เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Hello Well-Known Strangers : ครั้งหนึ่งที่ไทยอิแลแฟนท์โฮมYuwadi Spm
Once in Thai Elephant Home

  • จุดเริ่มต้นของการเดินทางไปหาช้างในสถานที่สุดกรีนครั้งนี้ เริ่มมาจากเราได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Green Rangers นั่นทำให้มุมมองในการมองโลกกว้างขึ้นกว่าเดิม


    ไทยอิแลแฟนท์โฮม สถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางของเราในครั้งนี้ อยู่ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าพูดถึงเชียงใหม่ เชื่อว่าคนไทยหลายคน อาจจะนึกถึงถนนนิมมาน ประตูท่าแพ ดอยอินทนนท์ ม่อนแจม กิ่วแม่ปาน แต่เชื่อไหม ว่ามีเพียงคนไทยแค่ 1 เปอร์เซ็นเท่านั้นที่จะรู้จักไทยอิแลแฟนท์โฮม 


    ไทยอิแลแฟนท์โฮม ตอนแรกที่เราได้ยินชื่อนี้ ภาพของช้าง สัตว์ที่เราคุ้นเคยดีก็ผุดขึ้นมาในสมอง ถ้าว่ากันตามจริง เรารู้จักและคุ้นเคยสัตว์ชนิดนี้กันมาตั้งแต่จำความได้ แต่ความเป็นจริงนั้น เรารู้จักเจ้าช้างที่เราคิดว่าเรารู้จักกันดีมากน้อยแค่ไหนกันแน่? เชื่อสิว่า คนส่วนใหญ่เห็นจะต้องเกิดอารมความกลัวขึ้นก่อนเป็นแน่ ก็ช้างตัวใหญ่แบบนั้น ใครกันล่ะ ที่จะไม่กลัวใช่ไหม? เราเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างกล้าๆ กลัวๆ แต่อีกใจก็อยากจะเข้าไปทำความรู้จักช้างให้มากขึ้น เราจึงเลือกไปไทยอิแลแฟนท์โฮมและประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดในชีวิตของเราก็เกิดขึ้น. 

    วินาทีแรกที่ก้าวเท้าเข้ามาถึงไทยอิแลแฟนท์โฮม ตอนนั้นหลากหลายความรู้สึกปะปนกันจนมั่วไปหมด ทั้งตื่นเต้น ดีใจ กลัว ประหม่า ทุกคนที่ไทยอิแลแฟนท์โฮมให้การต้อนกลับคนกรุงเทพฯ แปลกหน้า หน้าแปลกอย่างเราเป็นอย่างดีคล้ายความรู้สึกได้กลับมาเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด พี่ๆ ที่นี่เป็นกันเองจนทำให้เราปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบายและแล้วเวลาที่รอคอยก็มาถึง.... ได้เจอเพื่อนช้าง! 


    เรากำลังเดินอยู่บนเนินเขา เมื่อมองลงไปก็ได้เห็นบ้านของพวกเขา...เหล่าเพื่อนช้าง ตอนนั้นความรู้สึกคือ !@$@#%^% โอ้ย ตัวใหญ่มาก จะโดนพวกนางเตะไหม ฉันจะขึ้นไปขี่ได้ยังไง ฉันตัวหนักนะ จะปีนขึ้นได้เหรอ ฉันเตี้ยและพวกนางสูงมาก ยอมรับเลยว่าตื่นเต้นมากจริงๆ ไม่เคยเข้าใกล้ช้างขนาดนี้มาก่อน ไม่เคยคิดเลยว่า ในชีวิตจะได้มีโอกาสใกล้ชิด ได้ขึ้นขี่ช้างแบบนี้และก็มีเสียงเรียกของพี่ควาญทำให้ความคิดทุกอย่างหยุดลงพร้อมกับความจริงที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น 



    "เดี๋ยวเรามาเริ่มทำความรู้จักช้างแล้วก็เรียนภาษาช้างก่อนนะ ใช้ในการบังคับช้าง" พี่ควาญพูด
    "เห้ยนี่ เราจะต้องบังคับช้างเหรอเนี้ย แล้วช้างจะฟังที่เราพูดออกไหม ถ้าพูดผิด สำเนียงประหลาด โดนช้างเหวี่ยงจะทำยังไง" เราคิด "ได้ค่ะพี่" เราตอบออกไปด้วยสีหน้ากังวลเล็กน้อย คล้ายว่าพี่ควาญจะอ่านใจออก เขาพูดว่าไม่ต้องกลัว ช้างที่นี่เป็นมิตร ใจดีมาก แต่อย่าเดินไปทำลับๆ ล่อๆ ข้างหลังช้าง อย่าทำเสียงดังเพราะช้างจะตกใจ ถึงตัวใหญ่แต่ช้างขี้กลัว


    เราเริ่มจากการทำความรู้จักช้างที่นี่ด้วยการให้อาหาร มันคือการผูกมิตรที่ฉลาดที่สุด หลังจากนั้นเราก็ได้เรียนรู้ภาษาช้างและธรรมชาติของช้างที่นี่ ที่ไทยอิแลแฟนท์โฮมจะปฏิบัติกับช้างเหมือนคนในครอบครัว พวกเขารักช้างและดูแลช้างเป็นอย่างดี ไม่ให้ช้างรับน้ำหนักมากเกินไป 1 คน ต่อ 1 เชือกเท่านั้น ไม่ใส่ที่นั่งบนหลังช้างและผู้คนที่มาจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของการเป็นควาญช้างแบบ Original เลยทีเดียว 


    ขี่ช้างไม่ยากอย่างที่คิด พอเราคุ้นเคยกับช้างสักพัก ก็ถึงเวลาแล้วหล่ะ ที่ต้องขึ้นขี่! นี่คือภารกิจสำคัญของการเป็นควาญช้างมือใหม่อย่างเรา โอ้โน้ววววว หวั่นใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ต้องลองดูกันสักตั้ง พี่ควาญจะเริ่มด้วยการสอนเราก่อน การขี่ช้างมีทั้งหมด 3 แบบ 1.ขึ้นแบบต่ำลง ช้างจะย่อขาลงมาให้ขึ้นขี่ 2.เหยียบขาช้าง ช้างจะยกขาส่งตัวขึ้นไป 3.ขึ้นจากทางงวงช้าง (แบบนี้สำหรับเซียนเท่านั้น) โดยเริ่มจากเบสิกสุดคือท่าแรก เราจะดึงหูช้างเบาๆ พร้อมพูดว่าแม็บลงๆ ที่แปลว่านั่งลง หลักจากนั้นก็เหยียบขาช้างและเอาขาพาดผ่านหลังช้างขึ้นไปเลย จัดท่านั่งให้สบายที่สุด โดยนั่งมาทางข้างหน้าเอาขางอไว้หลังหู เกือบถึงหัวช้าง อาจจะเมื่อยแต่ขี่ไปเรื่อยๆ จะสบายที่สุด      


    หลังจากนั้นเราก็ได้เริ่มต้นเดินทางขึ้นดอย โดยจะเดินกันเป็นขบวนเพราะช้างเป็นสัตว์สังคม จะไม่แตกฝูงกันเด็ดขาด ระหว่างทางขึ้นดอยค่อนข้างแคบ มีต้นไม้ใบหญ้าอยู่ตลอดทาง นั่นคืออุปสรรคสำหรับการบังคับช้างของควาญมือใหม่ เพราะช้างจะเป็นสัตว์ที่ Enjoy กับการกินมากถึงมากที่สุด พวกเขาจะคอยแทะเล็ม ใช้งวงตวัดกิ่งไม้ ต้นไม้ข้างทางอยู่เสมอ ทำให้ควาญมือใหม่หากสมาธิหลุดลอยอาจจะตกจากหลังช้างได้ง่ายๆ ทางที่ดีคือคุณควรที่จะปล่อยตัวปล่อยใจไปกับการเคลื่อนไหวของช้าง หากเห็นว่านาง Enjoy กับการกินมากเกินไปก็สั่งให้นางเดินไปต่อด้วยคำว่า ฮื้อ แปลว่า ไป 



    ใช้เวลาสักพักก็ขึ้นมาถึงจุดพัก คนก็พัก ช้างก็พัก พักเพื่อเตรียมตัวทำสปาโคลนให้ช้าง ช้างเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ ชอบเล่นโคลน การทำสปาโคลนให้ช้างจะช่วยในเรื่องของผิวหนัง ให้มีความเงางาม ชุ่มชื่น เหมือนกับคนได้ทาครีมบำรุง ช้างก็ต้องได้รับการบำรุงด้วยโคลนเช่นกัน ความพิเศษของโคลนที่นี่คือเป็นบ่อโคลนดำซึ่งมีเพียง 2 แห่งในประเทศไทยคือที่นี่และแม่ฮ่องสอนเท่านั้น เมื่อถึงเวลาหายเหนื่อยก็ได้เวลากระโดดลงบ่อโคลนทั้งคนและช้าง เวลาที่ช้างได้ลงบ่อโคลนก็เหมือนเด็กน้อยได้เล่นน้ำกลางสายฝน พวกเขาดูมีความสุข เปร่งเสียงร้องที่น่ายินดีออกมาอย่างไม่ขาดสาย พวกเรา ควาญมือใหม่มีหน้าที่ถูตัวช้างให้ทั่วด้วยโคลน มันคือความสนุกอย่างที่ไม่เคยมาก่อน จะเลอะเทอะแค่ไหน ในวินาทีนี้ก็ยอมได้ 


    หลังจากนั้น เมื่อเนื้อตัวเปรอะเปื้อนเต็มไปด้วยโคลน เราก็ออกเดินทางไปยังแม่น้ำแม่แตงเพื่อชำระล้างร่างกาย เล่นน้ำกัน เมื่อถึงแม่น้ำที่กำลังเย็นได้ที่ อากาศดีและสดชื่น ทั้งช้างและคนก็กระโดดลงน้ำอย่างไม่รีรอ ทุกคนใช้เวลาดื่มด่ำกับภาพบรรยากาศและปล่อยวางเรื่องราวต่างๆ ใช้ทุกวินาทีตอนนั้นร่วมกันด้วยการเล่นน้ำและ Dancing in the water คือการที่ทุกคนมาอยู่รวมกันตรงกลางวงที่รายล้อมไปด้วยเหล่าช้าง จากนั้นสงครามกลางน้ำขนาดย่อมๆ ก็เริ่มขึ้น ช้างจะเอางวงกระทบฟาดกับน้ำ จนทำให้น้ำสาดกระจาย ทุกคนต่างสาดน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน กระโดดโลดเต้นกันกลางน้ำ เป็นภาพที่หาดูจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว 


    เมื่อเสร็จภารกิจการเป็นควาญช้างและดูแลช้างในวันนี้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อไปสำหรับควาญช้างมือใหม่คือการเรียนรู้วิถีของควาญช้างในสมัยก่อน เวลาที่พวกเขาต้องเข้าป่าและต้องดำรงชีพในป่า การทำอาหารเพื่อความอยู่รอดเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เราจึงได้เรียนรู้การทำไข่ป่ามและข้าวหลามตามวิธีการดั้งเดิม ใช้ของง่ายๆและหาได้ในป่า เชื่อว่าตอนนี้ถ้าหลงป่าก็น่าจะเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว 


    สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการมาอยู่ที่นี่เพียงไม่กี่วัน คือความรักของผู้คนที่นี่ที่พวกเขาให้กับช้าง พวกเขาคือครอบครัวเดียว นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติไม่น้อยเลยทีหลงใหลเสน่ห์ของเมืองไทยและความน่ารักของช้างจนกลับมาซ้ำแบบนับไม่ถ้วน นี่คือ Green Destination ที่มีคุณค่าอีกหนึ่งแห่งในเมืองไทยที่ยังถูกซ่อนไว้ รอให้คนที่มองเห็นคุณค่ามาค้นพบ 


    จะดีไหมถ้าเราลองเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวธรรมดา ไปเที่ยว เสพบรรยากาศ เสพธรรมชาติ เสพทุกอย่างให้ตนเองมีความสุขและเติมเต็ม จากนั้นก็กลับไปใช้ชีวิตของแต่ละคนต่อไป สถานที่นั้นก็จะถูกกัดกร่อนและเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆตามกาลเวลาและจำนวนคนที่เข้าไปเยือน แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีท่องเที่ยวตามวิถีธรรมชาติและวัฒนธรรม ลองใช้ชีวิตให้กลมกลืนกับสถานที่นั้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรพวกเขา เข้าไปเรียนรู้ ตอบแทน ไม่เสพสุขของตนเองแต่เพียงผู้เดียว มีความสุขทั้งสองฝ่าย ด้วยการให้และรับอย่างเท่าเทียม เพียงเท่านี้ การท่องเที่ยวของเราก็จะมีความยั่งยืนมากขึ้น ความสุขและสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นร่วมกัน :-)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in