เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
No Cat Killed แมวตัวไหนที่ความสงสัยฆ่าrainbowflick17☂️
Kamikaze (re)wave: การหวนมาของค่ายเพลงวัย(เคย)รุ่น และจิตวิทยาของการโหยหาอดีต

  • เมื่อเร็ว ๆ นี้การกลับมาของศิลปินเก่า ๆ ในค่ายกามิกาเซ่ ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น เฟย์ ฟาง แก้ว ที่กลับมาร้องคัฟเวอร์เพลงเก่าของตัวเองเป็นแนวอคูสติก โฟร์-มด ที่กลับมายืนเวทีเดียวกันอีกครั้ง หรือคอนเสิร์ตคัมแบกของบอยแบนด์ขวัญใจวัยรุ่นยุคเกมเต้นอย่างเคโอติก 

    มันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่จะรู้สึกอยากกลับไปซึมซับเรื่องราวเก่า ๆ   อันที่จริง ถ้าคุณฟังเพลงแฟนใหม่จากคลื่นวิทยุยอดฮิต เคโอติกก็จะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิตด้วยซ้ำ ความทรงจำเหมือนบูมเมอแรงที่ใช้เวลาเดินทางนานโขและมักกลับมาในวันที่ลืมไปแล้วว่าขว้างออกไปตอนไหน 

    ทำไมการพูดถึงผมทรงรากไทรถึงทำให้มีความสุขได้ไม่หยุดหย่อน นั่นเพราะสิ่งที่ผ่านไปแล้วไม่ผ่านไป 

    วันนี้อยากพาไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ จำตอนนั้นได้ปะ  ี่จัดแสดงบ่อย ๆ ในหัวเรา และหาคำตอบว่าทำไมอดีตหอมหวานเสมอในวงเพื่อนเก่า (และวงเหล้าระหว่างนี้เปิดเพลงที่เคยชอบฟังไปด้วยก็ได้  


    ความสุขที่ทำให้เราเศร้านิด ๆ 

    (-getsunova?)


    สิ่งที่รู้สึกระหว่างฟังเพลงโปรดเมื่อสิบยี่สิบปีที่แล้ว คงจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า Nostalgia (คำคุณศัพท์ : Nostalgic)

    Nostalgia มีคำแปลหลากหลายในภาษาไทย อาจแปลได้ว่า การระลึกถึงความหลัง ความอาลัยอาวรณ์ การโหยหาอดีต พจนานุกรมบางแหล่งแปลยาว ๆ ไว้ว่า การครุ่นคิดอยากให้กลับมาซึ่งประสบการณ์,สิ่งของหรือความคุ้นเคยในอดีต ถ้าจะแปลสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย จะใช้คำว่า คิดถึง ก็ได้

    แต่ความคิดถึงที่ว่านี้เป็นอะไรที่มากกว่าการหวนนึกไปถึงความทรงจำ มันเป็นความรู้สึก เป็นอารมณ์ ที่คลุมเครือระหว่างความอบอุ่นเมื่อเราคิดถึงความทรงจำที่ชื่นชอบในอดีตของเรา กับความรู้สึกอื่น ๆ 

    • อิริกา ฮีปเปอร์ (Erica Hepper, Ph.D.) อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ (University of Surrey) อธิบายว่า ความคิดถึงหรือความโหยหาอาลัยถึงอดีตนี้เป็นความรู้สึกชนิดหวานอมขม - แม้จะทำให้มีความสุข สบายใจ แต่ก็แฝงด้วยความเศร้าจากความรู้สึกที่ว่าเราได้สูญเสียบางอย่างไปแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 
    • ในขณะที่ เคลย์ เราท์เลดจ์ (Clay Routledge, Ph.D.) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยนอร์ทดาโกต้า (North Dakota State University) กล่าวไว้ การรำลึกเป็นพฤติกรรมการทบทวนอดีตของมนุษย์ ซึ่งการรำลึกที่ว่านี้ บางทีก็ไปกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ห่วงหาอาวรณ์ขึ้นมาได้

    ที่มาที่ไป

    ทั้งฮีปเปอร์และเลดจ์ต่างเห็นด้วยว่าการคิดถึงอดีตเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็เป็นกัน  โดยเฉลี่ยแล้วคนมักจะมีอาการคิดถึงอดีตสัปดาห์ละครั้ง โดยได้รับการกระตุ้นจากหลายปัจจัย เช่นกลิ่นที่คุ้นเคย เสียงดนตรี หรือภาพถ่ายเก่า ๆ  

    นอกจากรูป เสียง กลิ่น รส ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกจะกระตุ้นให้คิดถึงอดีตได้แล้ว ปัจจัยภายในอย่างความรู้สึกเชิงลบก็เป็นตัวกระตุ้นได้เหมือนกัน หลายคนพบว่าเมื่อรู้สึกเหงา ได้ยินเรื่องหดหู่ใจ รู้สึกสิ้นหวัง ก็มักจะรู้สึกคิดถึงอดีตขึ้นมา 

    ความคิดถึงนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในหมู่คนหนุ่มสาว วัยรุ่น และช่วงวัย 20  ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่สำคัญ เช่น เริ่มต้นเรียนมหาวิทยาลัย หรือเริ่มต้นทำงาน อาจจะต้องแยกออกมาอยู่ตัวคนเดียว โดยเมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่วุ่นวายและไม่มั่นคงในชีวิต คนก็มักจะโหยหาความเรียบง่ายและความปลอดภัยในวัยเด็กเป็นธรรมดา

    ถัดมาในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ก็พบเช่นกัน เนื่องจากเป็นการมองย้อนกลับไปคิดทบทวนชีวิตนั่นเอง

    ถึงแม้ว่าการมองย้อนกลับไปในอดีต ฟังดูเหมือนต้องมีอดีตเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญ นั่นคือต้องมีอดีตที่ยาวนานก่อน ถึงจะรำลึกถึงได้ แต่ที่จริงไม่จำเป็น ความรู้สึกคิดถึงหรือโหยหาอดีตนี้เกิดได้กระทั่งในเด็กอายุ 8 ปี


  • อดีตสวยงามนักหรือ เราถึงโหยหา


    เคโอติก ติดเทรนด์ทวิตวันนี้  ,23 มิถุนายน 2562

    อันที่จริงอดีตไม่ได้สวยงามเสมอ หรือสวยงามทั้งหมด แต่เมื่อไหร่ที่เรากำลังมีอาการ Nostalgia สมองก็ได้ทำหน้าที่ตัดต่อเอาส่วนที่ไม่ค่อยจะดีออกไปก่อนแล้ว

    ในงานศึกษาเรื่อง Nostalgia: A Neuropsychiatric Understanding การคิดถึงอดีตนี้ไม่ใช่อดีตเฉย ๆ แต่เป็นการคิดถึงและโหยหาอดีตในอุดมคติ เรื่องในวันวานที่ทำให้เราโหยหานี้ได้ผ่านการคัดกรองมาแล้ว เป็นการนำเอาความทรงจำหลากหลายแบบมารวมกัน และตัดเอาอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบออกไป มากกว่าที่จะเป็นความจริงทั้งหมดของอดีต

    จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าคนมักคิดถึงอดีตเมื่อรู้สึกเหงา หดหู่หรือสิ้นหวัง อดีตที่คิดถึงนี้ก็ไม่ใช่อดีตอะไรก็ได้ แต่มักจะเป็นอดีตพิเศษ ช่วงที่ได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อน กับครอบครัว วันครบรอบ วันจบการศึกษาหรือเหตุการณ์สำัญ ๆ ต่าง ๆ เห็นได้ว่าเหตุการณ์พวกนี้มักเชื่อมโยงไปหาความสุขหรือความสำเร็จทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น

    การคิดถึงอดีตนี้จึงไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราจำอะไรได้มากแค่ไหน แต่มักจะออกมาในรูปแบบอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า 

    เราเอาอารมณ์ความรู้สึกหนึ่ง ๆ ไปผูกติดไว้กับกรอบช่วงเวลานั้น เมื่อเรานึกถึงประสบการณ์ในช่วงนั้น ก็จะรู้สึกถึงอารมณ์ที่ถูกผูกติดไว้ด้วย

    *ถ้าหากสนใจ สามารถติดตามอ่านเรื่องการตัดต่ออดีตเพิ่มเติมได้ใน กลับตาลปัตร เป็นหัวข้อที่คิดว่าจะทำอยู่แล้ว แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ น่าจะมาอัพไม่วันใดก็วันหนึ่งค่ะ 5555



    ข้อดีของความคิดถึง

    ฮีปเปอร์อธิบายว่า เมื่อเราคิดถึงอดีต (ซึ่งมักจะเป็นอดีตดี ๆ อดีตในอุดมคติ) เรามักจะรู้สึกมีความสุขขึ้น มีความนับถือตนเอง (Self-esteem) เพิ่มมากขึ้น รู้สึกได้อยู่ใกล้กับสิ่งที่รักมากขึ้น และรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากขึ้น ในด้านร่างกาย มันมักจะทำให้เรารู้สึกอุ่นขึ้นด้วย (หมายถึงตัวอุ่นขึ้น จริง ๆ)

    ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลกันดี ถ้าหากคนมักคิดถึงอดีตในช่วงสิ้นหวัง อย่างนั้นก็ดูเหมือนว่าการคิดถึงอดีตน่าจะเป็นกลไกการเผชิญกับปัญหาหรือวิธีรับมือมือกับปัญหา (Coping Mechanisms) ตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง 


    แต่วันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้ -- มันต้องดีกว่า


    ในงานศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคมของฮีปเปอร์และเพื่อนร่วมงาน มีการกล่าวอ้างไว้อีกว่าการคิดถึงอดีตอาจช่วยทำให้มองอนาคตในแง่ดีมากขึ้น

    เวลาที่เราคิดถึงอดีตนั้น หลายครั้งไม่ได้คิดอยู่คนเดียว ถ้าหากอยู่กับคนอื่น ๆ มักจะมีการพูดคุยตามมา บทสนทนาที่โหยหาวันวานนี้ส้งผลทำให้สมาชิกในวงสนทนามีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นและโต้แย้งน้อยลง

     หลังจากคิดถึงอดีตแล้วมีแนวโน้มบริจาคให้การกุศลเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่เคยให้ปกติด้วย





    ถ้ากามิกาเซ่อยู่กับเราในช่วงวัยรุ่น ค่ายเพลงนี้ก็ผูกติดอยู่กับชีวิตที่ยังเด็กและอิสระ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมายขนาดนั้น เป็นความเรียบง่ายและปลอดภัยจากความเป็นผู้ใหญ่นั่นเองที่ทำให้เรามีความสุขเวลาพูดถึง


    เพราะไมมีอะไรเลยที่ให้ความสุขได้ง่ายแสนง่ายเหมือนการจินตนาการว่าได้หมุนเข็มย้อนเวลา การโหยหาอดีตนี้สามารถส่งต่อให้คนข้าง ๆ ได้แทบไม่ต่างอะไรกับการหาว ลองคิดดูว่ามันจะแพร่กระจายรวดเร็วและกว้างขนาดไหนในยุคที่ความโหยหานี้ถูกส่งต่อผ่าานโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่เพียงเท่านั้น ตัวกระตุ้นต่าง ๆ อย่างเพลงหรือรูปเก่า ๆ ยังอยู่ในรูปแบบของรูปภาพและวิดีโอที่บันทึกลงบนอินเทอร์เน็ต เข้าถึงได้ง่าย ทุกเวลา เห็นภาพชัดเจนกว่าในหัวหลายเท่าตัว 

     

    การโหยหาอดีตในยุคดิจิตัลจึงมีโอกาสจะกลายเป็นฝันที่กลายเป็นจริงได้ 

     

    เมื่อค่ายเพลงจัดการกลับมารวมตัว สิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี ถึงอดคิดไม่ได้ว่าความรู้สึกจะถูกเติมเต็มขนาดไหนถ้าได้พบอดีตในรูปแบบของปัจจุบัน  


    และนี่ก็คือข้ออ้างเผื่อคราวหน้าจะไปดูคอนเสิร์ตใด ๆ ค่ะ 5555




    ปล. พอดีผ่านมาเห็นสิ่งนี้ค่ะ มีสำรวจเสียงแฟนคลับด้วย เก๋ไก๋ 

     





    References 

    Leardi, J. (2013, May 10). The Incredible Powers Of Nostalgia. Retrieved from https://www.huffpost.com/entry/benefits-of-nostalgia_n_4031759

    Leibach, J. (2013, April 16). Why Do I Get Nostalgic? Retrieved from https://www.sciencefriday.com/articles/why-do-i-get-nostalgic/

    ถ้าหากเรียบเรียง แปลสรุปความช่วงไหนผิดพลาดขออภัยไว้ล่วงหน้า และรบกวนเมตตาทักมาบอกได้นะคะ-โดยติดต่อได้ทาง
    twt direct msg : @rainbowflick17

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in