เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
NCTmentary: Theory #1haeloh
Breakdown The Mental: The Origin #BDTheMT
  • NCT (n.)  name stands for the Neo Culture Technology,  describe the group's concept of having an unlimited number of members divided into multiple sub-units based in various cities worldwide.

          เอนซีทีได้ปล่อยวิดิโอจำนวน 5 ตัว แต่ละตัวความยาว 4-5 นาทีโดยประมาณเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2018 ที่ผ่านมา เนื้อหาบอกเล่าถึงที่มาและความคลุมเครือของทฤษฎีและเรื่องราวความเป็นมาของ Dream Lab จากหลายบทวิเคราะห์ของแฟนคลับหลายคนเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็น metaphor (อุปมา) อย่างหนึ่งซึ่งพยายามสื่อสารอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความฝัน

          ในบทวิเคราะห์นี้ผู้เขียนจะลองใช้ความรู้ที่เคยได้เรียนมาในระยะสั้นเกี่ยวกับการตีความและเปรียบเทียบวรรณกรรมโดยใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาตีความควบคู่ไปกับเส้นเรื่องและเนื้อหาทั้งหมดของ NCTmentary ทั้ง 5 ตัวรวมไปถึงมิวสิควิดิโอและทีเซอร์ของเอนซีทีทุกตัวที่ถูกปล่อย

          Disclaimer: 

    - ใช้วิจารณญาณในการอ่านและโปรดคำนึงไว้เสมอว่าเป็นเพียงการวิเคราะห์ในมุมของผู้เขียนเท่านั้น 

    - ผู้เขียนมิได้ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาและอักษรศาสตร์โดยตรงหากมีข้อมูลผิดพลาดหรือประสงค์ให้แก้ไขสามารถติดต่อได้ที่ทวิตเตอร์ (@Lera1441)

    - มีการสปอยล์เนื้อหาของทีเซอร์ทั้งหมด

    อ่าน EP.1 NCTmentary: Breakdown The Mental #1 ได้ที่นี่

         #6 จุดที่หก: The Origin 

        
         NCTmentary EP. 2 ที่มีชื่อว่า Switch มีฉากหนึ่งที่วินวินเล่าความฝันของตัวเองว่า 'ผมเห็นเกลียวคลื่นในฝัน มันทำให้ก้นบึ้งของหัวใจของผมสั่นไหว' คำถามเกิดขึ้นว่าทำไมหัวใจของวินวินถึงสั่นไหวเพราะเห็นทะเล ประโยคนี้ยังไปโผล่ในอัลบั้ม Regular-Irregular ของ NCT127 อีกด้วยใน Interlude จึงอยากจะขอย้อนผู้อ่านไปยังที่ทีเซอร์ตัวแรก ๆ ของจักรวาล NCT กล่าวคือ The Origin


         เนื้อเรื่องโดยรวมของ The Origin กล่าวถึงเด็กผู้ชายคนนึงที่อาศัยอยู่กับแม่ในทะเลทรายแห่งหนึ่ง ไม่ทราบเวลาว่าเกิดขึ้นช่วงไหน เกิดขึ้นบนดาวโลกรึเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ตรงนี้ผู้เขียนขอตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นดาวโลกไว้ก่อนเพราะมีหลักฐานที่จะพอเดาช่วงเวลาได้คือ ธง และ สีเทียน (จะอธิบายเรื่องสีของธง และสีของสีเทียนในย่อหน้าต่อ ๆ ไป) 


         เรื่องราวคือเด็กชายคนนี้นอนและฝันถึงทะเล เด็กชายจึงเอาความฝันของตัวเองที่ได้พบมาตอนหลับวาดเขียนลงบนกระดาษ ในครั้งแรกที่วาดเด็กชายใช้ถ่านสีดำวาดเอา แต่ในเวลาต่อมาผู้หญิงที่ถูกสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแม่ของน้องได้ยื่นสีเทียนสามสีอันโด่งดังในจักรวาลเอนซีทีมาให้เด็กชายและเด็กชายเลือกสีฟ้าขึ้นมาระบายเป็นน้ำทะเล


         ในเวลาต่อมาเด็กชายก็พับกระดาษขึ้นเป็นเครื่องบินและปล่อยให้มันแล่นขึ้นไปบนฟ้า สิ่งเห็นได้ชัดว่าคือการ 'อธิษฐาน' แสดงถึงความอยากให้ Wish เกิด Fulfillment (การเติมเต็ม) 

         
         เรื่องราวต่อมาคือคุณแม่ของเด็กชายโดนทะเลทรายกลืนเข้าไปและในมือของเธอถือธง 'สีแดง' เอาไว้ ในเวลาต่อมาเด็กชายสลบไป ก่อนที่จะตื่นขึ้นมาอีกทีต่อจากนั้นภาพของเด็กชายก็ถูกทับซ้อนด้วยภาพของวินวิน (ที่อยู่ในร้านอาหารทีเซอร์ 7th Sense) และแทยง (ในทีเซอร์ Synchronization Of Your Dream) 


           และแล้วก็เกิดเรื่องประหลาดใจขึ้นเมื่อเด็กชายได้พบทะเลที่เขาใฝ่ฝันอยากที่จะเห็นก่อนหน้านี้ คำอธิษฐานของเด็กชายผู้นี้เป็นเรื่องจริงขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์


         ณ ครั้งแรกผู้เขียนคิดว่าเด็กชายอาจจะไม่ได้ตื่นขึ้นมาบนโลกแห่งความจริง มีสามอย่างที่เป็นไปได้ในความคิดคือเด็กชายไปอยู่มิติอื่นแล้วอาจเป็นไปได้ทั้งความฝัน ความตาย หรืออย่างสุดท้ายคือตื่นมาในโลกแห่งความจริงที่ไม่มีแม่อีกแล้ว และหลังจากนี้ผู้เขียนจะลองหาคำตอบว่าเด็กชายตื่นขึ้นที่ไหนและจะอธิบายว่าทำไมเมื่อแม่หายไปแล้วเด็กชายถึงได้พบกับทะเลสมความปรารถนาของตัวเอง

         เมื่อเราไปดูทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันมีชื่อของ Jacque Lacan (ลากองต์) เคยมีคำอธิบายเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ  Jouissance (จูซซอง) นิยามของ Jouissance แบบง่ายที่สุดคือ ความสุขและความพึงพอใจ (enjoyment ) สภาวะอันเต็มเปี่ยมที่ตัวเรานั้นไม่ต้องการสิ่งใดมาเติมเต็มแล้ว ซึ่งเราก็เคยต่างมีสภาวะเต็มเปี่ยมมาก่อนเมื่อยังเป็นทารกและอยู่กับแม่ของเรา โดยที่ Jouissance จะมีลักษณะเด่นก็คือเป็นความสุขความพึงพอใจที่แลกมาด้วยกับความสูญเสีย ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่ยกขึ้นมาอธิบายไปแล้วในจุดที่ #1 เกี่ยวกับฉากของแจฮยอนอ่านกลอน A Dream Within A Dream ของ Edgar Allan Poe ในภาคแรกของซีรี่ส์นี้ สามารถย้อนอ่านได้ 

    ขอบคุณรูปจาก Harry Potter & Lacan
       
         ตามทฤษฏีของลากองต์แล้วความปรารถนาใดก็ตามจะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ละทิ้งสภาวะที่เรามี Jouisssance (Pre-symbolic Jouissance Qua Fullness) หรือสภาวะที่เรียกว่า The Real (The Real: สภาวะที่เรายังคงเป็นเด็กทารกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ) การที่เราสูญเสียสภาวะ The Real ไปนั้นเป็นเพราะเราได้เข้าสู่โลกแห่ง The Symbolic ไปแล้วกล่าว คือโลกแห่งสัญลักษณ์และภาษา เมื่อเราเริ่มพูดได้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้สภาวะ The Real ก็จะค่อย ๆ จางหายไปแต่ก็ไม่ได้หายไปจนหมดยังคงส่งผลถึงชีวิตของเราในรูปแบบของความปรารถนาที่จะใฝ่หาความสุข  (Jouissance) ที่ตัวเองเคยมีมาเมื่อก่อน

         เมื่อเอาทฤษฎีดังกล่าวเข้ามาตีความกับทีเซอร์ The Origin จะได้ดังนี้ 


         ธงสีแดงของเด็กชายคือ The Real นำมาปักไว้นั่นหมายถึงว่าตัวของเด็กชายยังมีสภาพของ The Real อย่างเต็มเปี่ยมโดยที่ยังไม่เข้าโลกแห่งสัญลักษณ์และภาษา (The Symbolic)

         
         แม่ของเด็กคือ Jouissance ของเด็ก เมื่อแม่ถือธงสีแดงเอาไว้นั้นหมายถึงว่าผู้เป็นแม่มีสภาวะเต็มเปี่ยมที่แม่กับลูกมีเชื่อมกันมีขอบเขตเพียงแค่เท่าที่ The Real จะให้ได้ กล่าวแบบสั้น ๆ ก็คือสภาวะ The Real ของเด็กชายเป็นขอบเขตของ Jouissance ในเวลาต่อมาเมื่อแม่ถูกทรายพัดและหายไปก็เปรียบเหมือนกับเด็กชายที่ถูกพรากสภาวะอันเต็มเปี่ยมทำให้เกิดการหลงทิศ (Lost)

         
         เมื่อสภาวะเต็มเปี่ยมนั้นถูกพรากไปสิ่งที่เข้ามาแทนคือความปรารถนาที่จะหาอะไรก็ตามเข้ามาทดแทนความรู้สึกเต็มเปี่ยมที่เคยได้รับมันมาจากแม่ Desire ในตัวของเด็กชายก่อตัวขึ้นและเมื่อเด็กชายได้ยึดโยงจิตสำนึกและความรู้สึกเข้าไปถึงความต้องการอันสูงสุดของตัวเองคือการที่เคยมีความฝันอยากจะเห็นทะเล ภาพของทะเลจึงปรากฎขึ้นใน 'ความฝัน'


    ?????????? ?? ????????, ???? ?? ?? ????? 

         เมื่อกล่าวถึงสัญลักษณ์ที่ค่อนข้างเป็น Signature ของเอนซีทีคือสีเทียนสามสีที่แม่ยื่นให้เด็กชาย ประกอบด้วย สีแดง สีเหลือง และสีฟ้า ซึ่งเป็นแม่สี สีต่าง ๆ นั้นมีนัยยะอันแตกต่างออกไปซึ่งผู้เขียนจะอิงนิยามตามความหมายเช่นเดียวกันกับทฤษฎีที่กล่าวเอาไว้ข้างต้น 


         สีเทียนสามสีมีความหมายดังนี้ 
    •      สีแดง = The Real (สภาวะเต็มเปี่ยมก่อนที่จะเข้าสู่โลกแห่งสัญลักษณ์)
    •      สีเหลือง = The Symbolic (โลกแห่งสัญลักษณ์และภาษา)
    •      สีฟ้า = The Imaginary (โลกแห่งจินตนาการ) ซึ่งเด็กชายเลือกสีฟ้ามาระบายสีลงบนทะเลทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพบทะเลมาก่อนนอกจากในฝัน

         ภาพตัวอย่างของสามสีที่น่าจะเคยเห็นกันมาแล้วในวิดิโอต่าง ๆ ของ NCT 
                           สามสีที่ปรากฎน่าจะแสดงถึงความที่ตกอยู่ภายใต้จิตใต้สำนึกบอกผู้ชมว่านี่คือโลกในจิตใต้สำนึกกล่าวคือความฝัน ไม่ใช่ความจริง (NCT 127, Irregular Office Report 2)
                          ภาพของเตนล์ที่กำลังจะเข้าสู่ฝันซ้อนฝัน (Enter deeper to the dream) ใน NCTmentary EP.1 Drean Lab

         ซึ่งสามอย่างนี้ตามทฤษฎีของลากองต์นั้นเป็นสามส่วนประกอบหลักสำคัญของการก่อร่างสร้างตัวตนของจิตใต้สำนึกของเรามีบทบาทคอยควบคุมชีวิตและความต้องการของเราในแต่ละวัน

    รูปแบบของสภาวะจิตของเราตามทฤษฎีของลากองต์

         โดยสรุปแล้วคือการที่เด็กชายจะได้สมปรารถนาของตัวเองจะต้องเกิด Trauma อย่างหนึ่งขึ้นมาโดยการพรากแม่ผู้เป็นความสุขอันเต็มเปี่ยมของเด็กชายออกไปเมื่อนั้นความปรารถนาที่จะใฝ่หาความสุขอย่างอื่นเพื่อเข้ามาทดแทนความสุขที่หายไปจึงจะเกิดขึ้น ซึ่งจากทีเซอร์ The Origin ความปรารถนาของเด็กชายแท้จริงแล้วไม่ใช่ความปรารถนาที่จะเห็นทะเลแต่เป็นความปรารถนาที่จะไล่ตามความฝันของตัวเองเมื่อความปรารถนาดังกล่าวรุนแรงขึ้นจึงเข้าไปปรากฎในความฝันแทนโลกแห่งความจริง

          แล้วอะไรคือความเกี่ยวเนื่องระหว่าง เด็กชายนิรนาม วินวิน และแทยง ในทีเซอร์สามตัวที่กล่าวมาข้างต้น ? 

         ผู้เขียนจะขอยกทฤษฏีที่สองและอธิบายอย่างสั้นว่ามีทฤษฎีจิตวิเคราะห์อย่างหนึ่งของ Carl Jung (คาร์ล ยุง) ที่เรียกว่า 'Synchronicity' ซึ่งทฤษฎีนี้กล่าวถึงจิตที่ผูกพันกันโดยบังเอิญโดยไม่ได้มีปัจจัยร่วมอะไรแต่กลับสัมพันธ์กันได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เป็นทฤษฎีที่สามารถเข้ามาให้คำอธิบายเกี่ยวกับเดจาวู การทำนายฝัน และการสัมผัสเหตุการณ์อนาคตได้
     
        
          ในทีเซอร์วินวินและแทยงเป็นสองคนที่ได้รับความแชร์ความรู้สึกร่วมกับเด็กชายนิรนาม ความรู้สึกดังกล่าวคือความรู้สึกและความปรารถนาอันแรงกล้าในการที่จะตามหาความฝันของตัวเองซึ่งความรู้สึกนี้น่าจะเป็นจุดเชื่อมความฝันของทั้งสามคนและน่าจะเป็นคำอธิบายถึงชื่อของทีเซอร์อีกสองตัวได้ 

         'Synchronization Of Your Dream'

         ความเชื่อมโยงของความฝันของแทยงและเด็กชายนิรนาม ในความฝันที่แทยงและคนอื่น ๆ เต้นก็น่าจะเป็นความปราถนาอันแรงกล้าของแทยงเองที่สะท้อนออกมาในความฝันเช่นกัน 

    ฉากที่แทยงกำทรายขึ้นมาบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของความฝันของเด็กชายนิรนามและแทยง 

    '7th Sense'

         ในทีเซอร์ 7th Sense (สัมผัสที่ 7) วินวินก็ยังคงสัมผัสได้ถึงความฝันร่วมกับแทยงและเด็กชายนิรนาม ปรากฎภาพทั้งทะเลทราย เด็กชายนิรนาม และสระว่ายน้ำร่างที่เป็นสถานที่ในความฝันของแทยง รวมถึงสัมผัสได้ถึงตัวของแทยงเองด้วย (ฉากที่แทยงกำทรายใน Synchronization Of Your Dream วินวินก็น่าจะมีความรู้สึกร่วมอยู่ด้วยเพราะมีภาพดังกล่าวในทีเซอร์ 7th Sense) ความรู้สึกและความปรารถนาอันแรงกล้าของวินวินก็น่าจะรวมไปถึงการที่วินวินเต้นรำบนเวทีด้วย


         ในตอนสุดท้ายในทีเซอร์ 7th Sense ปิดจบด้วยวินวินที่น่าจะเป็นวินวินคนปัจจุบันนั่งอยู่ในห้องซ้อมเต้น ซึ่งนี่อาจหมายความว่าวินวินคนที่อยู่ในร้านอาหารน่าจะเป็นวินวินในความฝันที่วินวินคนปัจจุบันฝันถึง และความรู้สึกที่ได้แชร์กับทั้งแทยงและเด็กชายนิรนามทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น อาจเป็นฝันซ้อนฝันซ้อนฝันอีกทีจากจิตสำนึกของวินวินเอง 

     
         แล้วจุดร่วมสุดท้ายคืออะไรทำไมวินวินถึงต้องเป็นคนที่ฝันเรื่องทั้งหมดนี่ขึ้นมา ?

         เมื่อ Synchronicity เกิดขึ้นในความฝันอาจเป็นการระลึกหรือแชร์ความรู้สึกกับผู้อื่นที่กำลังฝันอยู่ด้วยความบังเอิญ เรื่องนี้เป็นเรื่องเหนือวิทยาศาสตร์แต่มีความเป็นไปได้ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ไม่ว่าเด็กชายนิรนามและแทยงจะมีตัวตนอยู่ในปัจจุบันกาลในเวลาเดียวกับวินวินหรือไม่ไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือทั้งสามคนนั้นแชร์ความรู้สึกร่วมกันทั้งความปรารถนาอันแรงกล้าที่ปรากฎขึ้นในความฝันและความรู้สึกที่อยากจะทำตามความฝันของตัวเอง 

         หากจะให้วิเคราะห์เข้าไปลึกกว่านี้ระหว่างเด็กชายนิรนามและวินวินมีจุดร่วมกันอยู่อีกหนึ่งสิ่งคือการพรากจากแม่ มีความเป็นไปได้ว่าเด็กชายนิรนามอาจเป็นส่วนหนึ่งของจิตวินวินที่โหยหาแม่ คำว่า แม่ ในทางจิตวิเคราะห์นั้นเป็นได้หลายอย่าง สามารถนำไปเปรียบเทียบเป็นชนชาติหรือประเทศก็ได้ ซึ่งที่นี้อาจไม่ใช่แม่ที่แท้จริงแบบที่เป็นมารดาผู้ให้กำเนิด แม่นี้อาจหมายถึงประเทศ 'แม่' ที่ที่วินวินจากมา บ้านเกิดแห่งเดียวของวินวินซึ่งก็คือ ประเทศจีน 

          I SEE THE VISION 


         คำตอบสุดท้ายที่จะไขคำถามในตอนแรกว่าทำไมวินวินเห็นทะเลแล้วรู้สึกหัวใจสั่น ผู้เขียนมีความเชื่อว่าจิตของวินวินที่ผูกพันอยู่กับเด็กชายนิรนามในทีเซอร์ The Origin นั้นยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นสาเหตุว่าความรู้สึกแรงกล้ากับความปรารถนาเบื้องลึกของเด็กชายคนนั้นที่อาจยังอาศัยอยู่ในห้วงจิตของวินวินและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


    NEXT EPISODE
    >  NCTMentary: Inception
    • ไพ่ของเจโน่ รูหนอนและความเป็นไปได้ของระบบของความฝัน
    • บทบาทของ WayV ในเส้นเรื่องปัจจุบันของจักรวาล NCT

    แท็กสำหรับออกความเห็น #BDTheMT จะเข้าไปอ่านนะคะ 
    ผิดพลาดอย่างไรน้อมรับคำติชมได้ที่ @Lera1441 ask.fm อยู่บนไบโอค่ะ พร้อมรับฟังและแก้ไขแต่ไม่น้อมรับคำหยาบและ Negative Comments นะคะ ใจบาง
    _____________________

    Talk: 

         ขอบพระคุณที่อ่านมาจนถึงตอนนี้นะคะถ้าใช้ภาษายากไปต้องขออภัยด้วย พยายามเขียนให้เป็นภาษาคนและเข้าใจง่ายมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว  ใช้เวลานานมากกว่าจะมาต่อ เราว่าเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะใช้พลังงานและจินตนาการอย่างสูงที่จะเขียนออกมาซึ่งช่วงนี้เราไม่ค่อยมีสองอย่างนี้ค่ะ แต่หลังจากนี้จะพยายามเพราะรู้ว่ามีคนรออ่านอยู่ ยังไงก็สุดสัปดาห์นี้ขอให้มีความสุขกับคอนเสิร์ต The Origin นะคะ 
    **** โปรดใช้แท็ก #BDTheMT ในการออกความเห็นเกี่ยวกับบทความนี้นะคะ เพราะก่อนหน้าเราเห็นคนเอาเนื้อหาในบทความเราไปทวีตลอย ๆ ไม่ให้เครดิตพูดเลยว่าปวดกระดองใจมากเพราะบทความแรกเราทำแทบเลือดตากระเด็นกว่าจะได้ออกมาขนาดนั้น ยังไงครั้งนี้ก็ขอความกรุณานะคะ 

    แหล่งอ้างอิง

    1. Felluga, Dino. "Modules on Lacan: On the Structure of the Psyche." Introductory Guide to Critical Theory. http://www.purdue.edu/guidetotheory/psychoanalysis/lacanstructure.html

    2.ทอแสง เชาว์ชุติ. มองชาตินิยมผ่านจิตวิเคราะห์ในนวนิยายเรื่องทวิภพ 

    3. Synchronicity, Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Synchronicity

     
     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Nattacha Theeranaew (@mckie.b)
อยากอ่านต่อจังเลยค่ะมุแง ?? เขียนและวิเคราะห์ได้สุดยอดสุดๆไปเลยค่ะ!! นับถือการเชื่อมโยงและ reserch มากๆ