เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
BLACK DEATH ห่าลงจีนถึงไทยตายทั้งโลก By ศิริพนจ์ เหล่ามานะเจริญ
  • รีวิวเว้ย (1685) ในภาษาไทยคำว่า "ห่า" มักจะไปประกอบอยู่ในหลาย ๆ บริบทของสังคม โดยเฉพาะในบริบทของการเลือกใช้คำเพื่อการ "ด่า" ห่าจะโผล่มาเป็นลำดับต้น ๆ ไม่แพ้ เหี้ย ควย สัส ระยำ จัญไร ชิบหาย พ่อมึงตาย อีดอกทอง แต่จริง ๆ แล้วการใช้คำว่า "ห่า" ในการด่าก็ดูไม่น่าจะเจ็บแค้นอะไรเมื่อเราพิจารณาถึงความหมายของห่าที่มีระบุเอาไว้ดังนี้ "/น./ ชื่อผีที่ถือกันว่าทำให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง อหิวาตกโรค กาฬโรค จึงเรียกว่า โรคห่า"  และ "/โบราณ./ หน่วยวัดปริมาณน้ำฝน โดยกำหนดว่าถ้าตกลงมาเต็มบาตรขนาดกลางที่ตั้งรองไว้กลางแจ้ง เรียกว่า น้ำฝนห่าหนึ่ง" ซึ่งเมื่อพิจารณาดูดี ๆ เราก็จะพบว่า "ห่า" ก็ไม่ได้เป็นคำด่าที่เจ็บปวดหรือรุนแรงอะไร อาจจะฟังแล้วน่ารักไปเสียอีกเมื่อมีคนมาด่าเราว่า "อีห่า" อาจจะหมายความได้ว่า "อีหน่วยวัดปริมาณน้ำฝน" แต่เอาเข้าจริงแล้วเมื่อคำว่า "ห่า" ถูกนำมาใช้ในบริบทของโรคระบาดของสยามถึงไทยในครั้งอดีต "ห่า" จะกินความหมายถึงโรคที่ฆ่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก โดยการผนวกเอาความหมายของทั้ง (1) และ (2) เข้ามาไว้ด้วยกัน อันหมายถึง โรคระบาดที่เกิดจากผีห่าและฆ่าชีวิตของผู้คนไปมากเสียจนคล้ายกับห่าฝนที่ตกลงมา นี่จึงกลาย้ป็นที่มาของคำว่าห่าในบริบทของโรคระบาด และการประกาศของ WTO ให้เฝ้าระวังการระบาดของอหิวาตกโรค (cholera) ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้การกลับมาทบทวนหนังสือเล่มนี้อีกหนเป็นเรื่องพึงกระทำ
    หนังสือ : BLACK DEATH ห่าลงจีนถึงไทยตายทั้งโลก
    โดย : ศิริพนจ์ เหล่ามานะเจริญ
    จำนวน : 135 หน้า
    .
    "BLACK DEATH ห่าลงจีนถึงไทยตายทั้งโลก" พาเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของโรคห่า ที่ในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์โลก โรคระบาดชนิดนี้ได้ฆ่าชีวิตของผู้คนไปมากมายและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกมาแล้วอย่างที่เราคาดไม่ถึง ทั้งการสูญสิ้นวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร หรือกระทั่งเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางภาษาของโลกใบนี้ไปตลอดกาล
    .
    โดยที่ "BLACK DEATH ห่าลงจีนถึงไทยตายทั้งโลก" ได้นิยามโรคห่า ในหนังสือเล่มนี้ว่าคือ "กาฬโรค" หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "ความตายสีดำ" ที่เกิดขึ้นมาจากหมัดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลหนูหรือสัตว์ฟันแทะ ที่แพร่ระบาดเข้าสู่มนุษย์และได้ก่อโรคให้ผู้ที่ได้รับเชื้อ โดยมีอาการของโรคเป็นตุ่มก้อนขนาดใหญ่สีดำบริเวณต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในท้ายที่สุดตุ่มก้อนเหล่านั้นจะกลายเป็นสีดำและทำให้ผู้ป่วยตายลง โรคระบาดชนิดนี้จึงได้รับการขนานนามว่า "กาฬโรค" หรือ "ความตายสีดำ" และก็เป็นกาฬโรคนี้เองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปในทั่วโลกในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง
    .
    ใน "BLACK DEATH ห่าลงจีนถึงไทยตายทั้งโลก" ได้อธิบายถึงผลที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางภาษา ที่ทำให้ภาษาอังกฤษที่ในปัจจุบันคนใช้กันทั้งโลก กลายมาเป็นภาษากลางของโลกเพราะก่อนหน้ากลุ่มคนที่ทรงอำนาจและถือครองชุดภาษาเอาไว้ได้ตายห่าไปจนเกือบหมด ส่งผลให้ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษขึ้นมามีบทบาทในภายหลัง หรือแม้แต่การล่มสลายลงของอาณาจักรบางแห่งก็เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของกาฬโรคด้วยเช่นกัน
    .
    นอกจากนี้ "BLACK DEATH ห่าลงจีนถึงไทยตายทั้งโลก" ยังฉายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการระบาดของกาฬโลกในบริบทของโลก ร่วมกับบริบทของสยามไทย ที่ช่วงเวลาของการระบาดใหญ่ในโลกพ้องกับช่วงเวลาของตำนาน "พระเจ้าอู่ทองหนีโรคระบาดมาตั้งกรุงศรีอยุธยา" ซึ่งเป็นข้อถกเถียงสำคัญในทางประวัติศาสตร์ไทยมาเนินนาน ตั้งแต่ "โรคห่า" ในบันทึกนั้นถูกชำระและตีความว่าเป็น "อหิวาตกะโรค" แทนที่จะเป็น "กาฬโรค" รวมไปถึงเรื่องของข้อคำถามสำคัญว่า "พระเจ้าอู่ทอง" ที่หนีโรคห่ามาตั้งเมืองนั้นเป็นใคร ซึ่งข้อถกเถียงดังกล่าวยังมีปรากฏอยู่ในวงการประวัติศาสตร์อยู่เป็นระยะ ๆ
    .
    นอกจากนี้ "BLACK DEATH ห่าลงจีนถึงไทยตายทั้งโลก" ยังช่วยให้เราเห็นภาพของการแพร่ระบาดของโรค ว่าเกิดขึ้นจากการเดินทางติดต่อกันผ่านโครงสร้างของระบบการค้าและสงคราม นั่นจึงมิใช่เรื่องแปลกที่โรคระบาดในยุคปัจจุบันจะมีปริมาณและวงในการระบาดที่กว้างไกลและรวดเร็ว เพราะเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่การเดินทางไม่ได้รวดเร็วเท่าปัจจุบันกาฬโรคก็สามารถระบาดไปทั่วโลก และฆ่าชีวิตคนไปกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโรค ทำให้ในปัจจุบันการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่ร้ายแรงเป็นสิ่งที่ควรจับตามองและให้ความสำคัญภายใต้การเดินทางข้ามโลกที่ทำได้เพียงชั่ววัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in