เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Curious Mindmissxbar
ซึมเศร้า เหงา อวกาศ : ความท้าทายสภาพจิตของภารกิจนอกโลก
  • ในปี 1976 ปฏิบัติการ Soyuz 21 มีรายงานว่านักบินอวกาศหลายคนได้กลิ่นแสบจมูก อันไม่สามารถระบุหาแหล่งที่มาได้ นำไปสู่การยกเลิกภารกิจในเวลาต่อมา ภายหลังการตรวจสอบไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นเช่นนั้น มีการคาดการณ์ว่าอาจเป็นภาวะประสาทหลอนหมู่

    ปี 1985 ปฏิบัติการ Soyuz T14 ได้มีการยกเลิกภารกิจกะทันหัน รายงานอ้างอิงข้อมูลจากองค์การการบินและอวกาศรัสเซีย ระบุสาเหตุเกี่ยวกับ “ภาวะความแปรปรวนของสภาพจิตใจและความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของนักบินอวกาศ”

    ปี 2001 นักบินอวกาศ Henry Hartsfield Jr. ได้ให้สัมภาษณ์ ถึงภารกิจอวกาศที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปว่า ขณะอยู่บนยานมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง เกิดอาการย้ำคิด และเอาแต่พูดซ้ำๆว่า “แค่เพียงหมุนที่เปิดประตูยานออก แล้วปล่อยไว้อย่างนั้น ก็ทำให้อากาศไหลออกไปข้างนอกจนหมดแล้ว” ทำให้สมาชิกในยานตัดสินใจที่จะล็อคประตูบานนั้นเสีย

    ปี 2007 ที่ลานจอดรถสนามบินในออแลนโด้ Lisa Nowakโดนจับกุมขณะพยายามทำร้ายผู้หญิงคนหนึ่ง โดยต่อมาเจ้าหน้าที่พบอาวุธปืน มีดและค้อนในรถยนต์ของอดีตนักบินอวกาศหญิงในที่เกิดเหตุ เธอจึงต้องต่อสู้ในชั้นศาลด้วยข้อหาที่ร้ายแรงกว่าคือ พยายามฆ่า ข่าวนี้เป็นที่สนใจของสื่อ เนื่องจากเธอเพิ่งเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจบนกระสวยอวกาศ discovery เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้า

    แม้จะไม่เคยมีนักบินอวกาศของนาซ่าออกมายอมรับ แต่สภาวะ Break-off phenomenon นั้นเป็นที่ศึกษาและคาดการณ์ว่าน่าจะเกิดขึ้นกับนักบินอวกาศ “เป็นสภาวะทางจิตที่รู้สึกว่าขาดการเชื่อมต่อกับโลก เมื่อมองลงมาจากอวกาศ ไปจนถึงการไม่สามารถแยกแยะสภาวะจริงเท็จ หรือไม่รับรู้ร่างกายตัวเอง” Jordan Bimm กล่าวอ้างและเทียบเคียงกับภาวะทางจิตที่มีรายงานในกลุ่มนักบินขับไล่ ที่เมื่อบินขึ้นไปในชั้นบรรยากาศสูงแล้ว บางคนเผชิญกับภาวะเสมือนวิญญาณออกจากร่าง

    เมื่อมนุษย์ออกไปใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศเป็นเวลานาน ภาวะไร้แรงโน้มถ่วงส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกาย ตั้งแต่ความหนาแน่นของมวลกระดูกที่ลดลง กล้ามเนื้อฝ่อ ไปจนถึงความดันน้ำในโพรงสมองและความดันลูกตาเพิ่มขึ้น แล้วความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจล่ะ การออกไปปฏิบัติภารกิจในดินแดนที่เวิ้งว้างห่างไกล เพียงลำพังหรือกับเพื่อนนักบินอวกาศเพียงไม่กี่คน และยังเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบสูง จะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพจิตของมนุษย์บ้าง


    นักบินอวกาศ เป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน ในปี 2013 มีผู้ยื่นใบสมัครกว่า 6,100 คนสำหรับ 8 ตำแหน่งที่องค์การ NASA เปิดรับสมัคร ประกาศคุณสมบัติเบื้องต้นของนักบินอวกาศ ที่ระบุให้มีความรู้ความสามารถในสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรม รวมไปถึงสภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ดึงดูดให้อเมริกันชนมากมายสนใจ ในขณะที่องค์การ ESA หรือองค์การอวกาศยุโรป ได้ระบุในประกาศรับสมัครอย่างชัดเจน ว่าไม่อาจรับสมัครบุคคลที่มีโรคประจำตัวทางจิตเวช

    สำหรับนักบินอวกาศนาซ่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้ารับการทดสอบสุขภาพจิต โดยรอบแรกเป็นการสัมภาษณ์เบื้องต้น เพื่อนำมาสู่รอบต่อมาคือ การแบ่งตามลักษณะงานที่ผู้สมัครจะได้รับผิดชอบ ในขั้นนี้ดำเนินการสัมภาษณ์โดยจิตแพทย์

    “บุคลิกสบายๆ มีทักษะทางสังคมที่สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ดี และมีความยืดหยุ่น คือสิ่งที่เรามองหา” Jamie Barret กล่าว เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงบททดสอบทางจิตวิทยา เช่น การทดสอบในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง หรือจำลองสถานการณ์ที่ตื่นเต้น นักจิตวิทยาของนาซ่ายอมรับแต่เพียงว่า เป็นบททดสอบที่ควรมี แต่ไม่สามารถกล่าวลงรายละเอียด ณ ที่นี้ได้

    “บ่อยครั้ง ที่ผมรู้สึกอิจฉาองค์การอวกาศของประเทศอื่น มีการทดสอบหลายอย่างที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับนักบินอวกาศเหล่านั้น ในขณะที่นาซ่าไม่อนุญาต” Kelly Slack กล่าวเสริม แต่ไม่อาจระบุได้ ว่าการทดสอบที่ว่า คืออะไร

    อดีตนักบินอวกาศหญิงและจิตแพทย์ Patricia Santyผู้ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาแบบประเมินสุขภาพจิตของผู้สมัครในยุคนั้น ยอมรับว่า กระบวนการคัดกรองเบื้องต้น ไม่ว่าจะมีประสิทธิภาพดีเพียงใด ก็ไม่อาจทำนายความผิดปกติทางจิตชนิดที่เกิดขึ้นภายหลังได้  “ทางนาซ่าควรให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินสุขภาพจิตเป็นระยะ ทำนองเดียวกับที่มีการตรวจร่างกายประจำปี ไม่ใช่เพียงแค่คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเฉพาะตอนรับสมัครเท่านั้น” เธอกล่าวพร้อมทั้งย้ำความสำคัญของการรักษาความลับของผู้ที่มาร้องขอคำปรึกษา

    องค์การนาซ่าเปิดเผยรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงพฤติกรรมและสุขภาพจิต   รวบรวมตั้งแต่การปฏิบัติภารกิจในช่วงปี 1989-1998 ระบุว่า “ยังไม่มีปัญหาเชิงพฤติกรรมของนักบินอวกาศที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน” (There’s no behavioral emergencies) และปัญหาสุขภาพจิตคิดเป็น น้อยกว่าร้อยละ 2 ของปัญหาสุขภาพทั้งหมด โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก ความกังวลและความรำคาญใจ

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีทั้งมาตรการส่งเสริมสุขภาพจิต ของนักบินอวกาศ ไปจนถึง มาตรการการเตรียมความพร้อมในการรักษา มียารักษาอาการทางจิต ยาต้านซึมเศร้า และยาคลายกังวล อยู่ในหน่วยการแพทย์ของสถานีอวกาศ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่อาจก่อตัวขึ้น มาตรการดังกล่าวรวมไปถึง การกักบริเวณ หากการใช้ยาล้มเหลว

    คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สภาพจิตใจของนักบินอวกาศ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วง ในอนาคตอันใกล้ที่มนุษย์มุ่งหวังที่จะขยายการสำรวจออกไปดาวอังคาร หรือโครงการสำรวจอวกาศของภาคเอกชนอย่าง SpaceX  คำถามอาจจะเป็น เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น “เมื่อไหร่” มากกว่าที่จะเป็นเกิดขึ้น “หรือไม่”

    แต่นอกเหนือจากความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น มี การศึกษา พบว่า นักบินอวกาศจำนวนมากรายงานถึงสภาวะการเติบโตทางจิตวิญญาณ ไปจนถึงการรู้แจ้ง Edgar Mitchell นักบินอวกาศจากภารกิจ Apollo 14 กล่าว ว่า “เมื่อมองลงมาจากดวงจันทร์ ผมรู้สึกว่า ปัญหาอย่างเช่น เรื่องการเมืองระหว่างประเทศนั้นมันช่างเป็นเรื่องเล็กน้อย จนอยากจะจับพวกนักการเมืองขึ้นมาบนนี้ด้วยกันและให้มองกลับไปยังโลกเสียบ้าง” นอกจากนี้เขายังบอกอีกด้วยว่า การมองลงมาจากอวกาศทำให้เขาตระหนักรู้ถึงสภาวะของโลก ผู้คน และรู้สึกอยากทำอะไรสักอย่างที่จะแก้ปัญหาของโลกที่มีอยู่

    Dave wolf เล่าถึงความประทับใจ ของวินาทีที่ได้มองเห็นโลกจากอวกาศเป็นครั้งแรก “เป็นโลกในรูปแบบที่งดงามที่สุด มันไร้พรมแดน และเต็มไปด้วยสรรพสีสันที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้สมบูรณ์ด้วยกล้องถ่ายรูป” นอกจากนี้ เขาได้บรรยายถึงความรู้สึกยามได้ปฏิบัติภารกิจภายใต้ชุดนักบินอวกาศ โดยมีสายเชื่อมโยงตัวเขากับยานอวกาศ เพื่อนนักบินอวกาศชาวรัสเซียและเขา ต่างใช้เวลาช่วงนั้นอยู่ในโลกส่วนตัวของตนเอง “เมื่อดับไฟที่ส่องสว่างจากชุดลง ตัวคุณล่องลอยอย่างอิสระในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงและมองออกไปยังอวกาศที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีทิศบนล่าง  รายล้อมด้วยหมู่ดาวมากมาย มันเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง”

    สถิติของมนุษย์ที่อยู่ในอวกาศยาวนานที่สุดติดต่อกัน ได้แก่ 438 วันบนสถานีอวกาศรัสเซียของ Valerie Polyakov หรือหากนับรวมสถิติจากภารกิจทั้งหมดได้แก่ นักบินอวกาศร่วมชาติ Gennedy Padalkaกับสถิติรวม 879 วันจากภารกิจทั้ง 5 ครั้งของเขา

    ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วนึกสงสัยว่า ตอนนี้มีมนุษย์กี่คนที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลกกันนะ สามารถเข้าไปดูอัพเดทแบบวันต่อวันได้ที่ How many people are in space right now? หรือจะดาวน์โหลดเป็นแอพลิเคชั่นมาเลยก็มีนะ สำหรับตัวเลขล่าสุดคือ 6 คนค่ะ

    รูปภาพ featured image จาก nasa.gov

    เว็บไซต์ในลิงค์อ้างอิง ดูเพิ่มเติมใน hyperlink จากบล็อก :

    https://missxbar.wordpress.com/2018/05/27/ซึมเศร้า-เหงา-อวกาศ-ความ/

    ขอบคุณข้อมูลจาก : https://blogs.scientificamerican.com/guest-blog/mental-health-in-outer-space/

    https://www.medicaldaily.com/psychological-effects-year-space-what-scott-kelly-and-mikhail-kornienko-can-expect-333292

     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in