเราผจญมันเยี่ยงชายชาตรีหรือชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง
ยังไงข้าก็ต้องฆ่ามัน ด้วยความยิ่งใหญ่และสูงส่งของมัน . . .
ข้าจะแสดงให้มันเห็นว่าคนทำอะไรได้บ้าง และคนนั้นทรหดอดทนอย่างไร (47)
สำหรับซานติอาโกที่ใช้ชีวิตในฐานะชาวประมง ศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิตเขาก็ย่อมมาจากการออกทะเลหาปลา ปลาเล็กใหญ่ล้วนมีตัวตนในฐานะเครื่องพิสูจน์ยืนยันการมีตัวตนของซานติเอโกที่ใช้ชีวิตเยี่ยงชายในแง่นั้น ขณะเดียวกันปลามาร์ลินใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์ ศักดิ์ศรีในการมีอยู่เยี่ยงสัตว์คือการรักษาสัญชาตญาณเข้มข้นของการมีชีวิต: ฆ่าหรือถูกฆ่า อย่างไรก็ดี สำหรับตาเฒ่าซานติอาโกที่ใช้เวลางัดกับเจ้าปลามาร์ลินมาถึงสามวันสามคืนด้วยกัน ความนับถือชื่นชมที่เขามีต่อมันในฐานะเพื่อนร่วมทางและสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่สง่างามนั้นได้เข้ามาแทนที่ความต้องการจะเข่นฆ่าเอาชนะเสีย ในวันแรกๆ ชายชรายืนยันกับตัวเองว่าปลาจะต้องตายแม้เขาจะรักและเคารพมันเพียงใด รวมทั้งปลอบใจตัวเองด้วยการคิดว่ากี่ปากท้องของคนในหมู่บ้านจะอิ่มหนำสำราญบ้าง หากปลาตัวนี้สละชีวิต แต่แล้วเขาก็คิดว่าคนเหล่านั้นสมควรที่จะได้กินมันหรือ? ไม่แน่นอน ไม่ ไม่มีใครบนชายฝั่งนั้นคู่ควรกับปลาเมื่อเทียบกับท่วงท่าสง่างามและศักดิ์ศรีของมัน
เอ็งกำลังจะฆ่าข้า เจ้าปลา . . . แต่เอ็งมีสิทธิ์
ข้าไม่เคยเห็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่า สวยงามกว่า สงบเยือกเย็นกว่า สูงศักดิ์กว่าเอ็ง น้องชาย
มาเลย มาฆ่าข้า ข้าไม่สนอีกแล้วว่าใครจะฆ่าใคร (65)
อาจกล่าวได้ว่าการผจญทะเลของชายชราและปลาตัวหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องราวของการต่อสู้ "ระหว่าง" ใครกับใคร แต่เป็นการต่อสู้ "ของ" ทั้งคู่ การเอาชนะขีดจำกัดและสิ่งที่อัดแน่นปั่นป่วนอยู่ข้างในตนนั้นยิ่งใหญ่กว่าการเอาชนะปัจจัยภายนอกมากนัก เขาได้สรุปเจตจำนงสั้นๆ ในการมีอยู่ของเขาในฐานะมนุษย์ว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพ่ายแพ้ มนุษย์อาจถูกทำลายลงได้ แต่ไม่อาจพ่ายแพ้
ท้ายที่สุดแล้วปลาอาจไม่เคยเป็นอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากปลา ชายชราก็คือชายชรา และทะเลเป็นแค่ทะเล คนอาจจบหนังสือเล่มนี้ลงหลังอ่านไปเพียงสิบหน้าเพราะสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์บอกพวกเขาว่ามันคือหนังสือชั้นเลว ไม่มีอะไรต้องสืบเสาะหรือล่องลึกไปพร้อมกับตาเฒ่าอีก นั่นก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรใดๆ หรอก แต่ขอให้รู้ไว้ทั้งในหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่นมีบรรทัดที่เป็นของคุณรออยู่เสมอ และคุณจะได้ไปหามันในเวลาที่เหมาะสม
ส่วนใครที่เข้าใจประโยคเมื่อครู่มาแล้วครั้งหนึ่งครั้งนั้น จะแน่ใจได้ว่าพอมันเกิดขึ้นแล้ว การหลงรักหนังสือไม่ใช่เรื่องยาก
Bliobiography:
https://allthatsinteresting.com/ernest-hemingway-quotes
ชายชรากับทะเล, แปลโดยวาด รวี, สำนักพิมพ์ไชน์ พับบลิชชิ่งเฮ้าส์
http://catdir.loc.gov/catdir/enhancements/fy0640/96011419-s.html
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Ernest_Hemingway_bibliography
http://mentalfloss.com/article/64363/11-facts-about-hemingways-old-man-and-sea
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in