เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
Active Learning เรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ By ก่อการครู
  • รีวิวเว้ย (1393) เราผู้เกิดและเติบโตมากับระบบการศึกษาในโรงเรียนไทย เริ่มตั้งแต่โรงเรียนวัด พัฒนาสู่โรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนประจำจังหวัดและก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยของรัฐในกาลต่อมา ในฐานะของผู้เรียนเราเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งอยู่เสมอ นั่นคือความรู้สึกของการเป็น "หนูทดลอง" ของระบบการศึกษา โดยเฉพาะระบบการศึกษาในโรงเรียนและระบบการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หากมองย้อนกลับไปเราจะพบว่าตัวเราเองแทบจะเป็นวัตถุศึกษาของการทดลองบางประการอยู่ตลอดเวลา อย่างหลักคิดเรื่องของ Active Learning เองก็เช่นเดียวกัน ที่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั่งอยู่ในห้องเรียนเราเริ่มได้ยินคำนี้ผุดพรายและพรั่งพรู ออกมาจากปากของครูในโรงเรียนตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการไปจนถึงครูที่เดินเข้ามาในห้องเรียน และบอกให้นักเรียนไปอ่านหนังสือและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเองโดยครูสำทับทิ้งท้ายไว้ว่า "มันเป็นกระบวนการ Active Learning" แล้วเดินออกจากห้องไปอย่างไม่มีวันกลับ หลายปีที่แนวคิดเรื่อง Active Learning ก่อร่างสร้างฐานะขึ้นมาในระบบการศึกษาแบบไทย จนเราไม่แน่ใจว่า Active Learning ในความหมายของสากลโลก และความหมายของระบบการศึกษาแบบไทยโลก มันเป็น Active Learning เดียวกันรึเปล่านะ เพราะคำหลาย ๆ คำที่ถูกนำมาใช้โดยรัฐไทบเรามักจะได้เห็นความผิดฝาผิดตัวของความหมายไปไกลมาก อย่าง Soft Power ที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบัน (2566) แน่นอนว่าก่อน Soft Power เรามี Active Learning มาก่อน และก่อน Active Learning ก็มีอีกหลาย ๆ คำที่ถูกทำให้กลายเป็นไทยมาแล้วไม่น้อย
    หนังสือ : Active Learning เรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ
    โดย : ปวีณา แช่มช้อย, อัครา เมธาสุข, อธิษฐาย์ คงทรัพย์, กัญณัฐ กองรอด และ ศราวุธ จอมนำ
    จำนวน : 147 หน้า
    .
    ในปัจจุบันคำว่า Active Learning คงถูกใช้ไปในทางที่ถูกที่ควร (แล้วมั้ง) ในระบบการศึกษาของโรงเรียนไทย และถ้าให้ลองคิดไว ๆ บนโจทย์คำถามที่ว่า "ถ้าอยากเข้าใจ Active Learning แบบไว ๆ ไม่ยุ่งยากจะทพเช่นไร" ถ้าเป็นเมื่อก่อนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในภาษาไทย ถูกหยิบมาแปลและวางจำหน่ายอยู่หลายปก ซึ่งแน่นอนว่ามันหนา หนักและหลาบกครั้งก็ยากต่อการทำความเข้าใจ เพราะขาดการยึดโยงกับบริบทของการศึกษาแบบไทย ๆ ทำให้เมื่อหลายคนเปิดอ่านก็ชักไม่แน่ใจว่าที่เราเข้าใจมาจากระบบการศึกษาแบบไทยนั้นผิด หรือหนังสือที่เขาแปลจากต่างชาติมาขายมันผิดกันนะ
    .
    ถ้าวันนี้มีใครถามคำถามเดิม เกี่ยวกับการอยากทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว สำหรับเราแล้วหนังสือ "Active Learning เรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ" สามารถทำหน้าที่ในการตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นบนฐานของการทำเรื่องของ Active Learning เป็นมิตรกับผู้อ่านและง่ายต่อการทำความเข้าใจ เพราะตัวเล่ม "Active Learning เรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ" ถูกออกแบบให้ เล็ก ง่าย เข้าใจได้ กระชับ และมีตัวอย่างของกิจกรรมและกรณีศึกษาที่ชัดเจน สำหรับการช่วยให้ผู้อ่านสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างบทสนทนาต่อยอดในเรื่องของ Active Learning ได้อย่างเข้าใจแบบไม่ยากเข็ญ
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "Active Learning เรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ" แบ่งออกเป็น 7 บทขนาดกระชับ ที่บอกเล่าเรื่องของ Active Learning อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มต้นที่ความหมาย กรณีศึกษา ข้อสังเกต และความท้าทาย โดยเนื้อหาแบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทที่ 1 ก้าวเดินร่วมของครูและนักเรียน ที่มาและจุดมุ่งหมายของ Active Learning -- ปวีณา แช่มช้อย
    .
    บทที่ 2 กะเทาะเปลือกจนเจอแก่น หลักการเบื้องหลังของ Active Learning -- ปวีณา แช่มช้อย
    .
    บทที่ 3 ธรรมชาติของการเรียนรู้ ความสอดคล้องของ Active Learning กับการทำงานของสมอง -- อัครา เมธาสุข
    .
    บทที่ 4 ครูคือนักออกแบบ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ -- อธิษฐาย์ คงทรัพย์, อัครา เมธาสุข
    .
    บทที่ 5 ครูคือกระบวนกร ทักษะและวมรรถนะของครูผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning -- อธิษฐาน์ คงทรัพย์
    .
    บทที่ 6 สะกิด เกา เล่าความจริง การประเมินผลในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning -- อัครา เมธาสุข
    .
    บทที่ 7 ชุมชนนักสร้างการเรียนรู้ กรณีศึกษา ส่งต่อแรงบันดาลใจ สร้างห้องเรียนเปี่ยมความหมายด้วย Active Learning -- กัญณัฐ กองรอด
    .
    บทที่ 8 ระวัง ! หลุมพราง ความท้าทายในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning -- อธิษฐาน์ คงทรัพย์
    .
    บทที่ 9 Active หรือยัง ? การตรวจสอบตนเองกับ Active Learning -- ศราวุธ จอมนำ
    .
    หากหมุดหมายของ "Active Learning เรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ" คือการสร้างความเข้าใจ ความรับรู้ ในเรื่องของ "Active Learning" เนื้อหาที่ปรากฏในแต่ละบทของหนังสือทำได้อย่างดี และอีกสิ่งหนึ่งที่ "Active Learning เรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ" ทำหน้าที่ได้อย่างดีคือการ "ชุบชูใจ" ให้กับนักจัดการศึกษาที่ต้องอาศัย Active Learning ในกระบวนการการจัดการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียน เรียกได้ว่า "Active Learning เรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ" ช่วยลบภาพศาลาคนเศร้าในระบบการศึกษาในหัวข้อ "Active Learning" ออกไปได้เป็นอย่างดี

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in