เรามีโอกาสได้ชมภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ในนิทรรศการ "รยางค์สัมพันธ์" (Mode of Liaisons) ที่ชั้น 8 หอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องดำเนินด้วยภาพวิวทิวทัศน์ขยับไปมาและเสียงบรรยายโดยคุณ Miyagi Futoshi ผู้กำกับของเรื่อง
พอดูจบแล้วรู้สึกเหมือนมีหลายสิ่งตกค้างในใจ ขออนุญาตเขียนถึงมา ณ ที่นี้
*คำเตือน* : มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
AMERICAN BOYFRIEND: THE OCEAN VIEW RESORT (2013)
Directed by Miyagi Futoshi | 20 mins
เรื่องย่อ (อ้างอิงบางส่วนจากคำอธิบายข้างจอ)
เกี่ยวกับตัวเอกซึ่งกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เกาะโอกินาว่า เขาได้พบกับเพื่อนเก่า ชื่อ Y คนที่เขาตกหลุมรัก ข้างเดียวตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น
Y พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนชายหาดระหว่างสงครามและหลังสงคราม และเล่าถึงปู่ที่เสียไปแล้ว เขายังเล่าอีกว่าในปีค.ศ. 1945 ปู่ของเขาได้มีช่วงเวลาหนึ่งที่ใกล้ชิดกับทหารอเมริกันหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อพวกเขาฟังเพลงบทบรรเลงเครื่องสาย 4 ชิ้น (String Quartet) ของบีโธเฟ่นด้วยกัน
เสียงบรรยายเงียบลงพร้อมกับภาพทิวทัศน์บนชายหาดผืนน้ำบรรจบกับเส้นขอบฟ้า ระลอกคลื่นเล็กๆทยอยม้วนตัวเข้าฝั่ง เพลงสตริงควอเต็ทของบีโธเฟ่นบรรเลงคลอเป็นประกอบฉาก
หนุ่มอเมริกันบอกว่าเพลงนี้คือสตริงควอเต็ทของบีโธเฟน
“สตริงควอเต็ทของบีโธเฟ่น” ผมกล่าวซ้ำ
เราพูดคุยกันเพียงเท่านั้น
เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผมรู้สึกปลอดภัย
ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เป็นเหมือนภาพอดีตที่ตกค้างที่ยังไออวลอยู่รอบๆ ตัวละครทั้งคู่ รวมถึงตัวผู้เล่าเอง แก่นเรื่องนำเสนอเรื่องของความสัมพันธ์ ผ่านผู้ชายสี่คนจากสองช่วงเวลา เรื่องราวทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยภาพทิวทัศน์บนเกาะโอกินาว่า และเพลงสตริงควอเต็ทของบีโธเฟ่น
นอกจากความสัมพันธ์แล้ว เรื่องนี้ยังนำเสนอเกี่ยวกับบาดแผลของสงคราม วายเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1945 ที่ทหารญี่ปุ่นบนเกาะสังหารชาวบ้านในพื้นที่และทหารที่หนีจากแผ่นดินใหญ่เพราะพวกเขาต้องการวางอาวุธยอมจำนนต่ออเมริกา ร่างของพวกเขายังคงถูกฝังอยู่บนเกาะแห่งนี้
ขณะที่นายขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านสุสาน นายบอกฉันว่าต้องปิดตา
เพราะผีจะมาหลอกถ้าฉันไปเห็นพวกมันเข้า
แล้วนายไม่ปิดตาเหรอ ฉันถาม
ฉันไม่เป็นไรหรอก นายตอบ
อีกประเด็นที่กล่าวถึงคือความเป็นคนนอกของคนรักร่วมเพศ เราคิดว่าเวลาตัวเอกเล่าถึงตัวเองมักจะเล่าเหมือนถอยฉากออกมาห่างๆอย่างช่วยไม่ได้ คล้ายกับอากาศเบาบางที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ใด ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาที่เขาเคยอยู่ โตเกียวที่เขาอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่บ้านเกิดของเขาอย่างโอกินาว่า
แม้แต่ตัวละครที่ค่อนข้างคลุมเครืออย่างวาย เขาพักอยู่ที่โรงแรมที่ใช้ชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง ทั้งที่บ้านของเขาเองก็ใกล้โรงแรมไม่เท่าไหร่ ด้วยเหตุผลว่าที่บ้านไม่มีที่สำหรับเขา
ทำให้รู้ว่าลึกๆแล้วคนเราต้องการแสวงหาพื้นที่ของตนเอง ไม่ว่าเมื่อไหร่
"รอฟังก่อน ท่อนโปรดขึ้นเลย"
วายเล่าให้ฟังว่าตื่นขึ้นมาระหว่างที่ท่อนนี้ขึ้น ก่อนที่จะหยิบแผ่นเสียงพลิกดู ทำให้ภาพถ่ายของทหารหนุ่มชาวอเมริกันร่วงลงมา เป็นภาพถ่ายคู่ที่ถูกฉีดขาดครึ่ง
เราอนุมานว่าเพลงนี้เป็นเพลงเดียวกันกับที่คุณปู่ของวายกับทหารคนนั้นฟังด้วยกันโดยมีรั้วกั้น มาจนถึงในฉากสุดท้ายที่ตัวเอกกับวายนั่งฟังด้วยกันในโรงแรม อาจเป็นการบอกใบ้ถึงความสัมพันธ์ของคนสองคู่นี้โดยผู้กำกับก็เป็นได้
ส่วนทิศทางความสัมพันธ์จากนั้นจะเป็นอย่างไร อาจมีเพียงแค่พวกเขาที่รู้
จุดที่ประทับใจในเรื่องนี้คือบทสนทนา มีความราบเรียบแบบไม่ประดิษฐ์ ถ่ายทอดความสัมพันธ์ของคนสองคู่จากสองชั่วคนได้ดี และการเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆในเรื่องที่แม้ว่าจะเป็นการเล่าแบบเหตุเกิดขึ้นเพราะเป็นแบบนั้นนั่นเอง ทว่าทำให้คนดูอินได้ไม่ยาก
เพราะการใช้เสียงคนเดียวบรรยายตลอดเรื่อง ทำให้ต้องใช้สติในการดูมากพอสมควร ถ้าหลุดไปนิดเดียวอาจสับสนว่าเสียงที่กำลังบรรยายอยู่ใครเล่าถึงใคร
ครั้งแรกที่ดูรู้สึกว่าหนังบ้าอะไรวะโคตรโรแมนติกเลย มีความสวยงามอยู่ในตัว อีกประการหนึ่งคือชอบเซ็ตติ้งญี่ปุ่นยุคสงครามโลก (หากมีเวลาอ่านเขียนแยกได้อีกซักเอนทรี่) โดยภาพรวมแล้วประทับใจเรื่องนี้มาก
ครั้งแรกที่เขียนเกี่ยวกับหนังค่ะ หากผิดพลาดแต่ประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ค่ะ
พบกันใหม่เอนทรี่หน้านะคะ
รัก <3
เว็บไซต์ของคุณ Miyagi Futoshi : http://fmiyagi.com
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in