เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกบรรณารักษ์tan_fx
แด่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 2nd Edition
  •      บทความโรคซึมเศร้าลิ้งค์นี้ https://minimore.com/b/uwJVS/2 เป็นบทความแรกเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่เราเขียนไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2016 ซึ่งมาถึงวันนี้เราเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์อย่างเป็นทางการมาประมาณสองปีกว่าละ แล้วก็ได้พบปะ พูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคน ทั้งทางเมนชั่นในทวิตเตอร์ พูดคุยต่อหน้า โทรมาดูดวง และด้วยความที่เวลามันก็ล่วงเลยมาตั้ง 2 ปีแล้ว เรื่องโรคซีมเศร้าก็ได้กลายเป็นเรื่องที่สามารถพูดถึงกันได้มากขึ้นในสังคม เป็นสิ่งที่คนยอมรับกันมากขึ้นต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อนในช่วงที่เราเขียนเรื่องนี้ลง minimore อย่างเห็นได้ชัด เราก็มีเรื่องมากมายหลายประเด็นมาเล่าให้ฟัง ก็เลยว่าจะมาเขียนอัพเดทกันสักหน่อย

         อย่างแรก ถ้าคุณสงสัยว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่า ยังลังเล ไม่แน่ใจ เราแนะนำว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเป็นหรือไม่เป็น ให้ลองไปพบจิตแพทย์ดูก่อน ยังไงก็ต้องไปที่จุดคัดกรองอยู่แล้ว แล้วแพทย์จะเป็นคนวินิจฉัยว่าอาการที่คุณเป็นมันใช่โรคซึมเศร้ามั้ย ถ้าใช่จะได้รักษาอย่างถูกต้อง ถ้าไม่ได้เป็นก็ดีไป

    แต่ด้วยความที่ว่าโรคซึมเศร้ามันเป็นเรื่องของทั้งสภาวะจิตใจและสารเคมีในสมองที่มันไม่สมดุล มันเลยทำให้ดูภายนอกได้ยากว่าใครป่วยใครไม่ป่วย เพราะคนป่วยก็ไม่ได้จะเศร้าตลอดเวลา ร้องไห้ตลอดเวลา หรืออยากตายตลอดเวลา แต่ที่แน่ๆ คือมันมีแนวโน้มที่อารมณ์เศร้าจะเกิดได้ง่ายและยาวนานกว่าปกติ

    ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายๆ คนร่าเริงกว่าคนปกติอีก ร่าเริงทำตัวปกติจนไม่มีใครรู้เลยว่าจริงๆ แล้วข้างในจิตใจของคนๆ นั้นบอบช้ำและพร้อมที่จะพังทลายลงมาได้ง่ายขนาดไหน เพราะฉะนั้นก็อยากขอว่าอย่าตัดสินผู้ป่วยจากภายนอกหรืออาการที่เขาแสดงออกมา โลกภายในใจของผู้ป่วยมันทรมานจริงๆ

    จะอย่างไรก็ถาม ถ้าคุณคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งที่เราแนะนำจากใจเลยคือ ไปพบจิตแพทย์ มันเป็นช่องทางที่ชัวร์ที่สุด แล้วการพบแพทย์มันไม่ใช่อะไรที่แปลก ในแผนกจิตเวชมีคนทุกรูปแบบให้เห็น เด็ก วัยรุ่นที่เครียดเรื่องเรียนจนรับมือไม่ไหว สาวสวยที่อกหักแล้วทำใจยังไงก็ยังทำไม่ได้ คนแก่ที่ผ่าตัดมาหลายรอบจนหมดกำลังใจ พ่อแม่ที่เครียดเรื่องลูก พระ แม่ชี

    อาการทางจิตเวช หรือความป่วยไข้ทางจิตใจมันก็ย่อมต้องการการรักษาทั้งนั้น เพียงแค่อาการป่วยทางใจมันอาจจะจับต้องไม่ได้ สังเกตไม่ได้ชัดเหมือนกับปวดท้อง ไข้ขึ้น ก็เท่านั้นเอง แล้วสาเหตุที่คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันนี่มีร้อยแปดพันเก้ามาก แต่ละคนมีแต่ละประเด็นส่วนตัวอยู่ในใจที่รอการแก้ไข้

    ซึ่งการไปพบจิตแพทย์ก็มีการรักษาหลายรูปแบบ ทั้งพูดคุยกับจิตแพทย์ ทานยา ทำจิตบำบัดกับนักจิตวิทยา ไม่ใช่ว่าทุกคนพอป่วยปุ๊บจะต้องกินยาปุ๊บ บางกรณีแค่การได้พูดคุย ได้ระบายกับคุณหมอไม่กี่ครั้งอาการก็ดีขึ้นแล้ว ส่วนบางคนที่ต้องทานยา ก็ทานยาไป เหมือนกับโรคอื่นๆ ที่ต้องทานยานั่นแหละ

         แต่ที่นี้ยาที่ใช้รักษาอาการทางจิตเวชเนี่ย มันก็มีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป อยู่ที่ว่าใครอาการเป็นยังไง หมอวินิจฉัยว่าควรทานยาตัวไหน ซึ่งบางคนก็เจอผลข้างเคียงของยา มึนบ้าง เวียนหัวบ้าง ง่วงตลอดเวลาบ้าง บางคนก็ไม่เจอเลยก็มี แต่ผลข้างเคียงมันก็มักจะอยู่แค่ชั่วคราว

    แต่ถ้าเราทานยาตัวไหนไปแล้วเราทนผลข้างเคียงของยาตัวที่คุณหมอจ่ายให้ไม่ไหว เราก็ขอให้คุณหมอปรับยาให้ได้ เพราะของแบบนี้บางทีมันไม่มีใครรู้แน่นอน 100% หรอกว่าใครเข้ากับยาตัวไหนได้ดีที่สุด มันก็ต้องค่อยๆ ปรับกันไป แต่บางคนก็โชคดี เจอยาที่เข้ากับตัวเองได้เลยก็มี

    แล้วยาทางจิตเวชนี่เป็นยาที่ห้ามหยุดยาเองเป็นอันขาด เราย้ำกับทุกๆ คนที่มาถามมาปรึกษาเรื่องโรคซึมเศร้าว่าอย่าหยุดกินยาเอง ถ้าคิดจะหยุดเพราะผลข้างเคียงมันไม่โอเค ก็ควรไปพบแพทย์ก่อน เพราะยังไงช่วงปรับยามันก็ประมาณ 1-2 สัปดาห์อยู่แล้ว

    และการไปพบจิตแพทย์ที่รพ.รัฐนั้นไม่แพงเลยจริงๆ ค่ารักษา เอาแค่ค่าตรวจก่อนนะ ที่รพ.รามาธิบดีที่เราไปรักษาอยู่เนี่ย 50 บาท ค่ายาก็หลักร้อย คิดยังไงก็คุ้มที่จะไปพบแพทย์ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคนรอบข้างมองแปลกๆ หรืออะไรเลย เพราะทุกคนที่ไปรอพบแพทย์ที่นั่น กว่า 90% คุณเดินสวนกับเขาข้างนอกคุณก็ดูไม่ออกหรอกว่าเขาป่วย

    แต่ด้วยความที่ข้อจำกัดของรพ.รัฐมันก็มี คือรอคิวนาน ยิ่งนอกเวลาราชการยิ่งนาน นัดวันนี้ ได้พบแพทย์อีก 2 เดือนข้างหน้า เราถึงแนะนำทุกคนว่าถ้าคิดว่าเริ่มไม่โอเค หาทางทำบัตรโรงพยาบาลแล้วนัดแพทย์เลย แต่ในกรณีที่เราไม่ไหวจริงๆ อาการแย่แล้ว ก็ให้ไปที่แผนกจิตเวชแต่เช้าเลย เขาก็จะพิจารณาให้เป็นกรณีๆ พิเศษไป

         ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดแล้ว เราก็สนับสนุนการพบจิตแพทย์เป็นก้าวแรกในการรักษาโรคซึมเศร้านะ ที่นี้มาว่ากันด้วยเรื่องยา บางคนสงสัยว่ากินเข้าไปแล้วมันเป็นยังไง มันหายเศร้า มันมีความสุขเลยมั้ย คำตอบคือไม่ใช่นะครับ มันไม่มียาวิเศษแบบนั้นบนโลก แต่มันก็มีประโยชน์ของมัน

    ถึงแม้ว่ายาต้านเศร้าจะไม่ได้ทำให้เรามีความสุขขึ้นมาในทันที เพราะยาแบบนั้นมันไม่มีในโลก แต่มันจะค่อยๆ ช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมองเรา มันจะทำให้อารมณ์เราคงเส้นคงวามาขึ้น เวลามีอะไรมากระทบ ก็จะไม่ดิ่งเร็ว แล้วมันก็ไปช่วยลดความคิดลบๆ ยุ่งๆ วุ่นวายในหัวเราที่ทำให้เราหดหู่ตลอดเวลาลง ทำให้เรามีเวลาที่ใจนิ่งมากขึ้น

    เพราะฉะนั้นยามีส่วนช่วยอย่างแน่นอน แต่เราพึ่งยา 100% ไม่ได้ ไม่ใช่แค่กินยาไปแล้วใช้ชีวิตตามเดิมไปเรื่อยๆ แล้วเราจะหาย ในความคิดเรานะ หมอกับยาช่วยเราได้ประมาณ 40% บวกลบนิดหน่อยแล้วแต่กรณีไป ที่เหลือมันขึ้นอยู่กับตัวเราล้วนๆ ว่าจะใช้ชีวิตยังไงให้หายจากโรคซึมเศร้า

         ในช่วงที่เราทานยาต้านเศร้าแล้วอารมณ์เริ่มนิ่งแล้ว อะไรที่เรารู้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเกิดอาการดิ่งได้เนี่ย เราควรเลี่ยงให้หมด เราเองก็ต้องปรับวิถีชีวิตของเราเหมือนกัน ไม่ดูหนังเศร้า ไม่อ่านหนังสือเศร้า ไม่ฟังเพลงเศร้า อะไรหมองๆ ก็เลี่ยงๆ มันไป อยู่กับอะไรที่ทำให้จิตใจเราสดชื่น

         อีกประเด็นที่สำคัญมากๆ เลยคือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งมันมีผลมากๆ ถ้าคุณอยู่กับอะไรที่มันชวนหดหู่ มันก็จะยิ่งพาคุณดิ่ง ถ้าอยู่กับคนรอบตัวที่ทำให้เรามองตัวเองแย่หรือไร้ค่าตลอดเวลา ถ้าเป็นไปได้ ก็ออกมาจากวงสังคมแบบนั้น แต่ถ้ามันเป็นภาวะจำยอม ก็ฟังเข้าหูซ้ายออกหูขวาเลย

    เราอยากให้ทุกคนระลึกไว้เสมอว่าการที่เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเนี่ย คือเราแค่ป่วยเฉยๆ นะ โรคซึมเศร้าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา เหมือนคนเป็นมะเร็ง เขาก็เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง มะเร็งไม่ใช่ตัวตนของเรา เราต้องเข้าใจตรงนี้และเห็นค่าของตัวเองด้วย ว่าเราหายจากโรคนี้ได้

         อย่างสุดท้ายจริงๆ เลยที่จะทำให้เราหายจากโรคซึมเศร้าได้อย่างถาวรเลย คือการที่เราได้มาพิจารณาว่าจริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้ามันคืออะไร ซึ่งขั้นตอนนี้ยากที่สุด เราเลยเอามาไว้ท้ายสุด บางคนต้องทำจิตบำบัดถึงจะแก้ปมในใจนี้ได้ เพราะแต่ละคนปมก็ต่างกัน

    เราต้องใช้โอกาสตอนที่ยาต้านเศร้าออกฤทธิ์ ทำให้เราอารมณ์นิ่งนี่แหละ แล้วค่อยๆ พิจารณาว่าต้นตอความเศร้าของเรามาจากอะไร แล้วค่อยๆ หาวิธีแก้ ถามตัวเองว่าเราจะ “แก้มันอย่างไร” พยายามเลี่ยงคำถามที่ว่า “ทำเป็นเราต้องเป็นแบบนี้” เพราะการถาม “อย่างไร” จะพาเราไปสู่คำตอบ

         อีกประเด็นที่เราได้ยินมาบ่อยคือผู้ใหญ่บางคนไม่เชื่อว่าโรคซึมเศร้ามันเป็นเรื่องจริง คิดว่าแค่ทำใจให้ได้มันก็หาย หรือบอกให้ไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิมันก็หาย ทางที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์กับพวกเขา ทำให้เขาเข้าใจ พอเข้าใจตรงกัน มันก็จะแก้ปัญหาได้

    ถ้าถามเราว่า ถ้าทำใจได้ ถ้านั่งสมาธิปฏิบัติธรรมได้ มันจะช่วยมั้ย เราตอบได้เลยว่าช่วย แต่คนกำลังเศร้ากำลังหดหู่มันไม่มีกำลังใจมานั่งสมาธิพิจารณาอะไรหรอก มันยาก การทำจิตให้นิ่งไม่ใช่ของง่าย เราจัดเรื่องพวกนี้ไว้ขั้นตอนท้ายๆ เลย เพราะขนาดพระบางรูปยังต้องมาพบจิตแพทย์เลย

    คือธรรมะเป็นเครื่องมือในการเยียวยาโรคซึมเศร้าที่ดี แต่จะต้องถูกใช้เวลาที่สมควรเท่านั้น คือเมื่อผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่แข็งแรงประมาณนึงแล้ว นิ่งแล้ว และสนใจเรื่องนี้จริงๆ เรื่องกฎไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง ว่าทุกๆ สิ่งมันก็เป็นเช่นนั้นเอง พอพร้อมศึกษาเรื่องพวกนี้ มันก็ช่วยให้ทำใจรับกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและสิ่งต่างๆ ที่มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังได้

    สุดท้ายแล้วเราอยากฝากไว้ว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่ว่าคุณจะเจอปัญหาอะไรมาก็ตาม โรคซึมเศร้ามันรักษาได้นะ คุณแค่ต้องการคนรับฟัง คนที่เข้าใจ คนที่เป็นกำลังใจให้คุณ สภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้คุณหาย และที่สำคัญที่สุด คุณต้องแน่วแน่กับตัวเองว่า “ยังไงฉันก็จะหายป่วยให้ได้”

    ถ้าใครสนใจไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็ทำตามนี้ได้เลยนะ

    - ลงทะเบียนผู้ป่วย ทำออนไลน์ก็ได้ตามเวลาราชการเข้าลิ้งก์นี้เลย http://med.mahidol.ac.th/mr/th/register-thai

    - หลังจากได้หมายเลขผู้ป่วย ก็โทรไปที่แผนกจิตเวชผู้ป่วยนอกของรามาที่อาคาร 4 ชั้น 2 เบอร์นี้ 02-201-1235 , 02-201-1726 โทรไปนัดล่วงหน้านะ

    -เมื่อถึงวันนัดให้ไปก่อนเวลานัด ไปรับบัตรประจำตัวผู้ป่วยที่เวชระเบียน แล้วก็ไปที่แผนกจิตเวชที่อาคาร 4 ชั้น 2 ไปเช้าหน่อยก็ดีนะ ไปวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก แล้วก็รอพบพยาบาลให้ซักประวัติ (ไม่ต้องตกใจ ไม่มีการสืบสวนอะไร แค่ถามตอบพูดคุยธรรมดา) แล้วก็รอพบหมอได้เลย

    อันนี้แถม จดโน้ตไว้ก่อนจะไปพบหมอก็ดีนะ ว่าอยากเล่าอะไรบ้าง อยากถามอะไรบ้าง

    ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
๋Joe (@fb1599133046764)
ทุกวันนี้สิ่งที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้คือการโดนบุลลี่จากคนรอบข้าง ด้วยเหตุผลที่ว่าจะได้เข้มแข็งขึ้น