เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
what I talk about when I talk about lovemcke3z
เพิ่งมีคนบอกว่าผมเป็นพวก Romanticism และไม่เหมาะที่จะเป็นแฟนของเขา
  • ถ้าทฤษฎีพันธุกรรมเป็นเรื่องจริง มนุษย์ทุกคนก็ต้องกลับไปทำตามสัญชาตญาณกันหมด ผู้ชายก็สืบพันธุ์ไปเรื่อยๆ หรือผู้หญิงก็เลือกคู่ครองที่ดีที่สุดตลอดเวลา แต่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราเลือกได้ ยุคนี้เราไม่ได้ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดเหมือนยุคหินแล้ว ทุกคนก็ยังมีเซ็กกันต่อไป แต่เราบิดเบือนประสบการณ์หรือสิ่งที่เราต้องการได้อย่างปัจเจค เราเป็นคนตามหาเองว่าเซ็กของเราคืออะไรแล้วเชื่อมโยงหรือขัดแย้งกับความรักอย่างไรซึ่งไม่เกี่ยวกับพันธุกรรมแต่อยู่ที่เรามีทัศนคติต่อโลกและชีวิตอย่างไร ซึ่งบิดเบนไปตามกระแสวัฒนธรรมหรือกรอบสังคมที่เราอยู่อีกต่อนึง

    แถมพัฒนาการในเรื่องความเชื่อและความต้องการของเราก็เฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อยๆ ห่างไกลจากทางโลกมากขึ้นและกลายเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่า นั่นทำให้เกิดทัศนคติที่แตกต่างกันมากมายต่อความเชื่อความต้องการ บางคนอาจเลือกที่จะขจัดสัญชาตญาณบางอย่างของตัวเองเพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องดี เพื่อหวังผลบางอย่างโดยผ่านระบบความเชื่อที่ดำรงอยู่ แม้จะขัดแย้งกับความต้องการในด้านอื่นๆ ก็ตาม บางคนเลือกจะส่งเสริมมันเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีก็ขึ้นอยู่กับกมลสันดารของแต่ละคนด้วย ความรักจึงแปรเปลี่ยนไปตามระบบความเชื่อที่กำหนดวิธีคิดของเราเวลาประเมินคนอื่น หรือตัดสินว่าอะไรถูกผิด หรือคิดว่าต้องทำอะไรให้ตัวเองบ้าง เราต้องรู้ข้อจำกัดของตัวเองเพราะทฤษฎีวิวัฒนาการหรือทฤษฎีพันธุกรรมก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่า ความรักมีประโยชน์อะไรในยุคนี้

    ในทฤษฎีจิตวิทยาวิวัฒนาการบ่งชี้ว่า ความรักคือสิ่งก่อสร้างของวัฒนธรรมโดยสร้างขึ้นอย่างมีเงื่อนไขใดๆ ก็ตามประกอบอยู่มากมายจากสังคมที่เราอยู่ด้วย ในสังคมหนึ่งการมีความรักคือรอคนที่ดีพร้อมเข้ามาตอบสนองหรือมาคลี่คลายความเหงาของเราได้ซึ่งใช้ไม่ได้กับอีกสังคมหนึ่งที่มีพ่อแม่พร้อมหน้าหรือมีวงสาคนาญาติมากมาย ทฤษฎีวิวัฒนาการก็กล่าวไว้ว่าความรักคือการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของอีกคนหนึ่งซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณที่แฝงในพันธุกรรม แต่เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า "ชีวิตความเป็นอยู่" ในที่นี้หมายถึงอะไร ในบางวัฒนธรรมอาจหมายถึงการมีบุตรเยอะๆ หรือในบางวัฒนธรรมคือมีบ้านที่สวยงาม มีอาหารเย็นที่ตรงเวลาทุกวัน ในอีกวัฒนธรรมคือการเป็นอิสระจากสังคม แต่ละรูปแบบพฤติกรรมก็ยังขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเราหรือความเชื่อโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่กระนั้นก็ยังมีข้อแตกต่างสารพัดในระดับปัจเจคบุคคล

    หลายคนมักบอกว่าให้ทำตัวตามสบายสิ ทำตัวให้เป็นธรรมชาติที่สุด แต่มันคือการมองในแง่บวกที่ผิดพลาดมาก เพราะตามธรรมชาติไม่ได้เรียกร้องให้เราต้องผูกมัดตัวเองขนาดนั้น ธรรมชาติไม่ได้บอกให้เราไว้ใจคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่สายเลือดตัวเอง ธรรมชาติไม่ได้บอกให้เราทนกับสิ่งที่คนอื่นเป็นเช่นพิการหรือโรคประจำตัว ซึ่งทุกคนเห็นต้องกันว่าไม่มีสิ่งไหนเป็นเรื่องดีเลย เราสามารถตัดสินคุณค่าต่างๆ โดยวัดจากผลลัพย์ของโลกที่เราอยู่ การบอกว่าความรักคือธรรมชาติของมนุษย์จึงไร้สาระมากเพราะสังคมบุพกาลไม่เคยมีหลักประกันว่าอะไรคือความดีงามของความรัก

    งั้นความรักไม่มีคุณค่าอะไรหรอ? เสรีนิยมอาจมองว่าความรักเป็นแค่เรื่องสมมุติที่สังคมต้องการผลลัพย์ในเชิงเศรษฐกิจและอุดมการณ์ แต่จริงๆ ความเห็นในเชิงลบก็ยังถูกตีความได้หลายทาง บางคนมองว่าประสบการณ์ความรักเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ความรักจึงไม่ใช่ค่าคงที่และต้องมีที่มาที่ไป ความรักไม่ใช่แค่ธรรมเนียมที่คนสร้างขึ้นและโยนทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ ความรักเปลี่ยนแปลงได้และอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างการเกิดอารยธรรม หรือวิถีปฎิบัติ เช่นความรักแบบโรแมนติค แต่เราต้องยอมรับว่าบางมิติเราปรับเปลี่ยนได้ บางมิติจะคงอยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล เราอาจคิดถึงความสุขของฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเวลามีเซ็ก แต่เราก็ยังให้ความสำคัญกับความรู้สึกชอบพอของตัวเองเหมือนเดิม สิ่งที่ธรรมชาติให้มาก็ไม่ได้ดีงามทุกอย่าง สิ่งที่เราสร้างขึ้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายทุกสิ่ง

    การยอมรับความต้องการของอีกฝ่ายเป็นเรื่องปรับเปลี่ยนและพัฒนาได้ เราสามารถแสดงความรักได้มากขึ้นและดีขึ้นจากการใส่ใจ เจตนาที่หวังดีต่อผู้อื่นจะกำหนดพฤติกรรมให้เป็นไปตามที่เรารู้สึกว่าเป็นการทำดี แต่โศกนาฎตกรรมอย่างหนึ่งของความรักคือ ฝ่ายหนึ่งตั้งใจดีและอยากเอาใจใส่ แต่ไม่รู้วิธีทำให้อีกฝ่ายพอใจ ความชอบพอก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การแปรความรู้สึกให้เป็นการปฎิบัติเพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้เป็นอีกเรื่อง ความรักต้องพิสูจน์ได้และเห็นผลในทางปฎิบัติ ความจริงข้อนี้ทำให้เกิดปัญหามากมาย แต่ก็ให้ความหวังด้วยเหมือนกันเพราะพฤติกรรมปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่าเจตคติหรือสัญชาตญาณ

    ยิ่งแต่ละคนก็มีขีดจำกัดความสามารถไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการมองหาโอกาสที่จะทำให้คนที่เรารักรู้ซึ้งถึงความรักที่เรามี การเข้าใจว่าอีกฝ่ายมีปัญหาอะไรหรือต้องการอะไร หรือการมองว่าพฤติกรรมของเราจะส่งผลถึงอีกฝ่ายยังไงบ้าง มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าเรารักเขามากแค่ไหนหรือทรมาณมากแค่ไหน แต่มันเกี่ยวกับความเข้าอกเข้าใจและค่านิยมที่เราใช้วัดการกระทำของตัวเองกับคนอื่นๆ มากกว่า แค่แกะกุ้งให้กันก็อาจแสดงออกถึงความรักได้แล้วก็ได้ในบางวัฒนธรรม

    ความรักจึงเป็นประวัติศาสตร์สองทาง คือสังคมที่เราเติบโตมากับประวัติส่วนตัวที่เชื่อมโยงระหว่างคนสองคน นี่อาจประวัติศาสตร์ที่เราต้องเปลี่ยนธรรมชาติวิสัยหรือพันธุกรรมให้เป็นวิถีปฎิบัติ ซึ่งเราอาจพบหรือไม่อาจพบช่องทางในการแสดงความรักในการกระทำหรือวาจาก็ได้

    เมื่อต้องหันมาสำรวจความหลากหลายของความรัก ก็ต้องมองความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์รักกับความเชื่อ ค้นหาว่าธรรมชาติวิสัยด้านใดบ้างที่มีบทบาทกับสิ่งเหล่านี้ เราต้องพิจารณาตัวแปรอะไรบ้างเพื่อเข้าใจประสบการณ์ความรักของตัวเองและอีกฝ่าย ทั้งสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมความเชื่อและสิ่งใดๆ ที่สร้างพื้นที่สำหรับการแสดงความรักของเรา หรือเป็นด่านปิดกั้น ต้านทาน บิดเบือนหรือปรับเปลี่ยนธรรมชาติวิสัยของเรา ความรักอาจเป็นเรื่องยุ่งยากในระยะยาว แต่ปัญหาเหล่านั้นก็เกิดจากวิธีคิดของเราด้วย และวิธีคิดก็เป็นอะไรที่เราควบคุมดูแลได้ไม่ใช่เหรอ?

    ความรักแบบ Romanticism ที่ให้ความสำคัญกับช่วงคบกันตอนแรกมากเกินไปนั้นอาจบิดเบียนความจริงของความสัมพันธ์ในระยะยาวได้ก็จริง แต่การดึงสาระสำคัญของวิถีปฎิบัติมันออกมาใช้ก็น่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการแสดงความรักไม่ใช่หรือ? เพราะเราไม่ได้เอาบรรทัดฐานของความช่วงแรกเริ่มมาตัดสินความรักทั้งชีวิตของเรา เพราะความรักจะต้องโดนทดสอบด้วยตัวมันเองตลอดเวลาอยู่แล้ว

    เรารู้สึกเสียใจที่โดนผลักไสออกมาจากพื้นที่ตรงนี้เท่านั้น มันยิ่งแย่ที่เรายิ่งเชื่อเขาสุดหัวใจว่าเราก็คงไม่เหมาะกับเขาจริงๆ แถมเราไม่ได้มีความสามารถในการ "ตื้อ" อย่างที่ Romanticism ระบุไว้อีกด้วย มันดีตรงที่เขาพูดกับเราตรงๆ เพราะเราตัดใจได้เร็วมาก แต่ความเศร้าตรงนี้มันก็คือความจริงที่ไม่มีใครปฎิเสธได้เหมือนกัน

    เฮ้อ

    *เผยแพร่ครั้งแรกบน facebook ข้าพเจ้าเอง - 31/07/16
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in