เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความรู้ทางกฎหมายPhubed Pisanaka
บทบาทและแนวทางของ พรบ.คอมฯ กับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • นายภูเบศ พิศนาคะ

    เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดอันเป็นผลสืบเนื่องจากการมีระบบ
    อินเตอร์เน็ท ซึ่งทำให้ทุกคนบนโลกที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบนี้ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในระบบได้ ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้ข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการเรียนรู้นั้นแทบจะสิ้นไป ทุกคนสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในสิ่งที่ต้องอยากรู้ และพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลาแค่เพียงเข้าระบบอินเตอร์เน็ทได้

    สังคมออนไลน์ก็เป็นผลจากการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ท ทำให้ผู้คนแม้จะอยู่ห่างไกลก็สามารถพูดคุยกันได้แบบทันทีทันใด สามารถแบ่งปัน ข้อมูล หรือประสบการณ์ต่างๆผ่านพิื้นที่ส่วนบุคคลของตน (Profile) ได้ โดยตัวอย่างของสังคมออนไลน์ที่นิยมเช่น เฟสบุ๊ค

    เฟสบุ๊ค ถือเป็นสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก ผู้ใช้งานรวมกันมีถึง 1 พันล้านบัญชี โดยล่าสุดได้มีการประมูล Feature ใหม่ คือ เฟสบุ๊ค ไลฟ์ (Facebook Live) ซึ่งเปิดช่องทางให้ผู้ใช้เฟสบุ๊คสามารถถ่ายทอดสดใดๆก็ได้ ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ของตนเอง โดยการถ่ายทอดสดนั้น อาจจะถ่ายทอดสดเฉพาะหน้าส่วนตัวของตนเอง ถ่ายทอดสดผ่านเพจ หรือถ่ายทอดสดผ่านกลุ่มของตนก็ได้

    สำหรับเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันนั้น แน่นอนว่าจากการเข้ามามีบทบาทของระบบอินเทอร์เน็ต ย่อมทำให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามีสูงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งละเมิดกันได้ง่ายๆดังที่เราเห็นกันเป็นปกติ เป็นต้นว่าดูหนังออนไลน์ฟรี
    ดูฟุตบอลสดๆฟรี หรือแม้แต่การจำหน่ายสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าก็เช่นกัน โดยปกติแล้วการจำหน่ายสินค้าปลอมหรือเลียนแบบเรื่องหมายการค้ามักจะมีการเปิดเป็นหน้าร้าน แผงลอย โดยเป็นการเสนอขายหรือจำหน่ายให้ประชาชน แต่ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีการตรวจตรา และจับกุม กับผู้ที่กระทำการละเมิดเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เป็นประจำ ทำให้ผู้ละเมิดเหล่านี้ย้ายช่องทางการจำหน่าย จากหน้าร้าน แผงลอยที่สุ่มเสี่ยงต่อการถุกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ไปยังเว็บไซต์ ทางเฟสบุ๊ค หรือทาง
    อินสตราแกรมแทน และรูปแบบในปัจจุบันที่เป็นรูปแบบใหม่คือจัดจำหน่ายประเภท ประมูลสินค้าผ่านทางเฟสบุ๊ค ไลฟ์

                                              ตัวอย่างการละเมิดเครื่องหมายการค้าผ่านทางเฟสบุ๊ค ไลฟ์

    ปัจจุบัน ร่างแก้ไข พรบ.คอมพิวเตอร์ (ฉ.30 กันยายน 2559) นั้นได้เปิดช่องทางให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น นอกเหนือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฯ เพื่อให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบได้ ซึ่งส่งผลให้พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เริ่มมีบทบาทในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

    "มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังต่อไปนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
    (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิด ตามพระราชบัญญัตินี้
    (2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
    (3)ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้หรือกฎหมายอื่นซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอ......
    .......ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วนพนักงานเจ้าหน้าที่จะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งไปก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก็ได้แต่ต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบโดยเร็ว"

    อนึ่ง ณ ที่นี่ ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องของรายละเอียดในมาตรา 20 ในส่วนของที่ Single Gateway ที่เป็นเรื่องของกระบวนการในการจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูล

    ความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไรบ้าง ?

    ความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญานั้นได้แก่ความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายสิทธิบัตร กฎหมายเครื่องหมายการค้า รวมทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 - 275

    ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 20 แห่ง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับการ กระทำความผิดอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ในที่นี้คือพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา/ตำรวจ ปอศ.) โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี (กระทรวงดิจิทัลฯ) สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฯ
    (ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ) เพื่อให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบได้ และนอกจากนี้ยังมีการบัญญัติต่อไปอีกด้วยว่า ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน.....พนักงานเจ้าหน้าที่จะืย่นคำร้องพร้อมพยานหลักฐานต่อศาลไปเลยก็ได้ แต่ต้องรายงานให้      
    รัฐมนตรีฯทราบโดยเร็ว


    เราอาจสรุปได้ว่า พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เราอาจจะได้เห็นในเร็ววันนี้ ให้ความสำคัญกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยเช่นกันในระดับหนึ่ง เนื่องจากว่าการละเมิดดังกล่าวเป็นการอาศัยคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าแท้จริงแล้วกฎหมายดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นกฎหมายที่อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติได้ เนื่องจากว่าหน่วยงานที่มีอำนาจในการป้องปรามเรื่องนี้โดยตรงนั้นได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ซึ่งการที่จะต้องรายงานหรือต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลหรือในกรณีที่ขอคำสั่งศาลเองแล้วรายงานให้รัฐมนตรีฯทราบภายหลังอาจจะเป็นการยุ่งยาก ซึ่งถ้าเป็นกรณีเว็บไซต์ทั่วๆไปที่เปิดขายนั้น อาจไม่เป็นปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญคือ การสั่งระงับเผยแพร่ Facebook Live ที่เป็นกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพยนตร์ ซีรีย์ หรือฟุตบอลสดมาเผยแพร่ รวมทั้งกรณีที่มีการไลฟ์จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจากการสังเกตจะเห็นได้ว่าโดยมากมักจะไลฟ์สดกันตอนกลางคืน เป็นระยะเวลา 20 นาที - 3 ชั่วโมง ดังนั้น
    จึงเห็นว่าควรมีการลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งได้แก่สังคมออนไลน์ทั้งหลาย ในการจัดทำช่องทาง Fast Track กล่าวคืออาจจะกำหนดให้ Authorized Goverment Account (เพื่อให้สามารถทราบได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่คนใดใช้งาน โดยกำหนดให้ใช้งานได้เฉพาะการรายงานการละเมิดต่างๆที่อยู่ในอำนาจของหน่วยงานของตนได้เท่านั้น) สามารถแจ้งเรื่องไปยังช่องทาง Fast Track ที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถจัดการระงับการเผยแพร่ออกอากาศได้ทันท่วงที 

    พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ นับว่ามีพัฒนาการที่ดีในด้านของการจัดการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ทว่าเนื่องจากไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ดังนั้นอาจจะเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน อาจจะดูดีในเชิงทฤษฎีแต่ทางปฏิบัติอาจจะไม่ได้ผลก็เป็นได้