เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
คันฉ่องส่องพระ By ส. ศิวรักษ์
  • รีวิวเว้ย (1859) "บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ไม่มีฐานะในสังคมแล้ว จะต้องไม่มีความกระด้างถือตัวใด ๆ การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ เช่น มีอินทรีย์อันสงบ เป็นต้น เพื่อสำรวมให้เหมาะกับความเป็นสมณะ ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย" (ส. ศิวรักษ์) ในหลายวันมานี้เราจะเห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์ (AKA แครอท) มีแต่เรื่องชวนให้ปวดหัวและต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินวัด พระขับรถซิ่ง หรือกระทั่งเรื่องราวของสีกาที่รับสึกพระผู้ใหญ่หลายรูปในวงการสงฆ์โดยมิได้นัดหมาย
    หนังสือ : คันฉ่องส่องพระ
    โดย : ส. ศิวรักษ์
    จำนวน : 350 หน้า
    .
    "คันฉ่องส่องพระ" หนังสือของ ส. ศิวรักษ์ นักวิชาการ ที่ภาษาวัยรุ่นน่าจะต้องใช้คำว่า "นักวิชาการปากเจ็บ" หรือ "ปัญญาชนปากแซ่บ" ผู้ที่ตั้งคำถาม และตอบคำถามในหลาย ๆ เรื่องของสังคมไทยในมิติที่น้อยคนจะคิดได้ว่า "คำถามแบบนี้มันถามได้หรือวะ" และ "คำตอบแบบนี้มันตอบได้ใช่ไหมวะ" อีกทั้งหลายครั้งที่อ่านหรือฟังเรื่องเล่าที่ออกจากปากของ ส. ศิวรักษ์ เรามักจะถามตัวเองเสมอ ๆ ว่า "เรื่องมันเป็นแบบนี้ได้ยังไง" เพราะทุกการตั้งคำถาม การตอบคำถามและการบอกเล่าของ ส. ศิวรักษ์ มันคือการเขย่าความเชื่อและคุณค่าบางประการของสังคมให้มันเกิดการฟุ้งกระจาย และให้คนอ่านคนฟังลองมองมันในลายละเอียดตอนที่ฟุ้งกระจายอีกครั้งคล้ายกับตอนที่เราเขย่า snow globe 
    .
    หนังสือ "คันฉ่องส่องพระ" เล่มนี้ก็ทำหน้าที่แบบ snow globe ที่ถูกเขย่าเพื่อให้เราได้เพ่งมอง และจ้องมองเรื่องราวบางอย่างที่หลายครั้งเราไม่เคยรับรู้ และไม่คิดว่ามันจะมีอยู่จริง โดยเฉพาะในเรื่องของวงการสงฆ์ ที่พระหลายรูปทำตัวเองเฉกเช่น กาสะลอง-ซ้องปีบ, เอื้อย-อ้าย, พระเพื่อน-พระแพง หรือบางก็เป็นแบบหลวิชัย-คาวี แต่น้อยนักที่จะเป็นแบบสภาวะ (+,+) ในทางชีวะวิทยาเว้นแต่ว่าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน หลายกรณีเราจะพบว่าเป็นสภาวะอิงอาศัยแบบ (+,-) (+,0) (0,0) แต่ส่วนใหญ่จะพบว่า (+,-) น่าจะเป็นหลักของเรื่องเล่าในศาสนจักรแบบพุทธไทย คือ ไม่ใครก็ใครต้องฉิบหายกันไปข้าง และโดยส่วนใหญ่ข้างที่เป็น + มักเป็นข้างที่อาณาจักถือหาง และเป็นข้างที่ทำตัวเป็นหมาผู้น่ารักของอาณาจักรที่เชื่องเชื่อตลอดเวลา 
    .
    โดยเนื้อหาของ "คันฉ่องส่องพระ" ประกอบไปด้วยเรื่องของ พระอาจารย์องค์พระประมุข, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า, สมเด็จพระสังฆราชที่ข้าพเจ้ารู้จัก, สมเด็จพระญารสังวรที่ข้าพเจ้ารู้จัก, สมเด็จฯ วัดสระเกศ, คติจากสมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ, สมเด็จฯ วัดระฆัง, สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดอนงค์, สรรเสริญคนดี, อันเนื่องมาแต่สมเด็จป๋าวัดโพธิ์, สมเด็จฟื้นวัดสามพระยา และพระนักปฏิบัติ
    .
    "คันฉ่องส่องพระ" ช่วยให้เราเห็นกลไกบางอย่างที่ซ่อนตัวอยู่ในศาสนาพุทธแบบไทย แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องทั้งหมดที่ปรากฏใน "คันฉ่องส่องพระ" เพราะเอาเข้าจริงหนังสือเล่มนี้พยายามนำผู้อ่านไปทำความรู้จักพระแต่ละรูปที่ ส. ศิวรักษ์ หยิบเอาเรื่องราวในมุมมองมาเล่าให้ฟัง ซึ่งเมื่อเป็นปัญญาชนแบบเขาแล้วการเล่าเรื่องของพระในศาสนาพุทธแบบไทยย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าพระหลาย ๆ รูปที่อยู่ภายใต้องค์กรศาสนจักรและเป็นพระที่ดีของอาณาจักร ส่วนมากมักเป็นพระที่ก้าวหน้าในฐานานุศักดิ์แทบทั้งสิ้น (แต่หลายรูปก็ดับดิ้นเพราะสีกา) นอกจากนั้น "ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ)" ที่อยู่ในหน้าแรก ๆ ของ "คันฉ่องส่องพระ" ก็เหมาะแก่การเอาไปถามพระหลาย ๆ รูปว่า "พวกท่านทำมันได้กี่ข้อ" ?
    .
    [ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ ประกอบไปด้วย 10 ข้อดังนี้]
    .
    1. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว
    2. ว่าการเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
    3. ว่าเรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ
    4. ว่าตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่
    5. ว่าเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญู ใคร่ครวญแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่
    6. ว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
    7. ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว
    8. ว่าวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
    9. ว่าเรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่
    10. ว่าคุณวิเศษที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in