เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
การลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูประการของคณะราษฎรฯ By รชฏ นุเสน
  • รีวิวเว้ย (1306) ความทรงจำคือสิ่งที่ถูกหลอกได้ ถูกทำให้ลืมได้ และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่างได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น "ความทรงจำ" จึงเป็นสิ่งที่ถูกฉกฉวยไว้ในงานอยู่บ่อยโดยเฉพาะเมื่อประเด็นเหล่านั้นเป็นเรื่องของรัฐและความมั่นคง การสร้างความทรงจำโดยรัฐในลักษณะของความทรงจำรวมหมู่จึงเป็นสิ่งที่ถูกใช้อย่างสม่ำเสมอในกระบวนการสร้างชาติหรือในกระบวนการกล่อมเกล่าทางสังคมเพื่อให้เกิดสำนึกบางประการต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งที่ผ่านมาในสังคมไทยการใช้เครื่องมืออย่างความทรงจำรวมหมู่จึงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งการลบเลือน การทำลาย และการทำให้ลืมเลือนในเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำก็มีหลายหนไม่แพ้การสร้างความทรงจำรวมหมู่เลย อาทิ การทุบทำลายสถาปัตยกรรม การทำให้หมุดคณะราษฎรให้หายไป การลบเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บางประเด็นให้หายไปจากแบบเรียน กระทั่งการลบเลือนตัวตนของใครบางคนก็ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในกลไกของการสร้าง "การลืมรวมหมู่" แน่นอนว่าคณะราษฎรนับเป็นหนึ่งในคณะบุคคล และบุคคลที่ถูกทำให้เกิดการลืมรวมหมู่มาแต่ครั้งหลัง 2490 กระทั่งถึงยุคปัจจุบัน (2566) ความพยายามในการจะลบลืมคณะราษฏรยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการพยายามลบเลือนทางกายภาพอย่างการทุบทำลายสิ่งที่เกี่ยวโยงกับคณะราษฎร และความพยายามลบเลือนทางความทรงจำอย่างการบังคับให้ลืมหรือการสร้างความทรงจำใหม่ ๆ ขึ้นมากดทับชุดความทรงจำก่อนหน้า
    หนังสือ : การลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูประการของคณะราษฎร ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ. 2489
    โดย : รชฏ นุเสน
    จำนวน : 351 หน้า
    .
    "การลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูประการของคณะราษฎร ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ. 2489" หนังสือที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ในการทุบทำลายและทำให้หายไปของสิ่งของ ความทรงจำและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรทั้งหมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบกบฎ การเปลี่ยนชื่อค่ายทหารที่เกี่ยวข้องและยึดโยงกับสมาชิกคณะราษฎร และอีกหลากหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องและเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้นับตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ. 2560 ที่สิ่งของเกี่ยวกับคณะราษฎรที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเริ่มถูกทุบทำลายและทำให้หายไป
    .
    "การลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูประการของคณะราษฎร ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ. 2489" ตั้งต้นการเล่าเรื่องด้วยวิธีคิดในเรื่องของ "การลืมรวมหมู่" ที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการในการสร้างความทรงจำของคนในสังคมหนึ่ง ๆ ผ่านการจำกัด ทำลายและการสร้างความรับรู้ต่อเหตุการณ์นั้น ๆ เสียใหม่ อาจจะอาศัยการสร้างให้เป็นฝ่ายดี-ฝ่ายร้าย หรือจะทุบทำลายให้หายไปจากชุดความทรงจำของสังคมก็ได้ผ่านกลไกของการสร้างชุดความทรงจำใหม่และลบทำลายผ่านกลไก "การลืมรวมหมู่"
    .
    ในส่วนของเนื้อหาของ "การลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูประการของคณะราษฎร ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ. 2489" จะพาผู้อ่านย้อนไปเสาะหาคุณูปการของคณะราษฎรที่ปรากฎอยู่ในนวนิยาย 11 ชิ้น ที่ถูกเขียนขึ้นในต่างช่วงเวลาที่ในบางเล่มมีการบอกเล่าถึงเรื่องของคณะราษฎร และในบางเล่มก็มีการหยิบใช้ตัวละครและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือสืบเนื่องกัลการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และหลายเหตุการณ์ที่คณะราษฎรเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งเหตุการณ์ที่เสรีไทยเข้าไปมีบทบาทด้วย โดยเนื้อหาของ "การลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูประการของคณะราษฎร ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ. 2489" แบ่งออกเป็น 6 บทดังนี้
    .
    บทนำ: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ สำนึกประวัติศาสตร์ชาติไทยและการลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูประการของคณะราษฎร
    .
    บทที่ 1 ภาพลักษณ์และบทบาทของคณะราษฎรในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น (ทศวรรษที่ 2490-2520) ประกอบด้วย สี่แผ่นดิน (2494-2495), ร่มฉัตร (2513) และญาติกา (2525)
    .
    บทที่ 2 ภาพลักษณ์และบทบาทของคณะราษฎรในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง (ทศวรรษที่ 2530-2547) ประกอบด้วย สองฝั่งคลอง (2533), ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน (2537), ราตรีประดับดาว (2542), ปีกแดง (2545) และมาลัยสามชาย (2547)
    .
    บทที่ 3 ภาพลักษณ์และบทบาทของคณะราษฎรในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคมหาวิกฤตการเมืองไทย (ทศวรรษที่ 2550 และ 2560) ประกอบด้วย น้ำเงินแท้ (2558), 16 องศาเหนือ (2560) และฝากไว้ในแผ่นดิน (2561)
    .
    บทที่ 4 ความเงียบของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ต่อคุณูปการของคณะราษฎร
    .
    บทสรุป: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับการลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูปการของคณะราษฎร
    .
    เมื่ออ่าน "การลืมรวมหมู่เกี่ยวกับคุณูประการของคณะราษฎร ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ. 2489" จบลง เราจะพบว่าความพยายามในการลบทำลาย หรือสร้างการลืมรวมหมู่ในสังคมไทยต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือต่อคณะราษฎร และต่อเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ที่ดูจะอยู่ตรงข้ามกับรัฐหรือตรงข้ามกับชุดอุดมการณ์ที่รัฐเชื่อถือ ปลูกฝัง สั่ง-สอน ชุดความทรงจำแหละเหตุการณ์เล่านั้นมักถูกทุกทำลายมาเสมอ หากแต่ในโลกยุคปัจจุบันการเลือกกำกับและทำลายของรัฐหรือกลุ่มคน ไม่สามารถทำได้อีกต่อไปอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายพรมแดนของการเข้าถึงข้อมูลและชุดความรู้ ในปัจจุบันกลายเป็นว่าความพยายามในการลบเลือนของรัฐกลับยิ่งทำให้เหตุการณ์นั้น ๆ ปรากฎชัดขึ้นกว่าเดิม อย่างการทำให้หมุดคณะราษฎรหายไป เราจะพบว่ากลังจากนั้นก็มีชุดข้อมูล ความรู้ สินค้า และการพูดถึงหมุดคณะราษฎรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งที่หากหมุดวางอยู่ ณ จุดเดิมการให้ความสำคัญและความสนใจอาจจะไม่มากมายเท่าทุกวันนี้ที่หมุดหายไป ซึ่งรวมไปถึงอนุสาวรีย์ปรากบฎและอีกหลายอย่างที่รัฐประโคมย่ำยามให้สังคมหันมาสนใจสิ่งเหล่านั้นเสียเอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in