เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บทความLPOOJ
วางผังเมือง สะเทือนถึงฟรีแลนซ์
  •      ภาพยนตร์ไทยในปี 2558 ลำดับรองสุดท้ายก่อนที่ค่ายหนังใหญ่แห่งบ้านเราอย่าง gth จะแยกตัวกันออกมา โดยกวาดรายได้ไปประมาณ 86 ล้านบาท นับเป็นกระแสตอบรับที่ดีสำหรับภาพยนตร์ไทย ที่ได้ผสมผสานความเป็นกระแสหลักและนอกกระแสอย่างลงตัว ภายใต้งานกำกับของ "นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์"

         "ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ" ภาพยนตร์ลำดับที่สี่ของ นวพลธำรงรัตนฤทธิ์ ประเภทโรแมนติก เรื่องราวของ ยุ่น กราฟิกดีไซน์หนุ่มสังกัดอิสระ ทำงานหนักจนมีผื่นขึ้นตามตัว เลยต้องไปโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง จนได้พบกับ หมออิม แพทย์ผิวหนังฝึกหัด และเกิดอาการตกหลุมรัก... ซึ่งเบื้องหน้าอาจแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของทั้งสองอาชีพ ที่เวลาหรือลักษณะของการทำงานช่างไม่เข้ากันเสียด้วยซ้ำ จนเกิดเป็นการเล่าเรื่องสร้างความบันเทิงได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง และเรื่องราวของ ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ เกิดขึ้นในบริบทของสังคมเมืองใหญ่ เมื่อสังเกตและลองนำแนวคิดทฤษฎีเมือง (Urban Theory) โดยใช้ 4 แนวทางหลักมาวิเคราะห์ควบคู่กันไป อาจมีบางจุดเชื่อมโยงที่คล้ายคลึงกัน


    ภ.ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (Heart Attack)
    •      ทฤษฎีความขัดแย้งของเมือง (Urban Conflict Theory) มีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่องอำนาจที่ไม่ได้สัดส่วน ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้น อย่างชนชั้นแรงงานรู้สึกว่าการทำงานของพวกเขาทำให้ชนชั้นสูงเกิดความมั่งคั่ง แต่ชนชั้นสูงกลับเป็นผู้มีอำนาจต่อรอง ชนชั้นแรงงานจึงกลายเป็นผู้ถูกกดขี่ทางสังคมจากชนชั้นสูง


         และด้วยฟังก์ชั่นของเมืองใหญ่ยังสร้างความแตกต่างในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณูปโภค ความปลอดภัย ทางเท้า อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงห้องเช่าหรือสลัม คุณภาพชีวิตล้วนถูกแบ่งตามชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ สภาพแวดล้อมของเมืองเกิดขึ้นบนความขัดแย้งของชนชั้น ที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของเมือง ชนชั้นแรงงานเริ่มอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองใหญ่ เป็นการปฏิวัติเพื่อช่วยให้อยู่รอด


    ภายในสลัมและประชากรที่อยู่อย่างแออัด ลอนดอน ศตวรรษที่ 19

         คุณภาพชีวิตภายใต้ความขัดแย้งของเมือง ถูกถ่ายทอดค่อนข้างเด่นชัด ผ่านการเล่าเรื่องของตัวละครหลักอย่าง ยุ่น ฉากที่ยกมาเปรียบเทียบได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น การที่ยุ่นเริ่มป่วย จึงตัดสินใจอย่างรวดเร็วด้วยการไปหาหมอที่โรงพยาบาลของเอกชน ยุ่นได้รับการบริการในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมาก มีการวินิจฉัยโรคและจ่ายยาที่ค่อนข้างสะดวกรวดเร็ว แต่แลกมากับค่าใช้จ่ายที่หมดไปราว 7,000 บาท และเมื่ออาการยังต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ยุ่นต้องไปหาหมออีกครั้งแต่ไม่อยากเสียเงินเยอะเท่าครั้งแรก ยุ่นเลือกที่จะใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ได้พบกับหมออิม ซึ่งขั้นตอนของโรงพยาบาลของรัฐนั้น แทบจะเหมือนกับโรงพยาบาลเอกชนทุกขั้นตอน ต่างกันในเรื่องของค่าใช้จ่าย แต่ต้องแลกมาด้วยการสูญเวลาไปกับการต่อแถวรอรับบริการอันยาวเหยียด จากคนนับหลายร้อยซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมาจากชนชั้นแรงงาน ที่มีกำลังเงินพอที่จ่ายไหวสำหรับการรักษาด้วยโรงพยาบาลของรัฐ หรือต้องพึ่งพาตัวช่วยอย่างประกันสุขภาพและประกันสังคม


    ความแตกต่างของสถานที่ทั้ง 2 แห่ง ที่มีประเภทของการให้บริการที่เหมือนกัน
    •      ทฤษฎีนิเวศวิทยาเมือง (Urban Ecology Theory) เริ่มจากการศึกษารูปแบบสังคมในเมือง ที่เกิดจากผู้ที่อยู่อาศัย กล่าวคือ รูปแบบวัฒนธรรมเมืองที่นักนิเวศวิทยาเมืองค้นพบ เป็นการปฏิบัติต่อกันมาเป็นประจำ ตามความเคยชินของชาวบ้าน ทั้งกรรมกรผู้ใช้แรงงาน (blue-collar) หรือพนักงานบริษัท (white-collar)


         การศึกษาปรากฏการณ์วัฒนธรรมเมืองแบบดั้งเดิม เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสังเกต จนนักสังคมศาสตร์ได้พบว่า เสื้อผ้าแสดงความเป็นเอกภาพของการจ้างงานในสภาพแวดล้อมเมือง เนื่องจากเสื้อผ้าแสดงถึงอาชีพ แม้ไม่ได้แบ่งแยกคนทำงานกับผู้จัดการ นอกจากนี้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมืองเป็นมุมมองในเรื่องของแฟชั่น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คาดได้ว่า ผู้คนเหล่านั้นเป็นคนทำงานในย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ ทำงานตามบ้าน ทำงานเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น


    การแต่งกายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมเมือง วัฒนธรรมจัดอยู่ในระบบนิเวศเมือง

         การแบ่งโซนของที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมรอบบริเวณนั้นๆ คืออีกวัฒนธรรมเมืองที่ถูกหลอมรวมไปกับระบบนิเวศของเมืองใหญ่ ในภาพยนตร์สามารถสังเกตได้จากเดินทางของยุ่น ที่ต้องแวะเวียนไปยังสถานที่ต่างๆเป็นประจำระหว่างดำเนินเรื่อง เช่น โรงพยาบาลที่ยุ่นต้องไป, ร้านอาหารที่ยุ่นและเจ๋นั่งคุยงานกัน, สถานที่ออกกำลังกาย, บริษัทที่ยุ่นและเจ๋ต้องส่งงานลูกค้าในฐานะฟรีแลนซ์ ไปจนถึงละแวกที่พักของยุ่นเอง จึงเริ่มเห็นรูปแบบของวัฒนธรรมเมืองที่ปฏิบัติต่อกันมาระหว่างชนชั้น อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องความขัดแย้งของเมือง ผ่านการเดินทางของตัวละคร

         หากลองแบ่งวัฒนธรรมการแต่งการของตัวละคร กลุ่มอาชีพอิสระดูจะมีแฟชั่นที่เป็นเอกเทศน์ที่สุด เพราะด้วยลักษณะของการทำงานที่ไม่ได้อยู่ในกรอบหรือระเบียบขององค์กร หรือส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในที่พักของตนเอง จึงค่อนข้างมีอิสระในการเลือกเครื่องแต่งกาย ต่างจากอาชีพอื่นๆที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง เห็นได้ชัดว่าอยู่ภายใต้กฏระเบียบขององค์กร หรือยึดตามกรอบของสังคมและปฏิบัติต่อกันมา


    -หมออิม แต่งกายเครื่องแบบของโรงพยาบาล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
    -พี่สุชาติ สวมเสื้อกั๊กของวิน ตามระเบียบกฏหมาย
    -ไก่ แต่งกายเครื่องแบบพนักงานร้านสะดวกซื้อ เป็นภาพลักษณ์องค์กร
    •      ทฤษฎีความยุ่งเหยิงของเมือง (Urban Anomie Theory) ถูกสันนิษฐานว่าการใช้ชีวิตที่อึดอัดเกินไปในเมือง ทำให้เกิดความเครียดในแต่ละคน นำไปสู่การปรับตัวโดยแยกตัวเองออกจากคนอื่นๆ และกลายเป็นเหตุผลที่ต้องคำนึงถึงในการใช้ชีวิต ความแตกต่างทางสังคมที่เพิ่มขึ้นจากความหนาแน่นของประชากรและการแย่งงาน ชีวิตในเมืองมีความยุ่งเหยิงทางสังคมเพิ่มขึ้นและความเป็นส่วนตัวลดลง ความอึดอัดใจกับการใช้ชีวิตในเขตชนบท การใช้ชีวิตอย่างเสรีในเมืองมีผลต่อกลุ่มและปัจเจกชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลลัพธ์ของวัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมของเมืองสร้างความห่างเหินทางสังคม


    สภาพแวดล้อมรอบตัวส่งผลกระทบ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกและอารมณ์ที่เย็นชา

         ประเด็นนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ในภาพยนตร์ค่อนข้างชัดเจน ตั้งแต่องก์แรกของเรื่อง ที่เผยให้เห็นตารางงานของยุ่นอัดแน่นบนปฏิทิน และความรู้สึกเสียเวลาที่ต้องมารอตรวจโรคตั้งแต่เช้า ใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ถึงขั้นเสียงความคิดของยุ่นได้เปรียบเทียบแดกดันไว้ว่า เอาเวลาไปทำงานได้ตั้งเยอะ ทำให้เรารับรู้ถึงความกดดันตัวเอง ภายใต้ภาระหน้าที่ของตัวละครที่ยืดหยัดอยู่ในสังคมเมืองที่มีการแข่งขันสูง

         message ข้างต้นถูกย้ำให้ชัดเจนขึ้นผ่านบทสนทนาระหว่างตัวละคร ในฉากที่หมออิมขอซักประวัติคนไข้เพิ่มเติม ทำให้เราได้ทราบถึงพฤติกรรม ลักษณะนิสัย ทัศนคติที่มีต่องานและสังคม ความเครียดจากการทำงานอาจส่งผลให้ยุ่นดูเหมือนคนเย็นชา ละเลยต่อการดูแลสุขภาพ จนทำให้หมออิมสามารถวินิจฉัยอาการของโรค ทำให้ยุ่นพูดออกมาว่า "นี่หมอรู้เรื่องของพบเกือบทั้งชีวิตแล้ว"


    ไม่ว่าตารางงานจะแน่นตลอดทั้งเดือนหรือว่างสัก 1 สัปดาห์ คนทำงานหนักแบบยุ่นก็รู้สึกกดดันเช่นเดิม
    •      ทฤษฎีวัฒนธรรมเมือง (Urban Culturalist Theory) ความสัมพันธ์ภายในเมืองใหญ่ เพื่อนบ้าน หรือ สภาพแวดล้อมการทำงาน ทำให้ชาวเมืองใช้ชีวิตแตกต่างกันในสังคมโลก นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่กลมกลืนกับเพื่อนบ้านทางสังคม การทำงาน และความเป็นครอบครัวในสังคมโลก อันนำไปสู่ผลผลิตทางวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเพลงคลาสสิกในทุกๆ เมืองในสหรัฐอเมริกา วงออเคสตราเพื่อแสดงดนตรีคลาสสิก เป็นผู้สร้างสรรค์สังคมโลกเพื่อผลิตวัฒนธรรมใหม่ รวมถึงสถาบันต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญภาษาในการสื่อสาร เป็นบรรทัดฐานที่นำไปสู่สังคมโลก สถาบันเหล่านี้ คือตัวอย่างของการสร้างวัฒนธรรมเมือง


         สืบเนื่องจากความยุ่งเหยิงของเมือง ทำให้เราเห็นว่า ตัวละครยุ่นเป็นคนที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใครหรือชอบเข้าสังคม จนมีเพื่อนแบบนับคนได้ ฉากวาดฝันงานศพของตัวเอง เผยให้เห็นรายชื่อแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกจากคนที่ทำงานหนักอย่างยุ่น ที่มีต่อบุคคลที่เขารู้สึกว่าเป็นเหมือนครอบครัว อีกทั้งยังจินตนาการให้วง Triumph Kingdom มาร้องเพลง ผ้าเช็ดหน้า ในงานศพของตัวเอง ซึ่งเป็นวงและเพลงที่นับว่ามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมบ้านเราในช่วงปี 2542 หากสังเกตให้ดี จะเห็นตัวละครยืดใส่เสื้อยืด "dojo city" นั่นก็คือค่ายเพลงของวง Triumph Kingdom นั่นเอง.


    วัฒนธรรมทางดนตรี หนึ่งในวัฒนธรรมเมืองที่มีอิทธิพลต่อตัวละคร



    อ้างอิงข้อมูลจาก
    Tha Prachan Interdisciplinary Review (http://tpir53.blogspot.com/2011/05/1.html)
    และภาพยนตร์ ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Fernary (@fb6277895240152)
เอ๊าา เคยอ่านใน storylog มาเจอที่นี่อีกแล้ว 5555 สวัสดีค่ะ
LPOOJ (@LPOOJ)
@fb6277895240152 555 เรื่องเดิม เพิ่มเติมรูปประกอบ