เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ครูผู้ก่อการ By ก่อการครู
  • รีวิวเว้ย (1676) ครู นับเป็นหนึ่งในอาชีพที่ถูกคาดหวังให้เป็นต้นแบบ เป็นแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังสั่งสอน ความดี ความงาม ความจริงและปัญญาของคนในสังคม (ไทย) ด้วยความคาดหวังดังที่ปรากฏนี้เอง ได้ส่งผลต่อการผลิตซ้ำภาพจำของครูในระบบการศึกษาไทยว่า ครูต้องเป็นแม่แบบและผู้เสียสละของสังคม โดยที่สังคมและระบบการศึกษากลับละเลยและกดทับ "ความเป็นคน" ของพวกเขาเอาไว้ภายใต้คำว่า "ครู" เพราะเป็นครูจึงต้องเสียสละ (และแบกรับความเจ็บปวด) เพราะเป็นครูจึงต้องทำงานหนักและเพราะเป็นครูจึงต้องทำตามคำสั่งโดยไม่ (สามารถ) ตั้งคำถามต่อสิ่งใด ๆ ในคำสั่งของระบบ ครูที่เป็นเช่นนั้นจึงจะถูกนับรวมในฐานะของ "ครูที่ดี" ของสังคมแห่งนี้
    หนังสือ : ครูผู้ก่อการ 
    โดย : ก่อการครู 
    จำนวน : 352 หน้า
    .
    "ครูผู้ก่อการ" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของครู ที่หาญกล้าท้าทายต่อความเชื้อ ความเคยชิน และความคาดหวังของสังคมและระบบการศึกษาแบบไทย ๆ ดังที่เคยปรากฏมาในอดีต โดย "ครูผู้ก่อการ" ได้นำเสนอตัวอย่าง แนวทางและวิธีการ ของครูและกลุ่มครู ที่เติมเครื่องหมายคำถาม ? ลงในหลังการกระทำเดิม ๆ ของระบบการศึกษา ว่าสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นดีจริงหรือ ? ถูกต้องแน่หรือ ? และมันไม่จำเป็นต้องถูกปรับปรุงเลยหรืออย่างไร ?
    .
    "ครูผู้ก่อการ" แบ่งเนื้อหาของการบอกเล่าออกเป็น 9 บท ที่ในแต่ละบทจะบอกเล่าเรื่องราวของครูและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของโรงเรียนไทย ทั้งเรื่องสถานะความเป็น "คน" ของครู การออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เข้ากับผู้เรียนซึ่งควรเริ่มต้นจากการที่ครูรู้จักตัวเองและรู้ว่าควรทำสิ่งใด กระทั่งถึงเรื่องของการลงโทษนักเรียนดังที่เคยปรากฏตลอดมาในระบบการศึกษาไทย ที่สะท้อนอยู่ในค่านิยมของสังคมอย่างการลงโทษเพื่อให้เป็นคนดี และรวมไปถึงเรื่องเล่าในการรวมกลุ่มของครูเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เรียนและระบบการศึกษาในโรงเรียนไทย โดยเนื้อหาทั้ง 9 บทของ "ครูผู้ก่อการ" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทที่ 1 สำรวจความเป็นครู ในฐานะมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ 
    .
    บทที่ 2 ออกแบบห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ เริ่มต้นที่ครูรู้จักตนเอง 
    .
    บทที่ 3 ออกแบบห้องเรียนที่เปิดกว้างด้วยการเรียนรู้ ที่หยั่งรากสู่ชีวิตผู้เรียน 
    .
    บทที่ 4 การประเมินมีความหมาย เมื่อ เป็นจริง
    .
    บทที่ 5 ห้องเรียนเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ที่ได้ยินเสียงของทุกคน 
    .
    บทที่ 6 ไม่มีผู้เรียนคนไหนเหมือนกัน: สร้างห้องเรียนเคารพความหลากหลาย เพศ ภาษา และเด็กพิเศษ
    .
    บทที่ 7 ฟาดก้น พนมมือ คลานเข่า: สำรวจอำนาจนิยมในระบบการศึกษา ค้นหาปัญหาที่ปิดกั้นความเปลี่ยนแปลง
    .
    บทที่ 8 หยดน้ำในระบบการศึกษา: สร้างเครือข่าย ลดความโดดเดี่ยว เพิ่มแรงกระเพื่อมสู่การเปลี่ยนแปลง
    .
    บทที่ 9 ก่อการครู่ ก่อการเปลี่ยนแปลง: ครูผู้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง
    .
    "ครูผู้ก่อการ" กำลังกระตุ้นเตือนให้เราลองตั้งคำถามกับความเคยชิน ค่านิยม และสิ่งที่ปฏิบัติต่อกันมา ที่ในสังคมหนึ่ง ๆ เคยยึดมั่นเชื่อถือว่ามั่นดีแล้ว เหมาะสมแล้ว ว่าสิ่งเหล่านั้นดีจริงหรือ ? และต่อให้มันเคยดีและได้ผลเป็นอย่างดีในห้วงเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ในโลกยุคปัจจุบันมันจะยังดีและได้ผลอยู่หรือไม่ ? หากสิ่งที่สังคมเชื่อถือกันตลอดมาไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมในปัจจุบันเราจะยังฝืนทนใช้มันอยู่หรือไม่ ? "ครูผู้ก่อการ" กำลังบอกเราเป็นนัยว่า "แล้วเหตุใดเราจึงไม่ลองลงมือเปลี่ยนมันดู" เพราะมันอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in