อาจบางทีในยุคที่หุ่นยนต์กำลังแทนที่มนุษย์ ยุคที่คนส่วนใหญ่ฝึกฝนการพูดให้ดีขึ้น 'การฟัง' อาจเป็นทักษะที่จำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งที่จะเชื่อมโยงเราเข้ากับผู้คน
และมองเห็นความเป็นมนุษย์ของคนที่อยู่ตรงหน้าและของตัวเราเอง
คุณคงเคยเห็นคอร์สอบรมการพูดโผล่ขึ้นมาบนหน้าฟีดบ้าง บางคอร์สหลักหมื่น บางคอร์สก็หลักพัน แต่ทุกคอร์สการันตีว่าถ้าคุณผ่านการอบรม คุณจะพูดได้ดีขึ้นและประสบความสำเร็จมากขึ้น
แต่ถ้าเทียบความถี่กันแล้ว คุณเคยเห็นคอร์สอบรมการฟ้งบนหน้าฟีดบ้างไหม? หรืออาจไม่เคยเห็นเลย?
คุณน้าของผมตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า โลกทุกวันนี้มีสอนการพูดเยอะแยะ แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจการฟัง ซึ่งก็ไม่น่าผิดข้อเท็จจริงนัก เพราะปริมาณคอร์สและความสนใจของผู้คนระหว่าง 'การพูด' และ 'การฟัง' เป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนอยู่
ผมเคยสงสัยว่า ถ้าทุกคนพูดกันหมด แล้วใครล่ะจะฟัง
ความป่วยไข้ของผมนำพาไปสู่เส้นทางการอบรมการฟังอยู่ครั้งสองครั้ง ผมคิดเพียงว่าความเศร้าที่ทับถมในจิตใจจะช่วยให้ผมเข้าใจผู้คนที่มีความทุกข์ได้พอประมาณ หลังจากนั้นก็เหมือนว่าโชคชะตาจะชักพาให้ผมต้องกลายเป็นผู้ฟังหลายต่อหลายครั้งจากผู้ที่กำลังเผชิญความทุกข์ ความเศร้า ปัญหาความสัมพันธ์ และผมพบว่า 'การฟังอย่างตั้งใจ' ไม่เพียงช่วยผ่อนเบาผู้พูด หากยังเยียวยาผู้ฟังอย่างผมด้วย
หนังสือ 'LISTEN WITH YOUR HEART ฟังสร้างสุข' พยายามบอกกับเราว่า การฟังสำคัญอย่างไร ทั้งต่อการสื่อสาร ความสัมพันธ์ และการเข้าใจผู้อื่น
การฟังเป็นทักษะที่ต้องฝึก แต่เพราะเราได้ยินเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง คนรัก เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ พูดและก็ฟังอยู่แล้วอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วมันเรื่องอะไรที่จะต้องฝึกฟัง ทว่า บ่อยครั้งเหลือเกินที่เรา 'ฟัง' แต่เรา 'ไม่ได้ยิน'
ลองสังเกตตัวเองดูสิว่า ทุกครั้งที่เราฟังผู้อื่นพูด เรากำลังฟังเนื้อหา หรือกำลังคิดว่าจะพูดตอบอย่างไร หรือหนักกว่านั้นเรากำลังตัดสินผู้พูดว่าผิด ถูก ชั่ว ดี เก่ง โง่ เราจึงไม่ได้ยินเนื้อหาที่ผู้นั้นพูด และที่สำคัญ เราไม่ได้ยินน้ำเสียง ท่าทาง อารมณ์ และความรู้สึกที่ทั้งซุกซ่อนหรือแม้กระทั่งเปิดเผยของผู้พูด
หนังสืออ้างอิงงานศึกษาของศาตราจารย์อัลเบิร์ต เมห์ราเบียนว่า เวลาเราคุยกันนั้น คำพูดหรือเนื้อหาที่เปล่งออกมามีผลต่อการรับรู้ของเราแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 38 เปอร์เซ็นต์มาจากน้ำเสียงและโทนเสียง ที่เหลือ 55 เปอร์เซ็นต์มาจากอวัจนะภาษาต่างๆ ทั้งสีหน้า ท่าทาง ภาษากาย ดังนั้น การฟังเพียงคำพูดจึงทำให้เรารับรู้สิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสารเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งถ้าเราฟังแบบไม่ได้ยิน ตัวเลขก็คงต่ำลงไปอีก
จากนั้นหนังสือก็เปิดเผยวิธีการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ว่าประกอบด้วยขั้นตอนอะไรบ้าง เช่น การใช้คำถามเปิด การสะท้อนกลับ การตั้งคำถามฉุกคิด เป็นต้น ตามด้วยเรื่องเล่าจากงานอาสาสมัครเป็นเพื่อนรับฟังในกรณีต่างๆ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้ต้องขัง และแบบทดสอบให้เราลองฝึกฟัง ไม่ใช่แค่ผู้อื่นเท่านั้น แต่ฝึกฟังตัวเองด้วย
ผมเคยเดินทางไปเบตง จังหวัดยะลา เก็บข้อมูลมาเขียนสารคดีเชิงข่าวชิ้นหนึ่ง มีโอกาสได้พบพี่ผู้หญิงที่ยอมให้ข้อมูล ผมขอเรียกว่าพี่เอแล้วกัน
การเล่าเรื่องของพี่เอดูเป็นกันเอง สนุกสนาน เฮฮา ชีวิตที่กระเสือกกระสน ซัดเซออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 14 เป็นแอลกอฮอลิสซึ่ม โรคซึมเศร้าระดับรุนแรง เคยฆ่าตัวตายด้วยกรัมม็อกโซน แต่หมอช่วยชีวิตได้ทัน มีรอยแผลเป็นจากการกรีดบาดมากมายที่ท้องแขน แต่พี่เอกลับยังเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างสนุกสนาน เหมือนกับว่าชีวิตที่ผ่านพ้นเป็นแค่ละครตลกฉากหนึ่ง (คิดแล้วก็นึกถึงคำพูดของอาร์เธอในหนังเรือง Joker ที่บอกว่า เมื่อก่อนผมคิดว่าชีวิตผมเป็นโศกนาฏกรรม แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องตลก)
ใช่ ถ้าฟังแค่นั้นก็เหมือนไม่มีอะไรมากไปกว่าตะกอนตกค้างจากอดีต แต่ผมไม่ได้แค่ตั้งใจฟัง ผมจ้องมองเข้าไปในดวงตาของพี่เอ เรามักพูดว่าดวงตาไม่เคยโกหก ผมเห็นความเศร้า ความปวดร้าว ความขมขื่นฝังลึกอยู่ในนั้น แม้แต่ตอนที่พี่เอกำลังใส่มุขกับเรื่องของตัวเอง ผมก็รับรู้ถึงความสั่นเครือในน้ำเสียง บางช่วงเห็นรอยน้ำเอ่อที่ขอบตา
ไม่ผิดอะไรจากที่หนังสือเล่มนี้บอก การฟังเป็นมากกว่าการได้ยินเสียง มันคือการทำความเข้าใจมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า แน่นอน เราไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมดหรอก แต่เคยได้ยินประโยคของสะมาริตันส์ไหมครับ
"แค่เราเข้าใจว่าเขารู้สึกอะไร เขาก็จะรู้สึกมีตัวตนขึ้นมาแล้ว"
กับตัวผมมันมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงผู้พูดหรอกที่มีตัวตน คนป่วยไข้อย่างผมที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองก็รู้สึกมีตัวตนและได้รับการเยียวยาไปด้วย
ผมเชื่อว่าเราทุกคนต่างต้องการการรับฟัง ในช่วงเวลาที่ชีวิตร้าวรานแสนสาหัสและอยากแบ่งระบายมันออกมา ต่อให้เป็นคนแปลกหน้า หากเขายอมรับฟัง นั่งอยู่ข้างๆ อยู่ตรงนั้น ที่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เราก็คงพร้อมจะพูด
อาจบางทีในยุคที่หุ่นยนต์กำลังแทนที่มนุษย์ ยุคที่คนส่วนใหญ่ฝึกฝนการพูดให้ดีขึ้น 'การฟัง' อาจเป็นทักษะที่จำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งที่จะเชื่อมโยงเราเข้ากับผู้คน
และมองเห็นความเป็นมนุษย์ของคนที่อยู่ตรงหน้าและของตัวเราเอง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in