เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
TSS702 ศิลปะและดนตรีวิจักษ์เทอมูน
ตาดูหูฟัง - Art references in music
  •      "ศิลปะสาขาหนึ่งหรือหลายสาขาเกื้อหนุนในการตอกย้ำความหมายเดิมหรือสร้างความหมายใหม่ให้กับศิลปะอีกแขนงหนึ่ง" (เจตนา นาควัชระ)


        ศิลปะนั้นส่องทางให้กัน กระทั่งเพลงที่ผ่านหูเรามากมายยังมีการนำงานจิตรกรรมมาตีความใหม่หรือสืบสานแนวคิดในตัวผลงาน วันนี้เราจึงมารับบทนักสืบที่จะไขเพลงที่มีเรฟเฟอเร้นซ์จากงานศิลปะหรือศิลปินกันว่าคืออะไร


        (※ สามารถเปิดฟังเพลย์ลิสต์ของเพลงทั้งหมดในบทความนี้ได้ที่ https://open.spotify.com/playlist/6fnsKHdyusun8xeNqruNFH?si=c90f44b3f45a4701)



    Mona Lisa - Nat King Cole (1950)


        เพลง traditional pop (ประเภทเพลงที่เป็นที่นิยมในยุค 50s) ของหนึ่งในงานศิลปะที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลอย่าง ‘โมนาลิซ่า’ วาดโดย ‘ลีโอนาร์โด้ ดาร์วินชี’ ศิลปินเอกแห่งยุคเรเนซ้องส์ เนื้อเพลงเกี่ยวกับชายที่รักผู้หญิงคนหนึ่ง โดยเขาเทียบเธอว่า “โมนาลิซ่า” เพราะเธอเป็นผู้หญิงอ้างว้างที่รอยยิ้มดูโดดเดี่ยว ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของโมนาลิซ่าที่แม้จะผ่านมาหลายศตวรรษ ภาพจำของเธอก็คือผู้หญิงที่ให้ความรู้สึกลึกลับปริศนา รวมทั้งรอยยิ้มที่ถูกตีความนับไม่ถ้วนว่าเป็นรอยยิ้มแห่งความทุกข์ เหมือนกับท่อนหนึ่งในเพลง “Do you smile to tempt a lover, Mona Lisa?/Or is this your way to hide a broken heart?”


        ภาพโมนาลิซ่ามีส่วนประกอบของความเป็นยุคเรเนซ้องส์ ทั้งฆราวาสนิยม เพราะเป็นภาพที่ไม่เกี่ยวข้องหรือยกย่องพระเจ้าและศาสนา (Renaissance = Rebirth เป็นยุคสมัยของการเกิดใหม่หลังยุคมืดที่คนงมงายในศาสนา) และยังมีความเป็นสัจนิยมและปักเจกนิยม รวมถึงตัวงานยังแสดงถึงความ realism ผ่านสี เงาและรายละเอียดที่เหมือนจริงทั้งบนเสื้อผ้าและฉาก 



    Viva La Vida - Coldplay (2012)



        Viva La Vida เป็นภาษาสเปนแปลว่า “Long Live Life” (สดุดีชีวา) ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่อเพลงดังของวงดนตรีอังกฤษ Coldplay นอกจากนี้ชื่อนี้ยังมีแรงบันดาลใจมาจากชื่อของภาพวาดของศิลปินหญิงชาวเม็กซิกัน 'ฟรีด้า คาห์โล' ที่เป็นภาพวาดสุดท้ายก่อนเธอเสียชีวิต แตงโมนั้นเหมือนกับชีวิตของเธอตรงที่มันมีเปลือกแข็งที่ถูกสร้างเป็นเกาะคุ้มกันเรื่องร้ายๆในชีวิต แต่ถึงจะมีเปลือกห่อหุ้ม ด้านในก็เผยให้เห็นอีกมุมของชีวิตที่หวานและสดชื่น



        นอกจากชื่อเพลงแล้ว ตัวปกอัลบั้มยังเป็นภาพของงานศิลปะอีกชิ้น Liberty Leading the People (เสรีภาพนำทางชาวประชา) โดย Eugène Delacroix ซึ่งเป็นภาพที่มีแรงบันดาลใจมาจากการปฏิวัติในปี ค.ศ.1830 ที่ประชาชนร่วมกันโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส สอดคล้องกับตัวละครในเพลงที่เคยเป็นกษัตริย์เรืองอำนาจ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นคนธรรมฝันถึงวันวาน เพื่อที่จะสื่อว่าชีวิตของคนเราไม่มั่นคงและเปลี่ยนได้เสมอ


        ตัวภาพวาดเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของการร่วมมือร่วมใจของเหล่าชนชั้นกลางที่ต่อสู้เคียงข้างชนชั้นล่าง มีการใช้สีน้ำเงิน ขาว แดงของธงกองทัพปฏิวัติและธงชาติของฝรั่งเศสในหลายๆจุดขององค์ประกอบภาพ เช่น สีของท้องฟ้าและกลุ่มควัน หรือสีเสื้อผ้าของชายในภาพที่แหงนหน้า งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่สะท้อนยุค Romanticism อย่างชัดเจน ทั้งความเป็นอิสระเเละไม่อยู่ใต้กฏเกณฑ์ของอำนาจ และยังเต็มไปด้วยสเปกตรัมของอารมณ์ความรู้สึกมนุษย์ ตั้งแต่ความกล้าหาญไปจนถึงความสิ้นหวัง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของ France Romanticism


    คริส มาร์ติน (นักร้องนำ) เล่นเป็นราชาตกอับที่ถือภาพวาดนี้ติดตัวไปทั่วเมืองใน MV ฉบับหนึ่งของเพลง

    Vincent - Don Mclean (1972)



        Vincent นั้นมาจาก 'Vincent Vangogh' จิตรกรชาวดัตช์แนว post-impressionist ซึ่งเป็นลัทธิศิลปะหลังยุค impressionist โดยโพสท์อิมเพรชชันนิสต์ยังคงทำงานตามแนวทางอิมเพรชชั่นนิสต์ อย่างการลงสีจัด การใช้ฝีแปรงเด่นชัด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมจำกัดอยู่ในกรอบที่ถูกกำหนดไว้ (เช่น การต้องวาดแสงและสีที่เป็นธรรมชาติและสมจริงเท่าที่จำได้ ซึ่งโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสต์จะเน้นที่การแสดงออกทางจิตวิญญาณและเซอร์เรียลมากกว่า)


        แค่ท่อนแรกของเพลงเปิดมาก็พูดถึง The Starry Night (1889) หนึ่งในผลงานที่เป็นที่จดจำที่สุดของเเวนโก๊ะแล้ว ส่วนเนื้อหาเพลงโดยรวมนั้นเป็นเหมือนกับจดหมายรักให้แวนโก๊ะ การที่เขามองโลกต่างจากคนอื่นและการมีโรคจิตเภททำให้แวนโก๊ะถูกดูถูกและมองข้ามในตอนที่ยังมีชีวิต ผู้ร้อง Don McLean ต้องการจะบอกว่าตนเข้าใจความพยายามและความลำบากของเเวนโก๊ะ และตอนนี้ทั้งโลกยกย่องและเห็นถึงพรสวรรค์ของเขาแล้ว




    Andy Warhol - David Bowie (1971)


         เมื่อสองไอค่อนของโลกมาบรรจบกันในเพลงของ 'เดวิด โบวี่' นักร้อง art pop glam rock ในตำนาน โดยเขาเขียนเพลงถึง 'แอนดี้ วอร์ฮอล' ศิลปินเจ้าของฉายา 'เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต' ซึ่งโบวี่ชื่นชมในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของวอร์ฮอลเป็นอย่างมาก จึงกลายมาเป็นเพลงนี้ ต่อมาโบวี่มีโอกาสได้ร้องเพลงนี้ให้วอร์ฮอลฟังต่อหน้าด้วย แต่ว่ากันว่าวอร์ฮอลไม่ชอบเพลงนี้ (ซะงั้น) 

        เกร็ด: เดวิด โบวี่นอกจากจะเป็นนักร้องแล้วยังเป็นนักแสดงอีกด้วย และเขาเคยเล่นเป็นแอนดี้ วอร์ฮอลในหนังเรื่อง Basquiat (1996) 


        แอนดี้ วอร์ฮอลเป็นศิลปินชาวอเมริกันที่สไตล์งานเป็นที่จดจำจากผลงานแนว Pop Art ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสังคมบริโภคนิยมกับผลงานซิลค์สกรีนหรือภาพพิมม์ซิลก์สกรีนอย่างภาพมารีลิน มอนโรและภาพกระป๋องซุปแคมป์เบล นอกจากนี้ วอร์ฮอลยังสร้างอิทธิพลต่อวงการศิลปะอื่นๆนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะในฐานะนักวาดภาพประกอบ นักออกแบบ แฟชั่นไอค่อน ป๋าดันวงดนตรี The Velvet Underground (ปกอัลบั้มรูปกล้วยเป็นฝีมือของเขา) ผู้จัดคอนเสิร์ต คนทำหนัง และอื่นๆอีกมากมาย


        ตัวผลงานที่ยกมา 4 ชิ้นต่างมีอิทธิพลมาจากศิลปะและศิลปินในคนละสมัยกัน เป็นข้อพิสูจน์ว่าไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปสักเท่าไหร่ เมื่อผู้คนได้ชมผลงานก้องโลกที่ถูกสร้างขึ้นมา มันก็จะไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำของคนทุกยุคสมัย

    เรื่อง : เติมอุ่น

    รายการอ้างอิง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in