เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
เสนาอำมาตย์ อำนาจมหาดไทย By ภูวดล ศรีวิไล
  • รีวิวเว้ย (1673) "... การก่อตัวของมวลชนฝ่ายขวาและลูกเสือชาวบ้าน นอกจากจะมาจากการสร้างและผลิตซ้ำทำให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นศัตรูที่สำคัญแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นผลพวงจากการขยายตัวของอำนาจกระทรวงมหาดไทย ที่ทำให้กลไกร่างทรงของรัฐอย่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลายเป็นกลไกทางอำนาจที่ทรงพลัง ซึ่งฐานอำนาจดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับการเมืองระดับท้องถิ่น อันดึงดูดผู้มีอิทธิพลและนายทุนร่ำรวยในท้องถิ่น ที่กำลังแสวงหาพื้นที่ทางอำนาจ โดยคนเหล่านี้กลายมาเป็นมวลชนสำคัญของข้าราชการนักปกครองในช่วงเวลาต่อมา" (น. 141) 
    .
    ข้อความดังกล่าวสะท้อนความน่าสนใจประการหนึ่งโดยเฉพาะในเรื่องของการขยายและเปลี่ยนแปลง "พรมแดนความมั่นคง" ของข้าราชการมหาดไทย ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดสมัย นับตั้งแต่หลังการปฏิรูปการปกครองและระบบราชการในช่วง พ.ศ. 2435 ความเปลี่ยนแปลงของกลไกการปกครองอย่างหน่วยงานราชการเกิดขึ้นตลอดเวลา นับตั้งแต่ยุคเสนาอำมาตย์ สู่ยุคข้าราชการของประชาชน กระทั่งสมัยปัจจุบันที่พรมแดนได้เปลี่ยนไปสู่ "ข้าราชการของพระราชา" ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับว่ามีพลวัตและเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าติดตาม เพราะจะเห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาระบบราชการมิได้ "หยุดนิ่ง" หากแต่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตาม "จินตนาการ" ที่เชื่อมโยงกับอำนาจนำ (Hegemony) ของสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เสมอ
    หนังสือ : เสนาอำมาตย์ อำนาจมหาดไทย
    โดย : ภูวดล ศรีวิไล
    จำนวน : 328 หน้า
    .
    "เสนาอำมาตย์ อำนาจมหาดไทย" หนังสือประวัติศาสตร์ที่มุ่งศึกษาในเรื่องของ "ความคิดและจินตนาการเกี่ยวกับการปกครอง" ผ่านการศึกษาจากกรณีศึกษาอย่างข้าราชการของ "กระทรวงมหาดไทย" ที่นับเป็นหนึ่งในกลไกการปกครองที่เข้มแข็งและอยู่มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ช่วงเวลาของการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 และกลไกของระบบราชการ โดยเฉพาะข้าราชการมหาดไทยนี้เองที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนงานของรัฐภายใต้อุดมการณ์เกี่ยวกับการปกครอง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ
    .
    "เสนาอำมาตย์ อำนาจมหาดไทย" มุ่งศึกษาความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ "จินตนาการการปกครอง" ของกระทรวงมหาดไทยในแต่ละช่วงเวลา ที่กลายเป็นการกำหนดบทบาท การทำหน้าที่ และก่อรูปความเป็นรัฐไทยจากยุคสยามถึงไทย ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอข้อมูลจากหลักฐานและบันทึกประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของกระทรวงมหาดไทย
    .
    "เสนาอำมาตย์ อำนาจมหาดไทย" แบ่งช่วงเวลาการนำเสนอประวัติศาสตร์ของระบบราชการ ผ่านกระทรวงมหาดไทยออกเป็น 5 ช่วงเวลาหลัก ได้แก่ ช่วงแรกก่อตั้งกลไกมหาดไทย, ช่วงก่อน 14 ตุลาฯ, ช่วงหลัง 14 ตุลาฯ, ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ และช่วงเวลาข้าราชการของพระราชา ซึ่งเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลานับเป็นความเปลี่ยนแปลงของ "จินตนาการการปกครอง" ที่ปรากฏชัดเจนและยังผลสืบเนื่องต่อช่วงเวลาอื่น ๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง (ชะตาที่ไม่อาจเลี่ยง) โดยที่เนื้อหาของ "เสนาอำมาตย์ อำนาจมหาดไทย" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    คำนิยม "จินตนาการร่วม" ของระบบราชการไทย โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
    .
    1 การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการปฏิบัติการของข้าราชการนักปกครอง
    .
    2 "นายและผู้ปกครอง": ข้าราชการนักปกครองก่อน 14 ตุุลาฯ
    .
    3 "ผู้รับใช้และบริการประชาชน": ข้าราชการนักปกครองหลัง 14 ตุุลาฯ
    .
    4 "ผู้นำในการสร้างความมั่นคงและการพัฒนา": ข้าราชการนักปกครองภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบ
    .
    5 "ผู้ประสานงาน": ข้าราชการนักปกครองภายใต้พระราชอำนาจนำและการขยายตัวของภาคประชาชน
    .
    6 บทสรุป
    .
    "เสนาอำมาตย์ อำนาจมหาดไทย" ได้แสดงให้เห็นถึง "ความคิดและจินตนาการเกี่ยวกับการปกครอง" ที่ถูกศึกษาผ่านข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของจินตนาการดังกล่าวอย่างไร รวมถึงการสร้างจินตนาการร่วมของระบบราชการดำเนินไปอย่างไร ซึ่ง "เสนาอำมาตย์ อำนาจมหาดไทย" แสดงให้เห็นแล้วว่า ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงของจินตนาการร่วมของระบบราชการสามารถเกิดขึ้น สถาปนาความชอบธรรม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ คล้ายกับจินตนาการร่วมในอีกหลายเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าในกาลต่อไปข้างหน้า "ความคิดและจินตนาการเกี่ยวกับการปกครอง" จะเปลี่ยนไปอย่างไร จะเป็นระบบราชการที่เปลี่ยนคน หรือคนที่เปลี่ยนระบบราชการ ? คำถามนี้ยังน่าสนใจเสมอ



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in