ไม่มีหรอกความตายในอุดมคติหรือสูงส่งที่ชอบยกย่องกัน มันล้วนเป็นความตายทั้งนั้น แค่เราจะเลือกให้นิยามกับมันอย่างไร และเราไม่ควรเอานิยามของเราไปบอกผู้อื่นว่า คุณควรตายอย่างไร
คุณมีประสบการณ์เกี่ยวกับความตายครั้งแรกเมื่อไหร่?สำหรับผม ความตายครั้งแรกที่ผมเข้าไปสัมผัสชนิดถึงเนื้อถึงตัวคือการตายของคุณยาย ท่านอยู่ในสภาพติดเตียงมานาน ค่ำวันหนึ่ง ผมเข้าไปในห้องที่ท่านนอนอยู่ สังเกตเห็นความนิ่งงันที่ไม่เคยพบ ผมเดินไปที่ร่างของท่าน เอามือแตะที่ท้องและลองกดดู มันแข็ง เหมือนก้อนเนื้อก้อนหนึ่งที่วางอยู่ตรงนั้น ผมเดินออกไปบอกแม่ว่า อาม้าไปแล้วด้วยธรรมเนียมของคนจีน พวกเราช่วยกันเปลี่ยนเสื้อผ้าให้อาม้า ปูเสื่อ กางมุ้งให้ท่านนอน จุดธูป 1 ดอก และผมเป็นคนนอนเฝ้าศพท่านอยู่ข้างๆ ในบางขณะผมกลัว จากนั้นก็รู้สึกเฉยๆ และหลับไปครั้งต่อมาคือต้นเดือนมกราคมปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิเพียงสัปดาห์กว่าๆ ผมถูกส่งตัวไปเขาหลัก จังหวัดพังงา เพื่อเขียนสกู๊ป ขณะที่นั่งรถผ่านวัดเขาหลักซึ่งเป็นที่เก็บศพผู้เสียชีวิต กลิ่นของศพจำนวนมากอบอวลไปทั่ว ผมยังคงจดจำได้จนถึงวันนี้ ผมเรียกมันว่า กลิ่นของความตายต่อมาคือตัวผมเอง มีช่วงหนึ่งที่สุขภาพเรรวน มีอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ออก ในภาวะนั้น ผมรู้สึกว่าชีวิตและความตายของตนขั้นด้วยเส้นบางๆ ที่พร้อมจะขาดลงทุกเมื่อ'วาระสุดท้าย: คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง' หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า 'Advice for Future Corpses A Practical Perspective on Death and Dying' เขียนโดยแซลลี่ ทิสเดล แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์ สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป เป็นหนังสือเกี่ยวกับความตายที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่านเวลาพูดถึงหนังสือที่ว่าด้วยความตาย เรามักนึกถึงหนังสือแนวศาสนาหรือจิตวิญญาณ การเตรียมจิต เตรียมใจ สติ สมาธิ การเฝ้ามองความตายอย่างรู้เท่าทัน บลาๆๆ ซึ่งผมก็เคยอ่านอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ถามจริงๆ เถอะ จะมีสักกี่คนที่สามารถรื่นรมย์ เฝ้ามอง ครองสติ เมื่อเคียวมัจจุราชกำลังจะเชือดคอ ความตายในอุดมคติของศาสนาหรือจิตวิญญาณออกจะสูงส่งและปฏิบัติได้ยากสำหรับมนุษย์ผู้มีสัญชาติญาณรักชีวิตแต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พยายามบอกว่าการตายในอุดมคติหรือการตายที่ดีคืออะไร ตรงกันข้าม มันกลับสั่นคลอนภาพอุดมคติของการตายอันสูงส่งและตั้งคำถามในเชิงปรัชญากับการตายที่ดี ณ จุดไหนที่เรียกว่าตาย? การตายที่ดีเป็นการตายในเวลาที่เหมาะสมจริงหรือ? ถ้ามีการตายที่เรียกว่าตายดีนั่นหมายความว่าเราตัดสินการตายแบบอื่นๆ ว่าไม่ดีพอหรือ? การตายที่ดีผู้ตายต้องยอมรับชะตากรรม ยืนหยัดอย่างกล้าหาญ สงบนิ่ง และป่าวประกาศถึงการตายอย่างมีศักดิ์ศรีของตนให้โลกรู้ด้วยหรือ ทั้งที่ในใจคนคนนั้นกำลังปั่นป่วนและหวาดกลัว? ผู้เขียนชวนให้ใคร่ครวญว่าคุณรักษาผู้ป่วยเพื่อขจัดความอึดอัดของตัวเองหรือเปล่า? ลมหายใจไหนคือลมหายใจสุดท้ายกันแน่?เมื่อเผชิญกับคำถามเหล่านี้ ผมรู้สึกทันทีว่า เออ จริงว่ะ บางทีการพยายามทำให้ผู้ตายและความตายเป็นเรื่องสูงส่งก็ดูเป็นเรื่องไร้สาระหนังสือแบ่งเนื้อหาแต่ละบทได้น่าสนใจ เช่น การสื่อสารกับผู้ที่ใกล้วาระสุดท้าย สถานที่ที่จะตายซึ่งก็ท้าทายเรื่องการตายที่ดีอีกเหมือนกัน เพราะเรามักคิดว่าสถานที่ที่คนเราจากไปควรเป็นที่บ้าน แต่เราเลือกได้จริงๆ หรือ?เนื้อหาบทอื่นๆ พูดถึงเวลาที่ความตายค่อยๆ คืบคลานเข้ามา เช่น ช่วงเดือนท้ายๆ ช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ช่วงวันท้ายๆ ชั่วขณะนั้น ร่างไร้ลมหายใจ เป็นต้น มันเป็นการบรรยายภาพแต่ละช่วงตั้งแต่ความตายเริ่มมาเยือนกระทั่งเป็นศพ คนที่ใกล้ตายจะมีอาการอะไรบ้าง พวกเขาบ้าคลั่ง นิ่งสงบ เงียบขรึม หวาดกลัว แจ่มใส ร้องครวญคราง มันเป็นได้ทั้งนั้นแหละ การตายเป็นเรื่องธรรมชาติก็จริง ทว่า ความตายมีมิติที่หลากหลายแอบอิงอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ และตัวผู้ตายหนังสือแนะนำอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะการเคารพความประสงค์ของผู้ป่วยระยะท้ายและผู้ตาย การจัดการกับศพ การทำหนังสือแสดงเจตนา การการุณยฆาต และถ้าคุณเศร้าเสียใจกับการจากไปของคนที่คุณรัก จงเศร้า ปล่อยให้ตัวเองเศร้า หนังสือยกตัวอย่างว่าการที่คุณจะไม่ได้ซักผ้ากับคนที่คุณรักอีกแล้วอาจเป็นเรื่องไม่ใช่เรื่องในสายตายคนอื่น แต่คุณไม่จำเป็นต้องสนใจ คุณเท่านั้นที่รู้ว่าทำไมการซักผ้าด้วยกันจึงสำคัญสำหรับคุณมากมายเพียงนี้ เช่นกัน การแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อความไม่จีรังของสังขารดูสูงส่งในทางศาสนา ซึ่งไม่ผิดเลยหากใครจะเลือก แต่การเศร้าโศกฟูมฟายก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะกล่าวหาได้ว่าเป็นความไร้เดียงสาต่อโลก'ความโศกเศร้าเป็นบาดแผลที่ไม่เหมือนแผลมีดบาดหรือโดนซ้อม บาดแผลนี้จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เหลือไว้แค่รอยแผลเป็น แต่เนื้อเยื่อจะไม่มีทางเหมือนเดิม เราก้าวไปข้างหน้าโดยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม'ถ้อยคำที่เรียงร้อยอย่างสละสลวยของผู้เขียนเป็นอีกหนึ่งความประทับใจนอกจากนี้ ผู้เขียนยังยกคำพูดของนักปรัชญา นักจิตวิทยา และอื่นๆ มาประกอบ ซึ่งชวนให้ขบคิดเซเนกา-ความทุกข์ทั้งมวลจะเสียเปล่า ถ้าคุณยังไม่เรียนรู้และเศร้าหมองให้เป็นวลีบนป้ายหลุมศพในศตวรรที่ 19-การรักสิ่งที่ความตายแตะต้องได้นั้นช่างน่ากลัวโธมัส ลินช์-การมองศพเป็นส่วนที่ยากที่สุดและมีประโยชน์ที่สุดและสุสาน cemetery คือคำศัพท์ในภาษากรีกที่แปลว่า สถานที่หลับใหลหากถามว่าอะไรที่ทำให้ผมชอบหนังสือเล่มนี้ที่สุด คำตอบคือมันสั่นคลอนและชวนให้ตั้งคำถามต่อความตายในอุดมคติ ความตายอันสูงส่ง ที่ถูกส่งผ่านมาทางศาสนา แนวคิดทางจิตวิญญาณ และเรื่องราวของผู้ที่ต่อสู้หรือรื่นรมย์กับความตายมันทำให้เห็นความตายในแบบที่มนุษย์ตายกันจริงๆ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้เลือกความตาย ความตายต่างหากที่เลือกเรา (แน่นอน ตรงนี้ถกเถียงกันได้ว่าจริงหรือไม่ ในกรณีคนที่เลือกฆ่าตัวตาย)ไม่มีหรอกความตายในอุดมคติหรือสูงส่งที่ชอบยกย่องกัน มันล้วนเป็นความตายทั้งนั้น แค่เราจะเลือกให้นิยามกับมันอย่างไร และเราไม่ควรเอานิยามของเราไปบอกผู้อื่นว่า คุณควรตายอย่างไรhttps://wandering-bird.blogspot.com/20…/…/blog-post_21.html…
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in