เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryNatthadon KosaithanaAnun
เราตั้งใจเรียนไปเพื่อความมั่นคงแบบไหน - สิ่งที่คิดได้ตอนอายุ 28 -
  • วันเกิดปีที่ 28 ปีนี้ ผมหวนระลึกถึงคำสอนของขงจื่อเรื่องหนึ่งที่พูดถึงสิ่งสำคัญในแต่ละช่วงวัยเอาไว้ว่า


    “...เมื่ออายุ 15 เราตั้งใจมุ่งมั่นกับการร่ำเรียน

    เมื่ออายุ 30 เราตั้งหลักได้มั่นคง

    เมื่ออายุ 40 เราไม่พะวงสงสัย

    เมื่ออายุ 50 เรารู้บัญญัติสวรรค์

    เมื่ออายุ 60 หูของเราฟังโดยไม่หวั่นไหว

    เมื่ออายุ 70 เราทำตามใจปรารถนาได้โดยไม่ละเมิดครรลอง...”


    หากเราเชื่อขงจื่อว่าชีวิตแบ่งออกเป็น 6 ช่วงวัย 

    ชีวิตในวันที่ 21 พ.ย. 2537 ก็เป็นชีวิตที่ผ่านช่วงวัยแรกมาแล้ว

    และกำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยที่สอง


    อยากพูดถึงแค่เฉพาะ 2 ช่วงวัยที่เกี่ยวข้องกับตนเองมากที่สุด คือ อายุ 15 ปี และ อายุ 30 ปี 


    “เมื่ออายุ 15 เราตั้งใจมุ่งมั่นกับการร่ำเรียน”

     

    ครั้งแรกที่ได้อ่านคำสอนนี้ของขงจื่อ ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาทันทีว่า

    ท่าทางคำสอนนี้คงจะตกยุคไปแล้วแน่ ๆ เพราะเด็กสมัยนี้ร่ำเรียนกันตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 3 ขวบดีด้วยซ้ำ 

    ถ้าเชื่อขงจื่อว่าอายุ 15 ปี เป็นหมุดหมายในการตั้งใจมุ่งมั่นกับการร่ำเรียน ก็คงจะไม่ทันโลกอย่างแน่นอน 


    แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงเข้าใจว่าที่ตัวเองคิดนั้นไม่ค่อยถูกต้องนัก

    เราไม่ควรเอาระบบการศึกษาภาคบังคับที่ครอบหัวเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ มาเทียบเคียงกับการเรียนรู้ 

    เพราะหลายคนในชีวิตที่ข้าพเจ้าเห็น สอนให้ข้าพเจ้าตระหนักอยู่บ่อย ๆ ว่า คนเราสามารถผ่านระบบการศึกษาภาคบังคับออกมาด้วยเกรดเฉลี่ยนที่โพสอวดชาวบ้านแล้วไม่โดนดูถูกดูแคลน หรือสำแดงต่อโลกว่าตนเองอ่านหนังสือมากมายขนาดไหนได้ โดยที่ไร้ความสามารถในการเรียนรู้ได้ขนาดไหน!! ซึ่งในความเห็นของผม ความรู้/การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด คือ การรู้ว่าตนเองนั้นไม่รู้อะไรเลย (I Know that I know nothing) อย่างที่เพลโตชี้ประเด็นนี้เอาไว้ผ่านบนสนทนาของโสเครติส ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากระบบการศึกษาภาคบังคับแต่อย่างใด


    นอกเรื่องออกไปพอสมควร กลับมาที่คำสอนของขงจื่อต่อดีกว่า 


    ถ้าขงจื่อพูดถึงช่วงวัย 30 ปีเอาไว้ว่า “เมื่ออายุ 30 เราตั้งหลักได้มั่นคง” คงเป็นการง่ายที่คนสมัยนี้อ่านประโยคนี้แล้วจะตีความคำว่า “มั่นคง” ว่าเป็นเรื่องของฐานะเงินทอง บ้าน รถยนต์ หน้าที่การงาน ฯลฯ แต่ผมกลับอยากตีความคำว่า “มั่นคง” ว่าหมายถึง “การตระหนักรู้ในตัวเอง” รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีจุดแข็งอะไร ทำอะไรได้ดี อะไรที่ไม่เหมาะที่จะทำ หรือไปให้ไกลยิ่งกว่านั้นก็คือ เกิดมาบนโลกนี้ทำไม ฯลฯ 


    ผมคิดว่าหากเราลองตีความ “มั่นคง” แบบนี้ อาจช่วยให้เราเข้าใจความหมายของสิ่งที่ขงจื่อสอนให้มุ่งมั่นกับการร่ำเรียนตั้งแต่อายุ 15 ได้


    เมื่อ “มั่นคง” เช่นนี้ จึงจะสามารถ “ไม่พะวงสงสัย - รู้บัญญัติสวรรค์ - ฟังโดยไม่หวั่นไหว - ทำตามใจปรารถนาได้โดยไม่ละเมิดครรลอง” ตามช่วงอายุต่าง ๆ ที่ขงจื่อบอกเอาไว้


    ประเด็นคือ คนแต่ละคน แม้จะเรียนจบจากที่เดียวกันแต่ก็คงไม่สามาถเก็บเกี่ยวเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือ คุณได้เรียนรู้อะไรมา และเครื่องมือในการเรียนรู้ของคุณเป็นอย่างไร 


    ผมเป็นคนหนึ่งที่สิ่งที่เรียน กับสิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้ตรงกันเสียทีเดียว 


    ผมเรียนรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ค่อนข้างมีความสุขกับการเรียนในวิชาแนว ๆ ปรัชญาการเมือง ทฤษฏีการเมือง หรือวิชาอะไรก็ตามที่พร้อมจะถูกตราหน้าจากตลาดแรงงานทันทีที่ได้ยินชื่อว่า “เอาไปใช้ทำมาหากินไม่ได้” 


    แต่เชื่อไหมว่า สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากคณะรัฐศาสตร์ หรือบรรดาวิชาต่าง ๆ ที่ถูกตราหน้าเอาไปใช้ทำมาหากินไม่ได้นี่แหละ ที่ช่วยทำให้ผมสามารถทำงานอย่างที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ได้ สิ่งที่สำคัญกว่า How to ที่วิชาเหล่านี้สอน คือ กระบวนการคิดบางอย่าง ที่จะติดตัวเราไปตลอดกาล และเป็นหน่ออ่อนในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้ ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ โดยกระตุ้นเตือนให้คิดอยู่เสมอว่าตัวเราเองยังไม่รู้อะไรบ้าง แล้วจะทำให้ตัวเองรู้เรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร 


    ปัจจุบันผมทำงานเป็น Sale/Ae ของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งผมอยากนิยามหน้าที่ของผมอย่างกว้างที่สุดไว้ว่า “จ้องมอง ทำความเข้าใจ ปลุกเร้า ความปรารถนาเชิงลึกของผู้คน เติมเต็มความปรารถนาเหล่านั้นด้วยสินค้าและบริการของที่เรามี ทำเช่นนี้เป็นวงจรซ้ำไปซ้ำมา และทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าวัฏจักรดังกล่าวจะไม่มีอะไรมาทำให้ติดขัด” 


    เมื่อทำงานมาเรื่อย ๆ ก็ทำให้ผมได้ค้นพบความสนใจของตัวเองเรื่อย ๆ ถ้าสกัดออกมาเป็น “คำ” ก็คงจะได้ประมาณนี้ 

    • การฟัง -> ผมชอบที่จะได้ฟังคนอื่น ๆ เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผมรู้สึกว่าผมไม่น่าจะคิดเอาเองนะว่า คนอื่น ๆ จำนวนนึงก็ชอบพูดอะไรบางอย่าง ซึ่งปกติแล้วจะไม่พูดกับคนอื่นให้ผมฟังอยู่เสมอ ๆ ที่พีคที่สุด คือ เคยเจอผู้หญิงแปลกหน้าในห้องสมุดมธ.ท่าพระจันทร์ มาเล่าเรื่องความทุกข์ของเธอที่แอบชอบผู้ชายในห้องสมุดคนนึงอยู่นานแสนนาน แต่ไม่กล้าคาดหวังเพราะไม่รู้ว่าเขามีเจ้าของแล้วหรือยัง เลยจะมาขอให้ผมไปจีบผู้ชายคนนั้นให้หน่อย!?!
    • การให้คำปรึกษา -> ด้วยความทีชอบฟังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มันเลยช่วยให้ผมเข้าใจภาพรวมต่าง ๆ ได้ดี และอาจจะเห็นในจุดอื่น ๆ ที่ผู้เล่าอาจมองข้ามไป ผมเลยมักรับบทที่ปรึกษาให้กับคนอื่นอยู่เสมอ ๆ ไปด้วยเช่นกัน 
    • การสื่อสาร -> ด้วยความที่ฟังเรื่องราวของคนมาเยอะ ให้คำปรึกษาคนมาก็มาก เลยทำให้เห็นช่องโหว่เรื่องนึงว่า “คนทุกคนล้วนมีปัญหาในการสื่อสาร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” จากที่เคยเป็น “คนกลาง” มาเยอะแล้ว คงจะดีนะถ้าในอนาคตมีโอกาสได้ทำหน้าที่ “คนกลางที่หาเงินได้” อย่างผู้ดำเนินรายการ/Host รายการ ในสไตล์ที่เป็นเรา ฯลฯ 
    • การเมือง -> เรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่สลัดทิ้งไม่ได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามเราก็สนใจการเมือง และหากมีโอกาสก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
    • นโยบายสาธารณะ -> เนื่องจากเราอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในสังคม ถ้าจะไม่สนใจเรื่องนโยบายสาธารณะเลยก็คงจะแปลก ๆ 
    • Business -> ไม่รู้มาโคจรเจอกันได้ยังไง แต่ด้วยงานที่ทำอยู่ ก็ทำให้ต้องหันมาอ่านหนังสือด้านนี้เยอะขึ้น ตอนแรก ๆ ก็ไม่รู้เรื่องเท่าไร ไปๆ มา ๆ ถึงเริ่มรู้เรื่องขึ้น จนทุกวันนี้ Passion อย่างนึงในการทำงาน คือ อยากอ่านหนังสือเหล่านี้แล้วสนุกขึ้น
    • Data -> เป็นเรื่องสำคัญเรื่องนึงเลยแหละที่เรียนรู้ในปีนี้ ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้วางแผนต่าง ๆ การนำข้อมูลมาเล่าเรื่องให้ทรงพลัง ฯลฯ ข้อมูลสำคัญมากจริง ๆ และเป็นเรื่องที่เราอยากเรียนรู้ให้มากกว่านี้ 


    อะไรประมาณนี้แหละครับที่ผมได้เรียนรู้ในวัน 28 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าจะช่วยให้ผมสามารถ “เราตั้งหลักได้มั่นคง” ในวัย 30 ตามคำสอนของขงจื่อในที่สุด


    ขอบคุณทุกคนมาก ๆ ที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ อยากบอกสำหรับผู้ที่บังเอิญผ่านมาอ่านถึงตรงนี้ว่า ถ้าคุณกำลังมองหาคนที่จะไปร่วมงานหรือทำอะไรสนุก ๆ  แล้วเห็นว่าความสนใจของผมน่าจะพอไปด้วยกันได้กับสิ่งที่คุณกำลังจะทำ เราลองมาคุยกันได้นะครับ เผื่อว่าเราจะสามารถเกื้อหนุนกันได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 


    ;)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in