เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ By ภูริ ฟูวงศ์เจริญ
  • รีวิวเว้ย (1803) การเมืองไทยคล้ายบทประพันธ์ขนาดยาวที่ยากจะหาจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่า และยากยิ่งกว่าที่จะหาตอนจบของเรื่องราวของบทประพันธ์นี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาการเมืองไทย (สยาม) เป็นผลเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงจากหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยังผลสืบเนื่องมาสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาต่อมา การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบแบ่งเป็นท่อน ๆ ตามช่วงเวลาหรือเจาะเฉพาะเหตุการณ์เป็นสิ่งที่ทำได้ (ไม่มีปัญหา) หากแต่การศึกษาในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ผู้ศึกษาตัดขาดความเชื่อมโยงของบริบทจากเหตุการณ์ก่อนหน้า และบริบทเหตุการณ์ที่จะตามมาในกาลข้างหน้า เช่นนั้นการเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยจึงคล้ายกับการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบลง เพราะอดีตของเหตุการณ์ทางการเมืองจะส่งผลต่อไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตอย่างไม่รู้จบ (เว้นแต่โลกแตก)
    หนังสือ : การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540)
    โดย : ภูริ ฟูวงศ์เจริญ
    จำนวน : 627 หน้า
    .
    "การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540)" ตำราการเมืองการปกครองไทยขนาดใหญ่และยาว ที่ว่าด้วยเรื่องของ "การเมืองการปกครองไทย" ที่หยิบเอาวิธีในการบอกเล่าผ่านการนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ผู้อ่านได้เห็นถึง "พัฒนาการทางประวัติศาสตร์" ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระทั่งถึงเหตุการณ์ของการเกิดขึ้นของ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (พ.ศ. 2540)" 
    .
    โดยเนื้อหาของ "การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540)" แบ่งออกเป็นหนึ่งบทนำ หนึ่งบทสรุป และ 7 บทในหนังสือ ที่จะทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงยาว ให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจ เรียนรู้ และเห็นถึงความเชื่อมโยงต่อเนื่องของพัฒนาการของการเมืองการปกครองไทยในลักษณะของการเล่าเรื่องอยู่บนเส้นเวลาที่เดินต่อเนื่องไปข้างหน้านับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สำหรับเนื้อหาในเล่ม "การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540)" แบ่งออกเป็นดังนี้
    .
    บทนำ ทำไมต้อง "พัฒนาการทางประวัติศาสตร์"
    .
    บทที่ 1 ปฐมบทประชาธิปไตย (พ.ศ. 2475 - 2418)
    .
    บทที่ 2 ท่านผู้นำ เพลิงสงคราม และสันติภาพ (พ.ศ. 2481 - 2488)
    .
    บทที่ 3 การเปลี่ยนผ่านบนโลกใบใหม่ (พ.ศ. 2488 - 2501)
    .
    บทที่ 4 ยุคพัฒนาภายใต้ระบอบปฏิวัติ (พ.ศ. 2501 - 2511)
    .
    บทที่ 5 ห้วงเวลาแห่งความผันผวน (พ.ศ. 2511 - 2522) 
    .
    บทที่ 6 ประชาธิปไตยครึ่งใบ (พ.ศ. 2522 - 2531)
    .
    บทที่ 7 สู่การปฏิรูปการเมือง (พ.ศ. 2531 - 2540)
    .
    บทสรุป ธรรมชาติของการเมืองการปกครองไทย
    .
    "การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540)" จะพบว่านอกจากเนื้อหาของตำราที่ยาว ละเอียดและบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ เรื่องของภาพประกอบที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้หนังสือสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภาพต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้หลายภาพอาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และหลายภาพที่พบเจอในเล่มจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงยาวของการเมืองไทยได้ดียิ่งขึ้น และไม่น่าแปลกใจที่เหตุใด "การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540)" ถึงมีความหนาอยู่ที่ 600 กว่าหน้ากระดาษสำหรับการบอกเล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอดระยะเวลา 75 ปี หากแต่เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียด จะพบว่าหลายเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ใน "การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540)" สามารถแยกย่อยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของแต่ละช่วงเวลาออกไปให้ผู้สนใจสามารถศึกษาได้อีกหลายมิติและหลากมุมมอง (การตีความ) จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลานั้น ๆ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in