เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อาทิตย์ก่อนViv’vien;ne_Moo
22~28 .7.2019: อ่านตำราธรณีวิทยาพื้นฐาน
  • ไม่แน่ใจว่าหลายคนเป็นแบบเดียวกันไหม แต่บางครั้งเวลาล้มตัวลงนอนบนเตียงแล้ว มันยังไม่ง่วงทันที คือตรรกะในตัวบอกว่าควรเข้านอน พรุ่งนี้จะได้เริ่มงานแต่เนิ่นๆ แต่อารมณ์ยังไม่พร้อมเข้านอน ผลคือจบที่หาอะไรทำไปเรื่อย แบบหวังว่าอารมณ์จะเข้าที่พร้อมนอน แต่ที่เกิดขึ้นจริงคือนอนดึกเกินไปมาก แล้วก็หลับไปเพราะหมดแรงข้าวต้มมากกว่าจะพอใจที่จะนอนจริงๆ

    อาทิตย์ที่ผ่านมาตัวเองก็มีปัญหาเช่นว่า จึงลองแก้ด้วยการหาอะไรที่ตื่นเต้นน้อยหน่อยอ่าน กะว่าจะได้กล่อมตัวเองให้หลับไป ทำให้ได้เจอหนังสือบนเนตเล่มหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ ซึ่งขอนำมาเสนอในคราวนี้

    Historical Geology เป็นหนังสือในรูปบทความหลายๆตอนเรียงต่อกัน แต่ละตอนพูดถึงหัวข้อหนึ่งพอสังเขป ขณะนี้เขียนจบสมบูรณ์แล้ว เนื้อหาย่อๆคือ พูดถึงวิชาธรณีวิทยาขั้นพื้นฐานแบบกว้างๆ

    ที่ว่า พื้นฐาน คือพื้นฐานจริงๆ ระดับบุคคลทั่วไปที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับก้อนหินดินทรายก็ยังอ่านได้ (เรื่องนี้ยืนยันได้ เพราะตัวเองลืมเนื้อหาวิทยาศาสตร์สมัยเรียน ม.ต้น ม.ปลาย ไปหมดแล้ว แต่ก็ยังอ่านเล่มนี้แล้วรู้สึกว่าเข้าใจอยู่)

    ส่วนที่ว่า กว้างๆ คือหนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องธรณีวิทยาแบบเน้นกว้างมากกว่าลงลึก ให้เห็นภาพรวมคร่าวๆว่าสิ่งต่างๆปรากฏการณ์ต่างๆบนโลก และวิธีการเครื่องมือต่างๆที่ใช้ศึกษาโลกของเรา พื้นฐานแล้วมีอะไรบ้าง ส่วนตัวคิดว่าหนังสือให้คำตอบเบื้องต้นกับคำถามง่ายๆหลายอย่างที่ตัวเองอยากรู้มาตั้งแต่สมัยเรียนได้ดี เช่น

    ・ ทะเลทรายเกิดขึ้นได้ยังไง?
    ・ ดินคืออะไร? เกี่ยวข้องกับหินยังไง?
    ・ รู้ว่าถ่านหินมีหลายเกรด แต่ว่าแต่ละเกรดต่างกันยังไง? เกี่ยวข้องกันยังไง?

    เป็นต้น

    ใครที่สนใจวิชาธรณีวิทยาแต่ไม่เคยศึกษาจริงจังมาก่อน ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน คิดว่าเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อทำความรู้จักหัวข้อและศัพท์ต่างๆในวิชา ส่วนใครที่ยังเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ (ม.ต้น) หรือวิทย์พื้นฐาน/โลก อวกาศ ดาราศาสตร์ (ม.ปลาย) อยู่ หนังสือเล่มนี้อาจช่วยให้มีอารมณ์ร่วมกับเนื้อหาที่เรียนได้มากขึ้นพอดู

    ส่วนตัวอ่านแค่วันละตอนสองตอนก่อนนอน พออ่านจบก็เคลิ้มๆพร้อมจะนอนพอดี ในแง่อารมณ์ก็พร้อมจะนอนเพราะรู้สึกดีที่วันนี้ได้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นนิดนึง ถือเป็นการปิดวันที่ดี คิดว่าเป็นเครื่องช่วยกล่อมเข้านอนที่ใช้ได้อยู่

    ท้ายสุด หากใครสนใจคำตอบของคำถามที่พูดถึงด้านบน ด้านล่างมีคำตอบคร่าวๆเท่าที่ตัวเองอ่านแล้วเข้าใจอยู่...

    ทะเลทรายเกิดขึ้นได้ยังไง?

    ทะเลทรายในทางธรณีวิทยาหมายถึง พื้นที่ที่ฝนตกน้อย (แต่ไม่จำเป็นต้องร้อนหรือมีทรายเสมอไป) ทีนี้ฝนจะตกน้อยก็อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น

    ในอากาศมีความชื้นน้อย เช่น ถ้าพื้นที่นั้นอยู่ติดทะเลตรงที่น้ำเย็น เนื่องจากน้ำเย็นจะลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ น้ำแถวนั้นจึงระเหยเป็นไอน้อยแต่แรก

    มีความชื้นในอากาศ แต่ดันไม่ค่อยรวมกันออกมาเป็นฝน เช่น ถ้าพื้นที่นั้นความดันอากาศสูง อากาศกักความชื้นไว้ได้มากขึ้น ความชื้นจึงไม่รวมตัวลงมาเป็นฝนเท่าไร

    ฝนตกจริง แต่มาไม่ถึง เช่น ถ้าพื้นที่นั้นอยู่ไกลจากทะเล (เช่นบริเวณกลางทวีป เวลาเกิดเมฆฝนมา กว่าจะลอยมาถึงฝนก็ตกจนหมดไปก่อนแล้ว) หรืออยู่หลังภูเขาสูง (ภูเขาสูงกั้นเมฆฝนไม่ให้ลอยข้ามมา ไม่มีเมฆฝน ก็ไม่มีฝน)

    อนึ่ง หลายพื้นที่มีหลายปัจจัยที่ร่วมกันทำให้พื้นที่นั้นเป็นทะเลทราย

    ดินคืออะไร? เกี่ยวข้องกับหินยังไง?

    ดินคือตะกอนส่วนที่อยู่ชั้นบนๆ ทีนี้เพราะอยู่ด้านบน ตะกอนส่วนนี้จึงไม่ถูกบีบอัดแน่นจนกลายเป็นหินตะกอน อีกทั้งยังได้รับน้ำฝนที่ตกลงมา ฝนตกลงมาแล้วก็ซึมลงไปได้ เปลี่ยนแร่บางส่วนในตะกอนกลายเป็นเนื้อดิน นอกจากนี้ในดินยังมักมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ทำให้ดินร่วนซุย และมีสารอินทรีย์ที่ผุพังด้วย

    ในแง่ความเกี่ยวข้องกับหิน หินป่นก็เป็นตะกอนแบบหนึ่ง ดังนั้นพูดแบบคร่าวมากๆ ดินก็คือประมาณหินป่นคลุกซากสิ่งมีชีวิตนั่นเอง

    ถ่านหินแต่ละเกรดต่างกันยังไง? เกี่ยวข้องกันยังไง?

    เท้าความก่อนว่าถ่านหินเกิดจากพีต พีตพูดคร่าวๆคือชิ้นส่วนพืชที่หล่นลงมาแช่จมในบ่อที่มีน้ำ แล้วเน่าบ้างแต่เน่าไม่สุด (เพราะน้ำมีออกซิเจนน้อยกว่าอากาศ จุลชีพทำงานย่อยได้ไม่สะดวก) ทีนี้พีตซึ่งเป็นซากพืช หลักๆประกอบด้วยคาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) กับออกซิเจน (O) เวลาผ่านไป H กับ O หายไปเรื่อยๆ ทำให้พีตค่อยๆเปลี่ยนเป็นถ่านหิน ในขณะที่ C ที่เหลืออยู่คิดเป็นสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าถ่านหินเกรดต่างๆก็แบ่งตามสัดส่วนคาร์บอนที่ว่านั่นเอง ว่า C น้อยเกรดต่ำ C มากเกรดสูง

    ความเกี่ยวข้องระหว่างเกรดต่างๆคือ ถ่านหินแต่ละเกรดไม่ใช่เป็นสสารคนละชนิดกันสิ้นเชิง ทำนองว่าถ้าเกิดเป็นถ่านหินเกรดต่ำแล้วจะต้องเป็นเกรดต่ำตลอดไปอะไรแบบนั้น แต่กระบวนการกลายเป็นถ่านหินจะค่อยๆเปลี่ยนพีตกลายเป็นถ่านหินที่เกรดสูงขึ้นเรื่อยๆ (ถ้าหากได้เงื่อนไขที่เหมาะสม) ถ่านหินทุกเกรดจึงถือได้ว่าอยู่บนเส้นทางกระบวนการกลายเป็นถ่านหินเดียวกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in