เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
“บทสนทนาหลากมุมต่างมอง รัฐธรรมนูญ 2560”Chaitawat Marc Seephongsai
บทวิพากษ์ว่าด้วยประเด็นด้าน “สิทธิของประชาชน” ในรัฐธรรมนูญ


  • บทสัมภาษณ์คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 
    ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLAW)
    วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐
    ณ สำนักงานโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน(iLAW)

     

    “การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
    รวมทั้งบทบาทของท้องถิ่นก็ไม่ขยับ 
    สุดท้ายก็จะกลายเป็นสังคมแบบแช่แข็งการเติบโตของสิทธิพลเมือง 
    และการตื่นตัวของพลเมืองมันจะถูกแช่แข็งเอาไว้”

     

    “สิทธิ (Rights)” เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง “ความเป็นพลเมือง (Citizenship)” และเพื่อเป็นการกำหนดแนวทางที่พลเมืองสามารถกระทำได้ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงเป็นกลไกสำคัญในการ “คุ้มครอง” สิทธิของพลเมืองอีกทั้งยังเป็นหลักประกันว่าสิทธิดังกล่าวจะถูกล่วงละเมิดหรือลิดรอนลงไปไม่ได้และเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ คำถามที่หน้าขบคิดคือแล้วรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ทำหน้าที่นี้ได้อย่างสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด ฉะนั้นจึงนำมาสู่การสนทนากับ iLAW ถึงประเด็นดังกล่าวนี้

     

     

    ข้อดี –ข้อเสียของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐

    คุณยิ่งชีพอัชฌานนท์: ข้อดีคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้สั้นลงแต่ก็ยังคงยาวอยู่เพราะมันมี ๙๐ กว่าหน้าหากเปรียบเทียบกับฉบับก่อนหน้าก็ถือว่าสั้นลงทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ดีไปกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ เช่นเดียวกันในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ไม่ได้แย่ลงมากนักแต่ก็ไม่ดีกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ อย่างกรณีมาตรา ๒๕ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ว่า “สิทธิเสรีภาพถูกจำกัดได้ด้วยความมั่นคงของรัฐ”ซึ่งมาตรานี้มีการจำกัดสิทธิมากขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูแย่ลงแต่บางคนก็มองว่านี่เป็นเขียนขึ้นมาเพื่อปราบโกงแต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายทั้งหมดที่เขียนขึ้นมานี้ก็อยู่ที่การตีความของผู้ใช้อยู่ดีในความเห็นส่วนตัวผมมองว่ารายละเอียดต่างๆ ไม่ควรถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญแต่ควรอยู่ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมากกว่า เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความกระชับมากขึ้น

    ส่วนข้อดีก็อีกประการหนึ่งคือ การกำหนด“หน้าที่ของรัฐ” แต่ก็ควรเขียนให้อยู่ในหมวด “สิทธิ”ซึ่งน่าจะดีกว่าเพราะหากเขียนไว้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ คำถามจะเกิดตามก็คือแล้ว“ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิหรือไม่ ?” “ประชาชนมีสิทธิฟ้องให้รัฐดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่?” ดังนั้น จึงควรกำหนดให้อยู่ในเรื่องของ “สิทธิของพลเมือง”เพราะบางครั้งเมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานดังกล่าวมักจะเอาเอกสารออกมา ๓ แฟ้ม แล้วบอกว่าได้ดำเนินการไปแล้วแต่ทว่าเราก็ยังไม่ได้รับเอกสารไม่ได้รับเรื่อง เราก็จะยังฟ้องไม่ได้ดังนั้นก็น่าจะยังไม่มีอะไรดีขึ้นสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

    ในส่วนของข้อเสีย หลักๆ เลย คือเป็นการสืบทอดให้อำนาจทหารชัดเจนเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อให้กลุ่มก้อนต่างๆ นานาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจในหลายรูปแบบเช่น ยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการปฏิรูป แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ฯลฯซึ่งก็มีความโหดร้ายอยู่พอควร และยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่รับรองให้มาตรา ๔๔ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยซึ่งหากพิจารณารัฐธรรมนูญชั่วคราวหลายฉบับก่อนหน้านี้ มีมาตราที่มีลักษณะของมาตรา๔๔ อยู่บ้าง แต่พอมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรออกมาอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังกล่าวก็มักถูกทำให้หมดไปนี่เป็นครั้งแรกที่มีการรับรองให้ มาตรา ๔๔ ยังคงอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลก

    สำหรับหมวดปฏิรูปทั้งหมวดนั้นผมมองว่ามันเป็น “ขยะ” ซึ่งไม่ต้องเขียนไว้ก็ได้ส่วนเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้นก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตเพราะระบบเกณฑ์การนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีความยุ่งยากและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในระยะยาวเมื่อพรรคที่ได้คะแนนโหวตสูงไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอีกทั้งระบบที่ให้กรรมการสรรหาและองค์กรอิสระเป็นบุคคลชุดเดียวกันก็น่าจะมีปัญหาเช่นกัน เอาเป็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าพิจารณาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันหรือเป็นบุคคลที่กำลังทำอะไรเพื่อเจตนารมณ์เดียวกันถ้าเจตนารมณ์แตกต่างกันก็ไม่เห็นผลกระทบอะไรมากดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถือเป็นฉบับหลอกลวง ที่เขียนอะไรไว้อย่างสวยงามเอาไว้หลอกโดยที่รู้อยู่แล้วว่า “กูจะไม่ทำอย่างนั้นหรอก” ยกตัวอย่างเช่นเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม คนเขียนรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้สวยหรูให้ร่างโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นๆซึ่งในตอนที่ร่างต้องให้มีการรับฟังความเห็นของ ส.ส. และ ส.ว.แต่กลับเขียนบทเฉพาะกาลไว้ว่า ให้จัดมาตราฐานจริยธรรมภายใน ๑ ปีซึ่งสภาทั้งหมดตอนนี้ก็คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เท่ากับเป็นการร่างกันเองแต่ใช้ภาษาสวยหรูว่าจะต้องร่างโดยมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ ครม. เป็นผู้พิจารณาลักษณะดังกล่าวเหมือนกับร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ ... อีกรูปแบบหนึ่งเนื่องจากการร่างมาตรฐานจริยธรรมรวมถึงกฎหมายอื่นๆจะต้องทำให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่จัดทำตามมติ ครม. ปีพ.ศ. ๒๕๕๘ซึ่งก็มีการทำไว้แล้ว แล้วก็ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์คอยดูแลซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็คือ
    คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำเอง รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้สวยหรูเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจรวมทั้งมีธรรมาภิบาลหลายๆ ด้าน แต่จริงๆ แล้ว กฎหมายระดับรองลงมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทำเองทั้งหมด นี่คือฉบับหลอกลวงที่เลวมาก เขียนอะไรสวยๆมาให้ผ่านประชามติไปก่อน เสร็จแล้วค่อยอ้างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติร่างเองเพื่อเอาอำนาจตัวเองคืนมา

    ประเด็นเรื่องของ“สิทธิมนุษยชน” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐

    คุณยิ่งชีพอัชฌานนท์: ในมาตรา๒๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความครอบคุมค่อนข้างกว้าง เพราะมีการเพิ่มคำว่า“ความมั่นคง”และ“ศีลธรรมอันดี”เข้ามาสำหรับหมวดสิทธิเสรีภาพไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนักประชาชนยังคงสามารถเอามาตราที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพมาอ้างได้บ้าง แต่ในทางเดียวกันรัฐก็สามารถนำมาตรา๒๕ เข้ามาอ้างได้เช่นกัน ซึ่งในจุดนี้อาจจะต้องให้ศาลเป็นผู้ตีความว่าเป็นอย่างไร และอะไรคือการจำกัดสิทธิอันชอบทำ

    อีกประการหนึ่งที่มีความชัดเจนมากจนดูเหมือนจะไม่เหมือนเดิมคือ มาตราที่กำหนดให้ประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะถูกยกเลิก ถ้าไม่ถูกยกเลิกก็มีผลบังคับใช้ตลอดไปซึ่งนั่นเท่ากับว่าสิ่งที่เขียนไว้ในมาตราหมวดสิทธิเสรีภาพก็ไม่ได้มีความหมายอีกต่อไปเพราะในด้านหนึ่งก็เป็นข้อจำกัดสิทธิ แล้วก็ถูกรับรองไว้เหมือนกันแม้ว่าเราจะพยายามไปตีความว่ากฎหมายอะไรลำดับศักดิ์สูงกว่าอะไร ก็เป็นการรับรองว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปอยู่ดีไม่ว่าคำสั่งหรือประกาศเหล่านั้นจะออกมาโดยไม่ชอบธรรมแค่ไหน ตัวอย่างเช่นที่ว่าประชาชนมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่ก็มีมาตรา ๒๕ คุมครอบอยู่อีกชั้นหนึ่งว่าจะต้องไม่ขัดกับความมั่นคงของรัฐ ศีลธรรมอันดี และความสงบเรียบร้อยขณะเดียวกันก็มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุมอยู่อีกชั้นว่าห้ามชุมนุมเกิน๕ คน สุดท้ายประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ตราบเท่าที่มาตรา ๔๔ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ ยังคงใช้บังคับอยู่

    สถานการณ์“สิทธิมนุษยชน” ภายใต้ “รัฐบาลใหม่” และ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

    คุณยิ่งชีพอัชฌานนท์: ด้วยระบบการเมืองที่ออกแบบมาผมมองว่ามันเป็นการยากมากที่จะยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้อย่างง่ายๆ ยกเว้น คสช. จะยกเลิกเสียเอง ต่อให้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ต้องการจะดำเนินการยกเลิกคำสั่งเหล่านี้เป็นอันดับแรกแต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงว่าทหารจะไม่พอใจและทหารอาจจะกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยเอา“ยุทธศาสตร์ชาติ” “มาตรฐานทางจริยธรรม” มาเป็นข้ออ้างในการจัดการกับรัฐบาลใหม่ก็ได้หรือถ้าหากรัฐบาลใหม่ใช้กลไกของรัฐสภาในการเสนอยกเลิกคำสั่ง คสช. ต่างๆก็อาจโดนสกัดกันในชั้น ส.ว. ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรดีขึ้น โดยส่วนตัวผมมองว่าหลังจากเลือกตั้งผ่านไปแล้วเหตุการณ์ก็ไม่น่าจะดีขึ้น หรืออาจจะแย่ลงกว่าเก่าเพราะหากเกิดกรณีที่พรรคที่ได้รับเสียงส่วนใหญ่แล้วเขาไม่ได้เป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลเขาไม่ยอมก็เกิดจะนำไปสู่ความวุ่นวายกันต่อไปอีก

    อะไรจะเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๖๐

    คุณยิ่งชีพอัชฌานนท์: ผมมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการเลือกตั้งที่จะถึงนี้รวมถึงประกาศ คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ปิดกั้นกิจกรรมทางการเมืองปิดกั้นสื่อ ซึ่งก็จะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีเสรีภาพ ตราบเท่าที่เรายังคงมีมาตรา๔๔ อยู่ เพราะมาตรา ๔๔ ใช้อะไรก็ได้ ถ้าเลือกตั้งเสร็จแล้วอาจจะมีอำนาจสั่งว่าไม่เอาคนที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้หากเป็นไปในลักษณะนี้ก็จะเป็นอุปสรรคในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในอนาคตก็จะมีประเด็นต่างๆ ที่จะต้องนำมาขึ้นศาลรัฐธรรมนูญจำนวนมากซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองจะตีความรัฐธรรมนูญอย่างไร ล้วนเป็นเรื่องท้าทายทั้งสิ้นอาจจะเป็นอุปสรรคหรือไม่เป็นก็ย่อมได้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะให้เกียรติรัฐธรรมนูญโดยการตีความอย่างเคร่งครัดก็ยังจะพอมีความหวังกันต่อไปตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ ... เองก็ยังขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนโดยรัฐธรรมนูญเขียนว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ว่าร่าง พ.ร.บ.ค่อนข้างจะปิดกั้นในส่วนนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญก็ต้องมีคำวินิฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลยแต่ก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะมีคนเข้าไปยื่นเรื่องหรือไม่แต่ถ้ายื่นแล้วศาลรัฐธรรมนูญต้องการจะบังคับใช้รัฐธรรมนูญมากกว่าที่จะปกป้องเสถียรภาพในการทำงานของ คสช.ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าเป็นอุปสรรค

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๖๐ สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด

    คุณยิ่งชีพอัชฌานนท์: ตอบทันทีว่า“ไม่ได้” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ จะกลายเป็นเงื่อนไขปัญหาของความขัดแย้งชุดใหม่หรืออาจะเป็นความขัดแย้งเดิมที่ต่อเนื่องมายังคงอยู่เพราะว่าตั้งแต่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ไม่เปิดให้คนมีส่วนร่วมและไม่เผยขั้นตอนเลยซึ่งเป็นกระบวนการจัดทำที่แปลก กระบวนการประชามติก็มีปัญหาเนื่องจากไม่เปิดให้แสดงความเห็น นับจากจำนวนกิจกรรมที่ถูกปิด ถูกจับก็คงจะบอกอะไรได้อยู่ เพราะฉะนั้น ตัวรัฐธรรมนูญจะเป็นปัญหา ตัวคนที่ได้ประโยชน์ก็จะอ้างอิงว่ารัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้ผ่านประชามติแล้วเขาจะอ้างได้ตลอดว่ามีความชอบธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อบังคับใช้แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อบางคนเป็นโทษต่อบางคนตัวรัฐธรรมนูญจะเป็นผลของความขัดแย้งเอง และการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ภายใต้ระบบการนับที่นั่งแบบนี้ ภายใต้ประกาศคำสั่ง คสช. แบบนี้ภายใต้องค์กรอิสระที่มีที่มาจากรรมการสรรหาชุดเดียวแบบนี้ แล้วก็พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา แบบนี้ไม่มีทางที่จะมีกติกาที่ยอมรับกันได้มากขึ้น

    ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.๒๕๖๐ ?

    คุณยิ่งชีพอัชฌานนท์: ผมว่าประเทศไทยจะอึดอัดมากขึ้นเพราะอำนาจการตัดสินใจอนาคต ตั้งแต่เรื่องการเลือกตั้งการเลือกผู้ที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือการคัดเลือก ส.ว. มันอยู่ที่คนกลุ่มเดียวการตัดสินใจของประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความหมายน้อยมากกลไกอิสระที่ใช้ตรวจสอบอำนาจรัฐก็เป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่มีอำนาจตอนนี้ เมื่อลักษณะเช่นนี้ก็ยังคงไม่มีทางออกก็จะอึดอัดมากขึ้น คนที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะไม่มีช่องทางที่เสียงของเขาจะขึ้นไปสู่กระบวนการกลไกอำนาจตัดสินใจอะไรได้เพราะการตัดสินใจอยู่ที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวซึ่งอาจจะให้อะไรที่เป็นประโยชน์หรือโทษแก่ประเทศชาติก็ได้โดยที่ประชาชนทั่วไปจะทำอะไรไม่ได้เลย ทำได้แค่มองดูแล้วก็วิจารณ์บ้างแต่จะวิจารณ์รุนแรงก็ไม่ได้หากบรรยากาศแบบนี้ดำรงต่อไปก็จะทำให้บรรยากาศทางการเมืองอึมครึมตามไปด้วย การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆรวมทั้งบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ขยับสุดท้ายก็จะกลายเป็นการแช่แข็งสังคม การเติบโตของสิทธิพลเมืองและการตื่นตัวของพลเมืองแต่ในตอนแรกก็อาจจะตื่นตัวระดับหนึ่งในช่วงที่มีการเลือกตั้งแต่กลไกการออกมาประท้วงอาจเป็นไปได้ยากตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสุดท้ายประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้มากตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in