เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ขอนแก่นโมเดล: Khon Kaen Model By ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และคณะ
  • รีวิวเว้ย (1371) "กล่าวโดยสรุป 'ขอนแก่นโมเดล' เป็นการพัฒนาเมืองแบบกล้าคิด กล้าทำ บนฐานของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งความร่วมมือในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงระดับของการมีส่วนร่วมเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการร่วมมือกันในเชิงทรัพยากร (shared resources) การตัดสินใจเชิงนโยบาย และเป้าหมายการพัฒนาเมืองร่วมกัน (common ground to common goal) และเป็นการพัฒนาเมืองตามความต้องการของพื้น ที่โดยมีประชาชนในท้องถิ่นเป็นตัวนำ ภายใต้การสนับสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน ขอนแก่นโมเดลจึงมีลักษณะ 'ราษฎร์เดิน รัฐดัน ลดความเหลื่อมล้ำ แก้จน' ... " (น. 34) หากใครติดตามเรื่องราวของการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะเรื่องของเมืองท้องถิ่นในประเทศไทย น่าจะเคยได้ยินเรื่องของ "ขอนแก่นโมเดล" ผ่านหู ผ่านตากันมาบ้าง โดยเฉพาะเมื่อบริษัทพัฒนาเมืองของขอนแก่นได้กลายไปเป็นแบบอย่างให้กับบริษัทพัฒนาเมืองในหลายจังหวัด และโมเดลของการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเมืองแบบขอนแก่นได้กลายมาเป็นหนึ่งในรูปแบบของการจัดการเมือง (ท้องถิ่น) ที่ได้รับความสนใจในหลายพื้นที่ของประเทศ
    หนังสือ : ขอนแก่นโมเดล: Khon Kaen Model
    โดย : ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ, สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย, สุริยานนท์ พลสิม และพีรสิทธิ์ คานวณศิลป์
    จำนวน : 207 หน้า
    .
    "ขอนแก่นโมเดล: Khon Kaen Model" หนังสือที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยในเรื่องของขอนแก่นโมเดล ที่เนื้อหาของหนังสือได้นำเสนอมุมมองในเรื่องของการเกิดขึ้น พัฒนาการ แนวทาง ที่มาที่ไปและการบริหารจัดการของขอนแก่นโมเดล ที่หนังสือจะบอกเล่าตั้งแต่เบื้องแรกของการเกิดขึ้นและการดำเนินการ กระทั่งการชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานของขอนแก่นโมเดลให้เกิดขึ้นได้ ว่าเกิดขึ้นจากสิ่งใดและอาศัยการทำงานและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ อย่างไร 
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "ขอนแก่นโมเดล: Khon Kaen Model" แบ่งออกเป็น 1 บทนำ ที่จะทำหน้าที่ในการบอกเล่าภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่าขอนแก่นโมเดลและความสำคัญของการศึกษา และ 8 บทของเนื้อหาที่จะบอกเล่าเรื่องราวของขอนแก่นโมเดลให้กับผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูล ทำความเข้าใจ เห็นถึงพัฒนาการและนำไปสู่การถอดบทเรียนถึงการเกิดขึ้นและกลไกของการขับเคลื่อนของแก่นโมเดล และปิดท้ายด้วยบทส่งท้ายของหนังสือ โดยเนื้อหาของ "ขอนแก่นโมเดล: Khon Kaen Model" แบ่งเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้
    .
    บทนำ
    .
    บทที่ 1 กว่าจะมาเป็น “ขอนแก่นโมเดล”
    .
    บทที่ 2 อะไร คือ ขอนแก่นโมเดล ?
    .
    บทที่ 3 “เมือง” เรื่องของทุกคน
    .
    บทที่ 4 สภาเมืองและกระบวนการสานเสวนา: บทเรียนและประสบการณ์บุกเบิกอันทรงคุณค่าจาก “ขอนแก่นโมเดล”
    .
    บทที่ 5 บริษัทจำกัดของเทศบาล ที่ไม่มีขีดจำกัดในการพัฒนาเมือง
    .
    บทที่ 6 รถราง สร้างเมือง
    .
    บทที่ 7 เมืองอัจฉริยะขอนแก่นโมเดล
    .
    บทที่ 8 อะไรทำให้ “ขอนแก่นโมเดล” ประสบความสำเร็จ
    .
    บทส่งท้าย
    .
    "ขอนแก่นโมเดล: Khon Kaen Model" ทำให้เรามองเห็นถึงการเกิดขึ้นของโครงการ การขับเคลื่อนกิจกรรม และความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ที่อยากเห็นเมืองของต้นก้าวหน้า บ้านเกิดของตนพัฒนา โดยที่พวกเขาสามารถร่วมมือร่วมใจและลงกำลังร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดกลไกของการพัฒนาเมืองเชิงพื้นที่อย่างขอนแก่นโมเดลเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอการจุดพลุเปิดงานโดยภาคราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคอีกต่อไป หากแต่คนในพื้นที่สามารถร่วมแรงรวมใจผลักดันและพัฒนาพื้นที่ของตนเอง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ได้ ถึงแม้จะเป็นระยะเริ่มแรกของการดำเนินงานหากแต่ขอนแก่นโมเดลได้แสดงให้เห็นแล้วว่ากลไกเชิงพื้นที่หากสามารถทำงานร่วมกันได้ การพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อพื้นที่ โดยคนพื้นที่ก็ไม่ใช่เรื่องแสนยากอีกต่อไป
    .
    อ่านเนื้อหาฉบับเต็มของหนังสือได้ที่ ขอนแก่นโมเดล: Khon Kaen Model - Konrad-Adenauer-Stiftung https://www.kas.de/documents/274654/4437066/Publication+-+COLA+-+Khon+Kaen+Model.pdf/1fc5165e-33c3-76cc-0201-18ef3a529cb6?version=1.1&t=1583745565904

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in