รีวิวเว้ย (1688) กลางดึกวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่นเกาหลีใต้ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก โดยระบุว่า "ตนขอประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อปกป้องสาธารณรัฐเกาหลี จากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ เพื่อกำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ ซึ่งกำลังปล้นชิงเสรีภาพและความสุขของประชาชน และเพื่อปกป้องระเบียบรัฐธรรมนูญที่เสรี" และภายหลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเพียงไม่นานได้มีผู้คนออกมาชุมนุนเพื่อต่อต้านการประกาศดังกล่าวบริเวณรัฐสภา และเราจะได้เห็นภาพการเผชิญหน้ากันของทหาร ประชาชน และสมาชิกสภาที่พยายามจะเข้าไปในสภาเพื่อลงมติยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวก็เกิดขึ้นตามมาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกตะลึงและการเฝ้าจับตามองจากทั่วโลกว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ? แต่ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้คือเรื่องของ "บทบาทของกองทัพ" และการเคลื่อนไหวของกองทัพที่ตามมาหลังจากการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งน่าสนใจว่าเหตุใดกองทัพเกาหลีใต้จึงมีวิธีปฏิบัติและผลลงเอยภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตามลักษณ์ที่ปรากฏออกมาต่อสาธารณะชน
หนังสือ : เขตหวงห้ามของกองทัพ: ประชาธิปไตยกับกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนของเกาหลีใต้
โดย : ชุติเดช เมธีชุติกุล
จำนวน : 98 หน้า
.
"เขตหวงห้ามของกองทัพ: ประชาธิปไตยกับกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนของเกาหลีใต้" หนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่น่าจะพอช่วยตอบคำถามในภาพกว้างได้ว่าเหตุใดกองทัพของเกาหลีใต้ ภาพใต้การประกาศกฎอัยการศึก (3/12/67) และภายหลังจากการประกาศกฎอัยการศึก (4/12/67) จึงมีลักษณะปรากฏดังเช่นที่มีการนำเสนอข่าวไปทั่วโลก
.
"เขตหวงห้ามของกองทัพ: ประชาธิปไตยกับกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนของเกาหลีใต้" กำลังบอกเล่าเรื่องราวของกองทัพเกาหลีใต้ที่เติบโตและพัฒนาขึ้นมาภายใต้วิธีคิดในเรื่องของ การควบคุมกองทัพโดยพลเรือน (civilian control of minitary) โดยเนื้อหาของ "เขตหวงห้ามของกองทัพ: ประชาธิปไตยกับกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนของเกาหลีใต้" ได้ฉายให้เห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญของการขับดันกองทัพออกจากการเมืองและควบคุมกองทัพโดย (รัฐบาล) พลเรือนของเกาหลีใต้ ผ่าน 3 ยุคสมัย อันได้แก่ ยุคของการผลักดันกองทัพออกจากพื้นที่การเมือง (ค.ศ. 1987-1995), ยุคของการสถาปนาสถาบันพลเรือนเพื่อควบคุมนโยบายทางทหารและความมั่นคง (ค.ศ. 1996-2003) และยุคแห่งการหยั่งรากของการควบคุมนโยบายทางทหารและความมั่นคงโดยพลเรือน (ค.ศ. 2003-2010) ซึ่งพอจะช่วยตอบคำถามเราได้เกี่ยวกับบทบาทของกองทัพในการเมืองเกาหลีใต้
.
สำหรับเนื้อหาของ "เขตหวงห้ามของกองทัพ: ประชาธิปไตยกับกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนของเกาหลีใต้" ด้วยความที่หนังสือมีความหนาไม่มากนัก สิ่งที่หนังสือพยายามนำเสนอในเนื้อหาจึงเป็นเรื่องราวโดยสังเขปในเรื่องของกองทัพ พัฒนาการ ความท้าทาย กลไกการควบคุม และรวมไปถึงตัวอย่างของการขับเคลื่อนกลไกและพัฒนาการดังกล่าว โดยเนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็น 7 บท ดังนี้
.
บทนำ: ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและพลเรือน และกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือน
.
จากเอกราชสู่ประชาธิปไตยและกลับกลายเป็นอำนาจนิยม: สังเขปประวัติศาสตร์
.
ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้: จากปฏิวัติเดือนเมษาถึงการชุมนุมใหญ่เดือนมิถุนา
.
การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง การพัฒนาเศรษฐกิจและบทบาทของปัจจัยภายนอก
.
การสร้างกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือน: การกลับมาของการควบคุมการเมืองโดยพลเรือน
.
กระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนของเกาหลีใต้ ในยุคของปาร์คกึนเฮ: ควบคุมและร่วมมือ
.
บทสรุป: เกาหลีใต้กับความฝันที่กลายเป็นจริง
.
"เขตหวงห้ามของกองทัพ: ประชาธิปไตยกับกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนของเกาหลีใต้" ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของกองทัพไทย ในช่วง พ.ศ. 2535 ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวกองทัพกลับเข้ากรมกองของตน เก็บตัวและทหาร ณ ช่วงเวลานั้นแทบไม่มีใครกล้าหยิบเอาเครื่องแบบออกมาใส่ กระทั่งนักวิชาการหลายคนมองว่าภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาหยั่งรากอย่างตั้งมั่น อีกทั้งเบ่งบานออกดอกผลของระบอบประชาธิปไตย และกลไกควบคุมกองทัพโดยพลเรือน (civilian control of minitary) คงเกิดตามมา แต่ภายหลังเหตุการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 กลับกลายเป็นว่าจากพลเรือนพยายามสร้างกลไกควบคุมกองทัพ ในสังคมไทยกลับกลายเป็นกองทัพควบคุมรัฐบาลพลเรือนและสังคมไทยไปแทนเสียอย่างนั้น "เขตหวงห้ามของกองทัพ: ประชาธิปไตยกับกระบวนการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนของเกาหลีใต้" ชวนให้เราคิดต่อว่า แล้วอะไรที่จะนำพาสั่งคมไทยไปสู่การเกิดขึ้นและตั้งมั่นของการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนกันนะ ?
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in