จงมีความสุขกับการอ่านในจังหวะชีวิต ณ ปัจจุบันของคุณ มีหนังสือ 100 หรือ 1,000,000 เล่มดีบนโลกใบนี้ที่คุณไม่จำเป็นต้องอ่าน ถ้าไม่อยากอ่าน และอ่านเมื่อคุณพร้อม สบายใจ มีความสุขที่จะอ่าน แม้ว่ามันจะเป็นเพียงหนังสือธรรมดาๆ เล่มหนึ่ง ...ชีวิตจะบอกเราเองว่า ตอนนี้ ฉันอยากอ่านอะไร
จำได้ว่าตอนให้คนรับซื้อของเก่าขึ้นมาเอาคอมพ์ที่ห้อง พอเขาเห็นกองหนังสือก็ถามขึ้นว่า “นี่ไม่ขายเหรอ?” ผมมองหน้าเขาเลิกลั่กก่อนจะยิ้ม “ไม่ขายครับ”
อันที่จริงมันเคยเป็นระเบียบกว่านี้ ดูยุ่งเหยิงเพราะผมกำลังเคลียร์หนังสือที่คิดว่าจะไม่อ่านให้กับห้องสมุดหรือคนที่อยากอ่าน
กองหนังสือตรงมุมล่างขวาคือส่วนที่ผมแยกออกมาเพื่อบริจาค มีตั้งแต่หนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ปรัชญา วิชาการ วรรณกรรม ฮาว ทู และอื่นๆ ในกองนี้มีหนังสือรวบรวมบทสัมภาษณ์และปาฐกถาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล สามสี่เล่ม
และผมยังไม่ได้อ่านเลยด้วยซ้ำ
พูดกันว่าการอ่านเปลี่ยนชีวิตคนเราได้ ผมไม่ปฏิเสธเลย ถ้าไม่ใช่การอ่าน ผมคงไม่มีอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเหมือนทุกวันนี้ อาจไม่ได้มานั่งเขียนบล็อกแบบนี้ด้วยซ้ำ มีหนังสือหลายเล่มเข้ามาในจังหวะชีวิตช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่างตอน ม.ปลาย ติด ‘เพชรพระอุมา’ งอมแงม พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ตรงเข้าชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบไม่ต้องคิด อยากเข้าป่า เพ้อฝันว่าตัวเองจะเป็นแบบรพินทร์ ไพรวัลย์ได้ สุดท้าย แค่เทรลธรรมดายังหลงทาง รพินทร์ไหมล่ะ
ช่วงที่ป่วยแรกๆ ผมใช้การจัดห้องเป็นตัวช่วยบำบัดความฟุ้งซ่าน ‘อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป’ (ไว้จะพูดถึงหนังสือเล่มนี้) เข้ามาพอดี ผมบริจาคและทิ้งของไปมากมาย เก็บไว้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นและสำคัญจริงๆ เท่านั้น ทุกวันนี้ก็ยังทิ้งเป็นระยะ ยกเว้นก็แต่หนังสือนี่แหละที่ไม่สามารถหยุดซื้อได้
แต่บางที ชีวิตเราเองก็เปลี่ยนการอ่าน ไม่ใช่เรื่องแปลก เวลาไม่เคยจำนนให้กับความคงที่แน่นอน รสนิยมและความคิดต่อการอ่านของผมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนตอนอายุ 30
ผมเคยอ่านงานของเสกสรรค์หลายเล่ม เล่มที่ตราตรึงคือ ‘วิหารที่ว่างเปล่า’ มาพีคสุดคือ ‘ผ่านพบไม่ผูกพัน’ และ ‘วันที่ถอดหมวก’ หลังจากนั้นล่ะ? ผมเริ่มเฉยๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเสกสรรค์ไม่ค่อยได้ผลิตงานใหม่ๆ ออกมานัก อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมผมจึงรู้สึกว่าไม่จำเป็น หรืออย่างน้อยตอนนี้ก็ยังไม่ถึงเวลา ที่จะอ่านงานของเสกสรรค์
ผมไม่ได้พูดถึงความเด่น-ความด้อยในงานของเสกสรรค์ ผมกำลังพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของตนเองต่อการอ่าน
ในช่วงวัยรุ่นงานของญามิลาหรือวิรัตน์ โตอารีย์มิตร เป็นความเรียงที่สละสลวยเหลือเกิน น่าหลงใหลจนผมอยากเขียนให้ได้บ้าง (ไม่รู้ว่าตอนนี้เขายังผลิตงานอยู่มั้ย?) หรือ ‘เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง’ ของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่ทำให้ผมใจเต้นรัวถึงความละมุนละไมของการเล่าเรื่องและการเรียงร้อยถ้อยคำ พยายามเลียนแบบวิธีการเขียน ซึ่งก็ไม่สำเร็จ และผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เพราะการเขียนควรเป็นคนที่เราเป็น ไม่ใช่คนที่เราอยากจะเป็น
ผมอ่านงานของเขาต่อมาอีกหลายเล่ม กระทั่งวันหนึ่งผมก็หยุดอ่าน
ทำไม?
‘ไม่มีโทรศัพท์และเครื่องปรับอากาศ’ เป็นเล่มล่าสุดของวรพจน์ที่ผมอ่าน แล้วผมเกิดความรู้สึกว่าผู้เขียนประหนึ่งจะรู้และเข้าใจทุกปริมณฑลของโลกและชีวิต มีน้ำเสียงอบรมบ่มเพาะ รวมถึงถ้อยคำจำนวนมากที่เคยสละสลวยกลับกลายเป็นความฟุ่มเฟือยสำหรับผม แต่ผมยังกระหายความเรียง ลองมาอ่านงานของโตมร ศุขปรีชา เช่นกัน ถึงจุดจุดหนึ่ง ผมก็หยุดอ่านเพราะความมากล้นของวิธีการนำเสนอ
ไปรื้อค้นกองหนังสือก็เจอ ‘บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร’ และ ‘ยามเช้าของชีวิต’ ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนผู้จากไป ซึ่งถ้าเทียบกับยุคสมัยนี้ เนื้อหาเป็นเรื่องของเมื่อ 20 กว่าปีก่อนได้กระมัง มุมมองคมคายต่อยุคสมัยนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะเขาไม่ทันได้เห็น แต่ผมกลับชอบ เพราะความเรียบง่ายของการเขียน ไม่ฟูมฟาย ไม่มีลูกเล่นในการนำเสนอมากมาย
ทั้งหมดนี้อาจไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการมีชีวิตนานขึ้น หรืออาจมีมากกว่าน้ัน
ความมากมายล้นเกินที่ผมสะสมมาเนิ่นนาน มันคงหนักเกินจะแบกต่อ บวกความฟุ้งซ่านของสารเคมีในสมอง ผมจึงถอยกลับไปหาความน้อย ความเบา และความเรียบง่าย
เชื่อว่ามีหลายคนเป็นแฟนคลับของนักเขียนที่ผมเอ่ยชื่อ
เชื่อด้วยว่านักอ่านด้วยกันย่อมเข้าใจดีว่าเมื่อถึงห้วงเวลาหนึ่ง ชีวิตจะทำให้การอ่านของเราเปลี่ยนไปอีกครั้งและอีกครั้ง เช่นกัน การอ่านก็จะเปลี่ยนชีวิตเราด้วยอีกครั้งและอีกครั้ง ผลัดกันไปจนกว่าตัวเราจะแตกดับ
ว่าแต่ผมจะสรุปจบยังไงล่ะ?
คงสรุปได้ว่าจงมีความสุขกับการอ่านในจังหวะชีวิต ณ ปัจจุบันของคุณ มีหนังสือ 100 หรือ 1,000,000 เล่มดีบนโลกใบนี้ที่คุณไม่จำเป็นต้องอ่าน ถ้าไม่อยากอ่าน และอ่านเมื่อคุณพร้อม สบายใจ มีความสุขที่จะอ่าน แม้ว่ามันจะเป็นเพียงหนังสือธรรมดาๆ เล่มหนึ่ง เพราะผมเชื่อว่าชีวิตจะบอกเราเองว่า ตอนนี้ ฉันอยากอ่านอะไร
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in