เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย By พีระ เจริญวัฒนนุกูล และ พชร ล้วนวิจิตร
  • รีวิวเว้ย (1847) แม้ว่าการศึกษาเรื่องไทยกับสงครามโลกครั้งที่สองจะได้รับการค้นคว้ามากมายไม่ว่าจะเป็นในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และนโยบายต่างประเทศ แต่งานทั้งหลายเหล่านี้แทบไม่ได้พิจารณาประเด็นสำคัญอย่างเช่น การแลกเปลี่ยนคณะทูตและพลเรือนระหว่างไทย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ภายหลังจากที่ไทยเข้าร่วมในสงครามมหาเอเชียบูรพาอย่างเป็นทางการ การเจรจาแลกเปลี่ยนคณะทูตและพลเรือนระหว่างไทยกับประเทศคู่สงคราม และได้พิจารณาว่าเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสามารถพาคนไทยกลับมาแล้วได้อาศัยประโยชน์จากคนที่เดินทางกลับมาสืบข่าวกรองอย่างไร ?
    หนังสือ : พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย
    โดย : พีระ เจริญวัฒนนุกูล และ พชร ล้วนวิจิตร
    จำนวน : 328 หน้า 
    .
    "พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย" ในชื่อเต็มของหนังสือว่า "พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย: จอมพล ป. พิบูลสงครามกับการเจรจาแลกเปลี่ยนคนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง" หนังสือบอกเล่าเรื่องราวที่ขาดหายไปของเหตุการณ์สำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มิได้มีแค่เรื่องของปัญหาทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หากแต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ขาดหายไปจากงานศึกษาต่าง ๆ คือเรื่องของ "ผู้คน" โดยเฉพาะคนไทย ที่ไปเรียน ไปทำงานหรือไปทำกิจการต่าง ๆ ในต่างประเทศ ในคราวที่ไทยประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ (Axis Powers) สถานะของคนไทยในต่างแดงจึงไม่ต่างกับการเป็นศัตรูของรัฐคู่ตรงข้าม ทั้งยังมีกลุ่มคนไทยที่รัฐบาล ณ ช่วงเวลานั้นมองว่าเป็นภัย จำเป็นต้องจับตามองและให้ความสำคัญอย่าง "เสรีไทย"
    .
    เรื่องราวที่ปรากฏใน "พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย" คือจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปในเรื่องของการจัดการผู้คนว่า ณ ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. จัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร และภาพใต้การพาคนกลับและการแลกเปลี่ยนบุคคลของทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ที่อยู่ในประเทศไทย ณ ช่วงเวลานั้น โดยอาศัยทั้งการเจรจา การต่อรอง และการขอความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศอักษะในการจัดการผู้คน นอกจากนี้ "พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย" ยังมองหานัยยะแอบแฝงจากการส่ง-รับคนกลับจากที่ต่าง ๆ ว่ามีเหตุผลแอบแฝงประการใดอีกหรือไม่ ที่นอกเหนือไปจากการรับและแลกเปลี่ยนผู้คนในห่วงเวลาของความขัดแย้ง 
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย" แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 5 บท และบทส่งท้ายที่จุดประเด็นทิ้งท้ายที่ชวนให้คิดและศึกษาต่อไป โดยที่เนื้อหาของหนังสือแบ่งไว้ดังนี้ 
    .
    บทที่ 1 เมื่อพิบูลเข้าร่วมกับญี่ปุ่น
    .
    บทที่ 2 เกมการต่อรองกับสหรัฐฯ และอังกฤษ 
    .
    บทที่ 3 กระบวนการส่งคนกลับและอุปสรรค
    .
    บทที่ 4 ข่าวสารจากปากคำของผู้กลับมา
    .
    บทที่ 5 มาตรการหลังจากรับข่าวเสรีไทย
    .
    บทส่งท้าย
    .
    "พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย" ช่วยขยายให้เห็นเรื่องราวของผู้คน และประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาที่ขาดหายไป ทั้งในเรื่องของการจัดการผู้คน การจัดการความขัดแย้ง และการเจรจาต่อรองบางประการ นอกความพยายามในการการพาคนกลับบ้าน รัฐบาล ณ ช่วงเวลาดังกล่าวมีความพยายามบางอย่างเบื้องหลังการรับคนคืนแผ่นดิน โดยเฉพาะเรื่องราวของกลุ่มคนที่จอมพล ป. มองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับพวกตนอย่าง "คณะเสรีไทย" ที่ได้ดำเนินการต่าง ๆ ภายนอกประเทศอย่างลับ ๆ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าการดำเนินการของเสรีไทยที่เคยเข้าใจว่าเป็นการลับนั้น จะเป็นเรื่องลับดังที่เคยเข้าใจมาตลอดหรือไม่และอย่างไร ร่วมหาคำตอบไปกับ "พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย" 
    .
    หมายเหตุ: นอกจากนี้ "พาคนกลับ-รับข่าวเสรีไทย" ยังได้มีการแนบหลักฐานชั้นต้นที่ใช้ในงานศึกษาชิ่นนี้เอาไว้ในภาคผนวกข้างท้าย เพื่อให้ผู้สนใจสามารถศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in