รีวิวเว้ย (1812) การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งนับเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกมองว่ามีปัญหาและสร้างเงื่อนไขทางการเมืองที่หนักหนาเอาการฉบับหนึ่งสำหรับรัฐธรรมนูญของไทยหลาย ๆ ฉบับที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ยุทธศาสาตร์ชาติ 20 ปี บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ และรวมไปถึงเรื่องของระบบเลือกตั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนั้นได้มีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment: MMA) ที่สร้างเงื่อนไขผ่านความซับซ้อนของระบบเลือกตั้ง อีกทั้งระบบเลือกตั้งในครั้งนั้นได้ออกแบบให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบที่ต้องทำ 3 หน้าที่ในบัตรใบเดียวได้แก่ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบและเลือกนายกที่ใช้ หากแต่ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ระบบเลือกตั้งดังกล่าวได้ถูกแก้ไขให้มีการเพิ่มบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ โดยใบหนึ่งเลือกเขต อีกใบหนึ่งเลือกพรรค หากแต่ความสับสน งุนงง สลับซับซ้อนยังคงปรากฏอยู่ในการจัดเลือกตั้งครั้งนั้น ทั้งเรื่องของการต้องจดจำเบอร์เขตและเบอร์พรรคที่มีจำนวนหลากหลาย นอกจากนี้ผลการนับคะแนน การประกาศคะแนนและอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างสร้างข้อสงสัยให้กับใครหลายคน เรียกได้ว่าสงสัยกันตั้งแต่ระบบเลือกตั้งไปจนถึงขั้นตอนของการจัดตั้งรัฐบาลก็คงได้

หนังสือ : ระบบเลือกตั้งไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
โดย : ประจักษ์ ก้องกีรติ
จำนวน : 212 หน้า
.
"ระบบเลือกตั้งไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" หนังสือที่ปรับปรุงมาจากงานวิจัยที่ศึกษาในเรื่องของระบบเลือกตั้งของไทยที่ได้เคยมีการระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ โดยโจทย์สำคัญของหนังสือ "ระบบเลือกตั้งไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" คือการแสวงหาระบบเลือกตั้งที่น่าจะสอดรับกับสังคมไทยได้อย่างไม่ยากเค็ญจนเกินไปนัก
.
ในส่วนของเนื้อหาในเล่ม "ระบบเลือกตั้งไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" ได้มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 บท ที่นะพาผู้อ่านไปย้อนทำความเข้าใจในเรื่องของความสำคัญและความสัมพันธ์ของระบบเลือกตั้งต่อกลไกเชิงอำนาจและความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการบอกเล่าพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของระบบเลือกตั้งในประเทศไทย และการสร้างข้อเสนอแนะให้กับการมองหาระบบเลือกตั้งที่ดูจะเหมาะกับประเทศไทย โดยอาศัยการศึกษากรณีศึกษาจากต่างประเทศ โดยเนื้อหาของ "ระบบเลือกตั้งไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" แบ่งเป็นดังนี้
.
บทที่ 1 การเลือกตั้ง: อำนาจ ความขัดแย้งและประชาธิปไตย
.
บทที่ 2 ประวัติศาสตร์ระบบเลือกตั้งไทย: การเมืองของการออกแบบและเปลี่ยนแปลงกติกา
.
บทที่ 3 จุดแข็งและจุดอ่อนของระบบเลือกตั้งไทย: จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2560
.
บทที่ 4 สมรภูมิการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566: ภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทย
.
บทที่ 5 ออกแบบกติกาเลือกตั้งใหม่: ระบบเลือกตั้งเพื่อลดความขัดแย้งและเสริมสร้างประชาธิปไตย
.
ระบบเลือกตั้งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการกำหนดอนาคตทางการเมือง ซึ่งมิใช่แค่เรื่องของการที่ระบบเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่ระบบเลือกตั้งคือกติกาในเบื้องแรกที่จะสร้างโครงร่างทางการเมืองของพรรคการเมือง รัฐบาล และระบบการเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไปภายหลังการเลือกตั้งจบลง เมื่อเป็นเช่นนี้ "ระบบเลือกตั้งไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" จึงพาผู้อ่านย้อนดูถึงความสำคัญของระบบเลือกตั้งที่สัมพันธ์อยู่กับการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง และอนาคตของการเลือกตั้งและระบบเลือกตั้งที่ถูกตั้งความหวังอยู่ในทุกครั้งที่การเลือกตั้งเดินทางมาถึง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in