เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
หนีตามพระพุทธเจ้า By โจ้บองโก้ และ ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์
  • รีวิวเว้ย (1770) หากใครโตมาในโรงเรียนไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของวัดหรือมูลนิธิของวัด ทุกวันศุกร์ตอนเช้ามักจะได้สวดมนต์ยาว ที่เรียกว่ายาวจนเกือบจะกินเวลาวิชาแรกของวันไปทั้งวิชา และนอกจากจะถูกบังคับให้สวดมนต์ยาวโดยไม่สนใจว่าคุณจะนับถือศาสนาใดแล้ว เงื่อนไขที่ตามมานอกจากการสวดมนต์วันศุกร์คือการถูกบังคับให้เรียนวิชาพุทธศาสตร์ และถูกบังคับให้สอบนักธรรมสนามหลวง ที่แบ่งระดับการสอบออกเป็น นักธรรมตรี นักธรรมโทและนักธรรมเอก ที่การสอบแต่ละระดับจะแบ่งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธตั้งแต่พุทธประวัติ พุทธสาวก กระทั่งถึงเรื่องของการท่องจำคำบาลีว่ามาจากคัมภีร์ใดเพื่อใช้เขียนในข้อสอบแม่กองธรรมสนามหลวง เรียกว่าช่วงเวลานั้นก็ไม่เข้าใจว่าสอบไปทำไมแต่รู้เพียงแค่ว่าถ้าสอบผ่านแต่ละระดับ วัดที่โรงเรียนเราสังกัดอยู่จะมีรางวัลล่อใจให้กับผู้สอบผ่านนักธรรมแต่ละระดับ
    หนังสือ : หนีตามพระพุทธเจ้า
    โดย : โจ้บองโก้ และ ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์
    จำนวน : 224 หน้า 
    .
    "หนีตามพระพุทธเจ้า" ตอนเห็นชื่อหนังสือครั้งแรกชวนให้คิดถึงหนังเรื่อง "หนีตามกาลิเลโอ" ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังสือเล่มนี้หรอกแค่ชื่อชวนให้คิดถึงความทรงจำสมัยวัยรุ่น กลับมาที่ "หนีตามพระพุทธเจ้า" หนังสือที่พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับพระพุทธเจ้าและศาสนาพุทธ ผ่านสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ที่หลายคนน่าจะเคยเรียนและท่องจำมาว่าประกอบไปด้วยสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงธรรมครั้งแรก (ปฐมเทศนา) และสถานที่ปรินิพาน ซึ่งในหนังสือเรียนบอกแค่ว่าสถานที่ทั้ง 4 นี้มีความสำคัญอย่างไรต่อพระพุทธเจ้าและพุทธศาสนา และตั้งอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด หากแต่แบบเรียนเหล่านั้นก็จบลงตรงที่ชื่อสถานที่และฟังก์ชันของแต่ละแห่งแล้วตัดจบแบบแห้งแล้งไม่มีอะไรให้คิดต่อนอกจากท่องและจำ
    .
    หากแต่ "หนีตามพระพุทธเจ้า" ก็ทำแบบเดียวกับที่แบบเรียนทำ คือ การบอกเล่าถึงชื่อสถานที่ ฟังก์ชันของแต่ละสังเวชนียสถาน หากแต่มีการขยายความถึงความสำคัญ ที่มา ที่ไป และมีใครที่เกี่ยวข้องกับสังเวชียสถานแต่ละแห่ง รวมถึงการบอกเล่าบริบทความเปลี่ยนแปลงของสถานที่แต่ละแห่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ทั้งผ่านหลักฐานทางวิชาการ ผ่านคำบอกเล่าของนักวิชาการ และผ่านการปรับลดโทนความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าลงเพื่อให้คงสถานะของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในลักษณะที่คนสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และมองหาเหตุ (และผล) ของการกระทำแต่ละประการของพระพุทธเจ้าที่ทาบทับอยู่ ณ สังเวชนียสถานแต่ละแห่ง
    .
    "หนีตามพระพุทธเจ้า" ตั้งต้นของการหนีตามพระพุทธเจ้าที่ พุทธคยา สถานที่แห่งการตื่นรู้ (ตรัสรู้) ตามมาด้วย สารนาถสถานที่แสดงธรรมคำสั่งสอนและเป็นจุดเริ่มต้นของการตอกย้ำว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าใช้ได้ (ปฐมเทศนา) กุสินารส สถานที่สุดท้ายของการแสดงธรรมด้วยชีวิตของพระศาสดา (ปรินิพพาน) และปิดท้ายด้วยลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า โดยที่สังเวชนียสถานแต่ละแห่งที่ถูกเล่าอยู่ใน "หนีตามพระพุทธเจ้า" นอกจากแสดงให้เห็นถึงประวัติและความเชื่อมโยงของสถานที่กับพระพุทธเจ้าและศาสนาแล้ว ในเล่มยังบอกเล่าการเชื่อมโยงของอดีตและปัจจุบันที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แต่ละแห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปและเกิดขึ้นใหม่อีกหนของประวัติศาสตร์ สถานที่ และผู้คน บนเส้นทางที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพุทธะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in