เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ By บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
  • รีวิวเว้ย (1595) "ดุลยพินิจเป็นสิ่งชั่วร้ายแต่จำเป็น" ข้อความหนึ่งที่เราจำขึ้นใจในการเรียนวิชากฎหมายในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ แต่เราก็ไม่เคยตั้งคำถามอย่างจริงจังกับข้อความดังกล่าวว่าในเมื่อมันเป็นสิ่งชั่วร้ายและเหตุใดจึงจำเป็น ? แน่นอนว่าเราปล่อยผ่ายการตั้งคำถามต่อความจำเป็นและความชั่วร้ายของคำว่า "ดุลยพินิจ" ตลอดมา กระทั่งปัจจุบันเราก็ยังไม่ได้ตั้งใจจะทำความเข้าใจมันอย่างเป็นงานเป็นการเสียที ไม่ใช่แค่เรื่องของคำว่า "ดุลยพินิจ" หากแต่เป็นเรื่องของหลักคิดทางกฎหมายในสังคมไทยที่ดูจะชวนให้หลายคนปวดขมับ เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านมาเราจะพบว่ากฎหมายมาตราเดียวกัน หมวดเดียวกัน แต่เมื่อถูกอ่านจากคนต่างกลุ่มกันสามารถตีความกฎหมายข้อนั้นได้แตกต่างกันร้าวฟ้ากับเหว โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตราต่าง ๆ จัดอยู่ในลักษณะของ "คู่ตรงข้าม" กับบรรดาผู้ครองอำนาจด้วยแล้วกฎหมายดูจะกลายเป็นเครื่องมือในการ "สร้างความสงบ" ให้กับ "คนบางกลุ่ม" แต่เพียงเท่านั้น เมื่อกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไล่ล่าคู่ตรงข้ามโดยผู้มีอำนาจอย่างเอาเป็นเอาตาย นี่อาจจะเป็น "ข้อยกเว้นของกฎหมายไทย" ที่ไม่อาจทราบได้ว่าในทาง "นิติปรัชญา" แล้วกฎหมายไทยจะไปสังกัดอยู่ภายใต้นิยามไหนของการศึกษานิติปรัชญา
    หนังสือ : ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ
    โดย : บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
    จำนวน : 180 หน้า
    .
    "ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ" ชื่อของหนังสือก็บอกเอาไว้อย่างชัดแจ้งว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของ (1) ปรัชญา (2) กฎหมาย ที่ถูกเขียนและถ่ายทอดในลักษณะ "กระชับ" ที่หนังสือเล่มนี้พยายามพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจเบื้องแรกของสิ่งที่ถูกเรียกว่า "ปรัชญากฎหมาย" ที่ในสังคมโลกมีการแบ่งการศึกษาออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ มีนักคิด มีวิธีคิด กระทั่งมีการสมาทานเอาแนวคิดต่าง ๆ ไปบังคับใช้กระทั่งกลายมาเป็นกฎหมายของรัฐต่าง ๆ ในโลกยุคปัจจุบันมากมาย
    .
    โดยเนื้อหาของ "ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ" แบ่งออกเป็น 10 บท ที่แต่ละบทจะนำเสนอแนวคิดแกนกลางของแต่ละบทเอง อีกทั้งเนื้อหาในแต่ละบทถูกเขียนขึ้นในลักษณะที่แยกขาดและจบลงในตอนของบทนั้น ๆ อย่างกระชับ โดยเนื้อหาแต่ละบิแบ่งไว้ดังนี้
    .
    บทที่ 1 ปรัชญากฎหมายศึกษาอะไร
    .
    บทที่ 2 ระบบกฎหมาย และความแตกต่างของกฎหมายจากเกณฑ์ทางสังคมอื่น ๆ
    .
    บทที่ 3 กฎหมายในฐานะระเบียบแบบบังคับและการผูกขาดการใช้อำนาจโดยชุมชน
    .
    บทที่ 4 กฎหมายในฐานะเอกภาพอันซับซ้อนกันของกฎสองประเภท
    .
    บทที่ 5 สำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law)
    .
    บทที่ 6 สำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism)
    .
    บทที่ 7 หลักการใช้ดุลยพินิจ (Discretion Thesis)
    .
    บทที่ 8 สัจนิยมทางกฎหมาย (Legal Realism)
    .
    บทที่ 9 สิทธิคืออะไร
    .
    บทที่ 10 มีสิทธิสากลหรือไม่
    .
    เมื่ออ่าน "ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ" จบลง ชวนให้เราคิดต่อไปว่า หากอาจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้เขียน "ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ" ยังมีชีวิตอยู่ อาจารย์จะมองปรากฏการณ์ทางกฎหมายในช่วงหลายปีนี้อย่างไร และเนื้อหาของ "ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ" จะยังออกมามีหน้าตาเป็นแบบที่นำเสนออยู่ตอนนี้หรือไม่ หรือจะมีสำนักคิดด้สนปรัชญาทางกฎหมาย "ยกเว้นนิยมแบบไทย" ถูกสร้างขึ้นมาอีกสำนักหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่หนังสือ "ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ" ออกมาหลังจากการเสียชีวิตของอาจารย์บุญส่งไป 3 ปี น่าสนใจว่าถ้าอาจารย์บุญส่งยังอยู่ไม่แน่ว่า "ปรัชญากฎหมายฉบับกระชับ" อาจจะไม่กระชับก็เป็นได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาปฏิหาริย์ทางกฎหมายมีมากมายเสียเหลือเกิน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in