รีวิวเว้ย (1766) การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation) ในการบริหารงานด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ อาจจะเป็นนวัตกรรมใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อนที่เปลี่ยนโฉมหน้าของการทำงานของภาครัฐ ที่แต่เดิมรัฐเป็นผู้มีบทบาทนำ ชี้ขาด ตัดสินใจ ให้ความเห็น และลงมือทำทุกสิ่งอย่างด้วยตัวของรัฐเอง โดยไม่จำเป็นต้องสนใจผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการกระทำของรัฐทั้งในแง่ของการจัดทำบริการสาธารณะ หรือกระทั่งในมิติของการบริหารงานโดยรัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม หากแต่หนหนึ่งในครั้งอดีตที่การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นและถูกหยิบใช้ในการบริหารจัดการกิจการด้านต่าง ๆ ของรัฐที่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ณ ช่วงเวลาดังกล่าวคงเรียกได้ว่าระบบการทำงานของรัฐถูก Disrupt โดยกลไกที่รัฐไม่คุ้นชิ้น กระทั่งหลายปีผ่าน การ Disrupt ครั้งนั้นมีการขยายตัว เติบโต และแตกแขนงไปเป็นกลไกสำคัญ ๆ ในการสร้างการมีส่วนร่วมในหลายระดับและหลากภาคส่วน ที่อาจเรียกได้ว่าในปัจจุบันการ Disrupt ในครั้งกระโน้นได้กลายมาเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ของทั้งประชาชนและของภาครัฐอยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งก็อาจจะมีบางคนที่รู้สึกไม่ปกติบ้างเช่นกัน)

หนังสือ : การบริการสาธารณะ รัฐบาลแบบเปิด และการอภิบาลบนฐานของการมีส่วนร่วม: กรอบแนวคิด ตัวแบบ และเครื่องมือ
โดย : วสันต์ เหลืองประภัสร์ และ ชาย ไชยชิต
จำนวน : 414 หน้า
.
"การบริการสาธารณะ รัฐบาลแบบเปิด และการอภิบาลบนฐานของการมีส่วนร่วม: กรอบแนวคิด ตัวแบบ และเครื่องมือ" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ "...หลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการมีบทบาทของประชาชนในการร่วมจัดบริการสาธารณะ ตลอดจนตัวแบบและตัวอย่างเครื่องมือสำหรับรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะภาคีหุ้นส่วนและเครือข่าย บนฐานการพิจารณาการมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม สาระสำคัญของหนังสือในบทที่หนึ่ง ได้ทบทวนทิศทางพัฒนาการของกระแสแนวคิดทางวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐ รวมถึงแบบแผนปฏิบัติที่แพร่หลายในบริบทสากล บทที่สอง อธิบายหลักการทางทฤษฎีเกี่ยวกับการวิเคราะห์จำแนกประเภทบริการสาธารณะ ระบบและกลไกการจัดบริการสาธารณะ รวมถึงการเปิดให้ภาคส่วนอื่นในสังคมเข้ามามีบทบาทในกระบวนการจัดบริการสาธารณะของภาครัฐ บทที่สาม กล่าวถึงบทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วม แนวปฏิบัติในการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และกลยุทธ์การยกระดับการมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะ บทที่สี่ อธิบายตัวแบบการมีส่วนร่วมที่ได้รับความนิยมในแวดวงวิชาการและแวดวงนักปฏิบัติ ประเภทการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดบริการสาธารณะ ตลอดจนเงื่อนไขความสำเร็จและผลลัพธ์ของการร่วมจัดบริการสาธารณะ และบทที่ห้า นำเสนอข้อสรุปบทเรียนและปัจจัยความสำเร็จของการปฏิรูประบบบริการสาธารณะในมิติการพัฒนากลไกการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชน (น. 32)"
.
โดยที่เนื้อหาของ "การบริการสาธารณะ รัฐบาลแบบเปิด และการอภิบาลบนฐานของการมีส่วนร่วม: กรอบแนวคิด ตัวแบบ และเครื่องมือ" แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 6 บท ที่จะนำพาผู้อ่านไปทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ เรียนรู้กลไก มองดูกรณีตัวอย่าง และชวนตั้งคำถามต่อบทเรียนสำคัญที่จะช่วยพัฒนากลไกของการบริการสาธารณะ รัฐบาลแบบเปิด และการอภิบาลบนฐานของการมีส่วนร่วม ให้สอดรับกับบริบทและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สำหรับเนื้อหาทั้ง 6 บทของ "การบริการสาธารณะ รัฐบาลแบบเปิด และการอภิบาลบนฐานของการมีส่วนร่วม: กรอบแนวคิด ตัวแบบ และเครื่องมือ" แบ่งเป็นดังนี้
.
บทที่ 1 บทนำ ประกอบไปด้วยเรื่องของ การอภิบาลบนฐานของการมีส่วนร่วม, พลเมืองในฐานะผู้ร่วมออกแบบสร้างสรรค์บริการสาธารณะ, การยกระดับความเป็นศูนย์กลางของพลเมือง, ระบบบริการสาธารณะแบบเปิด, รัฐบาลแบบเปิด และความมุ่งหมายและเค้าโครงสาระสำคัญของหนังสือ
.
บทที่ 2 หลักการและแนวคิดว่าด้วยบริการสาธารณะ ประกอบไปด้วยเรื่องของ คำจำกัดความ “บริการสาธารณะ”, ประเภทบริการสาธารณะตามหลักกฎหมายปกครอง, การจำแนกประเภทบริการสาธารณะในบริบทการบริหารภาครัฐ, การจำแนกประเภทภารกิจหน่วยงานภาครัฐในกระบวนการจัดบริการสาธารณะ และระบบและกลไกการจัดบริการสาธารณะ
.
บทที่ 3 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะ ประกอบไปด้วยเรื่องของ การมีบทบาทของภาคประชาชนในการร่วมจัดบริการสาธารณะ, ความสำคัญของการยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, กลยุทธ์การส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนตามตัวแบบดั้งเดิม, กลยุทธ์การยกระดับการมีส่วนร่วมกระแสใหม่ และตัวอย่างการเปิดระบบบริการสาธารณะให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมดำเนินการ
.
บทที่ 4 ตัวแบบการร่วมจัดบริการสาธารณะโดยพลเมือง ประกอบไปด้วยเรื่องของ ตัวแบบขั้นบันไดของการมีส่วนร่วม, ตัวแบบการมีส่วนร่วม 5 ระดับของ IAP2, รูปแบบการมีส่วนร่วมในมิติปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองและภาครัฐ
ตัวแบบการร่วมจัดบริการสาธารณะ และการประยุกต์ใช้ตัวแบบการมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะแต่ละประเภท
.
บทที่ 5 เครื่องมือการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง ประกอบไปด้วยเรื่องของ เครื่องมือการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายสาธารณะ (Co-governance), เครื่องมือการมีส่วนร่วมจัดการภารกิจบางขั้นตอน (Co-management) และเครื่องมือการมีส่วนร่วมจัดทำบริการสาธารณะ (Co-production)
.
บทที่ 6 บทสรุป ประกอบไปด้วยเรื่องของ การมีส่วนร่วมกับการจัดบริการสาธารณะในประเทศไทย, พลวัตการมีส่วนร่วมกับการจัดบริการสาธารณะแลไปข้างหน้า และบทเรียนและปัจจัยความสำเร็จของการยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน
.
"การบริการสาธารณะ รัฐบาลแบบเปิด และการอภิบาลบนฐานของการมีส่วนร่วม: กรอบแนวคิด ตัวแบบ และเครื่องมือ" ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดบริการสาธารณะ ที่ในท้ายที่สุดการออกแบบกิจกรรม การจัดทำบริการ และการสร้างกลไก รวมถึงระบบต่าง ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย เพราะในท้ายที่สุดปัญหา และรวมไปถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ อาจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับทุกคน ทุกพื้นที่ และทุกเหตุการณ์ หากแต่การทำงานร่วมกันหรือการร่วมดำเนินการไปด้วยกัน อย่างน้อยปัญหาหรือบริการเหล่านั้นก็จะตอบสนองต่อผู้คนที่มีลมหายใจ มากกว่าตอบสนองต่อนโยบายที่มาจากใคร (ก็ไม่แน่ใจ) ที่ไม่ได้สนใจบริบทชีวิตและลมหายใจของผู้รับบริการ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in