รถไฟฟ้า / ไร่กาแฟ / เด็กฝึกงาน
นี่เป็นบทความแรกของ ‘ผม’ ซึ่งเป็นเด็กฝึกงานหน้าที่ของผมก็คือต้องมาเขียนบทความนี้เรื่องของเรื่องก็คือตัวผมนั้นได้เข้ามาฝึกงานกับ iCARE และด้วยความบังเอิญตรงที่เขาได้จัดกิจกรรมพานักศึกษาไปเที่ยวไร่กาแฟที่เชียงรายพอดีเยี่ยมที่สุด ผมได้ไปฟรี! แต่มีข้อแม้ว่ากลับมาต้องมาเขียนบทความรีวิว นั่นหมายถึงบทความนี้จะมีแค่รูปสวยๆและคำบรรยายว่ามันเจ๋งแค่ไหน เปล่า... ผมคิดว่าคนที่ไปด้วยคราวนั้นก็ทำกันมาหมดแล้วลงรูป บรรยายความรู้สึกและในเมื่อได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ผมคิดว่าคนอ่านน่าจะได้อะไรบ้างไม่มากก็น้อยมากๆ หรือข้ออ้างอีกอย่างหนึ่งก็คือผมขี้เกียจนั้นเองผมจึงขอเล่าเรื่องของผมผสมกับเรื่องที่เขาให้ผมเขียนแล้วกัน แน่ล่ะ บอกไว้ก่อนเลยว่าบทความนี้มีผลประโยชน์แอบแฝง นั่นคือคะแนนการฝึกงานของผมหากว่าเกรดเฉลี่ยของผมไม่ได้มีผลต่อความมั่นคงของชาติและจะเป็นการขอบคุณมากหากเปิดใจลองอ่านดูครับ เอาล่ะ เริ่มกัน...
ผมตื่นขึ้นบนรถตู้ราว 6 โมงเช้า มองออกไปนอกหน้าต่าง เป็นเส้นทางบนภูเขาสักที่พี่ในรถบอกว่าถึงเชียงรายแล้ว เหม่อมองไปตามทางพักหนึ่งภาพที่ตัวเองไม่ได้เห็นมานานแล้วตั้งแต่อยู่ในกรุงเทพฯภาพต้นไม้ใหญ่สไลด์ผ่านไปตลอดทาง ตัดกับท้องฟ้าสีคราม ฟ้าโปรงไร้เมฆ เมื่อลงจากรถตู้เพื่อต่อรถขึ้นเขาไปต่อยังไร่กาแฟกลิ่นอากาศบริสุทธิ์พัดโชยเข้าปอด อากาศที่เมื่อสูดดมเข้าไปแล้วให้สำนึกว่าเป็นมวลอากาศที่ประกอบด้วยออกซิเจน 2 อะตอมอย่างแน่นอนลมเย็นโบกพัดผ่านร่างรู้สึกได้ว่าฤดูหนาวยังไม่ตายลับไปจากสยามประเทศอย่างน้อยก็ในเชียงราย
รถกระบะพาทีมงานและเหล่าวัยรุ่นมุ่งตรงขึ้นไปยังไร่กาแฟ ไร่กาแฟที่จะไปคือไร่กาแฟอินทรีย์รักษาป่า‘มีวนา’ รถกระบะ 5 คันฝ่าเส้นทางหุบเขาขึ้นไปเรื่อย ผ่านไร่ข้าวโพดสวยสดสีเหลืองอร่ามไปทั่ว มีฉากหลังเป็นเนินเขา แสงแดดส่องผ่านแง้มออกมาจากหุบเขาสาดส่องไปทั่วพื้นไร่ให้ความรู้สึกอบอุ่นแบบบอกไม่ถูกเหมือนได้อยู่ในฉากของแอนิเมชั่นเรื่อง Totoro ไม่มีผิดผมเก็บภาพนั้นไว้ไม่ทัน ที่โคนต้นไม้มีบางอย่างผิดแปลกไป ป้ายฟิวเจอร์บอร์ดสีแดงสดถูกปิดบนโคนต้นไม้บนป้ายเป็นรูปสาวสวย ยิ้มงามหมดจด กับข้อความบรรยาย ‘เงินด่วนทันใจได้มากกว่าดอกเบี้ยต่ำ’ป้ายนี้ทำลายความสมบูรณ์ของเฟรมภาพที่ผมกำลังจะถ่ายไปในทันที ความคิดแรกคือ บนภูเขาแบบนี้แม่งยังจะกู้เงินกันอีกหรอวะ? รถเคลื่อนผ่านเขตหมู่บ้านไร่ข้าวโพด ขึ้นไปยังพื้นที่ป่าทางขึ้นเป็นกรวดทรายสีน้ำตาล รายล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ นานา พันธุ์รถเคลื่อนตัวให้ความรู้สึกเหมือนได้นั่งเก้าอี้ในตู้เกมสามมิติแต่ทว่านี่เป็นของจริง ราวชั่วโมงครึ่ง เราก็ถึงไร่กาแฟ
ตลอดสามวันบนหุบเขาผมพูดกับคนรอบข้างแทบจะนับคำได้อาการหวัดแบบฉับพลันทำให้รู้สึกไม่อยากพูดคุยกับใครนักแต่ยังไงก็ต้องเดินหน้าทำงานต่อ ผมได้รับตำแหน่งเป็นช่างภาพ กล้อง DSLR ขนาดความคมชัด16 ล้านพิกเซลเป็นอาวุธประจำตัว ผนวกกับความไม่สบายแล้วก็อาจเรียกได้ว่าผมเป็นกล้องวงจรปิดหายใจได้เดินตามเก็บภาพผู้คนไปเรื่อย
‘ภาพรอยยิ้ม’เป็นแก่นหลักของภาพที่ต้องถ่าย มันไม่ยากนัก ผมค้นพบว่าเมื่อเราทุกคนมาถึงไร่กาแฟต่างคนต่างผลิตรอยยิ้มอย่างไม่กลัวขาดทุน เมื่อใดที่มองผ่านช่องมองภาพก็ไม่ใช่เรื่องลำบากนักที่จะเก็บภาพรอยยิ้มน่าแปลก ภาพที่ว่านี้หายากในเมืองหลวงศิวิไลในกรุงเทพกิจกรรมดำเนินไปเรื่อยตามแบบฉบับค่ายอาสาเรียนรู้วิธีการทุกอย่างเกี่ยวกับกาแฟรักษาป่า เรื่องวิธีการเหล่านั้นขอละไว้ก่อนคิดว่าน่าจะหาอ่านได้จากศาสตราจารย์กูเกิล ผมเก็บภาพไปเรื่อยทั้งทีร่างกายไม่เห็นด้วยกับผมแต่เหล่าผู้คนผู้ผลิตรอยยิ้มไม่ขาดทำให้เริ่มถ่ายภาพสนุกขึ้น ตลอด 3วันกิจกรรมดำเนินไปในข่ายของ ‘ความสุข’
ย้อนกลับมาก่อนหน้าวันเดินทาง1 วัน ผมอาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งสยามประเทศ เคลื่อนตัวไปพร้อมกับรถไฟฟ้าพี่ในออฟฟิศแจ้งว่าเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไปอีกประมาณ 2 ชม. เอาล่ะ ทำอะไรกันดีผมนึกขึ้นได้ว่าพกกล้องถ่ายรูปมาด้วย นานแล้วที่ไม่ได้แตะกล้อง และเมื่อนานมาแล้วเช่นกันผมจำได้ว่าตัวเองเป็นคนชอบถ่ายรูปคิดว่าน่าจะเป็นการฆ่าเวลาที่ดี เดินถ่ายรูปเล่นไปเรื่อย ๆ ภาพ ‘ผู้คน’ เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ผมชื่นชอบที่สุดในการถ่าย
เวลาเคลื่อนผ่านไปราวชั่วโมงครึ่งสิ่งที่มองผ่านช่องมองภาพออกไปแล้วพอจะเรียกได้ว่า ‘สวยงามให้ความรู้สึก’ นั้นมีน้อยเหลือเกิน ผมคิดว่าเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อฟิล์มเปล่า ๆหากจะมีภาพที่เข้าข่ายพอจะลั่นชัตเตอร์ได้ ก็คงอยู่หัวข้อของ ‘ความเครียดของคนเมือง’ มากกว่าแน่นอนว่าถ้าเปลี่ยนหัวข้อจาก ‘สวยงามให้ความรู้สึก’ เป็น ‘หมองหม่นอมทุกข์’ คงจะหาได้ไม่ยากนักในกรุงเทพฯ
ช่วงเวลาราวบ่าย2 คนบนโบกี้รถไฟฟ้าคนไม่แน่นมากนักเหมือนช่วงเช้ากับช่วงเย็นหมดอารมณ์ถ่ายรูปโดยสิ้นเชิง มุมสวย ๆ ของผู้คนหาได้ยากยิ่งจะมีก็แค่ภาพแสงแดดกระทบอาคารทอดเงาคมกริบสวยงาม ก็แค่นั้น 7 ใน 10 ของโบกี้รถไฟบรรจุด้วยคนวัยทำงานชุดทำงานไม่ว่ายี่ห้อไหนๆ ก็ให้อารมณ์นั้น บ่งบอกได้ทันทีว่าเป็นคนทำงานบนตึกสูงบุรุษในชุดสูทตัดพอดีตัวบ่งชัดว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเผ่าแห่งบริษัทใดบริษัทหนึ่งวันนี้คงเป็นวันที่รถบีเอ็มสี่ร้อยแรงม้าของเขาเสีย จึงต้องหันมาโดยสารรถไฟแทนผู้คนบนรถไฟ หากอยู่ช่วงวัยทำงานจะสังเกตเห็นชัดว่าพวกเขาพกพาสีหน้าหมองหม่นอยู่ตลอดเวลา
ในมุมมองเด็ก ม.ปลาย อาจสงสัยว่าทำไม แต่เมื่อเติบโตขึ้นก็อาจเข้าใจได้เอง สีหน้าเหล่านั้นหากพยายามฟังให้ดี คล้ายจะกระซิบบอกว่าทุกคนกำลังตามหาความสุขพอเมื่อสำนึกได้แล้ว ไม่ทันได้คิดต่อ เสียงพล่ามกล่าวว่าความสุขคืออะไรก็ดังมาจากจอมอนิเตอร์ที่ติดบนผนังของโบกี้โฆษณาในยุคสมัยนี้มักพล่ามบอกเช่นนั้น
ห้วงความคิดสะดุดลงเมื่อคุณแม่และลูกสาวชาวต่างชาติก้าวเข้ามาในรถไฟ น่าจะเป็นชาวยุโรป คุณแม่อายุราว35 -40 แต่ยังดูสาวและสวยสง่าแบบชาวตะวันตก สาวน้อยน่าจะ 7 ขวบได้สวมชุดกระโปรงให้ความรู้สึกเหมือนเจ้าหญิงในการ์ตูนของวอลท์ดิสนี่ ภาพที่ผมเห็นราวกับว่าองค์หญิงจากแดนไกลปรากฏตัวขึ้น เหล่าประชาชนในชุดคนทำงานเฝ้าจ้องมองความไร้เดียงสาของสาวน้อยผู้นั้นรอยยิ้มปรากฏแต้มเติมบนใบหน้าของผู้คนอย่างทันทีทันใดรอยยิ้มธรรมชาติเรียบง่ายที่สุด ไม่ใช่การเสแสร้งแกล้งทำ ดูขัดจากในคราวแรกรอยยิ้มของผู้คนที่เฝ้ามองเจ้าหญิงน้อยดู ‘มีชีวิต’ ขึ้นมาในทัดใด แสงแดดสาดส่องลอดผ่านหน้าต่างรถไฟ อาบรอยยิ้มผู้คนตรงนั้นชวนให้รู้สึกอบอุ่นบอกไม่ถูก ผมเองก็แอบยิ้มไปด้วย...
ในคืนหนึ่ง คืนวันที่2 ของการออกค่ายกับ iCARE อากาศหนาวเหน็บเหมือนอยู่ในตู้เย็น ที่นี่ไร่กาแฟแห่งนี้ไม่มีเครื่องทำความร้อนพูดให้ชัดคือที่นี่ไม่มีการเดินสายไฟเข้ามาจ่ายกระแสไฟฟ้าให้การผิงไฟด้วยวิธีธรรมชาติดูจะเป็นวิธีที่เหมาะควรที่สุดบนยอดดอย ผมนั่งอยู่ในวงพูดคุยของเหล่าวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ฟังบรรยายความในใจทีละคน ความรู้สึกคือความอบอุ่นอาบอิ่มไปทั่วเหมาะสมกันดีกับการรอบกองไฟบนยอดดอยผมเองในตอนนั้นกำลังตั้งคำถามว่าทำไมต่างคนต่างถิ่น (ส่วนมากแล้วมาจากกรุงเทพฯ) มาอยู่ ณ ที่นี้ถึงมีความสุขได้ขนาดนี้เป็นไปได้ว่ากิจกรรมแบบค่ายอาสาต้องทำให้คนสนิทกันคล้ายการรับน้องเป็นไปได้ว่าเรามาด้วยความรู้สึกเหมือนการมาท่องเที่ยวในขณะที่ผมเองนึกย้อนไปถึงภาพเจ้าหญิงน้อยบนรถไฟฟ้าขบวนนั้นผมดึงภาพเจ้าหญิงน้อยกับภาพรวมของการมาไร่กาแฟมาซ้อนทับกันในความคิด แล้วพบว่าภาพทั้งสองมีความแตกต่างกันและเหมือนกันในคราวเดียว
อย่างแรกคือ‘ผู้คน’ ในเมืองหลวงซึ่งตอนเด็กมักถูกบอกกล่าวกันว่าเป็นเมืองศิวิไลเมืองแห่งผู้มั่งมี เมืองซึ่งเต็มไปด้วยผู้มีอนาคตกำแน่นไว้ในมือแต่ทำไมเมื่อโตขึ้นกลับรู้สึกตรงกันข้าม ผู้คนในชุดทำงานยี่ห้อดังต่างพกสีหน้าอิดโรยไม่ต่างกัน ภาพเช่นนี้ชวนให้กระอักกระอ่วนไปด้วยเหมือนว่ากำลังถูกชักชวนให้อิดโรยไปในทำนองเดียวกันไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไม แม้ว่าจะมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในแง่ดีเกิดขึ้นบ้างแต่ก็น้อยเกินกว่าจะทาบทับความตึงเครียดได้
ในขณะที่‘ผู้คน’ในไร่กาแฟแตกต่างไปสิ้นเชิง ‘รอยยิ้ม’ เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ง่ายดายที่สุดนี่คือความแตกต่าง ความเหมือนคือตอนที่ผมนำภาพเจ้าหญิงน้อยผู้นั้นเข้ามาเปรียบเทียบรอยยิ้มที่ผุดขึ้นบนขบวนรถไฟนั้นเป็นรอยยิ้มแบบเดียวกับชาวบ้านบนไร่กาแฟ รอยยิ้มแบบ‘มีชีวิต’นี่อาจกล่าวเป็นข้อสรุปในแง่มุมของตัวผมเอง เป็นไปได้ว่าในขณะที่คนเรามีชีวิตเราก็กำลังตามหา ‘ความมีชีวิต’
อย่างน้อยที่สุดเจ้าหญิงน้อยไร้เดียงสาคนนั้นบ่งบอกได้ถึง ‘ความมีชีวิต’ความเรียบง่ายไร้เดียงสา ไม่เสแสร้งแกล้งทำ ความเป็นเด็กแววตาของเด็กๆ บอกกล่าวเช่นนั้นเสมอ เด็กมักจะอยู่ความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเสมอนั้นหมายความว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้อง ‘ไล่ตามความสุข’ เด็กคนนั้นมีความสุขยิ่ง ความสุขแท้จริงย่อมมีรัศมีของมัน คนโดยรอบ ผู้คนเปลี่ยนสีหน้าสร้างรอยยิ้มขึ้นมาอย่างง่ายดาย พวกเขา รวมถึงตัวผมด้วย เฝ้ามอง ‘ความมีชีวิต’ ในขณะที่อยู่ในไร่กาแฟ 3วันผมนึกได้ว่าเราทุกคนต่างถูกรายล้อมไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ ‘มีชีวิตชีวา’เป็นไปได้ว่าผู้คนบนนี้ไม่จำเป็นต้องไล่ตามหาความสุขอะไรมากนัก เมื่อเราได้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีชีวิตเราเองก็พลอยมีชีวิตไปด้วยในทำนองเดียวกัน อาจเนื่องด้วยสภาพแวดล้อมในมุมมองคนเมืองแล้ว “ก็แน่ล่ะ อยู่บนดอย ทำไร่กาแฟมีไรให้เครียด?”
ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหนๆทุกคนก็สร้างความเครียดขึ้นมาประดับหัวได้ไม่ต่างกัน ความเครียด นานา ประการ แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้ได้จากการทดลองนำภาพทั้งสองมาซ้อนทับกันทำให้ได้เห็นอะไรหลายๆอย่างผมเรียนรู้ได้ว่าการที่ต่างคนต่างเชื่อมโยงกันเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะขับเคลื่อนให้สังคมนั้นๆหมุนไปในทางที่ดี ในที่นี้คือ ‘ความสุข’ การเชื่อมโยงอย่างจริงใจชาวบ้านเรียนรู้จากการทำไร่กาแฟว่า ไร่กาแฟต้องไม่ทำลายป่าที่พวกเขาอาศัยอยู่
ดังนั้นจึงทำให้เกิด ไร่กาแฟอินทรีย์รักษาป่า ป่าคือที่ที่ชาวบ้านอยู่ไร่กาแฟคืองานที่จะสร้างเงินให้พวกเขา เมื่อใดที่ทำไร่ทำลายป่า ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้พวกเขาจึงต้องนำทั้งสองมาเชื่อมโยงกัน พึ่งพากัน สิ่งนี้เองที่คนในหมู่บ้านนั้นนำมาใช้ในชีวิตพวกเขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน บ้านหนึ่งเชื่อมโยงกับอีกบ้านหนึ่งกลายเป็นหมู่บ้านที่คนรักใคร่กัน ให้เกียรติซึ่งกันและกันพวกเขาเป็นผู้มีความสุขไปโดยปริยาย
และเมื่อย้อนกลับมามองความเป็นอยู่ในเมืองหลวงศิวิไลคำถามแรกคือทำไมผู้คนไม่ค่อยมีความสุขกันนัก ข้อสรุปในมุมมองของผมหากอยู่ในเมืองและสดับรับฟังสิ่งรอบๆ ตัวให้ดี จะได้ยินเสียงที่บอกกล่าวเสมอว่า ‘จงมีความสุขมากกว่านี้’ ไม่ว่าจากอะไรก็ตาม จากสินค้ารุ่นใหม่ จากเสื้อผ้าหน้าผมจากคู่ครองมีฐานะ จากตำแหน่งหน้าที่การงาน พวกเราถูกพล่ามบอกให้มี ‘มากกว่า’ อยู่ตลอดเวลา การไล่ตามสิ่งนี้ทำให้เหนื่อย
ข่าวร้ายคือระบบที่เราอาศัยอยู่กำลังพล่ามกล่าวเช่นนี้อย่างไม่หยุดหย่อนจนบางครั้งเราไม่ทันสังเกตว่าอะไรทำให้เราขัดแย้งกันเร็วเหลือเกินเราหลงลืมการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ผู้คนต้องการมีมากกว่าอยู่ตลอดจนลืมไปว่าในขณะที่เราต้องการจะมีมากกว่า เราต้องเชื่อมต่อกับสิ่งใดบ้างเราต้องพึ่งพาคนขับรถเมล์ซึ่งเราด่าเขาอยู่ทุกวันคนที่พาเราไปส่งออฟฟิศซึ่งเขามีน้อยกว่าเรา เรายังคงต้องพึ่งพาคนเก็บขยะ ที่เขาได้เก็บหมากฝรั่งของคุณไม่ให้คนมาเดินเหยียบมัน
นี่เองคือสิ่งที่คนเมืองส่วนมากมองไม่เห็น ผู้คนแข่งขันกันเพื่อสิ่งที่มากกว่าสิ่งที่ดีกว่า ในที่สุดคือการแบ่งแยกซึ่งกันและกัน ‘การเชื่อมโยง’ เราทำหายไปแล้วในตอนเด็กความไร้เดียงสาถูกระบบกลืนกินไปแล้ว และเมื่อเราได้มองภายในแววตาของเด็กๆ อีกครั้งความเป็นเด็กของเราจึงกลับมาชั่วขณะ ความรู้สึกว่าความสุขชั่วขณะความสุขที่ไม่ต้องไล่ตามอยู่ตรงนั้นแล้ว
อาจฟังดูเหมือนให้คนเมืองย้ายถิ่นฐานไปทำไร่กาแฟ เปล่าแต่หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรนักหากคนส่วนมากในสังคมยังคงไล่ตามสิ่งที่มากกว่าและขัดแย้งกับผู้อื่นภาพที่จินตนาการไว้คือ ต่างคนต่างครอบครองไร่ของตัวเอง ขีดเส้นแบ่งชัดเจนพกปืนลูกซองบรรจุกระสุน เตรียมยิงใส่ผู้บุกรุกในเขตของตนเองทันที ไม่ช้าไม่นานไร่กาแฟก็จะทำลายป่าเราอาจลองเริ่มปรับมุมมองดูบ้างทำเพื่อคนอื่นและในขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นการทำเพื่อตัวเองอยู่สิ่งใดก็ตามในทำนองของตัวเองมีส่วนทำให้สังคมดีขึ้นได้ทั้งนั้น กาแฟสร้างรายได้ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายป่าและสร้างชุมชนเล็กๆให้น่าอยู่ได้ อาจมีผู้กำลังผลิตขาเทียมเพื่อคนพิการทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตปกติคนขับรถเมล์ตระหนักว่าเขาต้องทำหน้าที่ให้ดีอย่างน้อยการจอดให้ตรงป้ายก็น่าจะทำให้ใครหลายคนพอใจมากขึ้นคนโฆษณาซึ่งงานหลักของเขาคือการพูดเพื่อขายของก็ควรพูดในทำนองที่เหมาะควร พูดในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและคนรอบข้างบ้างเพียงเริ่มปรับแง่มุม ทำสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีและเชื่อมโยงถึงผู้อื่นด้วยมันก็น่าจะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ไม่มากก็น้อย นี่อาจเป็นแง่คิดที่ได้จากการฝึกงานครั้งนี้ของผมขยายความให้ชัด ‘คือความเห็นของผมแต่เพียงผู้เดียว’
วันสุดท้ายพวกเราเดินทางกลับพี่ผู้ดูแลไร่กาแฟบอกว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะเข้ามาแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ มอบสิ่งที่ ‘มากกว่า’ให้ กระแสไฟฟ้าเป็นข่าวดีแต่ผมเองไม่แน่ใจว่าสิ่งที่จะตามมาต่อจากนั้นเป็นข่าวดีหรือไม่ รถเคลื่อนผ่านกลับมายังไร่ข้าวโพดที่เคยแล่นผ่านป้ายโฆษณาฟิวเจอร์บอร์ดเงินกู้สีแดงสดปิดบนโคนต้นไม้ ‘เงินด่วนทันใจได้มากกว่าดอกเบี้ยต่ำ’ ไม่อาจเดาได้ว่าป้ายนี้จะเดินทางขึ้นไปถึงยอดดอยพร้อมกับกระแสไฟฟ้ารึเปล่าผมนั่งรถกลับสู่เมืองหลวง เมืองเต็มไปด้วยป้ายโครงเหล็กขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านไปทั่วเมืองคำบอกกล่าวถึงสิ่งที่ ‘มากกว่า’ ถูกใช้อย่างสิ้นเปลืองและผู้คนกำลังต่อสู้ดิ้นรนไล่ล่าตามหาสิ่งนั้น...
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in