37 Seconds หนังที่ถ่ายทอดความรู้สึกของผู้พิการในสังคม
หนังญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดชีวิต และปัญหาของคนพิการในสังคมญี่ปุ่นเรื่อง 37 Seconds เป็นผลงานการกำกับภาพยนต์ของผู้กำกับหญิงที่ใช้ชื่อสั้น ๆว่า ฮิคาริ ได้รับเลือกให้เข้าฉายในสาย Panorama Audience Award เทศกาลหนังนานาชาติเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในปี ค.ศ.2019 และสามารถคว้ามาได้ถึง 2 รางวัลคือ รางวัลขวัญใจผู้ชมประเภทหนังที่สร้างจากเรื่องแต่ง และรางวัล C.I.C.A.E. หรือรางวัลจากสหพันธ์โรงหนังอาร์ตเฮาส์นานาชาติ และได้รับเชิญให้เข้าฉายในอีกหลายเทศกาล
ความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ตัวนักแสดงหลักซึ่งเป็นผู้พิการจริง ๆ มารับบทนำในเรื่อง นอกจากนี้ยังได้มีการสัมภาษณ์ความเห็นของผู้พิการในญี่ปุ่น รวมไปถึง เมอิ เด็กสาวที่เป็นนักแสดงนำในหนังเรื่องนี้ มุมมองของเธอได้ถูกนำไปใช้และปรับเปลี่ยนจากบทดั้งเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อให้หนังถ่ายทอดปัญหาของคนพิการในประเทศได้ตรงมากที่สุด
37 Seconds เป็นเรื่องราวของยูมะ เด็กสาวอายุ 23 ปีที่ป่วยเป็นโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นกับทารก สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อ การทรงตัวและการเคลื่อนไหวร่างกาย
ยูมะอาศัยอยู่กับแม่สองคน เธอมีอาชีพเป็นผู้ช่วยนักวาดมังงะ (漫画 : มังงะ หมายถึงการ์ตูนที่ไม่ได้มีความจำกัดความแค่ในประเทศญี่ปุ่น แต่เป็นการ์ตูนทุกเรื่องที่มีการดำเนินเรื่องราว มีภาพประกอบ นับว่าเป็นมังงะทั้งหมด) โดยเธอนั้นมีความฝันที่จะมีผลงานเป็นของตัวเอง ทว่าเมื่อลองส่งต้นฉบับไปแล้วกลับถูกหาว่าลอกเลียนแบบ เนื่องจากผลงานของเธอมีลายเส้นที่คล้ายกับซายากะ เพื่อนที่เป็นนักวาดมังงะชื่อดังของเธอมากไป โดยที่ไม่มีใครรู้ความจริงที่ว่าผลงานของซายากะทั้งหมด ยูมะเป็นคนทำทั้งหมด หลังถูกปฏิเสธ ยูมะคิดได้ว่าไม่อยากเป็นเงาให้เพื่อนสนิท คอยรับเงินเดือนอันน้อยนิดและถูกเอาเปรียบอีกต่อไป จึงตัดสินใจหันมาสนใจการวาดมังงะแนว Hentai (มังงะหรืออนิเมะแนวหนึ่งที่มีลักษณะลามก จำกัดอายุผู้ชมตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) เพื่อให้แตกต่างจากงานที่เธอเคยวาด ยูมะส่งผลงานของเธอให้กับนิตยสาร แต่กลับถูกบรรณาธิการบอกว่าฉากร่วมเพศที่เธอวาดนั้นมันไม่สมจริงก่อนจะแนะนำว่าให้ลองมีประสบการณ์แบบนั้นดูจริง ๆ และนั่นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเธอและแม่
แอบก้าวออกจากกรอบ
ยูมะในวัย 23 หันมาสนใจเรื่องเพศตรงข้าม เธอติดต่อกับเพื่อนชายแปลกหน้าในอินเทอร์เน็ตโดยที่ไม่ให้แม่รู้ ยูมะพยายามทำให้ทุกคนเห็นว่าเธอไม่ได้แตกต่าง แสงไฟในโตเกียวยามค่ำคืนกับสถานที่ที่เธอไม่เคยเห็นทำให้ยูมะรู้สึกเหมือนตัวเองก้าวเข้ามาอีกโลก ในโลกนี้เธอได้ลองใช้ชีวิตในแบบของผู้ใหญ่ และด้วยเหตุนั้นทำให้เธอรู้จักกับ มาอิ หญิงขายบริการที่บังเอิญเจอกันในคืนหนึ่งหลังเธอให้บริการลูกค้าที่โรงแรมเสร็จ ยูมะขอให้มาอิช่วยสอนเธอเกี่ยวกับการเป็นผู้ใหญ่ นั้นทำให้ยูมะได้เห็นโลก ได้เรียนรู้ในสิ่งที่แม่ไม่เคยสอนเธอ
จากอวกาศ ชีวิตมนุษย์น่ะ เป็นเหมือนแค่ชั่วพริบตา บางครั้งฉันก็คิดว่า ฉันเป็นแค่หนึ่งในการทดลองของพวกเขา เหมือนกับโครงงานวิทยาศาสตร์
ประโยคในเรื่องกล่าวโดยยูมะ ขณะที่เธอมองโตเกียวยามค่ำคืนผ่านกระจกข้างรถ แสงไฟเหล่านั้นดูคล้ายกับเอเลี่ยนและเธอรู้สึกเหมือนว่าพวกมันกำลังจับตามองเธออยู่ตลอดเวลา ผู้พิการในสังคมเองก็มักจะถูกทำให้แปลกแยก ถูกจ้องมองอยู่ตลอด แม้คนเหล่านั้นจะสามารถดำรงชีวิต มีอาชีพเป็นของตัวเอง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ถูกจำกัดด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องมีคนคอยดูแลหรือเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ที่แม้แต่ตัวยูมะเอง เธอยังไม่รู้เลยว่าเธอจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนคนทั่วไปหรือเปล่า
ตุ๊กตากับลูกสาวที่พิการ
ในเรื่อง แม่ของยูมะมีอาชีพขายตุ๊กตา หลายครั้งมุมกล้องในภาพยนตร์มีการตัดสลับภาพตุ๊กตากับยูมะ ในเชิงสัญลักษณ์ ยูมะเปรียบเหมือนตุ๊กตาที่ต้องมีแม่คอยดูแล อาบน้ำ แต่งตัวให้ จนเธอรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง การเห็นโลกมากมายทำให้ยูมะไม่ต้องการมีชีวิตแบบเดิม เธอต้องการค้นหาคำตอบให้กับชีวิต การมีอยู่ของเธอเป็นเรื่องแปลกแยกและเธอจะไม่มีวันมีชีวิตที่ปกติได้อย่างที่แม่บอกจริงหรือ วันที่เธอตัดสินใจหนีออกจากบ้าน เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ตุ๊กตาของแม่อีกแล้ว
ในช่วงท้ายของเรื่อง ยูมะเดินทางมาตามหาพี่สาวฝาแฝดชื่อยูกะที่ประเทศไทย การได้พูดคุยกับพี่สาวฝาแฝดที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนทำให้เธอฉุกคิดได้ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่และการเป็นคนพิการในสังคม ตลอดทั้งเรื่อง หนังพยายามทำให้คนดูมองว่าคนพิการไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ทั้งที่ในหลาย ๆ สถานการณ์มันก็ถูกจำกัดไปแล้วตั้งแต่แรก แม้จะไม่อยากให้แม่ทำเหมือนเป็นเด็ก แต่สุดท้ายยูมะก็ต้องการใครสักคนมาพาเธอลุกขึ้นจากอ่างอาบน้ำ ยังต้องการคนช่วยเข็นเธอข้ามทางรถไฟ แต่ถึงอย่างนั้นยูมะก็ไม่ได้รู้สึกแย่กับตัวเองหรือคิดว่าตัวเองไม่มีค่าอีกต่อไป ดังที่ตอนท้าย เธอได้กล่าวกับโทชิยะ ชายหนุ่มที่อาสาดูแลเธอตลอดการเดินทาง
แค่ 37 วินาทีที่ฉันไม่ได้หายใจหลังจากคลอด ถ้าฉันเกิดก่อน ยูกะอาจเป็นเหมือนฉัน ถ้าฉันเริ่มหายใจเร็วกว่าเดิมแค่หนึ่งวินาที ฉันก็อาจจะได้มีชีวิตที่เป็นอิสระเหมือนเธอ แต่ว่า ฉันดีใจที่ฉันเป็นฉัน
เรียกได้ว่าหนังเรื่อง 37 Seconds ทำออกมาได้ดีในแง่การสะท้อนภาพสังคมผ่านมุมมองของคนพิการ ตัวหนังไม่ได้มีจุดสุดยอดให้ตื่นเต้น แต่เน้นเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ให้ผู้ชมค่อย ๆ ซึมซับความรู้สึกของเด็กสาวพิการคนหนึ่งว่าเธอมีชีวิตอย่างไร และใช้ชีวิตแบบไหน เกิดอะไรขึ้นรอบตัวเธอ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของแม่ลูกที่สามารถพาผู้ชมให้อินร่วมไปได้อย่างง่าย ๆ จากการฝีมือการแสดงของนักแสดงนำ แม้ว่าในตอนจบ คำพูดที่ว่า คนเราพิการหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่ใจ จะไม่ได้ถูกทำให้เห็นคำตอบเรื่องนี้ชัดเท่าที่ควร แต่ก็ทำให้เป็นคำถาม และให้คนดูได้ขบคิดกันต่อไป
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in