รีวิวเว้ย (1704) สมัยมัธยมต้นเราเคยอยู่ในชมรมวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนติดทะเลแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ชมรมวิทยาศาสตร์นั้นเป็นชมรมนอกเวลาเรียนที่มีการรวมเอาเด็ก ๆ ที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน มาอยู่รวมกันโดยที่เด็กเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเรียนอยู่ห้องเดียวกัน ช่วงเวลานั้นชมรมวิทยาศาสตร์มีครูที่ปรึกษาเป็นครูไฟแรงที่สนใจเรื่องของเมฆ อากาศ และการวัดความเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทำให้ในทุกคาบชมรมเราจะได้นั่งมองฟ้าเพื่อมองหาก้อนเมฆรูปแบบต่าง ๆ บนฟ้าเทียบกับกระดานดูเมฆที่ครูแจกให้ และได้เรียนรู้ว่าเมฆแบบใด ท้องฟ้าแบบไหนที่สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีสัญญาณหรือสัญลักษณ์ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า น่าเสียดายที่ครูท่านนั้นด่วนจากไปทำให้ในชีวิตขาดคนที่เคยบอกเล่า ชวนให้ตั้งคำถาม และชวนให้ลองหาคำตอบของเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และปรากฏการณ์ประหลาด ๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าที่ครูจะคอยบอกเสมอว่า "ลองหาดู ครูเชื่อว่ามันมีคำตอบ"
หนังสือ : ยกเมฆ: เรื่องเล่าเคล้าวัฒนธรรมก้อนเล็ก ๆ จากฟากฟ้า
โดย : บัญชา ธนบุญสมบัติ
จำนวน : 344 หน้า
.
"ยกเมฆ: เรื่องเล่าเคล้าวัฒนธรรมก้อนเล็ก ๆ จากฟากฟ้า" (ต่อไปนี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่า "ยกเมฆ") "ยกเมฆ" เป็นหนังสือที่รวมรวมเรื่องของเมฆ ท้องฟ้า อากาศ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ตำนาน วรรณกรรม วัฒนธรรม คติพื้นบ้านโบราณ มารวมเข้าไว้ด้วยกันผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของเมฆ ที่เชื่อมโยงไปกับวิถีชีวิตของผู้คน วิธีการใช้ชีวิตของชุมชนและสังคม และรวมไปถึงเรื่องของเมฆที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา ของพื้นที่หนึ่ง ๆ ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและในเชิงกายภาพ
.
"ยกเมฆ" นำเสนอเรื่องราวของเมฆจากหลากหลายแง่มุม ที่แต่ละแง่มุมล้วนสะท้อนความคิด ความเชื่อ เกี่ยวกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ที่ถูกหยิบมานำเสนอและสอบทานกลับไปด้วยวิธีวิทยาแบบนักวิทยาศาสตร์ ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ และได้หยิบเอาปรากฏการณ์ ตำนาน เรื่องเล่า ที่เกี่ยวข้องกับท้องฟ้า เมฆ อากาศ มาวางทาบไปกับการอธิบายทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ของทั้งเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และได้กลายมาเป็นหนึ่งในรากฐานของความเชื่อที่ส่งต่อมากระทั่งปัจจุบัน
.
สำหรับเนื้อหาของ "ยกเมฆ" แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 5 บท โดยแทนที่แต่ละบทด้วย "ก้อน" ของเมฆแต่ละก้อนที่ไล่ไปตั้งแต่เรื่องของเมฆและลมฟ้าในทางวัฒนธรรม เมฆที่สะท้อนภูมิปัญญา เมฆที่เป็นรากฐานของความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับท้องฟ้า ปรากฏการณ์ สภาอากาศในครั้งอดีต เมฆที่หยอกล้อไปกับภาษา สำนวนและวรรณกรรม และปิดท้ายด้วยการบำบัดของเมฆ ดังที่ปรากฏในการแบ่งบทของหนังสือดังนี้
.
ก้อนที่หนึ่ง เมฆและฝนฟ้าอากาศในเชิงวัฒนธรรม
.
ก้อนที่สอง ภูมิปัญญาไทยในอดีตเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศ
.
ก้อนที่สาม รากฐานแห่งความรู้ & กรณีฝนฟ้าในอดีต
.
ก้อนที่สี่ เมฆฟ้ากับภาษาและวรรณกรรม
.
พลังแห่งเมฆาบำบัด
.
"ยกเมฆ" ทำให้เราคิดถึงคำพูดของครู ในครั้งที่ยังอยู่ในชมรมวิทยาศาสตร์สมัยมัธยมต้นว่า "ลองหาดู ครูเชื่อว่ามันมีคำตอบ" เพราะ "ยกเมฆ: เรื่องเล่าเคล้าวัฒนธรรมก้อนเล็ก ๆ จากฟากฟ้า" ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าหลากหลายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเมฆ ฝน ล้ม ฟ้า และอากาศ ต่างมีเรื่องที่น่าสนใจและมีคำตอยที่เป็นไปได้มากกว่าที่เราเคยเห็นและเคยเชื่อเสมอ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in